19 ต.ค. 2021 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
ตำนานผู้ก่อตั้ง WhatsApp สมัครงานไม่ผ่าน แต่กลับสร้างกิจการ 6 แสนล้าน
1
ปัจจุบัน มีแอปพลิเคชันที่ส่งข้อความบนสมาร์ตโฟนเกิดขึ้นอยู่มากมาย
ไม่ว่าจะเป็น Line, WeChat หรือ Viber
แต่ถ้าถามว่าแอปแช็ตไหน ที่นิยมใช้กันมากที่สุดในโลก ชื่อของแอปพลิเคชันนั้น ก็คือ “WhatsApp”
ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ใช้มากกว่า 2 พันล้านบัญชีต่อเดือน คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งโลก
ตั้งแต่ปี 2014 WhatsApp ได้เข้ามาอยู่บริษัทในเครือของ Facebook ซึ่ง Facebook ทุ่มเงินซื้อธุรกิจ WhatsApp ที่ ณ ตอนนั้น ยังไม่มีแม้แต่โมเดลการสร้างรายได้ ด้วยมูลค่าการเข้าซื้อกิจการ ที่สูงถึง 6.4 แสนล้านบาท
นั่นจึงทำให้ผู้ร่วมก่อตั้ง WhatsApp อย่าง “Jan Koum” และ “Brian Acton” กลายเป็นเศรษฐีแสนล้าน ในทันที
แต่รู้หรือไม่ว่าก่อนจะมาเป็นมหาเศรษฐี ผู้ก่อตั้งทั้งสองเคยยื่นสมัครงานที่ Facebook แต่ถูกปฏิเสธ
เลยหันมาพัฒนาแอปพลิเคชันของตัวเองอย่าง WhatsApp โดยมีหลักในการพัฒนาแอปพลิเคชัน
เพียงแค่ 3 หลักการ ที่ว่า “ไม่มีโฆษณา ไม่มีเกม ไม่มีลูกเล่น”
จากผู้ที่ถูก Facebook ปฏิเสธ กลับได้มาก่อร่างสร้างธุรกิจให้ Facebook ต้องควักเงินซื้อ ระดับแสนล้าน
เรื่องราวของทั้ง 2 คนนี้ น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
มาเริ่มกันที่ “Jan Koum” ผู้ที่คิดชื่อแอปพลิเคชัน WhatsApp และเป็นนักสะสมอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าอย่างน้อย 10,158 ล้านบาทในสหรัฐอเมริกา
หลายคนอาจจะไม่เชื่อว่า Koum มีชีวิตในวัยเด็กค่อนข้างลำบาก ซึ่งเดิมทีเขาเป็นชาวยิว
ที่เกิดในประเทศยูเครน และได้อพยพหนีสงครามมาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อมกับแม่ของเขา
เมื่ออายุได้ 18 ปี Koum ก็เริ่มสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี และได้ศึกษาเรื่องเทคโนโลยีจากหนังสือมือสอง
ในปีถัดมา เขาได้เข้าเรียนที่ San José State University และทำงานตอนกลางคืนเป็นนักตรวจสอบระบบความปลอดภัยของซอฟต์แวร์ ที่ Ernst & Young ซึ่งที่นั่นเอง ที่ทำให้เขาได้รู้จัก Brian Acton
ต่อมาในปี 1997 Koum ได้ทำงานที่ Yahoo! ตามคำชักชวนของ Acton
ก่อนที่เขา จะตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยและมาทำงานเต็มเวลา
หลังจากทำงานที่ Yahoo! ด้วยกันมากว่า 10 ปี ทั้ง Koum และ Acton ได้ลาออกมาพักผ่อนในปี 2007
จนกระทั่งในปี 2009 พวกเขาก็อยากกลับมาทำงานอีกครั้ง เลยชวนกันไปสมัครงานที่ Facebook
แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะ Facebook ไม่รับทั้งคู่เข้าทำงาน
ในปีเดียวกัน Koum ซื้อ iPhone มาใช้ และเริ่มเห็นโอกาสจาก App Store ที่ Apple เพิ่งเปิดตัวเดือนกรกฎาคม ปี 2008
โดย Apple ก็เปิดโอกาสให้นักพัฒนาแอปพลิเคชัน สร้างแอปพลิเคชันให้เข้ามาอยู่ในระบบนิเวศของทางบริษัทได้ Koum เลยมองว่านี่เป็นโอกาสมหาศาลของนักพัฒนาซอฟต์แวร์
1
ที่ผ่านมา Koum เป็นคนที่มักจะหงุดหงิดเป็นประจำกับสายที่ไม่ได้รับทุกครั้งเวลาไปออกกำลังกายที่ยิม
1
เขาเลยแก้ไขปัญหานี้ด้วยการสร้างแอปพลิเคชันที่ให้ผู้ใช้งานอัปเดตสเตตัส เพื่อให้เพื่อนรู้ว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่ โดยใช้ชื่อว่า “WhatsApp”
1
ผ่านไป 1 เดือน WhatsApp ก็เปิดตัวเป็นครั้งแรก แต่ยังแทบไม่มีคนสนใจ
จนกระทั่งเดือนมิถุนายน ปี 2009 iPhone ได้เปิดตัว “Push Notifications” หรือระบบแจ้งเตือนบนหน้าจอเวลาไม่ได้ใช้งานแอปพลิเคชัน
ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่าฟีเชอร์แจ้งเตือนในครั้งนั้น กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้แอปพลิเคชันได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะกับแอปพลิเคชันรับส่งข้อความ
อีก 2 เดือนถัดมา WhatsApp ได้พัฒนาเวอร์ชัน 2.0 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการบน App Store ซึ่ง WhatsApp เวอร์ชันใหม่นี้ ถูกพัฒนาให้มีการแจ้งเตือนเวลาเพื่อนอัปเดตสเตตัส
1
และที่สำคัญก็คือ WhatsApp ได้เริ่มให้บริการส่งข้อความหากันฟรี จึงทำให้มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 250,000 คน อย่างรวดเร็ว
หลังจากนั้น Acton ก็ได้ตัดสินใจเข้ามาร่วมสร้าง WhatsApp กับ Koum แบบเต็มตัว และรับหน้าที่หาผู้ลงทุนกลุ่มแรก
1
โดยเขาก็ได้เริ่มต้นจากการชวนเพื่อนสมัยทำงานที่ Yahoo! 5 คนมาร่วมลงทุนในรอบ Seed เป็นเงิน 8.4 ล้านบาท
ต่อมาในช่วงต้นปี 2010 WhatsApp ก็เริ่มให้บริการใน BlackBerry ตามมาด้วยบนระบบปฏิบัติการ Symbian และ Android ในอีกไม่กี่เดือนถัดมา
นั่นเท่ากับว่าสมาร์ตโฟนทุกแบรนด์ สามารถส่งข้อความหากันได้ฟรี
ไม่ต่างกับฟีเชอร์แอปแช็ต ที่เป็นจุดแข็งของ BlackBerry ผู้นำด้านการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือในยุคนั้น
1
ทั้งนี้ Koum และ Acton ให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานมาก WhatsApp เลยเลือกที่จะไม่เก็บข้อมูลผู้ใช้งาน
1
สำหรับขั้นตอนการสมัครใช้งานนั้น WhatsApp จะใช้เพียงเบอร์โทรศัพท์และไม่ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวอื่น
1
นอกจากนี้ ผู้ก่อตั้งทั้งสองยังต่อต้านการโฆษณาบนแอปพลิเคชัน เพราะแม้จะเป็นแหล่งรายได้มหาศาล แต่พวกเขาให้ความสำคัญกับประสบการณ์การใช้งานมากที่สุด
1
WhatsApp จึงไม่เคยมีโฆษณา แต่ต่อมา WhatsApp ที่เริ่มจากการให้บริการฟรี
ก็ได้เริ่มปรับมาเป็นการให้บริการฟรีในปีแรก
และในปีถัดไป จะคิดค่า Subscription ในราคาประมาณ 35 บาทต่อปี
ซึ่งนี่ก็เป็นรายได้หลักเพียงอย่างเดียวของ WhatsApp
ในปีเดียวกันนี้เอง Google สนใจซื้อบริษัท WhatsApp ในราคา 3.4 แสนล้านบาท
แต่ข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่ายไม่ลงตัว Google เลยพลาดโอกาสครอบครอง WhatsApp ไป
1
หลังจากการระดมทุนครั้งแรกไปเมื่อปี 2009 WhatsApp ก็สามารถระดมทุนจาก Venture Capital ชื่อดังอย่าง Sequoia ได้อีก 2 รอบ ซึ่งหลังการระดมทุนเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2013 WhatsApp ถูกประเมินมูลค่าที่ 5 หมื่นล้านบาท
ในช่วงเวลานั้น WhatsApp มียอดผู้ใช้งานต่อเดือนแล้วกว่า 450 ล้านบัญชี ทั่วโลก
ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ WhatsApp ได้รับข้อเสนอขอซื้อกิจการเป็นครั้งที่สอง
แต่ครั้งนี้เป็นข้อเสนอจาก Facebook ที่ในตอนนั้นมียอดผู้ใช้งานต่อเดือนราว 1,300 ล้านบัญชี
เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2014 Facebook ซื้อ WhatsApp ด้วยมูลค่า 6.4 แสนล้านบาท
สูงกว่ามูลค่าที่ WhatsApp ถูกประเมินไว้ในรอบก่อนหน้าเกือบ 13 เท่า ซึ่งก็นับเป็นดีลการซื้อกิจการ
ที่มูลค่ามากที่สุดตลอดกาลของ Facebook
นั่นจึงทำให้ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ WhatsApp อย่าง Koum มีทรัพย์สิน 2.5 แสนล้านบาท และ Acton มีทรัพย์สิน 1.3 แสนล้านบาท
ถึงตรงนี้ Koum และ Acton ที่เคยถูก Facebook ปฏิเสธรับเข้าทำงาน ก็ได้กลายเป็นเศรษฐีเพราะ Facebook
โดยสาเหตุที่ Koum และ Acton ยอมขาย WhatsApp ให้ Facebook
เพราะพวกเขาเชื่อมั่นว่า Facebook จะทำให้ WhatsApp เติบโตได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ Facebook ยังรับปากว่าจะให้อิสระกับ WhatsApp เหมือนเดิม และจะไม่กดดันเรื่องโมเดลการสร้างรายได้ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้
Koum และ Acton ที่ยังยึดมั่นเรื่องประสบการณ์ของผู้ใช้งานและความปลอดภัยของข้อมูลมาโดยตลอด ก็ทำให้ในปี 2016 WhatsApp เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ 2 เรื่อง
อย่างแรกคือ WhatsApp จะเลิกคิดค่า Subscription รายปี ทั้งที่เป็นแหล่งรายได้หลักเพียงอย่างเดียว และยังยืนยันว่าจะไม่มีโฆษณาบนหน้าแอปพลิเคชันเหมือนเดิม
อย่างสองคือ WhatsApp เริ่มใช้ End-to-end Encryption (E2EE) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ปกป้องความเป็นส่วนตัวข้อความแช็ต
แต่การเปลี่ยนแปลงยังไม่ได้จบลงแค่นั้น เพราะอีกไม่กี่เดือนถัดมา Facebook ได้ประกาศว่าจะให้ WhatsApp แชร์ข้อมูลของผู้ใช้งานรวมถึงเบอร์โทรศัพท์กับ Facebook
นอกจากนี้ Facebook ยังกดดันให้ WhatsApp เริ่มหารายได้เร็วกว่าที่ตกลงกันไว้
โดย Facebook เสนอให้มีโฆษณาบน WhatsApp แต่ Koum และ Acton ปฏิเสธ
ทั้งคู่เลยเสนอวิธีคิดเงินจากผู้ใช้งานที่ส่งข้อความเกินกว่าจำนวนที่กำหนดแทน แต่ทาง Facebook ก็ปฏิเสธเช่นกัน
Acton เลยตัดสินใจลาออกจาก Facebook ในเดือนกันยายน ปี 2017
ก่อน Koum จะลาออกตามในอีก 7 เดือนถัดมา
เดือนมีนาคม ปี 2018 เกิดกระแสต่อต้าน Facebook ทั่วโลก หลังมีการพบว่า บริษัท Cambridge Analytica ได้นำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้กว่า 50 ล้านบัญชีของ Facebook มาวิเคราะห์และสร้างข่าวปลอม
กรณีเรื่อง Cambridge Analytica สร้างความเสียหายต่อ Facebook รวมถึงแอปพลิเคชันในเครืออย่าง WhatsApp เพราะหลายคนร่วมใจกันติดแฮชแท็ก #deletefacebook ใน Twitter และพากันลบบัญชี
รวมไปถึง Elon Musk ที่ลบบัญชีส่วนตัวและเพจของบริษัทออกจาก Facebook แทบจะในทันที
ในขณะเดียวกัน Acton ได้ออกมาเข้าร่วมแคมเปญ #deletefacebook และได้เล่าถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ว่า สหภาพยุโรปกังวลเรื่องความปลอดภัยและข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ WhatsApp
1
ทาง Facebook จึงได้มอบหมายให้ Acton ไปเจรจากับผู้ตั้งกฎหมายของสหภาพยุโรปว่า มันเป็นไปได้ยากที่จะเชื่อมต่อบัญชีของ WhatsApp เข้ากับ Facebook
แต่สุดท้ายการที่ Facebook ประกาศว่าจะแชร์ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานกับ WhatsApp
ก็เท่ากับว่า Acton ผิดคำพูดกับสหภาพยุโรป นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เขาลาออกจาก Facebook
หลังออกจาก Facebook มาแล้ว Acton ได้ร่วมก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ชื่อว่า Signal Foundation ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 เพื่อร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มชื่อ “Signal” ซึ่งในภายหลัง ก็ได้กลายมาเป็นคู่แข่งของ WhatsApp นั่นเอง
Signal ขึ้นชื่อเรื่องระบบความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว เพราะมีการใช้ระบบการเข้ารหัสแบบ E2EE ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้ใช้จริงอย่าง Edward Snowden ผู้เปิดโปงการสอดแนมประชาชนของรัฐบาลสหรัฐฯ และ Elon Musk เจ้าของบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยี SpaceX
โดย Moxie Marlinspike ผู้ร่วมก่อตั้ง Signal Foundation ได้สร้าง Signal Protocol เพื่อรองรับระบบ E2EE ของแอปพลิเคชัน Signal นี้ และ Acton ได้บริจาคเงินถึง 1,680 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบการเข้ารหัสดังกล่าว
จนสุดท้าย ในทุกวันนี้ WhatsApp และ Facebook Messenger รวมไปถึง Skype และ Twitter ก็ได้ใช้ Signal Protocol นี้ เพื่อรองรับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว
และเมื่อไม่นานมานี้ เหตุการณ์ที่ Facebook และแอปพลิเคชันในเครือซึ่งรวมถึง WhatsApp ล่มนานเกือบ 6 ชั่วโมง ก็ส่งผลให้มีผู้ใช้งานจำนวนมาก หันไปใช้แอปพลิเคชันอื่นแทน โดย Signal ที่มีการใช้งานคล้าย WhatsApp ก็เป็นหนึ่งในนั้น
และนี่ก็คือเรื่องราวของผู้ก่อตั้ง WhatsApp
ที่เริ่มต้นจากการไปสมัครงานที่ Facebook แล้วถูกปฏิเสธ
ต่อมาก็เห็นโอกาสในการพัฒนาแอปพลิเคชัน WhatsApp ที่ตั้งใจจะให้เป็นแอปแช็ตที่มีไว้สนทนาจริง ๆ โดยไม่ให้มีโฆษณา หรือสิ่งอื่น ๆ มารบกวน และมันก็ได้รับความนิยมจน Facebook ยอมจ่ายเงินซื้อด้วยเงินมากถึง 6.4 แสนล้านบาท
1
อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจแรกถูกทำให้เปลี่ยนไปจากผู้ซื้อกิจการ ที่เห็นเรื่องการสร้างรายได้เป็นสำคัญ
เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ต้องเลือกที่จะแยกทางเดิน และหันไปสร้างสิ่งใหม่
จากวันนั้นจนถึงวันนี้
เส้นทางของ WhatsApp ที่เกิดขึ้นมาเพียงสิบกว่าปี แต่มันก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดี เพราะในตอนนี้ WhatsApp ได้ไปเกี่ยวข้องกับ 2 พันล้านคนทั่วโลก ที่ใช้งานอยู่เป็นประจำไปแล้ว นั่นเอง..
โฆษณา