18 ต.ค. 2021 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
‘อากู๋ ไพบูลย์’ แจงโยนบิ๊กล็อต 52% หวังปรับโครงสร้างถือหุ้นมอบเป็นมรดกให้ลูก พร้อมตั้งธรรมนูญครอบครัว แบ่งหน้าที่บริหารงานชัด
การเคลื่อนไหวของหุ้น บมจ.จี เอ็ม เอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ในวันนี้ (18 ตุลาคม) เต็มไปด้วยความคึกคัก โดยเฉพาะหลังพบรายการซื้อขายขนาดใหญ่ (บิ๊กล็อต) จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องสั่งพักการซื้อขาย (H) ในหุ้น GRAMMY เป็นการชั่วคราว เพื่อให้บริษัทชี้แจงถึงรายการบิ๊กล็อตที่เกิดขึ้น ก่อนจะปลดเครื่องหมายดังกล่าวในเวลาถัดมา
โดย ณ เวลา 10.22 น. ของวันนี้ (18 ตุลาคม) พบรายการบิ๊กล็อตหุ้น GRAMMY จำนวน 10 รายการ รวม 426.77 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 52.05% ของหุ้นทั้งหมด ที่ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 14.30 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 6,102 ล้านบาท
ในเวลาถัดมา GRAMMY ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า รายการบิ๊กล็อตดังกล่าวเกิดจากกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งเป็นสมาชิกของครอบครัวดำรงชัยธรรมได้ดำเนินการปรับโครงสร้างการถือหุ้น โดยการโอนหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดให้แก่ บริษัท ฟ้า ดำรงชัยธรรม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่จัดตั้งขึ้นโดยผู้ถือหุ้นกลุ่มดังกล่าวเพื่อปรับโครงสร้างการถือหุ้นภายในครอบครัวดำรงชัยธรรม และรองรับการกำกับดูแลธุรกิจของครอบครัวในระยะยาว
ทั้งนี้ภายหลังการโอนหุ้นครั้งนี้แล้วเสร็จ โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ของ GRAMMY จะเปลี่ยนแปลงเป็น บริษัท ฟ้า ดำรงชัยธรรม จะถือหุ้นใน สัดส่วน 52.05% ของสิทธิการออกเสียงทั้งหมดของบริษัทและกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของ GRAMMY จากเดิมที่โครงสร้างการถือหุ้นของครอบครัวดำรงชัยธรรมโดยตรง ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2564 จะประกอบด้วย
1. ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม สัดส่วน 47.91%
2. ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม สัดส่วน 1.10%
3. ระฟ้า ดำรงชัยธรรม สัดส่วน 1.10%
4. อิงฟ้า ดำรงชัยธรรม สัดส่วน 0.97%
5. ฟ้าฉาย ดำรงชัยธรรม สัดส่วน 0.97%
ผลของการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมทั้ง 5 ราย กลายเป็นผู้ถือหุ้น GRAMMY ทางอ้อม แต่จะใช้วิธีการออกสิทธิออกเสียงผ่านทาง บริษัท ฟ้า ดำรงชัยธรรม ซึ่ง ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม จะมีสิทธิออกเสียงในบริษัทดังกล่าวนี้ได้ในสัดส่วน 99% ขณะที่ลูกๆ ทั้ง 4 คนของไพบูลย์ คือ ฟ้าใหม่, ระฟ้า, อิงฟ้า และ ฟ้าฉาย จะมีสิทธิออกเสียงได้ในสัดส่วนคนละ 0.25%
เป็นที่น่าจับตามองว่าการปรับโครงสร้างของ GRAMMY รอบนี้จะสามารถพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับขึ้นขึ้นมาโดดเด่นอีกครั้งท่ามกลางกระแสดิสรัปต์ของดิจิทัลได้หรือไม่ เพราะจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาหุ้น GRAMMY ปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง จากปัจจัยพื้นฐานที่เข้ามารองรับ
ในขณะที่ราคาหุ้น GRAMMY หลังปลกเครื่องหมาย H ปรับขึ้นร้อนแรงจนทำจุดสูงสุดของวันที่ 18.90 บาท เพิ่มขึ้น 26.8% ก่อนจะย่อตัวลงมาปิดตลาดที่ระดับ 16.20 บาท เพิ่มขึ้น 9.46%
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่า การปรับโครงสร้างการถือหุ้นภายในครอบครัวดำรงชัยธรรมครั้งนี้ เป็นการปรับโครงสร้างแบบมอบมรดกให้กับบุตร ผ่าน บริษัท ฟ้า ดำรงชัยธรรม ดังกล่าว ซึ่งเป็นโฮลดิ้ง
โดยบุตรทั้ง 4 คนจะมีสัดส่วนการถือหุ้นและสิทธิในการออกเสียงเท่าๆ กัน รวมทั้งจะมีกฎกติกา หรือ ธรรมนูญครอบครัว เพื่อป้องกันการขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่บุตรทั้ง 4 คนจะแบ่งหน้าที่ในการบริหารงานใน GRAMMY อย่างชัดเจน โดย
1
ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม บุตรคนโต จะรับผิดชอบหน้าที่และบริหารงานด้านธุรกิจเพลงแต่เพียงคนเดียว
ระฟ้า ดำรงชัยธรรม จะดูแลสายงานทางด้านมีเดีย คอนเทนต์ ดีวีดี
ฟ้าฉาย ดำรงชัยธรรม บุตรสาวดูแลธุรกิจโฮมช้อปปิ้งในนาม ‘โอ ช้อปปิ้ง’
อิงฟ้า ดำรงชัยธรรม บุตรสาวอีกคนหนึ่ง จะเข้ามาดูแลรับผิดชอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น ตึกจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
“ผมอายุมากแล้วก็อยากจะแบ่งมรดกให้ลูก เราทำเรื่องนี้กันมาปีกว่าๆ เราจ้าง บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี มาฟัง ว่าผมกับลูกๆ ต้องการอะไร ใครอยากทำอะไร เราถกเถียงกันแล้วก็ได้ข้อสรุป ออกมา เราทำกันตั้งแต่ตอนนี้เพื่อไม่ให้มีปัญหาที่จะต้องมาแย่งผลประโยชน์ หรือทะเลาะกันในอนาคต เพราะเรากำหนดเป็นธรรมนูญของครอบครัวที่ทุกคนต้องยอมรับ”
ไพบูลย์ มั่นใจว่าการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มดำรงชัยธรรมครั้งนี้จะส่งผลดีต่อธุรกิจของ GRAMMY ให้เกิดความชัดเจนและเดินไปอย่างถูกทางท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก
รวมทั้งเชื่อมั่นว่า ผู้บริหาร GRAMMY ซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่นใหม่ จะมีวิสัยทัศน์ และดำเนินการหรือแอ็กชัน ธุรกิจเพื่อเดินหน้าเข้าสู่ยุค นิวอีโคโนมิก ภายใต้กระแสการขับเคลื่อนของโลกดิจิทัล ได้อย่างดี
“ยุคนี้เป็นยุคของ แอปพลิเคชัน บล็อกเชน การทำ ICO เราจะต้องไปสู่จุดนั้น ซึ่งยุคผมอาจจะไม่ถนัด แต่เจเนอเรชันใหม่ จะถนัดกว่า จะมีความชัดเจนว่าจะไปยังไง โดยมีรุ่นผม และผู้บริหารที่ยังทำงานอยู่ในปัจจุบันให้คำปรึกษา”
ประธานกรรมการ GRAMMY กล่าวด้วยว่า นักลงทุนและผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ น่าจะรู้สึกพอใจในการปรับโครงสร้างครั้งนี้เพราะเป็นการส่งสัญญาณว่า GRAMMY มีการปรับตัว ซึ่งจะสร้างความมั่นคงให้กับบริษัท รวมทั้งยังป้องกันปัญหาการขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ด้าน มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ GRAMMY ครั้งนี้เป็นเพียงโครงสร้างภายในครอบครัวดำรงชัยธรรม ซึ่งคาดว่าจะยังไม่เห็นผลต่อธุรกิจ ณ วันนี้ แต่ราคาหุ้นที่ตอบสนองในทิศทางบวก เพราะนักลงทุนคาดว่าการบริหารงานโดยเจเนอเรชันใหม่จะสามารถผลักดันให้ธุรกิจปรับตัวรับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม เนื่องจากการปรับตัวของกลุ่มดำรงชัยธรรมถือว่าเดินมาถูกทาง แต่ในการดำเนินการจะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและทันกับสถานการณ์หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอดู
นอกจากนี้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญซึ่งเป็นข้อจำกัดในการทำธุรกิจบางด้านของบริษัท เช่น การจัดคอนเสิร์ต การจัดอีเวนต์ หรือกิจกรรมที่จะทำให้เกิดการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก
“ตอนนี้เท่าที่ประเมินการนำ หุ้น ONEE เข้าตลาด น่าจะส่งผลดี ช่วยเกื้อหนุนธุรกิจทีวีร่วมกัน ONEE น่าจะมีกำไรมากขึ้น GRAMMY ก็จะได้อานิสงส์ ได้ซินเนอจี กันได้ แต่เรื่องการปรับโครงสร้างภายในครอบครัว ยังมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในวันนี้ ที่ธุรกิจประเภทนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก ผมเชื่อว่า GRAMMY เดินมาถูกทาง แต่เขาจะทำได้เร็วแค่ไหน จะทำอย่างไร จะทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เข้ามากระทบธุรกิจประเภทนี้หรือไม่ยัง เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม จะสะท้อนถึงผลการดำเนินงานมากน้อยแค่ไหน” มงคลกล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของที่ GRAMMY ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิ 283.16 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมที่ 2,009.74 ล้านบาท เป็นการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ที่มีรายได้รวม 5,035.62 ล้านบาท มีผลขาดทุน 175.41 ล้านบาท
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP
โฆษณา