17 ต.ค. 2021 เวลา 20:37 • ข่าว
ก่อนที่จะตัดสินว่าคนที่กระทำความผิดควรหรือไม่ควรจะติดคุก สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องสังเกตก็คือขณะนี้ คนส่วนใหญ่ในสังคมตัดสินไปแล้วว่ากรณีนี้เป็นเรื่องของการป้องกันตัวเอง
คำถามคือ ทำไมผู้คนถึงแน่ใจว่านี่คือการป้องกันตัว?
เราคงต้องย้อนไปในเรื่องของการนำเสนอของสื่อกระแสหลักที่เราพบว่าประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพาดหัว คือการนำเสนอเรื่องของการใช้ 6 รุม 1 เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ ผู้คนมีแนวโน้มเอียงไปทางฝั่งซึ่งมีคนน้อยกว่า
ความยุติธรรมในเชิงสังคม เป็นหลักการหนึ่งในชุดความคิดที่เรามักจะเจออยู่เสมอ นั่นก็คือ เรื่องของจำนวนที่เท่ากัน
ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬาหรือเกมการแข่งขันต่างๆ จะเห็นได้ว่าจำนวนมักจะเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อให้เกิดความยุติธรรม ผู้เล่นจากทั้งสองทีมจะมีจำนวนเท่ากัน ถ้าเป็นการเล่นแบบเดียวทั้งสองฝั่งก็จะมีผู้เล่นคนเดียว และแม้แต่การต่อสู้หรือทะเลาะวิวาทก็อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์นี้เช่นเดียวกัน
เมื่อในสถานการณ์ที่ฝ่ายจำนวนมากกว่าคุกคามฝ่ายที่จำนวนน้อยกว่าโดยเฉพาะในกรณีนี้ที่เป็นหกต่อหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผู้คนจะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม แม้ว่าการทะเลาะเบาะแว้งจะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายก็ตามแต่การที่คนจะต่อสู้กันผู้คนในสังคมก็ยังตระหนักว่ามันก็ควรจะอยู่ภายใต้หลักของความยุติธรรม “ผิดกฎหมายแต่ยุติธรรม !!!”
จะเดี่ยว หรือหมู่ เมื่อตกลงกันแล้วต่างคนต่างทำตามข้อตกลงผู้คนก็จะมองว่ามันเป็นเรื่องที่ยุติธรรม แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการละเมิดข้อตกลงเช่นเมื่อตกลงว่าจะเดี่ยวแต่สุดท้ายก็ใช้หมู่เข้ามารุมทำร้าย ฝ่ายหมู่ก็จะถูกประณาม
เมื่อข่าวถูกนำเสนอไปในเชิงของการที่หกคนรุมหนึ่งคนผู้คนจึงให้น้ำหนักและเห็นใจไปกับฝั่งที่มีจำนวนน้อย และคิดว่าสิ่งที่เขาทำนั้นแม้จะทำให้อีกฝ่ายเสียชีวิตย่อมถือเป็นการป้องกันตนเองเนื่องจากถูกรุมทำร้าย การใช้อาวุธทำร้ายอีกฝ่ายจนเสียชีวิตจึงเป็นเสมือนการปรับสมดุลให้กับการทะเลาะวิวาท และมองว่านั่นคือความยุติธรรม
แน่นอนว่าความยุติธรรมที่ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่เอนเอียงไปนั้นอาจจะไม่ได้สอดคล้องไปกับความยุติธรรมในทางกฎหมาย เมื่อผู้คนรู้สึกว่ามีคนถูกรังแกด้วยความไม่เป็นธรรมแล้วเค้าตอบโต้ จนสามารถเอาชนะความไม่เป็นธรรมนั้นได้ ยิ่งทำให้ผู้คนยกย่องสรรเสริญ และเมื่อสิ่งที่เขาทำนั้นน่ายกย่องสรรเสริญมันจึงไม่มีเหตุจำเป็นใดที่เขาจะต้องติดคุก และนี่คือสิ่งที่ทำให้หลายคนที่มองเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยมิติของกฎหมายรู้สึกอึดอัดใจ
ความยุติธรรมตามความรู้สึกนี้เป็นสิ่งที่สังคมเรามีมาก่อนระบบกฎหมาย เราอาจเคยได้ยินเรื่องเล่าที่แฝงคติคิดในลักษณะเช่นนี้ไม่ว่าจะเป็น กรณีของนายขนมต้ม ที่นักมวยไทยหนึ่งคนสามารถเอาชนะนักมวยพม่าได้สิบคน จนได้รับการยกย่องจากกษัตริย์ฝั่งพม่า หรือในกรณีเรื่องเล่าของชาวบ้านบางระจัน ที่แม้จะเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆแต่สามารถต้านทานกองทัพพม่าได้ถึงหกครั้ง จนได้รับการยกย่องให้เป็นวีรชน คติคิดเหล่านี้มันจึงฝังอยู่ในวิธีคิดของผู้คนมายาวนาน
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สังคมไทยในปัจจุบันเราใช้ระบบกฎหมายเป็นหลักของสังคม เมื่อเกิดข้อพิพาทหรือการกระทำที่ผิดกฎหมายก็คงต้องว่ากันไปตามกระบวนการ พิจารณาแยกความผิดออกเป็นส่วนๆ ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ แต่อย่างไรก็ดีเราเองก็ต้องพึ่งตระหนักว่า ความยุติธรรมทางกฏหมายไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่ผู้คนในสังคมยึดถือ ตราบใดที่ความยุติธรรมทางสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกยังคงอยู่ในจิตใจของผู้คน กรณีนี้ก็อาจจะไม่ใช่กรณีสุดท้ายที่เราจะได้เห็นว่าผู้คนอาจจะสนับสนุนยกย่องหรือเห็นดีเห็นงาม แม้ว่าสิ่งนั้นจะขัดกับกฎหมายที่กำหนดไว้ก็ตาม เพราะว่ามันอาจจะ “ผิดกฎหมายแต่ยุติธรรม”
: บทความนี้ พยายามหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ และไม่ได้มีเจตนาที่จะตัดสินถูกผิด เป็นเพียงการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบริบทเชิงสังคมเท่านั้น
โฆษณา