16 ต.ค. 2021 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
ทำงานให้เหมือนเล่นเกม! อยากก้าวหน้าในชีวิต ต้องลองคิดแบบเกมเมอร์
11
ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหนก็ตาม นักเรียน คนทำงานออฟฟิศ นักประดิษฐ์ ผู้จัดการ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือนักธุรกิจรายใหญ่ ทุกคนล้วนมีเป้าหมายของตัวเองกันทั้งนั้น และกว่าจะไปถึงยังปลายทางที่ตั้งไว้ เราก็จะต้องผ่านด่านและบททดสอบต่างๆ มากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้นี่แหละที่ชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว พวกเราก็คือ “ผู้เล่นเกม” หรือ “เกมเมอร์” (Gamer) นั่นเอง
1
“เกมเมอร์” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผู้เล่นที่มีภารกิจให้ผ่านไปแต่ละด่าน เพื่อทำลายล้างเหล่าเอเลียน หรือสังหารบอสตัวร้ายที่คอยโจมตี แต่หมายถึง “ผู้เล่นที่มีการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์” (Strategic Decision Making) และ “ลงมือทำอย่างมีแบบแผน” เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปยังเป้าหมายที่ตั้งไว้
7
“แค่มีกลยุทธ์ก็เท่ากับได้ก้าวเข้าไปในโลกแห่งเกมแล้ว”
3
การจะเป็นผู้เล่นเกมที่ดีนั้นจะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เป็นผู้หยั่งรู้ และปรับตัวได้ กล่าวคือ ทุกการกระทำจะต้องผ่านการคิด การไตร่ตรองก่อนเสมอ มีการวางแผนอย่างชาญฉลาดและมีสติ เพื่อไปยังเป้าหมายที่ชัดเจน และกลายเป็น “ผู้ชนะ” ในที่สุด หากเรามีสิ่งเหล่านี้ เท่ากับว่าตอนนี้เรากำลังสวมบทบาท “ผู้เล่นเกม” และก้าวขาเข้าไปในเกมเรียบร้อยแล้ว
6
แต่จะทำอย่างไรให้เราเป็นผู้เล่นที่มีประสิทธิภาพ และสามารถไปยังเป้าหมายจนกลายเป็นผู้ชนะในเกมชีวิตเกมนี้ ลองมาดูวิธีคิดในแบบฉบับเกมเมอร์กัน!
1
1. เรากำลังเล่นเกมอะไรอยู่
[ ] ขึ้นไปทีละขั้น ตามแบบแผนที่วางไว้
[ ] ทำตามคำสั่งหัวหน้า
[ ] ไล่ตามฝัน ทำตามใจตัวเอง
[ ] ทุ่มเท ทำงานหนักเท่าที่จะทำได้
[ ] หาเงินเพื่อใช้ชีวิต
[ ] สร้างความโดดเด่นให้ตัวเอง
[ ] ทำบางสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนให้สำเร็จ
[ ] ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี สร้างทีมเวิร์กที่ดี
[ ] ทำต่อไป ไม่ถอยจนกว่าคนอื่นจะยอมแพ้
[ ] เล่นเพื่อชนะ ไม่ใช่เพื่อแพ้ ไม่ยอมเป็นที่สอง
7
ลองเช็กดูว่าเป้าหมายของเราคืออะไร กลยุทธ์อะไรบ้างที่ทำให้เรามีจุดขายและกลายเป็นจุดแข็งให้กับตัวเองได้ นอกจากนี้ เราควรถามตัวเองด้วยว่า สิ่งที่เป็นอยู่มันเหมาะกับเราแล้วจริงๆ ไหม เราทำมันได้ดีจริงๆ สามารถใช้ทักษะต่างๆ ที่มีได้อย่างเต็มที่ หรือแค่รู้สึกสบายใจและมองว่ามันเป็นเพียง Comfort Zone เท่านั้น เพราะการมีเป้าหมายที่ชัดเจนจากการทำสิ่งที่ชอบและเป็นตัวเราจริงๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จอีกเท่าตัว
2
2. อะไรทำให้เกมนั้นคุ้มค่าที่จะเล่น
หากถามคำถามกับช่างก่ออิฐ 3 คนว่า “พวกคุณกำลังทำอะไรอยู่?” คนแรกตอบว่า “กำลังทำงานอยู่” คนที่สองตอบว่า “กำลังหาเลี้ยงครอบครัว” และคนสุดท้ายตอบว่า “กำลังสร้างอนุสาวรีย์ที่จะคงอยู่ไปอีกยาวนานหลายศตวรรษ” จากคำตอบของทั้ง 3 คน ขณะที่พวกเขากำลังทำสิ่งเดียวกันแต่กลับได้คำตอบกลับมาคนละแบบ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า แรงจูงใจของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ดังนั้น ลองย้อนกลับมาคิดเกี่ยวกับเกมของเรากันบ้าง ว่าแรงจูงใจที่ทำให้เราเล่นเกมคืออะไร
3
ตามหลักการแล้ว ทุกเกมที่เราเล่นจะเป็นตัวกระตุ้นให้เราทำบางสิ่งบางอย่าง เช่น ทำให้รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ทำเพื่ออะไร และผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร หรือเรียกอีกอย่างว่าการมีเป้าหมาย ในทางกลับกัน หากเรารู้สึกเครียด เบื่อ ว่างเปล่า และกำลังโหยหาบางสิ่ง หากเป็นเช่นนั้นแล้วอาจจะต้องพิจารณาว่าควรจะเปลี่ยนเกมที่กำลังเล่นอยู่หรือไม่ ผ่าน 2 ทางเลือก คือ การกำหนดเป้าหมายใหม่ และการเปลี่ยนแรงจูงใจ นั่นเอง
2
3. ใครเป็นผู้ตั้งกฎในเกม
หากพูดถึง “กฎ” นั้นมีหลายแบบ ทั้ง “กฎที่ตั้งไว้แล้ว” ไม่ว่าเราจะพยายามแค่ไหนก็ไม่สามารถเปลี่ยนมันได้เลย อย่างกฎทางฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ ในอีกทางหนึ่ง ยังมี “กฎที่เราสร้างขึ้นมาเอง” ที่เกิดจากนิสัย ความเชื่อ สมมติฐาน ประสบการณ์ และอีกมากมาย เรียกได้ว่ามีผลต่อการตัดสินใจในการทำงานและชีวิตส่วนตัวของเราได้
หากเราต้องเลือกระหว่าง “เกมที่มีความเสี่ยงต่ำ” กับ “เกมที่มีความท้าทาย” จะตัดสินใจเลือกอะไร ทุกการเลือกและตัดสินใจล้วนขึ้นอยู่กับเรา ผ่านกฎและข้อจำกัดที่เราเป็นผู้กำหนดเอง เช่น หากวางแผนจะสร้างครอบครัว การเลือกงานที่มั่นคงน่าจะเหมาะกว่าการเลือกงานที่มีความท้าทาย เป็นต้น
4. เราให้คะแนน/นับแต้มอย่างไร
หากมองในมุมมองธุรกิจ จะมีคำว่า “ส่วนแบ่งการตลาด” หรือ “Market Share” คือ ตัวเลขหรือเปอร์เซ็นต์ที่ใช้บอกสัดส่วนของยอดขาย เมื่อเทียบกับยอดขายสินค้าในแบบเดียวกันจากทุกแบรนด์ ซึ่งเป็น “เกมผลรวมศูนย์” หรือ “Zero-Sum Game” ที่จะมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะอยู่ในเกม หากเราเป็นผู้ชนะ เราจะได้ผลประโยชน์มากกว่าฝ่ายที่แพ้
2
หลายคนต่างก็ต้องการ “ก้าวไปข้างหน้า” แต่คำถามคือ เราจะก้าวไปข้างหน้าใคร?
“การได้ก้าวไปข้างหน้า” อาจเป็นเพียงความรู้สึกที่ได้ชนะใครสักคน มีบางคนที่ช้ากว่าเรา และตามเราอยู่ข้างหลังเท่านั้นหรือเปล่า เราต้องลองหาคำตอบให้ตัวเองได้ว่า “ชัยชนะที่แท้จริง” สำหรับเรานั้นคืออะไรกันแน่ เงิน ชื่อเสียง ภาระหน้าที่ ความสุข ความพึงพอใจ ผลงาน การมีผู้ติดตาม ความมั่นคงปลอดภัย ชีวิตที่เรียบง่าย โลกที่สงบสุข และอีกมากมาย เพราะการอยู่เหนือกว่าคนอื่นอาจไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกประสบความสำเร็จเสมอไป
4
5. เรากำลังเล่นเกมของใคร
ตั้งแต่เด็กจนโต หลายคนต่างอยู่กับความคาดหวังของคนอื่น เราต้องทำแบบนี้เท่านั้นถึงจะเป็นที่ยอมรับของ “คนอื่น” และ “สังคม” ข้อความเหล่านี้ถูกส่งต่อกันมาเรื่อยๆ ทั้งผ่านภาพยนตร์ เพลง อาจารย์ ญาติ แม้กระทั่งเรื่องราวชีวิต ประสบการณ์ต่างๆ ของศิลปินที่มีชื่อเสียง อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีเด็กคนไหนพูดออกมาว่า “เมื่อโตขึ้น ผมจะทำตามสิ่งที่สังคมคาดหวังให้เป็น” หรือ “หนูไม่มีความฝัน ทำอะไรก็ได้ที่ทุกคนอยากให้ทำ” สุดท้ายแล้ว เราคือผู้เดินเกมและเป็นผู้กำหนดเลือกอาชีพและทางเดินให้ตัวเอง ตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน เราอาจลองเปลี่ยนเกมไปหลายรอบแล้ว และอาจจะเปลี่ยนมันอีกครั้งก็เป็นได้ เพื่อค้นหาตัวเองและค้นพบสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสู่เป้าหมายที่เราเป็นผู้กำหนดเอง
3
มีเพียงเราเท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดและตัดสินใจว่าอะไรคือสิ่งที่ดีและเหมาะสมกับเรามากที่สุด ประสบการณ์ต่างๆ จะสอนให้เรารู้ได้เองว่าเกมแบบไหนที่เหมาะกับเรา และเราควรจะลงเล่น เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือการมีเป้าหมายที่ชัดเจนและกลยุทธ์ที่แข็งแกร่ง จะสามารถทำให้เราเป็นผู้ชนะในเกมที่เราเลือกเองได้แน่นอน
แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3ayK56F
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration
โฆษณา