Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องเล่าเขย่าโลก-World Wide Wow! Stories
•
ติดตาม
15 ต.ค. 2021 เวลา 07:39 • ประวัติศาสตร์
เปิดตำนานศึกสองพญานาคราช และจุดกำเนิดแห่งแม่น้ำโขง
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนในภูมิภาคอุษาคเนย์มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยและลาวที่ซึ่งแม่น้ำโขงนั้นได้ไหลพาดผ่าน และมอบชีวิตรวมไปถึงตำนานความเชื่อต่างๆมากมายให้แก่ผู้คนทั้งสองฝากฝั่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องราวของพญานาค สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพสักการะของผู้คนทั้งสองฝั่งโขง และยังเกี่ยวข้องกับการกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญแห่งนี้ด้วยเช่นกัน เรื่องราวจะเป็นอย่างเรา บทความนี้จะเล่าให้ทุกท่านฟังครับ
นานมาแล้ว มีเมืองแห่งหนึ่งนามว่าหนองกระแส ถูกปกครองโดยพญานาคผู้ทรงฤทธิ์ด้วยกันสองตน ตนแรกมีนามว่าสุทโธนาคราช พญานาคผู้มีอุปนิสัยใจร้อน หุนหัน และแข็งกร้าว ได้ปกครองพื้นที่ครึ่งหนึ่งของเมือง ส่วนอีกตนนามว่าสุวรรณนาคราช เป็นพญานาคที่มีความใจเย็น สุขุม และอ่อนโยน ได้ครองพื้นที่อีกครึ่งที่เหลือ ทั้งคู่ต่างเป็นพญานาคผู้ยิ่งใหญ่ มากด้วยอิทธิฤทธิ์ อีกทั้งยังมีบริวารนาคถึงฝ่ายละ 5,000 ตนเท่ากัน แม้จะมีนิสัยที่แตกต่างกันอยู่มาก แต่พญานาคทั้งสองก็ไม่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ตรงกันข้ามกลับเป็นเพื่อนสนิทที่รักใคร่กลมเกลียว คอยช่วยเหลือซี่งกันและกันอยู่เสมอ
ถึงจะเป็นนาคที่มีฤทธิ์เดช แต่ก็ยังคงเหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ต้องออกหาอาหารเพื่อเลี้ยงปากท้อง แต่เนื่องด้วยต่างฝ่ายต่างก็มีอำนาจและบริวารที่มากพอๆกัน ทำให้เกรงว่าหากออกหาอาหารพร้อมกัน อาจจะเกิดการกระทบกระทั่งโดยไม่ตั้งใจจนนำไปสู่ความขัดแย้งได้ ด้วยเหตุนี้พญานาคทั้งสองจึงทำข้อตกลงร่วมกันว่า “ให้ผลัดกันออกหาอาหารครั้งละฝ่าย เมื่อถึงคราวฝ่ายใดออกไป อีกฝ่ายจะไม่ต้องออก และฝ่ายที่ออกไปหาอาหารในครั้งนั้น หากล่าอะไรกลับมาได้ จะต้องแบ่งอาหารครึ่งหนึ่งให้ฝ่ายที่ไม่ได้ออกล่าเสมอ” ข้อตกลงนี้ทำให้เกิดความยุติธรรม และสันติสุขระหว่างนาคทั้งสองเสมอมา แต่หารู้ไม่เลยว่าท้ายที่สุดแล้ว กฎข้อนี้เองที่จะกลายเป็นสาเหตุทำลายสายสัมพันธ์ของทั้งสองจนขาดลง
เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อสุทโธนาคราชนำพลออกหาอาหารเป็นปกติตามข้อตกลงที่เคยทำไว้ สุทโธนาคราช เป็นพญานาคที่มีความดุดัน และแข็งแกร่ง การล่าในครั้งนี้จึงประสบความสำเร็จ จับได้ช้างป่าขนาดใหญ่ และนำกลับมาด้วยความยินดี จัดแจงแบ่งอาหารครึ่งหนึ่งทั้งเนื้อหนังขน และส่งไปให้สุวรรณนาคราชเพื่อนรักตามสัญญา นาคทั้งสองฝ่ายต่างเพลิดเพลินกับอาหารมื้อนี้ที่มีอยู่อย่างเพียงพอ
ในเวลาถัดมา เป็นคราวของสุวรรณนาคราชบ้างที่จะต้องออกไปหาอาหาร แต่ในคราวนี้นั้นการล่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก โดยฝ่ายของสุวรรณนาคราชจับได้เพียงเม่นตัวหนึ่งเท่านั้น และนำกลับมายังเมือง ซึ่งด้วยขนาดตัวของเม่นที่เล็ก ทำให้ปริมาณเนื้อนั้นเทียบไม่ได้เลยกับช้างที่สุทโธนาคราชเคยจับมาได้
1
ถึงอย่างไรสัญญาก็ต้องเป็นสัญญา สุวรรณนาคราชได้แบ่งเนื้อหนังและขนของเม่นออกมาครึ่งหนึ่งและส่งไปให้สุทโธนาคราชตามข้อตกลง แต่เมื่ออาหารเดินทางไปถึง สุทโธนาคราชแปลกใจเป็นอย่างมาก ว่าเหตุใดปริมาณเนื้อในครั้งนี้จึงน้อยกว่าครั้งก่อนนัก อีกทั้งตนยังไม่เคยพบเคยเห็นเม่นมาก่อน เมื่อเพ่งพินิจดูขนอันแหลมยาวที่ถูกส่งมาด้วยนั้น ก็จินตนาการว่าเม่นจะต้องเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่มากแน่ๆ เพราะขนาดช้างที่ตนเคยล่ามามีขนสั้นและบาง แต่ตัวยังใหญ่ขนาดนั้น และสัตว์ที่มีขนยาวหนาเช่นนี้จะตัวใหญ่ได้ขนาดไหน เมื่อคิดเป็นเช่นนั้นในใจก็เกิดโทสะและโกรธสุวรรณนาคราชเป็นอย่างมาก ด้วยคิดว่าสุวรรณนาคราชแบ่งอาหารให้ไม่ยุติธรรม เก็บเนื้อส่วนมากไว้อยู่ฝ่ายเดียวและให้เนื้ออันน้อยนิดแก่ตน จึงให้บริวารนำอาหารไปคืนสุวรรณนาคราช พร้อมกับฝากคำพูดไปด้วยว่า “ข้าไม่ขอรับส่วนแบ่งอันไม่เป็นธรรมจากเพื่อนที่ไม่ซื่อสัตย์”
เมื่อได้ยินดังนั้นสุวรรณนาคราชก็รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมาก จึงรีบเดินทางไปหาสุทโธนาคราชเพื่ออธิบายให้เข้าใจ แต่เมื่อไปถึง ไม่ว่าสุวรรณนาคราชจะพยายามพูดอย่างไร สุทโธนาคราชก็ไม่ยอมฟัง เนื่องด้วยนิสัยใจร้อน ขี้โมโห รวมถึงปักใจเชื่อไปเสียแล้วว่าเพื่อนของตนนั้นไม่ซื่อสัตย์ ทำให้ในที่สุดความพยายามพูดคุยของสุวรรณนาคราชก็ล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง
เรื่องราวดูเริ่มจะบานปลาย เมื่อความโกรธของสุทโธนาคราชพุ่งขึ้นถึงขีดสุด จึงได้เรียกระดมพลนาคบริวารทั้งหลาย และทำการบุกโจมตีพื้นที่ของสุวรรณนาคราชพร้อมกับประกาศสงครามต่ออดีตเพื่อนรักทันที ฝ่ายสุวรรณนาคราชเมื่อเขตแดนของตนถูกรุกรานก็ไม่มีทางเลือก ต้องเร่งระดมพลนาคฝ่ายตนเข้าต่อกรจนสงครามแผ่ขยายออกเป็นวงกว้าง
ภาพจาก ภาพยนตร์นาคี 2
ภาพจาก ภาพยนตร์นาคี 2
ศึกในครั้งนี้กินเวลายาวนานถึง 7 ปี สร้างความเสียหายเหลือคณานับ สองพญานาคราชต่างเข้าห้ำหั่นกันด้วยอิทธิฤทธิ์ที่มี บริวารต่างก็บาดเจ็บล้มตาย บ้านเมืองพังพินาศ แหล่งน้ำที่เมื่อก่อนใสสะอาดก็ขุ่นข้นจากการต่อสู้ จนเหล่าสัตว์น้อยใหญ่อยู่อาศัยไม่ได้และล้มตายไปตามๆกัน แต่ก็ยังไม่มีฝ่ายใดที่สามารถกำชัยชนะได้อย่างเด็ดขาด จนสถานการณ์เลวร้ายลงไปทุกขณะ เดือดร้อนไปทั่วทั้งสามพิภพ
เรื่องไปถึงหูของพระอินทร์ ผู้เป็นเทพชั้นผู้ใหญ่ในสวรรค์ ทรงเล็งเห็นว่าหากสองพญานาคยังคงต่อสู้กันไม่ยอมหยุด ทั้งสามโลกคงไม่ได้อยู่อย่างเป็นสุขแน่ เมื่อคิดได้เช่นนั้นจึงเสด็จลงมาจากสรวงสวรรค์เพื่อห้ามปรามนาคทั้งสองให้หยุดการสู้รบเสีย และให้ผลนั้นคือเสมอกัน อีกทั้งให้ถือเอาเมืองหนองกระแสเป็นเขตปลอดสงคราม ห้ามทำการต่อสู้กันอีก
พระอินทร์
ฝ่ายพญานาคทั้งสอง เมื่อได้ฟังดังนั้นก็ยอมทำตามแต่โดยดี แต่พระอินทร์ยังได้ทรงออกอุบายต่อไปอีก เพื่อให้นาคสองตนนี้จะได้ไม่ต้องกลับมาทะเลาะกันอีก นั่นคือการให้ทั้งคู่แข่งกันสร้างแม่น้ำขึ้นมาคนละสาย โดยให้เริ่มต้น ณ เมืองหนองกระแส ฝ่ายไหนที่สามารถสร้างไปจนถึงทะเลได้ก่อน ฝ่ายนั้นจะเป็นผู้ชนะและพระอินทร์จะประทานปลาบึกเป็นสัญลักษณ์และอาหารให้แก่แม่น้ำสายนั้น รวมถึงให้นาคทั้งสองต่างได้ปกครองแม่น้ำที่ตัวเองสร้างด้วย
เมื่อสองพญานาคได้ยินดังนั้นก็รับราชโองการ และรีบแยกย้ายไปสร้างแม่น้ำของตัวเองทันที ฝ่ายสุทโธนาคราชก็พาไพร่พลของตนสร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศตะวันออกของหนองกระแส ด้วยนิสัยใจร้อนที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การสร้างแม่น้ำของสุทโธนาคราชนั้นจึงสร้างด้วยความเร่งรีบ หากเจอหินหรือภูเขาที่ไหนมาขวางทาง ก็จะให้รีบลัดเลาะอ้อมไป ทำให้ได้แม่น้ำที่มีความคดเคี้ยว ไม่สม่ำเสมอ ลึกบ้าง ตื้นบ้าง กว้างบ้าง แคบบ้าง เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนในที่สุดก็สร้างไปออกถึงทะเลได้ก่อน แม่น้ำแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “แม่น้ำโขง” โดย “โขง” นั้นมาจากคำว่า “โค้ง” อันเป็นลักษณะของแม่น้ำสายนี้นั่นเอง
แม่น้ำโขง ภาพจาก www.voanews.com
ส่วนทางด้านของสุวรรณนาคราชนั้น ได้พาบริวารของตนสร้างแม่น้ำมุ่งลงไปทางทิศใต้ และด้วยความที่เป็นนาคที่มีความใจเย็น ละเอียดอ่อน และพิถีพิถันกว่าสุทโธนาคราชเป็นอย่างมาก การสร้างแม่น้ำจึงพยายามทำอย่างปราณีตให้เป็นเส้นตรง เพื่อจะได้มุ่งออกสู่ทะเล เมื่อมีหินหรือสิ่งใดมากีดขวางก็ให้ค่อยๆยกออกไป จึงใช้ระยะเวลาในการสร้างที่นานกว่า และได้แม่น้ำที่สั้นกว่าของสุทโธนาคราช แต่ก็เป็นแม่น้ำที่ตรงและสวยงามเป็นอย่างมาก แม่น้ำสายนี้จึงได้ชื่อว่า “แม่น้ำนาน” ก่อนที่ในเวลาต่อมาก็เพี้ยนกลายเป็น “แม่น้ำน่าน”
แม่น้ำน่าน ภาพจาก twitter @TheSmilingHut
แม้แม่น้ำน่านของสุวรรณนาคราชจะสร้างได้สวยงาม แต่ตามกฎกติกาที่ตั้งเอาไว้ ฝ่ายที่สร้างแม่น้ำไปจนถึงทะเลก่อนจึงจะเป็นผู้ชนะการแข่งขัน ด้วยเหตุนี้ แม่น้ำโขงของสุทโธนาคราชจึงได้รับชัยชนะไปในที่สุด และพระอินทร์ก็ได้ประทานปลาบึกให้แก่แม่น้ำของผู้ชนะตามสัญญา ด้วยเหตุนี้เองเราจึงสามารถพบเห็นปลาบึกตามธรรมชาติได้เฉพาะในแม่น้ำโขงเท่านั้น
ปลาบึก ภาพจาก https://www.sarakadee.com/blog/oneton/?p=630
หลังการแข่งสร้างแม่น้ำนั้นจบลง สุทโธนาคราชได้เข้าเฝ้าร้องขอต่อพระอินทร์ว่า ขอให้มีทางขึ้นลงของพญานาคระหว่างโลกบาดาลและโลกมนุษย์เอาไว้ เมื่อพระอินทร์ได้ยินดังนั้นก็ประทานให้ตามปรารถนา โดยทรงอนุญาตให้มีทางขึ้นลงของพญานาคไว้ 3 ที่ อันได้แก่
1.พระธาตุหลวง นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว
2.หนองคันแท ทิเบต ประเทศจีน
3.พรหมประกายโลก(คำชะโนด) จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย
พญานาคทั้งสองต่างก็แยกกันปกครองแม่น้ำสายที่ตนเองได้สร้างขึ้น รวมถึงยุติความขัดแย้งระหว่างกัน และแล้วสันติสุขก็หวนคืนสู่ทั้งสามภพอีกครั้งในที่สุด…
ตำนาน
พญานาค
แม่น้ำโขง
7 บันทึก
9
16
7
9
16
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย