21 ต.ค. 2021 เวลา 11:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
รีวิว Fight Club : หนังปรัชญาสุดดิบ หักมุมสุดว้าว และเสียดสีสังคมอย่างสุดเจ็บแสบ
Fight Club ดิบดวลดิบ
เป็นหนังที่เท่ ถ่อย คมกริบบาดตาบาดใจ ไม่แปลกที่ทำไมถึงมีคนรัก Fight Club มากขนาดนี้
หนังเล่าถึงชายคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตวนลูปไปกับการทำงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า พร้อมกับอาการนอนไม่หลับหลายเดือนที่ทำให้ชีวิตเขาดูซอมซ่อเต็มที วันนึงเขามีโอกาสได้รู้จักกับ ‘ไทเลอร์’ ผู้ทำให้เขาได้พบ ‘FIGHT CLUB’ และนั่นจะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล
ไม่รู้ว่าทั้งผู้กำกับ ผู้เขียนบทกินอะไรเขาไป ถึงได้สร้างความ Fight Club นี่ออกมาเป็นหนังให้เราดูได้แบบนี้ ทุกอย่างในหนังมันเท่ไปหมด มันเป็นความเท่แบบดิบ เถื่อน แต่น่ามอง ไม่ว่าจะเป็นโทนสี ภาพ มุมกล้อง การเล่าเรื่อง หรือแม้แต่บทที่ออกมาจากปากของตัวละคร ทุกอย่างมันลงตัวจนเหมือนหนังเองได้สร้าง ‘ความเป็น fight club’ ในตัวเองขึ้นมา โควทแปลกๆ อย่าง
‘กฏข้อแรกคือห้ามพูดถึงไฟต์คลับ’
กลายเป็นโควทประจำหนังที่เท่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาเลย หนังเรื่องนี้สร้างวัฒนธรรมของตัวเองขึ้นมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ
บทบาทของ Edward Norton และ Brad Pitt ใน fight club นั้นดีมากๆ เราชอบสายตาและท่าทางของเอ็ดเวิร์ดมาก เขาสามารถส่งความหมดอาลัยตายอยากในชีวิตออกมาในตอนต้นเรื่อง และค่อยๆ พัฒนาพาตัวละครของตัวเองไปจนถึงความคลั่งขั้นสุดได้อย่างเป็นธรรมชาติ
สำหรับ Brat Pitt เรื่องนี้เท่มาก! เป็นหนังที่เรามองว่าแบรดพิตต์เท่ที่สุดตั้งแต่เคยดูมา เขาดูเหมือนหัวหน้าฝูงหมาป่าอะไรทำนองนั้น ไม่แปลกใจทำไมถึงกลายมาเป็นไทเลอร์ได้
สิ่งที่ชอบที่สุดเกี่ยวกับตัวละครคือซีนชกต่อยกันใน fight club ไม่รู้ว่าเพราะอะไรแต่มันดิบได้ใจมากจริงๆ เหมือนกับห้องใต้ดินนั้นมันเต็มไปด้วยฮอร์โมนเพศชายที่พลุ่งพล่าน ความกระหาย และอารมณ์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาผ่านการต่อสู้ เรามองเห็นสาเหตุที่คนกลุ่มนึงเลือกที่จะมารวมตัวกันระบายความอัดอั้นตันใจและความเฮงซวยในชีวิตยามเช้าของพวกเขาผ่านห้องใต้ดินนี่ผ่านอารมณ์ที่ครุกกรุ่นอยู่ในนั้น เรารับมันได้ผ่านจอทีวี ซึ่งมันอัศจรรย์และมีพลังมากๆ สำหรับเรา
Fight Club เป็นหนังปรัชญาแต่นำเสนอในมุมที่สุดโต่งมากๆ มันทำให้เรามองเห็นโลก เห็นสังคมในมุมที่บางทีอาจจะไม่เคยคิด คำพูดหลายๆ ประโยคของตัวละครที่มันจึ้กใจได้ อาจเพราะว่ามันสุดจัด ไม่ใช่แค่ในแง่คำพูดสวยๆ เท่ๆ แต่รวมถึงการกระทำของตัวละคร เราว่านี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนดูเข้าถึงและเก็ตพ้อยของตัวละครไทเลอร์ ว่าเขาเป็นใคร เขาต้องการอะไร และเขาเข้ามาในหนังเรื่องนี้ได้ยังไง เราชอบความไปสุดของหนัง มันไปสุดซะจนดูๆ ไปแล้วเกือบจะกลายเป็นความ surreal ไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ถูกปัจจัยบางอย่างตบมันเข้ามาให้มัน base on ความเป็นจริงในโลกเราได้อยู่ดี ชอบ!
9/10
ดูจบแล้วมาคุยกัน
มีคนบอกว่าหนัง base on เรื่องราวของระบบนาซี ซึ่งพอคิดดูดีๆ แล้ว เรื่องราวมันเกิดจากการที่ผู้เล่าเรื่องกลายเป็นคนไร้ความรู้สึกในชีวิตจริงของเขา เขากลายเป็นคนไร้ซึ่งความรู้สึกของการเป็นมนุษย์จนถึงขั้นต้องไปรวมกลุ่มบำบัด มันเลยทำให้เขาสร้างตัวตนของคนที่เขาอยากจะเป็น ตัวตนของอิสระที่เขาจะสามารถทำอะไรก็ได้
‘เพราะเมื่ออยู่ในจุดที่ไม่มีอะไรจะเสีย เราจะเป็นอิสระ’
ในชีวิตจริงของผู้เล่าเรื่องไม่สามารถทำอะไรในแบบที่ไทเลอร์ทำได้เลย และมันมีคนอีกมากมายในสังคมที่เป็นแบบนี้ ผู้ตกอยู่ใต้อำนาจของระบอบบางอย่างจนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใครอีกต่อไป Fight Club คือสถานที่ที่ผู้คนสามารถระบายความรู้สึกต่ำต้อยและไร้ซึ่งความหมายนั้นออกไป ที่นี่ไม่ต้องสวมเสื้อ ไม่ต้องสวมเครื่องประดับ ทุกคนมีโอกาสแพ้ มีโอกาสชนะ ได้เป็นผู้ถูกมองเห็น (สู้กันได้ครั้งละคู่ ตัวต่อตัว และคนมาใหม่จะต้องสู้ในคืนนั้น มันทำให้ทุกคนมีสปอร์ตไลต์โมเม้นของตัวเอง) จึงไม่แปลกใจว่าทำไมถึงมีคนเข้ามารวมกลุ่ม และจงรักภักดีต่อกลุ่มมากขนาดนี้
ความเป็นกลุ่มที่สร้างความหมายต่อชีวิตพวกเขา มันทำให้คำสั่งของ ‘ไทเลอร์’ ผู้เป็นหัวหน้าสถานที่ที่มีความหมายแบบนี้กลายเป็นที่สุด ทุกคนเทิดทูน ภักดี และเชื่อฟังคำสั่งของเขาทุกอย่างจนเหมือนโดนล้างสมอง มันสะสมจนกลายเป็นก้อนอุดมการณ์ขนาดใหญ่ ที่ไม่มีใครในกลุ่มคิดจะต่อต้านมันอีกแล้ว เราว่ามันไม่ได้ต่างจากระบอบนาซีที่ฮิตเลอร์เป็นคนปกครอง สุดท้ายกลายเป็นว่าผู้ตามเหล่านี้ก็เหมือนโดนล้างสมอง ซึ่งมันก็ไม่ได้ทำให้พวกเขากลายเป็นมนุษย์มากกว่าก่อนหน้านี้เลยแม้แต่น้อยเหมือนกัน เพียงแค่หลุดออกมาจากระบอบเดิมและเข้ามาอยู่ในระบอบใหม่เท่านั้นเอง
เราชอบการใส่อาการนอนไม่หลับเข้ามาในเรื่อง เคยอ่านหนังสือเล่มนึง เขาบอกว่า การนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญ มีเหตุผลลับอีกข้อนั่นคือ ‘ความฝัน’ ภายในมนุษย์เรามีจิตใต้สำนึกที่ถูกกักขังไว้อยู่ในใจ ด้วยความที่เราเป็นมนุษย์ เราจึงสามารถเก็บสัญชาตญาณตรงนั้นไว้ได้ และเจ้าสิ่งนั้นถูกปลดปล่อยออกมาในความฝัน (เรามักจะฝันในเรื่องบ้าๆ ที่ไม่อาจเกิดขึ้น หรือไม่ได้เป็นตัวเราเลย) เมื่อไหร่ที่มนุษย์ไม่ได้หลับ พวกเขาจะไม่ได้ฝัน และสัญชาตญาณดิบตรงนั้นจะถูกปล่อยออกมา ในเรื่องนี้ ตัวตนที่ผู้เล่าเรื่องกักเก็บไว้ในใจคือ ‘ไทเลอร์’ ผู้ซึ่งเต็มไปด้วยความอึดอัด ความเศร้า ความกลัว และความเกลียดต่อระบอบสังคมทุนนิยมจนอยากจะที่หลบหนีและทำลายล้างมันให้หมดสิ้น
สิ่งที่ยิ่งทำให้เชื่อว่าผู้เล่าเรื่องจะสามารถสร้างตัวละครไทเลอร์ขึ้นมาได้อีกอย่างนึงคือการที่เขาถึงขั้นต้องไปรวมกลุ่มบำบัด ซึ่งเป็นกลุ่มบำบัดของคนเป็นโรคร้ายแรง คนกำลังจะตาย คนที่เต็มไปด้วยความเศร้า เพราะเขาต้องการไปสัมผัสถึง ‘ความเจ็บปวดของจริง’ อย่างที่คุณหมอบอก ซึ่งจากในเรื่อง ตัวผู้เล่าเรื่องเองไม่ได้มีท่าทีเศร้าหรือเห็นใจคนที่มาบำบัดเลยด้วยซ้ำ เรามองว่าตัวเขาเองกลายเป็นคนในระบอบที่ไร้ความรู้สึกของความเป็นมนุษย์จนถึงขั้นต้องไปตามหาสิ่งที่ทำให้เขารู้ว่าเขายังรู้สึกอยู่ เหมือนคนกรีดข้อมือตัวเองที่กรีดให้รู้ว่าตัวเองยังมีความรู้สึกเจ็บปวดอยู่นะ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าตัวเขาเองแทบจะไร้ซึ่งความเป็นคนไปแล้วจากการถูกกดไว้ด้วยระบอบต่างๆ รอบตัว
ซีนต่อยตัวเองเพื่อขู่หัวหน้างานของเอ็ดเวิร์ดคือยอดเยี่ยมมากๆ เรากลัวในแววตาโรคจิตแบบนั้นของเขา เขาทำให้เราเห็นว่าตัวละครนี้สามารถสร้างอีกบุคลิก ที่สามารถลุกขึ้นมาต่อยตีทำร้าย รวมถึงอาจจะฆ่าเขาได้จริงๆ
โฆษณา