17 ต.ค. 2021 เวลา 12:42 • ธุรกิจ
LVD135: คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของหัวหน้างานช่วง WFH
สวัสดีครับทุกท่าน ผมคิดว่าทุกวันนี้เพื่อนๆที่ทำงาน office น่าจะยังทำงานแบบ WFH กันอยู่และน่าจะทำแบบนี้มาซักพักแล้วนะครับ เวลาที่ผ่านไปเนิ่นนานทำให้เราเข้าใจเองว่าเราอาจจะค่อนข้างคุ้นชินกับการทำงานแบบ WFH แล้ว แต่จริงๆแล้ว การทำงานภายใต้สถานการณ์ WFH มันต้องอาศัยการปรับตัวอย่างมากเลยละครับ ปัญหาสำคัญที่สุดที่ผมพอจะนึกได้ คือ เรื่อง Team Engagement ถ้าเราไม่ได้ปรับเปลี่ยนตัวเอง เราจะถูกกลืนไปในปัญหาแน่นอน ถ้าผมจะเลือกปรับ skill ได้ซักหนึ่งเรื่อง ผมเลือก skill นี้ครับ ลองตามมาดูครับ
คือมันอย่างนี้ครับ…
ภายใต้สภาวะการทำงานแบบ WFH มันทำให้พื้นที่การทำงานกับพื้นที่ชีวิตส่วนตัวมาซ้อนทับกัน ปัญหาส่วนตัวเลยถูกเพิ่มความซับซ้อนและทำให้ปัญหาส่วนตัวมากระทบการทำงานมากขึ้น ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆเลย ก็เช่น คุณแม่มนุษย์เงินเดือนที่ต้องช่วยลูกทำการบ้านเรียนออนไลน์ ลูกเล็กที่ไม่เคยเข้าใจว่าคุณพ่อกำลังประชุมกับ Board of Director หรือแม้แต่หนุ่มอนาคตไกลที่กำลังทะเลาะกับแฟนจนขาดสมาธิ ทั้งหมดนี้ ดูเป็นเรื่องตลกที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน แต่เชื่อเถอะว่าปัญหาส่วนตัวพวกนี้เมื่อรวมกับ WFH มันทำให้ปัญหาแบบนี้กระทบการทำงานโดยตรงเลยละครับ
ปัญหาที่ดูธรรมดาแบบนี้ แต่มันสร้างปัญหากับสภาวะทางอารมณ์ที่กระทบต่อการทำงานอย่างจริงจังเลยละครับ ปัญหาเหล่านี้สร้างความเครียดในการทำงาน และการแก้มันยากกว่าความเครียดการทำงานจริงๆอีก เพราะว่าปัญหาส่วนตัวแบบนี้โดยปกติจะไม่ได้เกี่ยวกับการทำงาน แต่เมื่อตอนนี้มันเกี่ยว เจ้านายคุณหรือที่ทำงานก็อาจจะยังไม่ได้ aware มากว่านี่คือปัญหาที่ที่ทำงานควรจะแก้ให้
ปัญหาส่วนตัวแบบนี้สร้างปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในการทำงานด้วยนะครับ คนที่อยู่ตัวคนเดียวอาจจะไม่ได้รับรู้ถึงและเข้าใจปัญหาแบบนี้เลย และอาจถึงขั้นทะเลาะคนที่มีปัญหาแบบนี้ด้วยซ้ำ ทำให้การทำงานร่วมกันไม่ราบรื่น คราวนี้ในฐานะของผู้นำทีมควรจะทำยังไงละ เราควรจะเข้าไปแก้ปัญหาส่วนตัวของลูกทีมรึป่าว คำตอบน่าจะไม่ใช่ครับ พื้นที่ส่วนตัวก็ยังเป็นพื้นที่ส่วนตัว เราคงไม่สามารถเข้าไปขอให้ทุกคนเล่าหรือบอกค่าจำกัดในปัญหาส่วนตัวเหล่านั้นได้ แต่อย่างน้อยเราควรจะต้องทำความเข้าใจกับปัญหาแบบนี้จริงๆจังๆ และเครื่องมือที่ผมคิดว่า “จำเป็น” กับสถานการณ์แบบนี้ คือ Psychological Safety
Psychological Safety คืออะไร
Psychological Safety หรือความปลอดภัยทางจิตวิทยา มันคือความรู้สึกปลอดภัยทางใจ ซึ่งในบริบทของที่ทำงาน เราเรียกง่ายๆว่า ความสบายใจ นั่นแหละครับ ความสบายใจที่ว่ามันมาจากความรู้สึกปลอดภัยในการแสดงความเห็นว่าจะไม่ถูกมองว่าโง่หรือผิดพลาด ความปลอดภัยทางอารมณ์ที่เกิดจากความเชื่อใจว่าฉันจะไม่ถูกนินทาหรือแทงข้างหลัง เมื่อไม่ต้องระวังมากเกินไปในการแสดงความเห็นหรือไม่กังวลว่าจะมีใครว่าร้าย สิ่งที่สมาชิกในทีมได้มาก็คือ “ความเป็นตัวของตัวเอง” และไอ้เจ้าความเป็นตัวเองนี่แหละที่ช่วยทำให้สมาชิกแต่ละคนสามารถปล่อยศักยภาพได้เต็มที่ ยิ่งไปกว่านั้น มันยังเร่งความเร็วในการทำงานของทีมได้อีกด้วย
เมื่อเรารู้แล้วว่าความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาดียังไง เราก็คงไม่เถียงแน่ๆว่ามันสำคัญหรือไม่ แต่ในภาวะ WFH คุณสมบัติการมี Psychological Safety กลับทวีความสำคัญขึ้นอีก ลองคิดดูว่า คนส่วนใหญ่คงไม่กล้าเล่าเรื่องปัญหาส่วนตัวที่ตัวเองมีให้คนที่เป็นหัวหน้าทีมฟังแน่ๆ แต่ในเหมือนเรื่องส่วนตัวบางเรื่องมันกระทบกับงานอย่างเลี่ยงไม่ได้และการทำงานเป็นทีมที่ดีสมาชิกต้องเข้าใจข้อจำกัดของกันและกัน “ความสบายใจ” จึงช่วยปลดล็อคให้ทีมสามารถก้าวเข้าไปเข้าใจปัญหาของแต่ละฝ่ายได้อีกขั้น คราวนี้ เราลองมาทำความเข้าใจขั้นตอนการสร้าง Psychological Safety ในสถานการณ์แบบนี้กับ 5 ขั้นตอนสร้าง Psychological Safety กันครับ
(เนื้อหาจากนี้ ผมเอาโครงสร้างมาจากบทความ What Psychological Safety Look Like in a Hybrid Workplace จาก Harvard Business Review ครับ)
ขั้นตอนที่ 1 ตั้งค่าให้พร้อม (Set the scene)
ขั้นตอนแรกสุดเลย เราต้องเริ่มจากการตั้งค่า “ความคาดหวัง” ของเราและทีมให้เท่ากันครับ เพื่อให้ความจริงที่เกิดมันอยู่บนบรรทัดฐานเดียวกันครับ เมื่อทุกคนในทีมมีความคาดหวังเดียวกัน อยู่ภายใต้ความท้าทายเดียวกัน ทีมก็จะแบ่งปันความเป็นเจ้าของต่อความท้าทายด้วยกัน
นอกเหนือจากการสื่อสารถึงความคาดหวังและความท้าทายให้เหมือนกันแล้ว ในฐานะหัวหน้าทีมต้องสื่อสารถึงอุปสรรคและความเสี่ยงในการทำตามเป้าหมายอย่างชัดเจนด้วย การสื่อสารอย่างชัดเจน จริงใจ และโปร่งใส จะยิ่งส่งเสริมให้เกิดความไว้ใจ แต่ก็ต้องพยายาม balance ไม่ให้กลายเป็นเพิ่มแรงกดดันด้วยนะครับ
ขั้นตอนที่ 2 เริ่มนำทาง (Lead the way)
การจะสร้างความเชื่อใจเพื่อให้เกิด “ความสบายใจ” แค่คำพูดอย่าง “เชื่อใจผมสิ” คงไม่พอ การกระทำของหัวหน้าทีมนั่นแหละคือ หลักฐานที่ดีและหนักแน่นที่สุด และการที่หัวหน้าทีมจะเข้าไปทำความเข้าใจของทีมได้ลึกขึ้นในช่วง WFH แบบนี้ ตัวหัวหน้าทีมเองนั้นแหละที่ต้องเริ่มทำให้ดู
มันอาจจะเริ่มจากการที่ตัวหัวหน้าทีมเริ่มแบ่งปันประสบการณ์หรือความยากลำบากช่อวง WFH มันไม่จำเป็นต้องมีทางแก้ แต่แค่ให้รู้ว่าปัญหาส่วนตัวที่มากระทบงานแบบนี้ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ แม้แต่ตัวหัวหน้าทีมเองก็ประสบปัญหาแบบนี้ ผมเชื่อว่าตัวลูกทีมที่มีปัญหาก็เริ่มรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นครับ
ขั้นตอนที่ 3 ค่อยๆไปทีละขั้น (take baby steps)
แม้ว่าลูกทีมของคุณจะเริ่มผ่อนคลายแล้ว แต่ก็อย่าคาดหวังว่าเขาจะเริ่มเปิดใจและแชร์ปัญหาของตัวเองออกมาทันที อย่าลืมว่าเราไม่สามารถบังคับให้ใครเชื่อใจกันได้นะครับ process มันไม่ได้ตายตัวแบบนั้น ถ้าเป็นปัญหาที่ทำงานปกติ การแชร์ปัญหามันเป็น process ที่ง่ายและชัดเจนเลยครับ แต่ปัญหาส่วนตัวที่ย้ายมาเป็นปัญหาการทำงานมันใหม่หมดครับทั้งกับตัวหัวหน้าทีมและลูกทีม
ให้สมาชิกทีมค่อยๆเผยข้อมูลเล็กๆน้อยๆ สิ่งที่คุณในฐานะหัวหน้าทีมต้องทำ ก็แค่ให้กำลังใจและสร้างความมั่นใจว่าเรื่องพวกนี้ไม่แปลก แบ่งปันกันได้ และไม่ใช่ความผิด
ขั้นตอนที่ 4 แบ่งปันประสบการณ์ดีๆ (Share positive examples)
เมื่อการแชร์ข้อมูลเกิดขึ้น หน้าที่ของคุณในฐานะหัวหน้าทีมคือ พยายามหาหลักฐานมาอธิบายและทำให้เห็นว่า การที่ทีมเข้าใจปัญหากันและกันมากขึ้นแบบนี้ มันช่วยให้แก้ปัญหาทั้งตัวบุคคลและองค์กร แม้มันจะไม่ได้แก้จนหายไป แต่ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เกิดขึ้นจะช่วยให้งานราบรื่นขึ้นแน่ๆ
ขั้นตอนที่ 5 เฝ้ามองอย่างใกล้ชิด (Be a watchdog)
ขอให้คิดเสมอว่า การแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัวแบบนี้มันต้องอาศัยความเชื่อใจมากทีเดียว และมันก็เปราะบางด้วย คนที่แชร์เรื่องแบบนี้เขาพยายามเสี่ยงที่จะพูดนะครับ แต่ถ้าการตอบสนองมันไม่ดี เช่น โดนต่อว่า หรือไม่พยายามเข้าใจ โอกาสที่สมาชิกทีมท่านนั้นจะแชร์เรื่องราวต่อก็เป็นไปได้ยาก
หัวหน้าทีมต้องระมัดระวังในการตอบโต้มากๆ พยายามส่งเสริมให้มีการตอบโต้มากขึ้นจะดีกว่า พยายามฟังอย่างไม่ตัดสิน พยายามทำความเข้าใจจริงๆ เอาใจเราไปใส่ใจเขาจริงๆ ถามคำถามที่ต่อยอดและไม่ตัดสิน ที่เหลือก็แค่ ฟัง ฟัง ฟัง
ผมคิดว่าถ้าเราสามารถแชร์ก่อน เริ่มฟังมากขึ้น ลดการตัดสินลง เป็นฝ่ายรับสารอย่างเป็นผู้รับจริงๆ อย่าลืมวัตถุประสงค์ของคุณ “เรามาคุยกันเพราะอยากเข้าใจเขานี่นะ” ถ้าอยากเข้าใจต้องไม่ตัดความคิดด้วยการตัดสิน ผมเชื่อมั่นว่า ถ้าทีมของคุณสัมผัสได้ว่าคุณรับฟังจริงๆ เมื่อนั้น Psychological Safety จะเกิดขึ้น ความไว้ใจและสบายใจจะเกิดขึ้น และสิ่งนี้จะทำให้ทีมทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น มีภูมิต้านทานต่ออุปสรรคมากขึ้นแน่ๆครับ
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
โฆษณา