18 ต.ค. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Amartya Sen : นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่มุ่งมั่นกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคน
Amartya Sen : นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่มุ่งมั่นกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคน
อมาตยา เซน (Amartya Sen) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1998 จากผลงานของเขาที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ (Welfare Economics) ทฤษฎีการตัดสินใจในสังคม (Social Choice Theory) และการวัดระดับความเป็นอยู่ของประชากร
งานของเขาสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนมากมายและทำให้นักวิชาการหลายคนหันมาประยุกต์แนวคิดของเขาในการออกนโยบาย
ในบทความนี้ Bnomics จะพาไปทำความรู้จักกับแนวคิดของ อมาตยา เซน ที่ทรงอิทธิพลต่อวงการเศรษฐศาสตร์กัน
📌 ประชาธิปไตยและเสรีภาพนำมาซึ่งการพัฒนา
ในมุมมองของเซน คุณภาพชีวิตที่เลวร้ายมักจะมาจากการจัดการที่ไม่ดี
อย่างการกันดารอาหารที่ก่อนเคยถูกมองว่ามาจากการขาดแคลนทรัพยากรอาหาร เซนกลับแย้งว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นจากการที่คนไม่มีโอกาสเข้าถึงอาหารมากกว่า
ในหนังสือเรื่อง Poverty and Famines: An Essay on Entitlement and Deprivation (1981) เขาได้ชี้ให้เห็นว่า ในการกันดารอาหารหลายๆ ครั้ง ทรัพยากรอาหารไม่ได้ลดลงมาก แต่คนบางกลุ่มต้องอดตายเพราะไม่สามารถซื้ออาหารได้เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น การตกงาน การกักตุน ราคาอาหารที่แพงขึ้น หรือช่องทางการแจกจ่ายอาหารที่ไม่ทั่วถึง
ที่น่าสนใจ คือ ปัญหาเหล่านี้มักจะไม่ค่อยเกิดขึ้นในประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ดี เพราะผู้นำจะสนใจคำเรียกร้องจากประชาชนทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า เช่น มีการทดแทนรายได้ที่เสียไปโดยใช้นโยบายจัดจ้างงาน หรือควบคุมราคาอาหาร ที่ทำควบคู่ไปกับการแจกจ่ายอาหารโดยตรง
ดังนั้น การที่คนมีเสรีภาพในการพูด ชุมนุม ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ หรือ เรียกร้องสิทธิต่างๆ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ประเทศนั้นมีรัฐบาลที่โปร่งใส ซื่อสัตย์ และแก้ปัญหาได้ตรงจุด
📌 การพัฒนาก็เป็นเส้นทางสู่เสรีภาพ
เซนไม่ได้มองว่าเสรีภาพเป็นเส้นทางสู่การพัฒนาอย่างเดียวเท่านั้น แต่การพัฒนาก็นำมาซึ่งเสรีภาพได้ด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างหนึ่ง คือ การที่คนในชุมชนที่ถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งมาจากประสบการณ์ตรงของเขาในบ้านเกิด คือ รัฐเบงกอล และเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเรื่อง “Development as Freedom”
วิกฤติความยากจนและกันดารอาหารในรัฐเบงกอล ประเทศศรีลังกาปี 1943
ประชากรในรัฐเบงกอลนับถือศาสนามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ศาสนาฮินดู อิสลาม พุทธ คริสต์ เชน หรือ ซิกข์ และบ่อยครั้ง คนต่างศาสนาก็มักจะปะทะกันอย่างรุนแรง
ครั้งหนึ่ง เซนได้เห็นลูกจ้างรายวันชาวมุสลิมถูกทำร้ายด้วยมีดโดยคนฮินดูในระแวกนั้น เซนจึงมีความเชื่อว่าหากชาวมุสลิมคนนั้นมีรายได้มากขึ้น เขาจะมีอิสระภาพในการเลือกที่พักอาศัยและที่ทำงาน ให้ไม่ต้องไปอยู่ในชุมชนฮินดูที่อันตราย
