Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
BrandCase
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
18 ต.ค. 2021 เวลา 10:50 • ธุรกิจ
สรุปเคล็ดลับ ทำครัวกลางดิลิเวอรี แบบรวมมิตร ของ iberry Group
“ความไม่แน่นอนของมาตรการรัฐ เดี๋ยวสั่งเปิด เดี๋ยวสั่งปิด สิ่งเหล่านี้ทำให้การบริหารจัดการของร้านอาหาร ทำได้ลำบากมาก และถ้า iberry Group ไม่ได้ทำ Cloud Kitchen ไว้ตั้งแต่โควิด 19 ระลอกแรก ตอนนี้ก็อาจจะแย่ไปแล้ว”
นี่คือคำพูดของ คุณอัจฉรา บุรารักษ์ หรือ คุณปลา ผู้บริหารร้านอาหารในกลุ่ม iberry Group ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติในครั้งนี้
สิ่งที่น่าสนใจ คือการแก้เกมของ iberry Group ที่หันมาโฟกัสการขยายครัวกลาง หรือที่เรียกว่า Cloud Kitchen ไปพร้อม ๆ กับสร้างแบรนด์ใหม่ที่ชื่อว่า “รวมมิตร Cloud Kitchen”
รวมมิตร Cloud Kitchen เป็นครัวกลางที่ประกอบไปด้วยแบรนด์ในเครือ iberry Group เช่น เจริญแกง, ฟ้าปลาทาน, ข้าวต้มกุ๊ยโรงสีโภชนา และกับข้าว' กับปลา รวมถึงทองสมิทธ์ ที่คุณปลาเป็นหุ้นส่วนร่วมกับเพื่อน
ซึ่งการขยายครัวกลาง แทนการเปิดสาขาใหม่ที่มีหน้าร้าน
ข้อดีคือ ใช้ทุนน้อยกว่า, ค่าเช่าถูกกว่า, เพิ่มพื้นที่ให้บริการได้เร็วกว่า, เป็นโมเดลที่เหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน และที่สำคัญคือ ช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกล็อกดาวน์อีกครั้ง
โดยคุณปลาได้แชร์เคล็ดลับ การทำครัวกลางดิลิเวอรี ไว้อย่างน่าสนใจ
THE BRIEFCASE ได้สรุปประเด็นทั้งหมดไว้ 4 ข้อ
1) ทำครัวกลางได้ แต่ต้องไม่เสียแบรนด์เดิม
ถ้าเราเป็นเจ้าของแบรนด์ร้านอาหารที่มีระดับราคาปานกลางขึ้นไป แล้วนำแบรนด์เดิม มาเปิดเป็นครัวกลางเลย ก็อาจทำให้เสียแบรนด์ เพราะการมาเปิดครัวกลาง อาจมีการลดระดับราคาลง เพื่อให้พอแข่งขันกับร้านอื่นได้
ในขณะเดียวกัน หากใช้โครงสร้างราคาที่เหมือนกับสาขาที่อยู่หน้าร้าน ผู้บริโภคก็จะรู้สึกว่าแพง เพราะร้านไม่ได้แบกรับค่าตกแต่งหน้าร้าน หรือค่าเช่าในห้างสรรพสินค้าเหมือนตอนสถานการณ์ปกติ
อีกทั้งจะแข่งขันกับร้านอื่นก็ยาก เพราะการใช้แพลตฟอร์มดิลิเวอรี ที่มีค่า GP สูง จะยิ่งทำให้ร้านอาหารต้องตั้งราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น คุณปลาจึงแก้เกมด้วยการสร้างแบรนด์ใหม่ ชื่อว่า “รวมมิตร Cloud Kitchen” แล้วจับแบรนด์ในเครือมาอยู่รวมกัน ภายใต้แบรนด์ดังกล่าว เพื่อให้สามารถตั้งราคาที่ถูกลงมาได้ โดยไม่เสียภาพลักษณ์แบรนด์เดิม
ซึ่งการใช้กลยุทธ์นี้จะทำให้ผู้บริโภคไม่เกิดความสับสนและไม่เกิดคำถามว่า ทำไมแบรนด์เดียวกันถึงมีราคาต่างกัน
2) 1 แบรนด์ มีหลายร้าน ดีกว่า 1 ร้าน มีหลายเมนู
ผู้บริโภคชอบความหลากหลายและตัวเลือกเยอะ ๆ ก็จริง แต่ในมุมของธุรกิจร้านอาหาร หากใน 1 แบรนด์มีอาหารให้เลือกเยอะเกินไป โดยไม่มีประเภทอาหารที่ตัวเองโดดเด่น ก็อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนได้ว่า ร้านอาหารนี้ มีจุดเด่นที่ตรงไหนกันแน่
ดังนั้น การจัดหมวดหมู่หรือเลือกประเภทอาหารที่ตัวเองเชี่ยวชาญและถนัด จึงมีความสำคัญ
ในกรณีของคุณปลา เลือกที่จะทำแบรนด์ร้านอาหารให้แต่ละแบรนด์มีความโดดเด่นที่ต่างกัน อย่างเจริญแกง เด่นเรื่องข้าวราดแกง, ฟ้าปลาทาน เด่นเรื่องข้าวต้มปลา, กับข้าว' กับปลา เด่นในเรื่องอาหารไทย ที่มีรสชาติจัดจ้าน ส่วนทองสมิทธ์ ก็เด่นที่สุดในเรื่องก๋วยเตี๋ยว
แล้วนำทั้งหมดจับมัดรวมกัน เปิดเป็นแบรนด์ “รวมมิตร Cloud Kitchen” โดยขายเฉพาะดิลิเวอรีเท่านั้น
การทำแบบนี้จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุกในการเลือกอาหารที่หลากหลาย แถมยังไม่เกิดปัญหา เวลาที่เราอยากกินเมนูข้าว แต่เพื่อนหรือครอบครัวกลับอยากกินเมนูเส้น นั่นเอง
3) เลือกทำเลทั้งที ต้องให้ได้กลุ่มลูกค้า ครบทุกช่วงเวลา
การเลือกทำเลให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ถือว่าสำคัญมาก แต่การคำนึงถึงกลุ่มลูกค้า ทั้งในช่วงกลางวันไปจนถึงช่วงเย็น ก็สำคัญไม่แพ้กัน
เราควรจะตอบตัวเองให้ได้ว่า ลูกค้าช่วงกลางวันของเราคือใคร มีกำลังซื้อเท่าไร และตรงกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์หรือไม่ รวมไปถึงลูกค้าช่วงเย็นด้วยเช่นกัน
เพราะหากเราทำร้านอาหาร แล้วขายได้เฉพาะช่วงพักเที่ยง ก็ถือว่าเสียโอกาสมาก ๆ
คุณปลาจึงได้ตัดสินใจ เลือกทำเลบน “เย็นอากาศ” ในการเปิด “รวมมิตร Cloud Kitchen” เป็นสาขาที่ 3
เพราะได้ลูกค้าที่เป็นพนักงานออฟฟิศ ในช่วงกลางวัน
ส่วนลูกค้าช่วงเย็น ก็จะเป็นผู้ที่พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน, คอนโดมิเนียม ในแถบบริเวณนี้
ที่สำคัญคือ เย็นอากาศ เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างสาทร พระราม 4 และลุมพินี ทำให้เกิดการสั่งอาหารดิลิเวอรีตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เปิดร้านไปจนถึงปิดร้าน
4) คนส่งอาหาร ก็สำคัญไม่แพ้ผู้บริโภค
ในช่วงโควิด 19 ผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารอยู่รอดก็คือ คนส่งอาหาร หรือที่เรียกว่า ไรเดอร์ ซึ่งในปัจจุบัน พวกเขามีความสำคัญไม่แพ้ลูกค้าคนอื่น ๆ เลย
การดูแลเขาเสมือนเป็นลูกค้าหนึ่งคน จึงเป็นสิ่งที่ร้านอาหารทุกร้านควรจะทำ เช่น การอำนวยความสะดวกสถานที่จอดรถ หรือทำบริเวณที่นั่งพักระหว่างรอรับอาหาร
ทั้งหมดนี้คือเคล็ดลับดี ๆ จากคุณปลา เจ้าของอาณาจักร iberry ที่เราสามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ กับธุรกิจของตัวเองได้
เพราะโควิด 19 และผลกระทบจากการล็อกดาวน์ นอกจากทำให้เกิดพฤติกรรมผู้บริโภคแบบ New Normal แล้ว ในชีวิตของคนทำธุรกิจร้านอาหาร ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน
ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ เราอาจจะได้เห็นแบรนด์ร้านอาหารที่เราคุ้นเคยในห้างฯ
มาเปิดครัวกลางใกล้บ้านของเรามากขึ้น จนกลายเป็นเรื่องปกติ ก็เป็นได้..
iberry
10 บันทึก
16
17
10
16
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย