19 ต.ค. 2021 เวลา 04:15 • ประวัติศาสตร์
*** กองพล 93: จากยูนนานสู่สันติคีรี 2,000 ลี้จากมาตุภูมิ ***
"เมื่อพูดว่า... สงครามจีน-ไต้หวัน” ผู้อ่านหลายท่านอาจนึกถึงการต่อสู้ระหว่างกองทัพฝ่ายจีนก๊กมินตั๋ง (จีนคณะชาติ) และกองกำลังคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมืองจีน ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายรัฐบาลคณะชาติ จนต้องทำการล่าถอยไปยังเกาะไต้หวันในปี 1949
อย่างไรก็ตาม... สิ่งที่ผมจะพูดถึงวันนี้คือเรื่องราวของสมรภูมิอีกด้านหนึ่ง
มันเป็นการเดินทางกว่า... 2,000 ลี้ของทหารก๊กมินตั๋งกลุ่มหนึ่งที่จับอาวุธสู้กับจีนแม้สงครามในแผ่นดินจะยุติลงไปแล้ว...
นี่คือเรื่องราวการผจญภัยของกองพล 93 ผู้ล่าถอยจากมลฑลยูนนานสู่พม่า และผ่านพ้นชะตากรรมพิเศษมากมาย ก่อนจะมาลงเอย ณ จังหวัดเชียงรายประเทศไทย!
อนึ่งบทความนี้เป็นการนำเอกสารต่างประเทศทั้งงานวิชาการ, บันทึกเหตุการณ์, และข่าวมาเรียบเรียงเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งข้อมูลไม่ได้ลงรอยกันหมดทาง The Wild Chronicle จะทำการชี้แจงจุดคลาดเคลื่อนเอาไว้ในบทความครับ
*** สงครามกลางเมืองจีน ***
ในปี 1949 กองทัพก๊กมินตั๋งถูกกองทัพปลดปล่อยประชาชนของเหมาเจ๋อตง รุกไล่อย่างต่อเนื่อง ทำให้จอมพลเจียงไคเช็ก ตัดสินใจล่าถอยไปยังเกาะไต้หวัน พร้อมกับสั่งให้กำลังรบที่เหลือบนแผ่นดินใหญ่เปิดแนวรบเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจฝ่ายคอมมิวนิสต์
โดยกองพลที่ 93 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพที่ 26 ประจำมลฑลยูนนานติดกับชายแดนพม่า พวกเขาทำหน้าที่รบเบี่ยงเบนความสนใจเพื่อให้การอพยพเป็นไปอย่างราบรื่น
อย่างไรก็ตาม กองทัพคอมมิวนิสต์นั้นได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านและผู้ว่าการมณฑลยูนนาน บีบให้กองทัพที่ 26 จำต้องล่าถอยเข้าสู่บริเวณสนามบินเพื่อถอนกำลังกลับด้วยเครื่องบินไปยังเกาะไต้หวัน
ภาพแนบ: การอพยพไปไต้หวัน
...ทว่ากองทัพปลดปล่อยประชาชนซึ่งได้รับชัยชนะอย่างต่อเนื่อง ก็โถมกำลังเข้าโจมตีจนสนามบินที่ใช้ในการอพยพ หลังการถอยทัพเริ่มเพียง 4 วัน ความพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วนี้ ทำให้กองทัพก๊กมินตั๋งที่เหลืออยู่ไม่มีทางเลือกนอกจากล่าถอยเข้าต่างประเทศ ด้วยการแบ่งกำลังพลออกเป็น 2 ส่วนแยกกันหนีได้แก่:
1. กำลังรบส่วนใหญ่ภายใต้การบังคับบัญชาของ นายพลหวงเจี๋ยพร้อมกำลังทหาร 30,000 นาย (จากปากคำบอกเล่าของเจ้าตัว) ล่าถอยไปยังเวียดนามซึ่งตอนนั้นยังเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส พวกเขาถูกฝ่ายฝรั่งเศสจับกุมเพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรองกับการสนับสนุนทางทหารของสหรัฐในการต่อสู้กับกองกำลังเวียดมินห์ที่กำลังก่อกบฏ
2. กำลังส่วนที่สองคือส่วนหนึ่งของกองพล 93 และกรมย่อยอื่นๆของนายพลหลี่หมี ได้หนีเข้าไปในรัฐฉานของพม่าซึ่ง ณ เวลานั้นพยายามวางตัวเป็นกลางจากทั้งค่ายคอมมิวนิสต์และค่ายโลกเสรี เพื่อทำการต่อสู้กับฝ่ายจีนแผ่นดินใหญ่ในนาม “กองกำลังปลดปล่อย เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์” (Anti Communist Salvation Army)
ภาพแนบ: การบุกเข้าพม่าของกองทหารจีนคณะชาติ
*** เริ่มต้นปฏิบัติการในพม่า (ค.ศ. 1949 - 1951) ***
นายพลหลี่หมีนั้นเป็นอดีตนายทหารระดับสูงของฝ่ายก๊กมินตั๋งผู้กว้างขวางทางการเมือง ด้วยพื้นฐานมาจากครอบครัวพ่อค้าอัญมณี เขาเคยสร้างผลงานมากมายในช่วงสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ และสงครามจีน - ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 จนได้เป็นคนใกล้ชิดจอมพลเจียงไคเช็ก
เขาสามารถรวบรวมกำลังพลที่แตกทัพจากกองทัพที่ 8 และ 26 ซึ่งตกค้างจากปฏิบัติการรบกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกก่อนหน้านี้ (ณ เวลานั้นระบบการจัดกำลังของจีนไม่มีระเบียบที่ดีมากนัก ทำให้การแตกทัพเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง) เข้ามาเป็นกำลังรบของตนเองจนสามารถขยายขุมกำลังราว 1,500 นายในปี 1950 (ข้อมูลทางจีนกล่าวว่ามีจำนวนมากถึง 7,000 นาย แต่ยังไม่การยืนยันถึงความถูกต้องของข้อมูลนี้)
ก่อนจะนำกำลังเข้ายึดบริเวณท่าขี้เหล็ก (ที่ปัจจุบันนี้คนไทยข้ามจากแม่สายไปช๊อปปิ้งกันมากนั่นแหละครับ) เป็นฐานบัญชาการชั่วคราว
ภาพแนบ: นายพลหลี่หมี ผู้นำกองพล 93
4. การเคลื่อนไหวดังกล่าวย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลพม่า แต่ก็ลำบากใจที่จะขับไล่ เพราะตอนนั้นกองทัพพม่ายังรบติดพันกับกลุ่มติดอาวุธกู้ชาติต่างๆ ส่งผลให้เกิดความพยายามเจรจาให้กองพล 93 ยอมวางอาวุธหรือถอยทัพออกจากพื้นที่ดีๆ
แน่นอนว่าฝ่ายก๊กมินตั๋งได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว นำไปสู่การปะทะระหว่างทั้งสองฝ่ายอยู่หลายครั้ง แต่ท้ายที่สุดฝ่ายจีนซึ่งมีกำลังน้อยกว่าต้องล่าถอยไปยังเมืองสาดและนับเป็นโชคดีที่กองทัพพม่าไม่ได้รุกไล่ต่อเพราะยังติดพันกับสงครามกลางเมือง (ที่ทุกวันนี้รบมา 70 ปีแล้วก็ยังรบไม่จบ) อยู่ ณ ตรงนี้เอกสารจากทางจีนระบุว่าทัพจีนสู้รบกล้าหาญ พม่าสู้ไม่ได้จึงต้องปล่อยไว้ ส่วนฝ่ายพม่าเพียงกล่าวว่าสามารถโจมตีจนฝ่ายจีนล่าถอยไป
ภาพแนบ: อาสาสมัครจีนในสงครามเกาหลี หนึ่งในตัวแปรที่สหรัฐหันมาสนับสนุนกองพล 93 ให้เปิดแนวรบเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของฝ่ายจีน
ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอยู่ใต้การจับตามองของสหรัฐซึ่ง ณ เวลานั้น กำลังต่อสู้ติดพันกับกองทัพจีนหลายแสนนายในสงครามเกาหลี ทำให้รัฐบาลสหรัฐอนุมัติให้ CIA ดำเนินการการสนับสนุนเงินทุนและยุทโธปกรณ์ให้กับนายพลหลี่หมีในชื่อของปฏิบัติการกระดาษ (Operation Paper) ในปี 1951
ทั้งนี้การแทรกแซงของสหรัฐทำผ่านตัวกลางอย่างราชอาณาจักรไทยภายใต้การปกครองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งยอมให้ไทยเป็นจุดผ่านทางของการสนับสนุนต่างๆ รวมทั้งช่วยปิดบังการมีส่วนร่วมของสหรัฐแลกกับการสนับสนุนด้านงบประมาณและความช่วยเหลือทางทหาร
ภาพแนบ: จอมพล ป. นายกไทย ณ เวลานั้น
ในระหว่างนี้ กองพลที่ 93 ได้เริ่มฟื้นฟูศักยภาพของตน จากการรวบรวมชาวจีนอพยพและคนจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาสวามิภักดิ์ จนสามารถขยายกองทัพให้มีสมาชิกกว่า 4,000 คน ทั้งยังได้รับการฝึกจากครูฝึกซึ่งถูกส่งตรงมาจากเกาะไต้หวันจนเข้มแข็งพอจะสามารถลอบโจมตีชายแดนจีนได้
ภาพแนบ: ทหารจีนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในพม่า ซึ่งบางส่วนกลายมาเป็นกำลังให้กองพล 93
*** การต่อสู้ที่ล้มเหลว (ค.ศ. 1951 - 1952) ***
ในเดือนพฤษภาคมปี 1951 ภายหลังจากทำสงครามก่อกวนตามแนวชายแดนมาเป็นระยะ นายพลหลี่หมีก็เริ่มต้นคิดการใหญ่จะบุกตีชิงเมืองจีนกลับโดยกรีฑาทัพเข้าตียูนนาน! ด้วยการโจมตีแบบสายฟ้าแล่บทำให้เขาสามารถยึดหมู่บ้านติดชายแดนพม่าได้ถึง 4 แห่ง
ก่อนจะถูกกองทัพปลดปล่อยประชาชนที่ 2 ซึ่งมีกำลังมากกว่าตอบโต้ จนฝ่ายก๊กมินตั๋งเพลี่ยงพล้ำต้องล่าถอย ก่อนจะเปิดฉากรุกอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมแต่ประสบความล้มเหลวเหมือนเดิม
ภาพแนบ: เครื่อง C-47 แบบเดียวกับที่สหรัฐใช้ส่งกำลังบำรุงให้ทหารจีนในพม่า
นายพลหลี่หมียังไม่ยอมล้มเลิกความตั้งใจในการขับไล่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ออกจากแผ่นดินเกิด ในช่วงต้นปี 1952 เขามีกำลังใจอีกครั้ง เมื่อได้รับกำลังเสริมจากไต้หวันหลายร้อยนาย ทั้งยังมีอาสาสมัครชาวจีนทั้งในไทย, มาเลเซีย, และพม่ามาร่วมด้วย (ทางการไทยนั้น ด้านหนึ่งปล่อยให้มีสิ่งนี้ อีกด้านก็จับกุมนักหนังสือพิมพ์ชาวจีนที่พยายามปลุกระดมเพื่อหาอาสาสมัครเข้าร่วมการรบในพม่า เพื่อรักษาภาพลักษณ์ความเป็นกลาง) นอกจากนั้นหลี่หมียังได้รับอาวุธจากสหรัฐมาสนับสนุนเป็นอันมากผ่านบริษัทการบินเอกชนที่สหรัฐเข้ามาตั้งในประเทศไทย
