17 ต.ค. 2021 เวลา 10:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Charlie and the Chocolate Factory(2005) : ย้อนวันวานโรงงานช็อกโกแลต
สวัสดีผู้อ่านและผู้ติดตามที่น่ารักทุกท่านค่ะ
สำหรับตอนนี้ลี่ก็จะมาพูดถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่มีโอกาสได้กลับไปดูอีกครั้งหลังจากผ่านไปนานถึง 10 ปีกันค่ะ ซึ่งภาพยนตร์ที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ก็คือภาพยนตร์เรื่อง “Charlie and the Chocolate Factory (2005)” กำกับโดย ทิม เบอร์ตัน นั่นเอง
Charlie and the Chocolate Factory (2005)
ขออนุญาตเกริ่นก่อนว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ลี่กลับไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง เป็นเพราะเมื่อไม่นานมานี้ลี่มีโอกาสได้อ่านวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง Charlie and the Chocolate Factory เขียนโดย โรอัลห์ ดาห์ล นักเขียนวรรณกรรมสำหรับเด็กขวัญใจนักอ่านรุ่นเล็กไปจนถึงรุ่นใหญ่ทั่วโลก ซึ่งวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นฉบับภาษาไทยโดย สาลินี คำฉันท์ ในชื่อว่า โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์ ค่ะ
“โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์” เขียนโดย โรอัลห์ ดาห์ล แปลโดย สาลินี คำฉันท์
Charlie and the Chocolate Factory (2005) ในฉบับภาพยนตร์เป็นเรื่องราวการผจญภัยในโรงงานช็อกโกแลตของ ชาร์ลี บั๊คเก็ต เด็กน้อยที่แสนยากจน ท้องของเขาว่างเปล่าอยู่เสมอแต่หัวใจกลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักของพ่อ แม่ ปู่โจ ย่าโจเซฟีน ตาจอร์จ และยายจอร์จีน่า ทุกคนในครอบครัวสอนให้ชาร์ลีเป็นเด็กดี มีน้ำใจและมีมารยาท ที่สำคัญเหนืออื่นในปู่โจสอนให้เขามีความหวังและความฝันอยู่เสมอ
จนกระทั่งคุณวิลลี่ วองก้า เจ้าของโรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์ เปิดให้เด็กผู้โชคดีจำนวน 5 คนผู้มีตั๋วทองที่มีเพียง 5 ใบในโลกเข้าชมโรงงานของเขา ชาร์ลีคือผู้โชคดีคนสุดท้าย เด็กที่ร่ำรวยและนิสัยเสียอย่างออสกั๊สตั๊ส กลู้ป, ไม้ค์ ทีวี, เวรูก้า ซ้อลท์และไวโอเล็ต โบรีการ์ด ต่างทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ตั๋วทองนี้มา แต่กลับไม่เห็นคุณค่าของมัน และด้วยนิสัยเสีย ๆ ของพวกเขาก็ทำให้เด็กเหล่านี้สูญหายไประหว่างทางจนเหลือเพียงชาร์ลี บั๊คเก็ตเด็กชายที่คู่ควรที่สุดแต่เพียงผู้เดียว
ตลอดการเดินทางเที่ยวชมชาร์ลีไม่ได้เพียงแต่เป็นเด็กดีเท่านั้น แต่คำพูดของเขายังหยั่งลึกเข้าไปในหัวใจและความทรงจำที่ถูกแชร์แข็งเอาไว้ของคุณวองก้าอีกด้วย และเหตุนี้ทำให้ท้ายที่สุดชาร์ลีก็ได้รับของขวัญที่แม้แต่ตัวเขาเองก็คาดไม่ถึง
ซึ่งหลังจากอ่านวรรณกรรมจบ ลี่ก็รู้สึกประทับใจ จนอยากกลับไปดูภาพยนตร์อีกครั้ง แต่กลับไปดูคนเดียวก็คงจะเหงาแย่ใช่มั้ยคะ ในตอนนี้เราเลยมีแขกรับเชิญพิเศษ ผู้ที่หลงใหลในวรรณกรรมเยาวชนและโลกแห่งช็อกโกแลตเช่นเดียวกันกับลี่และทุก ๆ ท่าน
คนคนนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจาก
“คุณณฐอร มธุรส หรือ คุณหนูนา”
เพื่อนสนิทของลี่นั่นเองค่ะ ปัจจุบันคุณหนูนาประกอบอาชีพเป็นนักเขียนอิสระ อาสาสมัครทำกิจกรรมเพื่อเด็ก อ่านหนังสือให้คนตาบอดและกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ
🌷บรรยากาศการสัมภาษณ์ผ่านโปรแกรม Gather🌷
นอกจากจะเป็นนักเขียนอิสระและนักศึกษาผู้คลั่งไคล้การอ่านวรรณกรรมเยาวชนแล้ว คุณหนูนายังชื่นชอบการกินช็อกโกแลต การเล่นเกม และการชมภาพยนตร์เป็นชีวิตจิตใจอีกด้วย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานเขียนดี ๆ และช่วยทำให้เธอได้พัฒนาจิตใจ
ซึ่งหลังจากที่ลี่ได้อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ และชวนคุณหนูนากลับไปดูเรื่อง Charlie and the Chocolate Factory (2005) พร้อมกันอีกครั้ง ในวันนี้เราก็จะมาพูดถึงประเด็นที่น่าสนใจของภาพยนตร์ในฐานะนิสิตเอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก รวมถึงความรู้สึกหลังกลับมาชมเมื่อเวลาผ่านไปกว่าสิบปีด้วยกันค่ะ
ก่อนอื่นเราต้องย้อนกลับไปถึงครั้งแรกที่คุณหนูนารู้จักภาพยนตร์เรื่อง Charlie and the Chocolate Factory กันก่อน คุณหนูนาเล่าว่าเมื่อครั้งยังเด็ก เธอและครอบครัวมักจะชอบแวะที่ร้านเช่า CD (ซึ่งในเมื่อสิบปีก่อนมีอยู่อย่างแพร่หลาย ก่อนจะมาถึงยุคแพตฟอร์มดิจิตอลในปัจจุบัน)
โดยคุณแม่ของเธอชื่นชอบ Johnny Depp เป็นอย่างมากจึงเลือกภาพยนตร์เรื่อง Charlie and the Chocolate Factory (2005) กลับมาดูที่บ้านด้วยกัน ครั้งแรกที่ได้รู้จักเรื่องนี้เธอรู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ปกเป็นไม่สวยและน่าสนใจ แต่หลังจากที่ได้ชมเรื่องราวของชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์ เรื่องนี้ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอชื่นชอบการกินช็อกโกแลตมาจนถึงปัจจุบัน
ในสมัยเด็กเธอจำได้ดีว่าหลังจากชมภาพยนตร์เรื่องนี้เธอทั้งรู้สึกสนุก ตื่นเต้นและระทึกใจไปกับเรื่องราวในหนัง แต่สิ่งสำคัญที่เธอได้เรียนรู้ ณ เวลานั้นคือ เธอมีนิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ จากเด็กนิสัยไม่น่ารักทั้ง 4 ในเรื่อง และได้เห็นพฤติกรรมของชาร์ลีเปรียบเทียบกัน ซึ่งส่วนนี้ทำให้เธออยากที่จะเป็นคนที่ดีขึ้นได้อย่างหนูน้อยชาร์ลี
หนูน้อยชาร์ลี บั๊คเก็ต ในภาพยนตร์ฉบับปี ค.ศ.2005
และแน่นอนว่าเมื่อกล่าวถึงประเด็นนิสัยของเด็ก ๆ ในเรื่อง ในฐานะผู้ที่ศึกษาด้านวรรณกรรมเด็กอย่างจริงจัง เราทั้งสองคนจึงไม่พลาดที่จะพูดคุยกับถึงประเด็นที่ภาพยนตร์และหนังสือกล่าวถึง โดยส่วนตัวแล้วคุณหนูนาและลี่ ดูภาพยนตร์ก่อนที่จะได้อ่านฉบับวรรณกรรม แต่หลังจากที่ได้ชมและอ่านแล้ว
พวกเรามีความเห็นตรงกันว่า ทั้งในฉบับภาพยนตร์และวรรณกรรมสามารถถ่ายทอดประเด็นเรื่องการเลี้ยงดู และพัฒนาการของเด็กออกมาได้เป็นอย่างดี การสะท้อนภาพปัญหาการเลี้ยงดูที่ทำให้เกิดนิสัยต่าง ๆ ของเด็ก ๆ อย่างสุดโต่งในทั้งสองสื่อ ทำให้ผู้ชมและผู้อ่านเห็นถึงความสำคัญของผลกระทบที่สื่อ และพ่อแม่มีต่อเด็ก ๆ
รวมถึงเรื่องนี้ยังมีการเสียดสีสังคมในเรื่องของชนชั้นและสะท้อนแก่นสำคัญที่ว่า เด็กไม่ได้ต้องการพ่อแม่ที่ร่ำรวย ตามใจและให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ
แต่เด็กต้องการสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ ต่อพวกเขา เช่น ความรัก ความอบอุ่น การอบรมด้วยความเข้าใจและความเอาใจใส่ในความฝันของพวกเขา ดังเช่นที่ชาร์ลี บั๊คเก็ตได้รับต่างหาก และหากกล่าวถึงความโดดเด่นที่แตกตางกันจากทั้งสองรูปแบบแล้ว
ข้อดี อย่างยิ่งประการหนึ่งที่ปรากฎในภาพยนตร์เรื่อง Charlie and the Chocolate Factory (2005) คือการตีความเบื้องลึกของตัวละครคุณวองก้ามากขึ้น ส่วนนี้ทำให้ภาพยนตร์มีน้ำหนักและเหตุผลในการรับรอง
เหตุการณ์ต่อมาที่ชาร์ลีได้รับมรดกจากคุณวองก้า
ทั้งยังทำให้ตัวละครวิลลี่ วองก้ามีมิติในด้านปมปัญหาของตัวละคร การยอมรับตัวตนของตนเองเพื่อเยียวยาบาดแผลในจิตใจที่มีต่อครอบครัวมากขึ้น ส่วนนี้ช่วยเสริมประเด็นเรื่องความสำคัญของความเข้าใจในสายสัมพันธ์ของครอบครัวได้เป็นอย่างดี
ซึ่งในขณะเดียวกันเมื่อพูดถึงฉบับวรรณกรรม ในเรื่องของภาษาที่ใช้ เพลงที่อูมปา-ลูมป้าส์ร้อง รายละเอียดของเหตุการณ์ ความสัมพันธ์ของตัวละครและรายละเอียดต่าง ๆ ของฉากก็บรรยายออกมาได้ดีและมิติกว่าฉบับภาพยนตร์
เรียกได้ว่า ถ้าหากคุณอยากทำความรู้จักกับชาร์ลี คุณวิลลี่ วองก้าและโรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์ของพวกเขาแล้วล่ะก็ คุณไม่ควรพลาดที่จะทำความรู้จักกับพวกเขาทั้งในรูปแบบของวรรณกรรมและภาพยนตร์เลยทีเดียว
นอกจากนี้คุณหนูนายังฝากเกร็ดเล็ก ๆ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบหนังสือและภาพยนตร์เรื่อง Charlie and the Chocolate Factory (2005) ไว้ด้วยว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เคยได้รับการนำมาสร้างในปี ค.ศ. 1971 มาแล้ว ซึ่งหากใครสนใจก็ยังพอหาชมได้อยู่เช่นกัน
Willy Wonka and the Chocolate Factory (1971)
และสำหรับแฟนวรรณกรรม ลี่ขอแนะนำว่าหากคุณชื่นชอบเรื่อง “โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์” ก็อย่าพลาดอ่านภาคต่อของหนังสือเล่มนี้ในชื่อ “ลิฟต์มหัศจรรย์” ซึ่งตีพิมพ์เป็นฉบับภาษาไทยแล้วโดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อนะคะ สนุกสนานเหนือจินตนาการ (แบบหลุดออกนอกโลกไปเลย) อีกเช่นเคย
“ลิฟต์มหัศจรรย์” เขียนโดย โรอัลห์ ดาห์ล แปลโดย สาลินี คำฉันท์
สุดท้ายก่อนจากกันไปในตอนนี้ ลี่ขอฝากข่าวสารดี ๆ เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง Charlie and the Chocolate Factory ไว้สักเล็กน้อยนะคะ ภายในปี 2023 ที่จะถึงนี้ เรื่อง Charlie and the Chocolate Factory จะได้รับการนำมาทำเพิ่มโดยการตีความใหม่ในชื่อว่า Wonka (2023) ซึ่งจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคุณวิลลี่ ว้องก้า ในวัยหนุ่มก่อนที่เขาจะมาทำโรงงานช็อกโกแลต
Timothée Chalamet ในบทบาท Willy Wonka
ในเวอร์ชั่นปี 2023 นี้กำกับโดย พอล คิง ผู้กำกับที่เคยฝากผลงานไว้ในเรื่อง Peddington และนำแสดงโดย ทิโมธี ชาลาเมต์ นักแสดงมากฝีมือจากภาพยนตร์เรื่อง The King (2019) Little Women (2020) และ Dune (2021) ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องล่าสุดที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อไม่นานมานี้
ผลงานภาพยนตร์ที่นำแสดงโดย ทิโมธี ชาลาเมต์
หากผู้อ่านท่านใดสนใจก็อย่าลืมติดตาม และรอชมภาพยนตร์เรื่องนี้ไปด้วยกันนะคะ ถ้าหากมีข่าวสารภาพยนตร์หรือหนังสือดี ๆ เรื่องใดเพิ่มเติม ลี่จะคอยมาอัพเดทให้ทุกท่านทราบทางเพจ Linderelly และช่องทางต่าง ๆ แน่นอนค่ะ
สุดท้ายนี้ลี่ขอขอบคุณหนูนาที่กลับมาย้อนวันวานด้วยกัน และลี่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับแรงบันดาลใจในการชมภาพยนตร์ดี ๆ และมีความสุขกับภาพยนตร์ในดวงใจ รวมถึงเพลิดเพลินหนังสือน่าอ่านที่ลี่กับหนูนานำมาพูดคุยและแนะนำกันในวันนี้นะคะ ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพ แล้วพบกันให้ในตอนหน้าค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา