16 ต.ค. 2021 เวลา 05:57 • ประวัติศาสตร์
“นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)”
2
ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนเรื่องราวของ “นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)” เป็นซีรีส์ หากแต่บทความนี้ ก็จะเป็นบทความสรุปเรื่องราวของเขาให้จบในบทความเดียว
“นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)” หรือ “จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (Napoleon I)” คือผู้นำทางการทหารและจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส ผู้ซึ่งสามารถยึดครองดินแดนจำนวนมากในยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่ 19
นโปเลียนได้เลื่อนยศและก้าวหน้าในกองทัพในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) และภายหลังจากยึดอำนาจในฝรั่งเศสเมื่อปีค.ศ.1799 (พ.ศ.2342) นโปเลียนก็ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิเมื่อปีค.ศ.1804 (พ.ศ.2347)
1
ด้วยความฉลาด มีวิสัยทัศน์ และเชี่ยวชาญทางกลศึก นโปเลียนจึงประสบความสำเร็จในการขยายอำนาจและดินแดนไปยังดินแดนต่างๆ ในยุโรป
หากแต่ภายหลังจากที่ฝรั่งเศสรุกรานรัสเซียเมื่อปีค.ศ.1812 (พ.ศ.2455) นโปเลียนก็ได้สละบัลลังก์ในอีกสองปีต่อมา และถูกเนรเทศไปยังเกาะเอลบา
ในปีค.ศ.1815 (พ.ศ.2358) นโปเลียนได้กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง ก่อนจะต้องสละบังลังก์อีกครั้งและถูกเนรเทศไปยังเกาะเซนต์เฮเลนา และเสียชีวิตด้วยวัย 51 ปี
1
“นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)” เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1769 (พ.ศ.2312) ในอาฌักซีโย ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะคอร์ซิกา
เขาเป็นลูกคนที่สองในบรรดาพี่น้องที่รอดชีวิตจำนวนแปดคน โดยมีพ่อเป็นทนายความ และถึงแม้ครอบครัวของเขาจะเป็นครอบครัวชนชั้นสูงบนเกาะคอร์ซิกา หากแต่ก็ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย
3
ในวัยเด็ก นโปเลียนได้เข้าเรียนในโรงเรียนบนแผ่นดินใหญ่ของฝรั่งเศส ซึ่งทำให้เขาได้เรียนภาษาฝรั่งเศส และเข้าศึกษาต่อทางด้านการทหารจากโรงเรียนทหารฝรั่งเศส และสำเร็จการศึกษาเมื่อปีค.ศ.1785 (พ.ศ.2328)
ภายหลังจากเรียนจบ นโปเลียนก็ได้รับราชการในกองทหารปืนใหญ่ของกองทัพฝรั่งเศส โดยมียศร้อยตรี
1
ในปีค.ศ.1789 (พ.ศ.2332) “การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution)” ได้เริ่มต้นขึ้น และภายในสามปี กลุ่มปฏิวัติก็ได้โค่นล้มราชวงศ์ฝรั่งเศสและสถาปนาเป็นสาธารณรัฐ
1
ในช่วงแรกของการปฏิวัติ นโปเลียนได้กลับไปที่บ้านที่คอร์ซิกา และได้เข้าร่วมกับ “จาโคบิน (Jacobin)” ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตย
ในปีค.ศ.1793 (พ.ศ.2336) ภายหลังจากที่มีความขัดแย้งกับข้าหลวงแห่งคอร์ซิกา ครอบครัวโบนาปาร์ตจึงต้องหนีออกจากคอร์ซิกา มายังแผ่นดินใหญ่ฝรั่งเศส และนโปเลียนก็กลับเข้าไปทำงานในกองทัพ
ภายหลัง นโปเลียนได้เข้าไปมีความเกี่ยวข้องกับ “โอกุสแต็ง รอแบ็สปีแยร์ (Augustin Robespierre)” น้องชายของสมาชิกจาโคบินที่สำคัญคนหนึ่ง
ในช่วงเวลานี้เอง นโปเลียนได้เลื่อนยศเป็นพลจัตวา แต่ภายหลังจากพี่น้องรอแบ็สปีแยร์สูญเสียอำนาจและถูกประหารในปีค.ศ.1794 (พ.ศ.2337) นโปเลียนก็ถูกจับกุมในฐานที่มีความเกี่ยวข้องกับสองพี่น้อง
1
ค.ศ.1795 (พ.ศ.2338) นโปเลียนได้ช่วยปราบปรามกลุ่มรอยัลลิสต์ที่ก่อจลาจลเพื่อจะโค่นล้มรัฐบาลของคณะปฏิวัติในปารีส ทำให้นโปเลียนได้เลื่อนยศเป็นพลตรี
ตั้งแต่ปีค.ศ.1792 (พ.ศ.2335) เป็นต้นมา รัฐบาลคณะปฏิวัติในฝรั่งเศส ได้เข้าไปมีความเกี่ยวข้องในความขัดแย้งทางการทหารของหลายชาติในยุโรป และในปีค.ศ.1796 (พ.ศ.2339) นโปเลียนได้นำกองทัพฝรั่งเศส เอาชนะกองทัพออสเตรียที่มีกำลังทหารมากกว่าได้
ค.ศ.1797 (พ.ศ.2340) ฝรั่งเศสและออสเตรียได้ลงนามใน “สนธิสัญญากัมโปฟอร์มิโอ (Treaty of Campo Formio)” ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสได้ดินแดนเป็นจำนวนมาก
ในปีต่อมา “คณะดีแร็กตัวร์ฝรั่งเศส (French Directory)” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปกครองฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปีค.ศ.1795 (พ.ศ.2338) ได้เสนอให้นโปเลียนนำทัพบุกไปอังกฤษ
1
หากแต่นโปเลียนนั้นแน่ใจว่ากองทัพเรือฝรั่งเศสยังไม่สามารถเทียบกับกองทัพเรืออันเกรียงไกรของอังกฤษ นโปเลียนจึงเสนอว่าจะบุกอียิปต์แทน เพื่อที่จะได้ตัดเส้นทางการค้าของอังกฤษกับอินเดีย
กองทัพของนโปเลียนได้เอาชนะ “มัมลุก (Mamluk)” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำกองทัพของอียิปต์ได้ในเดือนกรกฎาคม ปีค.ศ.1798 (พ.ศ.2341) หากแต่ในเวลาต่อมา กองทัพของนโปเลียนก็ต้องเคว้ง ไม่มีทางออก เนื่องจากในอีกหนึ่งเดือนต่อมา กองทัพเรือของนโปเลียนก็ถูกกองทัพเรืออังกฤษโจมตีจนยับเยินในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1798 (พ.ศ.2341)
3
ต้นปีค.ศ.1799 (พ.ศ.2342) กองทัพนโปเลียนได้รุกรานซีเรีย ซึ่งในเวลานั้นปกครองโดยจักรวรรดิอ็อตโตมัน หากแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ฤดูร้อนปีค.ศ.1799 (พ.ศ.2342) นโปเลียนซึ่งได้ข่าวว่าการเมืองในฝรั่งเศสกำลังวุ่นวาย ไม่มีความแน่นอนและมั่นคง จึงได้ตัดสินใจทิ้งกองทัพของตนไว้ที่อียิปต์ และกลับฝรั่งเศส
พฤศจิกายน ค.ศ.1799 (พ.ศ.2342) ในเหตุการณ์ที่เป็นที่รู้จักในนาม “รัฐประหาร 18 บรูว์แมร์ (Coup of 18 Brumaire)” นโปเลียนได้โค่นล้มคณะดีแร็กตัวร์ฝรั่งเศสได้สำเร็จ
คณะดีแร็กตัวร์ฝรั่งเศส ได้ถูกแทนที่ด้วยคณะกงสุลซึ่งประกอบด้วยบุคคลสามคน โดยมีนโปเลียนเป็นกงสุลที่ 1 ทำให้เขาโด่งดังไปทั่วฝรั่งเศส
มิถุนายน ค.ศ.1800 (พ.ศ.2343) ใน “ศึกมาเรงโก (Battle of Marengo)” กองทัพของนโปเลียนสามารถเอาชนะกองทัพออสเตรีย และขับไล่ออสเตรียออกไปจากอิตาลี
ชัยชนะนี้ยิ่งทำให้อำนาจของนโปเลียนแผ่ไปได้กว้างขึ้น อีกทั้งในปีค.ศ.1802 (พ.ศ.2345) ได้มีการทำสนธิสัญญาอาเมียงส์ (Treaty of Amiens) ทำให้อังกฤษตกลงสงบศึกกับฝรั่งเศส
นโปเลียนได้พยายามที่จะทำให้ฝรั่งเศสมีความมั่นคง โดยได้ทำการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง และทำการปฏิรูปในหลายๆ ด้าน ทั้งการธนาคารและการศึกษา สนับสนุนในด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะ รวมทั้งพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพระสันตะปาปา
อีกหนึ่งสิ่งที่เขาทำ คือจัดทำ “ประมวลกฎหมายนโปเลียน (Napoleonic Code)” ซึ่งเป็นการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมของฝรั่งเศส อีกทั้งยังเป็นรากฐานสำหรับระบบกฎหมายของฝรั่งเศสในเวลาต่อมา
ในปีค.ศ.1802 (พ.ศ.2345) ได้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ระบุให้นโปเลียนเป็นกงสุลตลอดชีพ
1
ในปีค.ศ.1796 (พ.ศ.2339) นโปเลียนได้แต่งงานกับ “โฌเซฟีน เดอ โบอาร์แนส์ (Josephine de Beauharnais)” ซึ่งอายุมากกว่าเขาหกปีและมีลูกติดมาสองคน หากแต่ในเวลาต่อมา นโปเลียนก็ได้หย่าขาดจากเธอในปีค.ศ.1809 (พ.ศ.2352) เนื่องจากเธอไม่สามารถมีลูกให้เขาได้
โฌเซฟีน เดอ โบอาร์แนส์ (Josephine de Beauharnais)
ในปีค.ศ.1810 (พ.ศ.2353) นโปเลียนได้แต่งงานกับ “มารี หลุยส์ ดัชเชสแห่งปาร์มา (Marie Louise, Duchess of Parma)” พระราชธิดาในจักรพรรดิแห่งออสเตรีย
มารี หลุยส์ ดัชเชสแห่งปาร์มา (Marie Louise, Duchess of Parma)
ตั้งแต่ปีค.ศ.1803-1815 (พ.ศ.2346-2358) ฝรั่งเศสได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับ “สงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)” ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างชาติต่างๆ ในยุโรป
ในปีค.ศ.1803 (พ.ศ.2346) นโปเลียนได้ขายดินแดนหลุยเซียนาในอเมริกาเหนือให้แก่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งได้รับเอกราช โดยขายไปในราคา 15 ล้านดอลลาร์ โดยจุดประสงค์ที่ขาย ก็เพื่อนำเงินมาเป็นทุนในการทำสงคราม
1
ค.ศ.1804 (พ.ศ.2347) ด้วยอำนาจที่เบ่งบาน ทำให้นโปเลียนขึ้นเป็น “จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (Napoleon I)” จักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส
ตุลาคม ค.ศ.1805 (พ.ศ.2348) กองทัพอังกฤษได้ถล่มกองเรือของนโปเลียนใน “ยุทธนาวีที่ทราฟัลการ์ (Battle of Trafalgar)” แต่ในเดือนธันวาคมของปีนั้น นโปเลียนก็เอาชัยได้ใน “ยุทธการที่เอาสเทอร์ลิทซ์ (Battle of Austerlitz)” โดยกองทัพของนโปเลียนสามารถเอาชนะกองทัพออสเตรียและรัสเซีย
ชัยชนะครั้งนี้ทำให้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ล่มสลาย และมีการก่อตั้ง “สมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ (Confederation of the Rhine)”
ตั้งแต่ปีค.ศ.1806 (พ.ศ.2349) นโปเลียนได้ก่อสงครามเศรษฐกิจกับอังกฤษ โดยมีการปิดล้อมท่าเรือต่างๆ ในยุโรป ไม่ให้อังกฤษทำการค้าได้
ค.ศ.1807 (พ.ศ.2350) ภายหลังจากรัสเซียพ่ายแพ้ต่อกองทัพของนโปเลียน “จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย (Alexander I of Russia)” จึงต้องลงพระนามในสนธิสัญญาสันติภาพ
1
ค.ศ.1809 (พ.ศ.2352) กองทัพฝรั่งเศสเอาชนะออสเตรียใน “ยุทธการที่วากรัม (Battle of Wagram)” ยิ่งทำให้อำนาจของนโปเลียนเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น
ในช่วงเวลาที่เรืองอำนาจนี้เอง นโปเลียนได้ทำการฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ฝรั่งเศส มีการแต่งตั้งยศให้เหล่าเพื่อนฝูงและคนใกล้ชิดและครอบครัวของตน ในขณะเดียวกัน อาณาจักรของนโปเลียนก็ขยายอาณาเขต ครอบคลุมไปยังดินแดนจำนวนมากในตะวันตกและตอนกลางของยุโรป
ค.ศ.1812 (พ.ศ.2355) นโปเลียนได้นำทัพบุกเข้าไปในรัสเซีย แต่แทนที่จะหาทางโต้กลับ รัสเซียกลับใช้ยุทธวิธีถอยทัพทุกครั้งที่กองทัพของนโปเลียนบุกมา
เมื่อเป็นอย่างนี้ กองทัพของนโปเลียนก็บุกลึกเข้าไปในรัสเซียลึกเข้าเรื่อยๆ ถึงแม้ว่ากองทัพของนโปเลียนจะเริ่มไม่พร้อมแล้วก็ตาม และทั้งฝ่ายนโปเลียนและรัสเซียก็ได้สูญเสียกำลังทหารเป็นจำนวนมากใน “ยุทธการที่โบโรดีโน (Battle of Borodino)”
กองทัพของนโปเลียนได้รุกเข้าไปในมอสโคว ก่อนจะพบว่าเมืองเกือบทั้งเมืองได้กลายเป็นเมืองร้าง ประชากรได้อพยพออกไปเกือบหมดแล้ว
ในขณะเดียวกัน กองทัพรัสเซียได้จุดไฟเผาเมืองเพื่อทำลายเสบียงของกองทัพ
ภายหลังจากเฝ้ารอให้รัสเซียยอมแพ้ หากแต่กองทัพรัสเซียก็ไม่ยอมแพ้ และกองทัพโปเลียนก็ต้องเผชิญกับฤดูหนาวของรัสเซียที่กำลังมาถึง ทำให้กองทัพของนโปเลียนซึ่งขาดทั้งเสบียง ทั้งต้องเผชิญกับอากาศหนาว ต้องถอยทัพในที่สุด
ในระหว่างทางถอยทัพ กองทัพของนโปเลียนที่อ่อนระโหยโรยแรง ก็ต้องพบกับกองทัพรัสเซียที่ซุ่มอยู่ ทำให้ในศึกครั้งนี้ กองทัพของนโปเลียนที่ยกทัพไปกว่า 600,000 นาย เหลือรอดกลับมาเพียง 100,000 นายเท่านั้น
ในช่วงเวลาเดียวกัน กองทัพฝรั่งเศสก็ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับ “สงครามคาบสมุทร (Peninsular War)” ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของสเปนและโปรตุเกส โดยได้รับความช่วยเหลือจากอังกฤษ สามารถขับไล่กองทัพฝรั่งเศสออกไปจากคาบสมุทรไอบีเรีย
ความพ่ายแพ้ยังไม่จบ ต่อมา ค.ศ.1813 (พ.ศ.2356) นโปเลียนก็ต้องพ่ายแพ้ใน “ยุทธการที่ไลพ์ซิช (Battle of Leipzig)” โดยกองทัพของนโปเลียนพ่ายแพ้แก่กองทัพของชาติต่างๆ ในฝรั่งเศส ทั้งกองทัพออสเตรีย ปรัสเซีย รัสเซีย และสวีเดน
5
จากนั้น นโปเลียนก็ถอยทัพกลับฝรั่งเศส แต่ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1814 (พ.ศ.2357) ปารีสก็ถูกกองทัพต่างชาติเข้ายึด
6 เมษายน ค.ศ.1814 (พ.ศ.2357) นโปเลียนถูกบังคับให้สละบัลลังก์ และถูกเนรเทศไปยังเกาะเอลบา ซึ่งเป็นเกาะในเมดิเตอเรเนียน นอกชายฝั่งอิตาลี
นโปเลียนมีอำนาจปกครองเกาะเอลบา หากแต่ครอบครัวของเขาถูกส่งไปออสเตรีย
26 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1815 (พ.ศ.2358) หลังจากถูกเนรเทศมาไม่ถึงหนึ่งปี นโปเลียนก็หนีออกจากเกาะเอลบา โดยล่องเรือพร้อมผู้ติดตามกว่า 1,000 คน มุ่งหน้ามายังฝรั่งเศส
20 มีนาคม ค.ศ.1815 (พ.ศ.2358) นโปเลียนกลับมาถึงปารีส ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากรอต้อนรับเขาอยู่
1
การกลับมาของนโปเลียน ทำให้ “พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส (Louis XVIII)” ต้องเสด็จหนี และนโปเลียนก็ได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง
พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส (Louis XVIII)
การกลับมาฝรั่งเศสของนโปเลียน ทำให้พันธมิตรต่างๆ ในยุโรป ทั้งออสเตรีย อังกฤษ ปรัสเซีย และรัสเซีย ซึ่งมองว่านโปเลียนเป็นศัตรูและภัยคุกคาม ได้จัดเตรียมกองทัพ พร้อมออกศึก
1
ทางด้านนโปเลียน ก็ได้จัดทัพ และวางแผนจะบดขยี้กองทัพพันธมิตรไปทีละกอง ก่อนที่กองทัพพันธมิตรจะรวมตัวกันโจมตีเขา
1
มิถุนายน ค.ศ.1815 (พ.ศ.2358) กองทัพของนโปเลียนได้เข้ารุกรานเบลเยียม ซึ่งในเวลานั้น กองทัพอังกฤษและปรัสเซียได้ประจำการอยู่ในเบลเยียม
16 มิถุนายน ค.ศ.1815 (พ.ศ.2358) กองทัพของนโปเลียนได้พิชิตกองทัพปรัสเซียใน “สมรภูมิลิกนี่ (Battle of Ligny)” หากแต่อีกสองวันต่อมา ในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1815 (พ.ศ.2358) กองทัพฝรั่งเศสก็ถูกกองทัพอังกฤษ ซึ่งได้กำลังเสริมจากกองทัพปรัสเซีย บดขยี้
ความพ่ายแพ้นี้ ทำให้ในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1815 (พ.ศ.2358) นโปเลียนได้ถูกบังคับให้สละบัลลังก์อีกครั้ง
ตุลาคม ค.ศ.1815 (พ.ศ.2358) นโปเลียนถูกเนรเทศไปยังเกาะเซนต์เฮเลนา ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก ก่อนจะเสียชีวิตที่เกาะนี้ในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ.1821 (พ.ศ.2364) ด้วยวัย 51 ปี โดยสาเหตุนั้น คาดว่าเกิดจากมะเร็งกระเพาะอาหาร
แต่ถึงจะเสียชีวิต แต่วีรกรรมของนโปเลียนก็ยังคงอยู่และเป็นที่เล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน
หลายคนมองว่าเขายิ่งใหญ่ หลายคนมองว่าเขาเป็นคนที่คบไม่ได้ หลายคนก็มองว่าเขาไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น
1
แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้จะเสียชีวิตมานานนับร้อยปี แต่ชื่อเสียงของเขาก็ยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
ผมขออนุญาตหยิบยกคำพูดของนโปเลียนบางประโยคมาให้ผู้อ่านลองดูนะครับ อาจจะทำให้เข้าใจถึงตัวตนของนโปเลียนได้มากขึ้น
“หนทางเดียวที่จะนำคนได้ ก็คือแสดงให้พวกเขาเห็นอนาคต ผู้นำคือผู้ที่นำพาความหวัง”
“ห้ามรบกวนศัตรูในขณะที่พวกเขากำลังทำผิดพลาด”
“เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ล้มเหลวแทนที่จะประสบความสำเร็จ นั่นก็คือพวกเขายอมเอาสิ่งที่ต้องการมากที่สุด ไปแลกกับสิ่งที่ต้องการในขณะนั้น”
“หากต้องการจะประสบความสำเร็จในโลกนี้ จงสัญญาทุกอย่าง แต่ไม่ต้องทำซักอย่าง”
และนี่คือ “นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)” ครับ
โฆษณา