ดังนั้น เสรีภาพ จึงเป็นทั้งจุดหมายและแนวทางในการพัฒนา และทั้งสองสิ่งนี้เกื้อกูลกันอย่างไม่รู้จบ
📌 รัฐบาลควรสนับสนุนเสรีภาพในด้านต่างๆ
เนื่องจากเสรีภาพและการพัฒนานั้นมาคู่กัน เซนจึงมองว่ารัฐบาลควรจะให้ความสำคัญกับเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงการศึกษา บริการสุขภาพ ประกันสังคม หรือ สภาพแวดล้อมที่ดี
ทั้งนี้ เสรีภาพไม่ได้หมายถึง เพียงแค่การอนุญาตให้ทำบางสิ่ง แต่หมายถึง การให้โอกาสที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นด้วย เช่น เสรีภาพในการทำงาน ไม่ได้แค่หมายถึง ประชาชนสามารถทำงานได้ แต่หมายถึงการที่พวกเขามีความสามารถและทรัพยากรที่จำเป็นในการหางานและเลือกงานทำได้ด้วย
นอกจากนี้ การให้โอกาสที่เท่าเทียมอาจเป็นคำตอบสำหรับปัญหาที่เรามองไม่เห็นด้วย เช่น การที่ประชากรส่วนใหญ่ในเอเชียและแอฟริกาเหนือเป็นเพศชาย อาจจะมาจากการที่ผู้หญิงไม่ได้รับความสนใจหรือได้รับโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพมากเท่าผู้ชาย โดยเซนคำนวณไว้ว่า ถ้าผู้หญิงในทวีปเหล่านี้มีโอกาสเท่าผู้ชาย โลกคงจะมีประชากรผู้หญิงเพิ่มขึ้นอีกถึง 100 ล้านคน
📌 มาตรฐานใหม่ในการวัดระดับการพัฒนาในสังคม
จากแนวคิดข้างต้น หน่วยวัดระดับการพัฒนาในสังคมแบบเดิม ที่มุ่งเน้นแต่รายได้และทรัพยากร อาจจะไม่ใช่หน่วยวัดที่ดีอีกต่อไป เพราะตัวเลขเหล่านั้นไม่ได้บ่งบอกถึงคุณภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชากร ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ
ในด้านการวัดความยากจน โอกาสที่ถูกจำกัดในด้านต่างๆ ของชีวิต อาจสะท้อนถึงความขาดแคลนได้ดีกว่ารายได้
เช่นเดียวกันกับรายได้ต่อหัวของคนในประเทศ (GDP per Capita) ที่ไม่ได้สะท้อนถึงความเป็นอยู่ของคนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ยกตัวอย่างเช่น บราซิล ที่มีรายได้ต่อประชากรสูงกว่า ศรีลังกา แต่คนในประเทศแรกกลับมีอายุขัยโดยเฉลี่ยน้อยกว่าประเทศหลัง
GDP per Capita เทียบระหว่างประเทศศรีลังกา กับ บราซิล
นอกจากนี้ จากเรื่องการกันดารอาหารที่ได้เล่าไป จำนวนอาหารที่มีอยู่ ก็อาจไม่ได้บ่งบอกถึงความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) อย่างชัดเจน เพราะอยู่ที่นโยบายในการแจกจ่ายอาหารและช่วยเหลือคนด้วย
ประเทศแรกกลับมีอายุขัยโดยเทียบระหว่างประเทศศรีลังกา กับ บราซิล
มุมมองของเซนต่อการวัดระดับการพัฒนาในสังคมเหล่านี้ ได้ทำให้นักวิชาการและผู้ออกนโยบายหลายคนหันมาสนใจความเป็นอยู่ของประชากร และหาวิธีอื่นๆ ในการวัดประสิทธิภาพของนโยบายและการพัฒนามากขึ้น
จวบจนทุกวันนี้ อมาตยา เซน ก็ยังคงเชื่อในเสรีภาพในการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างในช่วงโควิดที่ผ่านมา เขาก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่าการให้โอกาสคนในการเรียน จะช่วยทำให้คนระวังตัวและแพร่เชื้อได้น้อยลง เรียกว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความเชื่อมั่นคงมากจริงๆ
ในบทความหน้า Bnomics จะพาไปทำความรู้จักกับเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ท่านอื่นๆอีก จะมีใครบ้าง โปรดติดตาม
#Amartya_Sen #Welfare_Economics #Nobel_Prize
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา