15 ต.ค. 2021 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กรณีศึกษา ฟองสบู่ตลาดหุ้นครั้งใหญ่สุด ในประเทศคูเวต
2
รู้หรือไม่ว่า ครั้งหนึ่งในประเทศคูเวต เราสามารถเป็นเจ้าของหุ้นได้
โดยการใช้เช็คเข้าไปซื้อหุ้นได้แทนเงินสด
1
เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริงเมื่อหลายสิบปีก่อนในตลาดหุ้นคูเวต
ซึ่งเคยถูกจัดให้เป็นตลาดหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายมากสุดเป็นอันดับ 3 ของโลกเลยทีเดียว..
แต่สุดท้าย ตลาดหุ้นแห่งนี้ก็ได้นำไปสู่วิกฤติฟองสบู่
ที่ถูกคาดการณ์ว่าเป็นหนึ่งในฟองสบู่ตลาดหุ้น
ที่มีมูลค่าความเสียหาย มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ที่ตลาดหุ้นแห่งนี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
ประเทศคูเวต เป็นหนึ่งประเทศในทวีปเอเชีย ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
มีชายแดนติดกับอิรักและซาอุดีอาระเบีย
ประเทศแห่งนี้มีขนาดพื้นที่เพียง 17,818 ตารางกิโลเมตร เล็กกว่าประเทศไทยประมาณ 30 เท่า
และมีจำนวนประชากรประมาณ 4.3 ล้านคน โดยเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม
2
ซึ่งคูเวต นับเป็น 1 ใน 5 ประเทศแรก ที่ร่วมก่อตั้งกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC ที่มีกำลังผลิตน้ำมันรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของโลก โดยคูเวตเองก็มีรายได้หลักมาจากการส่งออกน้ำมัน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 90% ของรายได้ทั้งหมดในประเทศ
1
จึงกล่าวได้ว่า น้ำมันคือ เชื้อเพลิงหลัก ในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศมาตั้งแต่อดีต
โดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี 1970-1980 ที่ความต้องการพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
1
ซึ่งก็ได้ดันให้ราคาน้ำมัน ปรับตัวสูงขึ้นถึง 10 เท่าภายใน 10 ปี ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าว ก็เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของผู้ส่งออกน้ำมันทั่วโลก
และเนื่องจากในเวลานั้น หลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังเผชิญกับความวุ่นวาย
ทั้งความมั่นคงทางการเมืองและภาวะสงคราม ทำให้คูเวต กลายเป็น “ศูนย์กลางทางการเงิน”
เพราะปราศจากภัยสงครามและรัฐบาลก็มีเสถียรภาพมากกว่า
9
เมื่อมีเงินอยู่ในมือและมีแรงดึงดูดจากการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน
อีกทั้ง GDP ของประเทศเองก็เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
ทำให้ในปี 1977 รัฐบาลคูเวต ก็ได้ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ขึ้นมาโดยใช้ ชื่อว่า “Boursa”
3
แต่เนื่องจากรัฐบาลคูเวต มีความกังวลว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในระบบอาจจะมีมากเกินการควบคุม
อีกทั้งการลงทุนในตลาดหุ้น ยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคูเวต
1
ทำให้ภาครัฐมีการออกกฎระเบียบและเงื่อนไข ที่เข้มงวดอย่างมาก จึงมีไม่กี่บริษัทที่สามารถจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้ และนักลงทุนที่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ก็มีแต่นักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และเชื้อพระวงศ์ เท่านั้น
3
ในขณะที่ เศรษฐกิจในประเทศก็ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องและยังคงมีผู้คนจำนวนมาก
ที่มีเงินสดล้นมือ รวมถึงบริษัทหลายแห่ง ก็ผิดหวังที่ไม่สามารถเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นได้
3
จึงทำให้ในปีถัดมา ตลาดหุ้นแห่งที่ 2 ของประเทศ จึงเกิดขึ้นบนฝั่งตรงข้ามถนน
จากตลาดหุ้น Boursa โดยมีชื่อว่า “Souk Al-Manakh” อ่านว่า ซูค อัล มานาค
1
Souk Al-Manakh คือ ตลาดหุ้น ที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มคนชาวคูเวตบางกลุ่ม ที่ไร้การควบคุมจากภาครัฐซึ่งก็เปิดรับนักลงทุนทุกราย รวมถึงเปิดรับบริษัทที่ไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาด Boursa ให้มาจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้ได้
โดยสถานที่ตั้งของ Souk Al-Manakh ก็คือ อาคารจอดรถที่ติดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งแต่เดิมเป็นตลาดสำหรับซื้อขายอูฐมาก่อน..
5
ด้วยความยืดหยุ่นที่มากกว่า
Souk Al-Manakh จึงได้ดึงดูดทั้งนักลงทุนและเจ้าของธุรกิจจำนวนมากให้เข้าสู่ตลาดได้สำเร็จ
นานวันเข้า จำนวนผู้คนที่เข้ามาร่วมวงเทรดหุ้นในตลาดก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็มีตั้งแต่บรรดาข้าราชการ ครู นักเรียน หรือแม้กระทั่งแพทย์ ที่ออกจากงานเพื่อเข้ามาเป็นนักเทรดเต็มตัว
และแม้ว่าภาครัฐจะไม่ได้เข้ามาควบคุมและปล่อยให้มีการดำเนินการอย่างอิสระ
แต่ภาครัฐ ก็ได้ออกกฎห้ามให้สถาบันการเงินเข้ามายุ่งเกี่ยวกับตลาดแห่งนี้
โดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้กับนักลงทุนเพื่อไปเก็งกำไรในตลาด
3
เมื่อไม่สามารถกู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุนได้ แต่นักลงทุนในตลาด
ต่างก็ต้องการทำกำไรมากขึ้นและไม่ต้องการใช้เงินสดที่มีอยู่ลงทุน
ตลาดแห่งนี้จึงเริ่มใช้เครื่องมือที่จะกลายเป็นชนวนของหนึ่งในฟองสบู่ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา
นั่นก็คือ “Post-Dated Cheque” หรือเช็คแบบลงวันที่ล่วงหน้า ที่จะระบุวันที่สั่งจ่ายในอนาคตลงบนหน้าเช็ค
2
ปกติแล้ว ผู้ที่ถือเช็คสามารถนำไปขึ้นเงินก่อนเวลาที่ระบุได้ หากในบัญชีธนาคารของผู้ออกเช็คมีเงินมากพอ และผู้ออกเช็คไม่ได้แจ้งต่อธนาคารว่าให้จ่ายตามวันที่หน้าเช็ค เท่านั้น
2
ซึ่งตลาด Souk Al-Manakh ก็ได้ยอมรับการใช้เช็คดังกล่าวแทนเงินสด
และเช็คตัวนี้ก็ยังสามารถ ส่งต่อไปยังนักลงทุนรายอื่น ๆ ได้ อีกด้วย
บวกกับวัฒนธรรมและคำสอนของชาวคูเวต ที่การผิดนัดชำระหนี้ นับเป็นสิ่งที่น่าอับอายและนำพาความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูลทำให้บรรดาสถาบันการเงินในคูเวต ไม่เข้มงวดกับการตรวจสอบและควบคุมการออกเช็คของนักลงทุน
1
ในขณะที่ นักลงทุนเองก็เชื่อมั่นซึ่งกันและกัน แถมเช็คจำนวนมาก
ก็ยังถูกลงวันที่ไว้ล่วงหน้าเป็นปี ซึ่งก็นับเป็นเรื่องปกติ
รวมทั้งตลาดหุ้น Souk Al-Manakh ยังถูกสนับสนุนด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักการเมือง
หรือแม้กระทั่งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของคูเวต ที่ต่างก็ได้เข้ามาลงทุนในตลาดแห่งนี้
ทั้งหมดนี้ ก็ได้ทำให้นักลงทุนอุ่นใจและคิดว่าหากเกิดเรื่องเลวร้ายขึ้น
รัฐบาลก็จะไม่นิ่งเฉยและยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหาได้
2
เมื่อเป็นเช่นนี้ นักลงทุนในตลาดต่างก็เริ่มซื้อหุ้นด้วยเช็คหรือก็คือเงินที่พวกเขาไม่มี แบบไม่จำกัด
2
และด้วยความที่ความรู้ความเข้าใจต่อการลงทุนของคนในตลาดมีน้อยมาก บวกกับจำนวนเงินที่เสกขึ้นมาเองกลางอากาศ ทำให้ไม่มีหุ้นตัวไหนในตลาดที่แพงเกินไปสำหรับนักลงทุนเหล่านี้
3
เพราะไม่ว่าหุ้นจะราคาเท่าไร พวกเขาก็พร้อมที่จะเขียนจำนวนเงินและระบุวันที่ล่วงหน้าไปอีก 1 ปีเพื่อให้ได้หุ้นที่ต้องการ ทำให้ในปีแรกที่ Souk Al-Manakh เปิดทำการ หุ้นในตลาดมีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยสูงถึง 63% และหุ้นหลายตัวเติบโตสูงถึง 1300-1500% ในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์
1
อย่างเช่น Gulf Medical ที่จากเดิมประกอบธุรกิจโรงแรม แต่กิจการไม่สามารถไปต่อได้
จึงผันตัวมาทำธุรกิจโรงพยาบาลแล้วเข้าระดมทุนใน Souk Al-Manakh
1
โดย Gulf Medical ก็ได้กลายมาเป็นธุรกิจเนื้อหอม และมีความต้องการจองหุ้นมากกว่า 2,600 เท่าของจำนวนเดิมที่คาดการณ์ไว้ และภายในเวลาไม่กี่เดือนที่เข้าสู่ตลาด ราคาหุ้นก็พุ่งกว่า 800%
1
นอกจากนี้ ยังมีหลายบริษัทในตลาดแห่งนี้ ที่มีผลประกอบการขาดทุนหรือยังไม่มีแม้แต่รายได้หรือลูกค้า แต่ผู้คนก็ไม่ใส่ใจที่จะตรวจสอบข้อมูล และยังคงซื้อขายหุ้นด้วยราคาบนกระดาน มากกว่าตัวเลขทางบัญชี
โดยในปี 1982 มีการคาดการณ์ว่าเช็คที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดมีมากกว่า 29,000 ใบ
มีมูลค่าสูงถึง 9 ล้านล้านบาท มากกว่า GDP ของประเทศคูเวตในขณะนั้น ถึง 4 เท่า
2
และในช่วงเวลานั้น มูลค่าตลาด Souk Al-Manakh ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยมีการประมาณไว้ว่ากว่า 9.6 ล้านล้านบาท ซึ่งก็จะทำให้ตลาดหุ้นแห่งนี้มีมูลค่าซื้อขายมากที่สุด เป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงแค่ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งมากกว่าตลาดหุ้นในสหราชอาณาจักรเสียอีก โดยมูลค่าเกือบทั้งหมดของ Souk Al-Manakh เกิดจากตัวเลขที่อยู่บนเช็คเท่านั้น..
2
และแล้ว งานเลี้ยง ก็มาถึงวันที่ต้องเลิกรา..
เพราะหลังจากนั้น ได้มีรายงานออกมาว่า จริง ๆ แล้ว หลายบริษัทในตลาด เป็นเพียงบริษัทที่มีอยู่ในกระดาษจดทะเบียนเท่านั้น ไม่ได้มีธุรกิจจริงและถูกตั้งขึ้นมาสำหรับการนำมาเก็งกำไรในตลาดหุ้น
1
นักลงทุนจึงได้เริ่มเป็นกังวลและหลายคนได้ตัดสินใจเทขายหุ้นที่ถืออยู่ ส่งผลให้มูลค่าของหุ้นหลายบริษัทก็เริ่มลดลง รวมถึงนักลงทุนจำนวนมาก ก็ได้เริ่มถือเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคาร เพราะเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงและอยากเปลี่ยนเช็คเป็นเงินสดมากกว่า
7
แต่ผลปรากฏว่า เช็คจำนวนมากไม่มีเงินรองรับอยู่ในบัญชี หรือที่เราเรียกกันว่าเช็คเด้ง และเมื่อตรวจสอบทั้งระบบจึงพบว่าธนาคารที่เกี่ยวข้องไม่มีเงินสดเพียงพอต่อเช็คในระบบทั้งหมด
4
การซื้อขายในตลาดหยุดชะงักทันทีและรัฐบาลก็เข้ามาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
ก่อนจะประกาศว่าจะไม่มีการช่วยเหลือใด ๆ จากภาครัฐ และนักลงทุน
รวมถึงสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินที่ก่อไว้ด้วยตัวเอง
3
ทุกอย่างจึงได้พังทลายลงทันทีที่มีคำประกาศดังกล่าวออกมา
และธนาคารจำนวนมากก็ล้มละลายตามกันไป
เหลือเพียงธนาคารของรัฐเท่านั้นที่ยังอยู่รอด
2
ในขณะที่ผลกระทบจากหนี้จำนวนมากที่ไม่สามารถจ่ายคืนกันได้
ก็ได้กระทบกับเศรษฐกิจของคูเวตไปทุกภาคส่วน
และก็ยังถูกซ้ำเติมด้วยการปรับตัวลงของราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1984
บวกกับการถูกโจมตีจากกองทัพของอิรักในปี 1990
ทั้งหมดนี้ก็ได้ทำให้เศรษฐกิจของคูเวต ถดถอยเป็นเวลานานนับสิบปี..
3
จริง ๆ แล้ววิกฤติครั้งนี้คงไม่เกิดขึ้น หากนักลงทุนใน Souk Al-Manakh ไม่โลภและลงทุนตามกำลังทรัพย์ที่มี
หากเรามาเทียบกับการลงทุนในยุคปัจจุบัน ที่เรามีเครื่องมือสำหรับการใช้เงินในอนาคตเพื่อนำมาลงทุน เช่น การใช้ Leverage ซึ่งก็มีความคล้ายกันกับในกรณีเช็คของ Souk Al-Manakh ก็นับเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรามีอำนาจการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ความเสี่ยงมันก็มากขึ้นด้วยเป็นทวีคูณ เช่นกัน
1
ซึ่งในวันที่เราโชคดี เราก็อาจจะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ
แต่เมื่อไรก็ตามที่โชคไม่เข้าข้างเรา
มูลค่าความสูญเสียอาจจะไม่ทำให้เราเหลือแค่ศูนย์
เพราะบางครั้ง มันอาจจะทำให้เราติดลบ
ชนิดที่ว่าไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมได้เลย ก็เป็นได้..
1
โฆษณา