18 ต.ค. 2021 เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เทศกาลขายหมู
เวลาที่จะซื้อหุ้นลงทุนทุกครั้ง สิ่งหนึ่งที่ควรจะคิดถึงเสมอก็คือ “จะขายเมื่อไร” แต่ วอเร็น บัฟเฟตต์กลับบอกว่าเวลาที่เหมาะสมที่สุดก็คือ “ไม่ขายเลย” เขาอยากที่จะถือไว้ “ตลอดชีวิต”
บทความโดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | คอลัมน์ โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
เทศกาลขายหมู
แต่ผมคิดว่านั่นเป็นการพูดเพื่อเน้นให้นักลงทุนแบบ VI ถือหุ้นให้ยาวมากที่สุด และหุ้นที่ควรจะซื้อก็คือหุ้นของกิจการที่ยอดเยี่ยมมีความได้เปรียบที่ยั่งยืนและโตต่อเนื่องไปยาวนานที่ผมเรียกว่า “Super Stock” ที่บัฟเฟตต์ชอบลงทุนตั้งแต่เริ่มโด่งดังหลายสิบปีก่อน ตัวอย่างเช่น หุ้นของโค๊กและสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมากที่บัฟเฟตต์ลงทุนและถือมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม บางครั้งบัฟเฟตต์ก็ลงทุนในหุ้นแนวอื่นด้วยที่ไม่ใช่ซุปเปอร์สต็อกและในกรณีนั้น เขาก็ไม่ได้ถือยาวตลอดชีวิต เขาขายมันไปเมื่อถึงเวลาที่สมควรจะขาย ตัวอย่างเช่นการซื้อหุ้นปิโตรไชน่า หุ้นน้ำมันยักษ์ใหญ่ของจีน ที่เขาขายทำกำไรมโหฬารในระยะเวลาอันสั้นเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาก
7
ส่วนใหญ่แล้วผมเองก็เน้นการลงทุนในหุ้นซุปเปอร์สต็อกและก็มักจะถือหุ้นยาวนานเป็นสิบปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลัง ๆ ในตลาดหุ้นไทยซึ่งยังเล็กและมีหุ้นดังกล่าวจำกัดขึ้นทุกที ผมก็หันไปลงทุนในหุ้นแบบอื่นด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผมเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามเมื่อ 5-6 ปีก่อน ซึ่งแทบจะไม่มีหุ้นที่จะเข้าข่ายเป็นซุปเปอร์สต็อกหรือผมไม่รู้จักหุ้นแต่ละตัวดีพอ ผมก็จำเป็นที่จะต้องคิดถึงเรื่องการ “ขายหุ้น” ว่าจะทำเมื่อไร แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น มาดูกันว่าหุ้นแต่ละแบบนั้น เราควรจะซื้อและขายเมื่อไร
3
เริ่มตั้งแต่หุ้นที่มีศักยภาพที่จะเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกในอีก 10 ปีข้างหน้า วันซื้อก็คือวันที่เรามั่นใจว่ามันกำลังจะเป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ทำอยู่และราคาหุ้นในขณะนั้นยังไม่แพงวัดจาก Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นของกิจการ ตัวอย่างชัดเจนสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาก็คือ หุ้นค้าปลีกสมัยใหม่ที่คนในสังคมกำลังเข้ามาใช้บริการแทนที่ร้านค้าดั้งเดิม บริษัทที่จะเป็นผู้ชนะจะสามารถเติบโตไปกับเศรษฐกิจต่อเนื่องยาวนานและโตเป็น 10 เท่าได้ในเวลา 10 ปี วันที่จะขายหุ้นเหล่านี้ก็คือวันที่บริษัท “อิ่มตัว” แล้ว มีคนใช้สินค้าทั้งประเทศแล้ว
1
หุ้นกลุ่มที่สองที่ผมลงทุนมากพอสมควรก็คือหุ้น “Deep Value” หรืออาจจะเรียกว่าหุ้น “แบกะดิน” คือหุ้นที่ธุรกิจพอไปได้และ “ไม่ตาย” แต่อาจจะไม่โตแล้ว แต่ราคาหุ้นถูกมาก วัดจากค่า P/E ปกติที่ต่ำมากและไม่ควรเกิน 10 เท่า และปันผลตอบแทนที่ค่อนข้างมั่นคงในระดับ 4-5% ขึ้นไป หุ้นแบบนี้เมื่อซื้อแล้วผมก็จะถือไปเรื่อย ๆ ตราบที่ยังไม่มีหุ้นหรือหลักทรัพย์อื่นที่น่าสนใจกว่า และจะขายเมื่อราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปจนเต็มหรือเกือบจะเต็มมูลค่าแล้ว ซึ่งทั้งสองกรณีบางทีก็กินเวลานานเหมือนกัน แต่ผมก็มักจะไม่รู้สึกเดือดร้อนมากนักเพราะอย่างน้อยผมก็ได้ “กินปันผล” ที่งดงามไปเรื่อย ๆ
1
หุ้นกลุ่มที่สามเป็นหุ้น Cyclical ที่มักจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีราคาขึ้นลงเป็นรอบ ๆ อาจจะรอบละ 3-7 ปีอะไรทำนองนั้น ตัวอย่างก็เช่น ราคาน้ำมัน ถ่านหิน เหล็ก ปิโตรเคมี ราคาพืชผลการเกษตร ราคาค่าระวางเรือ เป็นต้น เวลาที่ควรจะซื้อหุ้นเหล่านั้นก็คือเวลาที่ราคาสินค้าหรือบริการตกต่ำมากซึ่งก็มักทำให้บริษัทขาดทุน บางครั้งหนักมากและทำให้ราคาหุ้นตกลงมาแทบจะไม่มีค่า แต่ก็ต้องมั่นใจว่าบริษัทสามารถยืนอยู่ได้ ส่วนเวลาขายหุ้นก็คือเวลาที่สินค้าปรับตัวขึ้นรุนแรงและน่าจะมีความต่อเนื่องไปอีกนานพอสมควร ในช่วงเวลาแบบนั้น ราคาหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นโดดเด่นและสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นสูงมาก บางทีทำให้ค่า PE เหลือแค่ไม่เกิน 5-6 เท่าก็มี และนั่นก็คือเวลาขายหุ้น อย่าไปคิดว่าหุ้นราคาถูกมากและไม่ยอมขาย
3
ผมเองเคยซื้อหุ้นแบบวัฎจักรเหมือนกันในช่วงเริ่มต้นเป็น VI ใหม่ ๆ หลังวิกฤติปี 2540 แต่หลังจากนั้นก็แทบจะไม่สนใจเลย เพราะผมคิดว่าบางทีวัฏจักรก็ยาวนานหรือสั้นกว่าปกติ ผมไม่อยากจะต้องรอนานเกินไป เพราะการลงทุนในหุ้นแบบอื่นอาจจะให้ผลตอบแทนที่เร็วกว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่เข้าลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนาม ผมใช้วิธีเลือกหุ้นโดยอาศัยเกณฑ์แบบ VI ที่คัดเลือกหุ้นที่มีราคาถูกมากโดยไม่สนใจว่าบริษัททำอะไร ซึ่งก็ทำให้ได้หุ้นวัฏจักรติดเข้ามาไม่ต่ำกว่า 10-20 ตัว โดยที่ผมไม่รู้ตัว
1
หุ้นกลุ่มสุดท้ายก็คือหุ้นที่เฟื่องฟูหรือเติบโตตามสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ พูดง่าย ๆ ก็คือกิจการมีความได้เปรียบในการผลิตสินค้านั้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าแรงที่ต่ำกว่า ดังนั้น กิจการก็จะทำยอดขายและกำไรได้ดีจนกว่าประเทศจะพัฒนาขึ้นและต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น
ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยในช่วง 50 ปีที่แล้ว ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เฟื่องฟูก็คือเกษตรกรรมเช่น การค้าข้าว มันสำปะหลังและน้ำตาล เป็นต้น ต่อมาก็เป็นเรื่องของการเลี้ยงกุ้ง ธุรกิจสิ่งทอ มาเป็นอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก การบริโภคและการค้าปลีกสมัยใหม่ภายในประเทศ การเงินส่วนบุคคล และเรื่องของโทรคมนาคมและสินค้าและบริการเกี่ยวกับดิจิตอล เป็นต้น โดยที่เวลาซื้อหุ้นก็คือการเริ่มต้นของ “กระแส” ที่ประเทศกำลังเข้าสู่ “ยุค” นั้นในสังคม ส่วนการขายหุ้นก็คือการ “หมดยุค” ของอุตสาหกรรมนั้น ความได้เปรียบในแง่ของการผลิตหรือให้บริการหมดไปเมื่อเทียบกับประเทศหรือสังคมอื่น ผู้คนทั้งคนรุ่นเดิมและโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เลิกใช้เพราะมีของใหม่ที่น่าสนใจหรือดีกว่า
2
การ “บูม” ของหุ้นเวียดนามในช่วงปีนี้โดยเฉพาะที่นำโดยนักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยเข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนได้ทำให้หุ้นโดยเฉพาะตัวเล็กปรับตัวขึ้นมามาก และนั่นทำให้ผมเริ่มเข้ามาดูพอร์ตหุ้น “ชุดแรก” ของผมที่ประกอบไปด้วยหุ้นตัวเล็กเป็นร้อยตัวที่ผมไม่รู้ว่าทำหรือขายผลิตภัณฑ์อะไรอยู่ หุ้นจำนวนไม่น้อยมีราคาปรับขึ้นไปหลายเท่าในเวลาอันสั้นแค่ปีสองปี บางตัวปรับขึ้นไปถึงเกือบ 10 เท่า ผมเองไม่แน่ใจว่าราคาหุ้นแต่ละตัวนั้นเหมาะสมกับ “พื้นฐาน” ที่แท้จริงไหม เพราะส่วนใหญ่แล้ว Market Cap. ของหุ้นก็ยังไม่เกิน 1,000 ล้านบาทไทยและค่า PE และอื่น ๆ ก็ยังดูไม่แพงเลย อย่างไรก็ตาม ผมเองก็ไม่อยากพลาด “โอกาสขายหุ้น” ที่ผม “ติด” มานานจาก “ความผิดพลาด” ที่รีบเข้าไปซื้อหุ้นเวียตนามเมื่อ 5-6 ปีก่อน
หุ้นที่ผมเริ่มทยอยขายออกไปรอบนี้เพื่อที่จะ “ปรับพอร์ต” ให้กลายเป็นหุ้นตัวใหญ่ที่มีศักยภาพที่จะเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกในอีก 10 ปีข้างหน้ามีอย่างน้อย 10 ตัว ส่วนใหญ่เป็นหุ้นโภคภัณฑ์ที่ผมคิดว่าถ้าไม่ขายตอนนี้ก็อาจจะหมดโอกาสขายในราคาที่ทำกำไรได้ดีแม้ว่าจะติดหุ้นมาหลายปี
กลุ่มแรกจำนวน 3-4 ตัว ก็คือหุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราซึ่งช่วงนี้ดีขึ้นอานิสงค์จากความต้องการที่สูงขึ้นจากเรื่องของถุงมือยางป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อีกส่วนหนึ่งน่าจะเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเช่น ยางรถยนต์ที่อาจจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นอานิสงค์จากการฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์ กลุ่มที่สองจำนวน 4-5 ตัว คือหุ้นเกี่ยวกับถ่านหินที่ราคาปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงนี้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเพิ่งเริ่มต้นของการฟื้นตัวที่ยังไม่ส่งผลถึงผลประกอบการ ทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นในกลุ่มนี้ยังน้อยและทำให้การขายยังไม่สามารถทำได้รวดเร็วแบบยางพารา กลุ่มที่สามจำนวน 2-3 ตัว คือหุ้นเกี่ยวกับเหล็กที่ราคาปรับตัวขึ้นไปก่อนหน้านี้ซักระยะหนึ่งแล้วประกอบกับการที่มี Market Cap. ที่ใหญ่กว่ากลุ่มอื่นทำให้สามารถขายได้ค่อนข้างเร็ว และสุดท้ายก็คือกลุ่มหุ้นที่กำลังอยู่ในวงจร “ขาขึ้น” ของสถานะเศรษฐกิจของเวียตนาม
นั่นก็คือ หุ้นส่งออกสิ่งทอและหุ้นโบรกเกอร์หลักทรัพย์ ซึ่งผมขายออกไปได้ในปริมาณที่สูงและรวดเร็วที่สุด โดยที่ในทั้ง 2 อุตสาหกรรมนี้ ผมเกรงว่าพอผ่านไประยะหนึ่งเมื่อเศรษฐกิจเวียตนามพัฒนามากขึ้น คู่แข่งจะเต็มไปหมดและการทำยอดขายมากและกำไรดีอาจจะลดลงคล้าย ๆ กับในตลาดหุ้นไทยในอดีต
ทั้งหมดที่ขายไปและกำลังทยอยขายออกไปนั้น ลึก ๆ แล้วผมคิดว่าคงเป็นการ “ขายหมู” หมายความว่า หลังจากขายไปแล้วราคากลับสูงขึ้นไปกว่าเดิม ว่าที่จริงหลายตัวที่ขายไปแล้วก็เป็นอย่างนั้น ผมเองไม่ได้เสียดายอะไร ผมคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะขายได้ในราคาสูงสุดโดยเฉพาะในยามที่หุ้นกลุ่มนั้นยังร้อนแรง ผมยังคิดต่อไปว่า เมื่อขายไปแล้วก็จะต้องรีบนำเงินไปซื้อหุ้นตัวใหม่ในกลุ่มใหม่เช่นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกที่ตอนนี้ยังไม่ได้ขึ้นไปมากเท่ากลุ่มโภคภัณฑ์ที่ขายออกไป ดังนั้น ถึงผมจะ “ขายหมู” ไปบ้าง แต่ถ้าผมเอาเงินไปซื้อ “ลูกช้าง” ในราคาต่ำกลับมา ในระยะยาวพอร์ตของผมก็น่าจะดีขึ้น ผมก็ได้แต่หวังว่า “เทศกาล” ขายหมูรอบนี้จะไม่จบลงเร็วเกินไปก่อนที่ผมจะขายได้หมด
1
โฆษณา