เมื่อเห็นว่ามีกำลังเข้มแข็งเต็มที่หลี่หมีจึงเริ่มการรุกครั้งที่ 3 ในช่วงเดือนสิงหาคม 1952 แต่กลับทำการไม่ตลอดต้องถอนกำลังกลับมาเป็นครั้งที่สาม
ภาพแนบ: ทหารจีนช่วงสงครามโลกในพม่า
ความพยายามครั้งสุดท้ายของกองพล 93 เกิดขึ้นในเดือนมกราคมปี 1953 เมื่อทหารจีนกว่า 30,000 ทำการบุกข้ามพรมแดนไปยังมณฑลยูนนาน แต่มันก็จบลงด้วยหายนะ หลังทหารทั้งนั้นพ่ายแพ้ คนสามหมื่นสามารถหลบหนีกลับมายังพม่าได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ อนึ่งความพยายามบุกยูนนานของนายพลหลี่หมีนั้น ถูกบันทึกเอาไว้แตกต่างกันตั้งแต่ 3 - 6 ครั้ง ความแตกต่างทางจำนวนดังกล่าวอาจมาจากการนับรวมภารกิจก่อกวนตามพรมแดนด้วย
เมื่อพิจารณาแล้วว่าไม่สามารถเอาชนะด้วยการเปิดแนวรบโดยตรง นายพลหลี่หมีจึงหันมาขยายอิทธิพลในรัฐฉานด้วยการยึดอำนาจควบคุมการเก็บภาษีทั้งที่จังหวัดเชียงตุงในรัฐฉานและเมืองลุนในเขตโกก้าง เขายังจับมือกับกองกำลังติดอาวุธกู้ชาติของชนกลุ่มน้อยต่างๆ เพื่อคานอำนาจกับรัฐบาลพม่า รวมทั้งพยายามสร้างสถานการณ์ให้กองทัพพม่าและกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนปะทะกัน ด้วยการปลอมตัวเป็นทหารทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตามความพยายามดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก
ภาพแนบ: ปธน. ไอเซนฮาวร์
ตอนนั้นอเมริกาเห็นหลี่หมีพ่ายแพ้หลายครั้งติดต่อกันจึงลดการสนับสนุน โดยประธานาธิบดีของสหรัฐอย่าง ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ได้สื่อสารไปยังรัฐบาลไต้หวันอย่างตรงไปตรงมาว่า การคงอยู่ของกองพล 93 อาจจะกลายเป็นข้ออ้างให้ฝ่ายจีนแผ่นดินใหญ่นำกำลังทางทหารเข้ามาแทรกแซงพม่า อันเป็นการทำลายสเถียรภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้นายพลหลี่หมีต้องหันมาดำเนินกิจการค้าฝิ่นเป็นหลัก เพื่อนำรายได้มาใช้สำหรับการจัดหากำลังอาวุธ ขณะที่ข้อมูลบางชุดกล่าวว่าทาง CIA ยังเป็นผู้สนับสนุนกิจการดังกล่าวแบบลับๆ
ภาพแนบ: นายกฯ อูนุ ผู้นำจากการเลือกตั้งคนแรกของพม่าหลังได้รับเอกราช
*** การตอบโต้ของฝ่ายพม่า (ค.ศ. 1953-1961) ***
ในเดือนมีนาคมปี 1953 รัฐบาลพม่าพยายามผลักดันก๊กมินตั๋งออกจากประเทศ โดยยกทัพมารบกันเป็นศึกใหญ่ ตรงนี้เอกสารให้การไม่ตรงกัน เอกสารพม่าบอกว่าพม่าชนะ เอกสารจีนบอกว่าจีนชนะแต่สูญเสียมาก ไม่ว่าอย่างไรสิ่งที่เกิดขึ้นคือ:
1) พม่าผลักดันก๊กมินตั๋งออกไปไม่ได้ด้วยกำลังรบ
2) พม่าใช้ช่องทางการทูตระหว่างประเทศผ่านองค์การสหประชาชาติ กดดันให้ไต้หวันยุติการแทรกแซงเขตพื้นที่พม่า
*** ตัดเข้าช่วงโฆษณา ***
ขอโฆษณาว่าหนังสือ "ประวัติย่อก่อการร้าย War on Terror" ที่พิมพ์ครั้งก่อนขายหมดจากตลาดไปนานแล้ว มีแผนจะพิมพ์ใหม่ปลายปีนี้นะครับ
ตอนแรกว่าใกล้ๆ เสร็จแล้วค่อยทำโปร แต่เหตุการณ์ในอัฟกานิสถานและรำลึก 9/11 ทำให้มีคนถามมาเยอะเหลือเกิน เลยเปิดให้จองก่อน
- หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องประวัติของขบวนการก่อการร้ายสากลตั้งแต่ยุคอัลเคดามาต่อ ISIS
- ผมตั้งใจจะเพิ่มเนื้อหาให้อัพเดทถึงปัจจุบัน
- พิมพ์เป็นสี่สีแน่นอน
- ปกพิมพ์สีเมทัลลิก ปั้มนูนและปั้มเงินที่ชื่อเหมือนเล่มสุริยันพันธุ์เคิร์ด รับรองว่าสวยมาก เหมาะแก่การสะสม สำนักพิมพ์ The Wild Chronicles เราพิมพ์เองแล้วจะทำอะไรก็ได้ 555
- มีเซ็นลายเซ็นพิเศษประจำเล่มให้ครับ
- ราคาอยู่ที่ 389 บาท สั่งพรีออเดอร์ตอนนี้ลดเหลือ 369 บาท และฟรีค่าส่งในประเทศ (ปกติค่าส่ง 50 บาทครับ ส่วนต่างประเทศก็ตามจริง)
- สนใจชำระและใส่ที่อยู่ที่ link แนบได้เลย อนึ่งระบบนี้จะมีเมลคอนเฟิร์มไปแต่ช้าหน่อยนะครับ
นอกจากนี้ ขอโฆษณาว่าหนังสือ “สุริยันพันธุ์เคิร์ด” หรือหนังสือเล่มใหม่ของผมออกแล้วนะครับ มีรายละเอียดดังนี้...
- เรื่องนี้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ชาวเคิร์ด ผลงานเล่มล่าสุดในชุด The Wild Chronicles
- พิมพ์เป็นสี่สี!
- ยาวที่สุดเท่าที่พิมพ์มา ยาวกว่าพยัคฆ์ทมิฬสิ้นชาติราว 2 เท่า
- รูปโหดๆ ที่ทำให้เข้าใจสถานการณ์ดีขึ้น จะไม่เซนเซอร์ แต่จะรวมอยู่ท้ายเล่ม และมีคำเตือนก่อน
- มีลายเซ็นทุกเล่ม!
- ราคา 439 บาท รวมค่าส่งแล้ว
ท่านที่ต้องการพรีออเดอร์สามารถชำระ และใส่ที่อยู่ทาง link แนบได้เลย
อนึ่งชาวเคิร์ดเป็นชนกลุ่มน้อยในตะวันออกกลาง มีราว 30 ล้านคน หากไม่มีประเทศของตนเอง พวกเขาแตกเป็นหลายส่วนและถูกกดขี่อย่างหนัก แต่การถูกกดขี่เคี่ยวกรำนั้นทำให้พวกเขากลายเป็นนักรบที่เก่งกาจ
หนังสือเล่มนี้เขียนเรื่องราวของชาวเคิร์ดตั้งแต่ยุคตำนานจนถึงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งมีความพีคแล้วพีคอีก ผ่านสงครามใหญ่ๆ มากมาย เช่นสงครามอิรัก - อิหร่าน, สงครามอ่าวเปอร์เซีย, สงครามปราบซัดดัม, สงครามกลางเมืองอิรัก, สงครามปราบกลุ่มก่อการร้าย แต่ละสงครามที่ว่ามานี้มีสเกลใหญ่เป็นรองแค่สงครามโลก
ชาวเคิร์ดมีส่วนร่วมในสงครามเหล่านี้ทั้งหมดในฐานะชนกลุ่มน้อยที่ไม่รวยแต่รบเก่ง พอมีคนมาติดอาวุธให้เลยมักกลายเป็นไพ่โจ๊กเกอร์ที่เปลี่ยนผลชี้ขาดของสงคราม
อย่างไรก็ตามศัตรูอันดับหนึ่งของชาวเคิร์ดคือเผด็จการซัดดัม ฮุสเซนนั้นก็โหดมาก โหดโคตรๆ ใครเคยอ่านพยัคฆ์ทมิฬสิ้นชาติ หรือเชือดเช็ดเชเชน ผมบอกได้ว่าไอ้นี่ก็โหดไม่แพ้กัน หรือเผลอๆ โหดกว่า ดังนั้นการต่อสู้ของชาวเคิร์ดมันจึงเป็นเรื่องที่หลอนและดุเดือดมากๆ
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ที่ผมได้ไปเยือนดินแดนเคอร์ดิสถานอิรัก (และหนีมิสไซล์มา) เมื่อต้นปี 2020 เพื่อนชาวเคิร์ดที่ผมสัมภาษณ์ทุกคนเป็นผู้รอดชีวิตจากทุกสงครามข้างต้น ทำให้มีข้อมูล ความเห็น และมุมมองของคนต่างๆ ที่ลึกกว่าในตำรา แน่นอนว่าประสบการณ์ของพวกเขาดาร์คมาก แต่เขาหลายคนไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายขนาดนั้น พวกเขาตีความสิ่งที่พบเจออย่างไร ลองตามอ่านดูนะครับ
"สุริยันพันธุ์เคิร์ด" ตั้งใจพิมพ์เป็นสี่สี เป็นหนังสือที่ยาวที่สุดตั้งแต่ผมเขียนสารคดีชุด The Wild Chronicles มา
อีกครั้งนะครับ ท่านที่ต้องการพรีออเดอร์หนังสืออย่างเดียว สามารถชำระ และใส่ที่อยู่ทาง link นี้ได้เลย 439 บาท รวมค่าส่งแล้ว (ในประเทศ) ถ้าบางท่านอยู่ต่างประเทศมีค่าส่งพิเศษจะแจ้งอีกที
ในวาระที่เขียนเรื่องประวัติศาสตร์รัสเซีย ขอโฆษณาว่าหนังสือ "เชือดเช็ดเชเชน" ที่พิมพ์ครั้งก่อนขายหมดจากตลาดไปนานแล้ว มีแผนจะพิมพ์ใหม่ปลายปีนี้นะครับ ตอนนี้เปิดให้จองแล้ว
- หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องประวัติของชนกลุ่มน้อยเชเชน ตลอดจนประวัติศาสตร์รัสเซียยุคหลัง โดยเน้นบทบาทของปูตินในการต่อสู้เพื่อขึ้นครองอำนาจ, ปฏิรูปรัสเซีย, และทำสงครามปราบชาวเชเชน
- หนังสือเล่มนี้มีผู้วิจารณ์มากมายว่า "โหดสัสรัสเซีย"
- ผมตั้งใจจะเพิ่มเนื้อหาให้อัพเดทถึงปัจจุบัน แน่นอนว่ามีความโหดสัสมากขึ้นไปอีก
- พิมพ์เป็นสี่สีแน่นอน
- ปกพิมพ์สีเมทัลลิก ปั้มนูนและปั้มเงินที่ชื่อเหมือนเล่มสุริยันพันธุ์เคิร์ด รับรองว่าสวยมาก เหมาะแก่การสะสม สำนักพิมพ์ The Wild Chronicles 😉
- มีเซ็นลายเซ็นพิเศษประจำเล่มให้ครับ
- ราคาอยู่ที่ 389 บาท สั่งพรีออเดอร์ตอนนี้ลดเหลือ 369 บาท และฟรีค่าส่งในประเทศ (ปกติค่าส่ง 50 บาทครับ ส่วนต่างประเทศก็ตามจริง)
- สนใจชำระและใส่ที่อยู่ที่ link แนบได้เลย อนึ่งระบบนี้จะมีเมลคอนเฟิร์มไปแต่ช้าหน่อยนะครับ
ภาพแนบ: เจียงไคเช็กกับไอเซนฮาวร์
ตอนนั้นตัวแทนจากสหรัฐ, ไต้หวัน, พม่า, และไทยเข้าร่วมการเจรจาที่กรุงเทพฯ ส่งผลให้เกิดข้อตกลงระหว่าง 4 ฝ่ายขึ้นในปี 1953 โดยระบุว่า “ทางการจีน (ก๊กมินตั๋ง) จะต้องถอนทหารอย่างน้อย 5,000 นาย ออกจากพม่าภายใน 35 วัน” แต่เมื่อเวลาผ่านไปฝ่ายก๊กมินตั๋งกลับสามารถถอนกำลังกลับได้เพียง 2,000 นายเท่านั้น เนื่องจากทหารบางส่วนที่ตกค้างมาตั้งแต่ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 มองว่ารัฐฉานเปรียบเสมือนบ้านของตน โดยพวกเขาจำนวนไม่น้อยสร้างครอบครัวกับคนในพื้นที่
ทว่าการขนย้ายก็ยังดำเนินต่อไปจนสามารถนำทหารทหารและครอบครัวกว่า 5,700 คน รวมถึงนายพลหลี่หมีและชาวพื้นเมืองอีกราวๆ 800 คนไปไต้หวันได้สำเร็จ
ยังมีข้อถกเถียงว่าการอพยพดังกล่าวอาจเป็นเพียงฉากบังหน้า เพราะแท้จริงแล้วก๊กมินตั๋งยังคงกองกำลังอยู่ราวๆ 2,000 นาย เพื่อทำการสู้รบต่อ
ภาพแนบ: ทหารพม่าในช่วงสงครามเย็น
กองทัพพม่ายังหวาดระแวงกองกำลังที่หลงเหลืออยู่ ทำให้มีการต่อสู้ระหว่างปี 1954-1958 ซึ่งแม้พม่าจะประสบความสูญเสียอย่างหนักและไม่สามารถเอาชนะฝ่ายตรงข้ามแบบเบ็ดเสร็จ แต่ก็สามารถขับไล่ทหารจีนบางส่วนไปยังราชอาณาจักรลาวได้ จนมีรายงานว่ามีทหารจีนหลงเหลือเพียง 1,350 นายในปี 1958
แต่พวกเขากลับขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 1960 เมื่อทหารบางส่วนได้ข้ามชายแดนมาจากลาวและอีกส่วนอพยพหนีความแร้นแค้นจากมลฑลยูนนานทำให้กำลังของทหารจีนเพิ่มขึ้นเป็น 2,300 และเกิดการก่อตั้งฐานที่มั่นแห่งใหม่บริเวณชายแดนพม่า-ลาวถึงสองแห่ง
ภาพแนบ: ซากเครื่องบิน Sea Fury ของพม่าที่โดนพลปืนของ PBY4 ยิงตกระหว่างสกัดกั้น (PBY4 ก็ตกด้วย) โดยข้อมูลระบุว่าเครื่อง PBY4 นั้นเป็นของไต้หวันที่ทำภารกิจให้สหรัฐ
กองกำลังก๊กมินตั๋ง ณ จุดนี้ผ่านสงครามมามากมีความเชี่ยวชาญในการรบยิ่ง ทำให้ฝ่ายพม่าจำเป็นต้องยอมให้ทหารจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนเข้ามาร่วมภารกิจขับไล่ผู้รุกราน ซึ่งแม้ว่าทหารก๊กมินตั๋งจะพยายามต่อต้านศัตรูอย่างสุดความสามารถจนฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์ - พม่าต้องตึงมือ แต่ที่สุดแล้วน้ำน้อยแพ้ไฟ พวกเขาจึงจำต้องล่าถอย
ฝ่ายพม่าสามารถยึดยุทธภัณฑ์ที่สหรัฐส่งมาช่วยเหลือได้เป็นจำนวนถึง 5 ตัน นอกจากนี้กองทัพอากาศพม่ายังสามารถยิงเครื่องบินของไต้หวันตก (เป็นรุ่น PB4Y Privateer เดิมออกแบบเป็นเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล แต่ดัดแปลงมาใช้สำหรับภารกิจขนส่งให้พวกกองพล 93 แต่ทางพม่าก็สูญเสียเครื่อง Sea Fury ไปหนึ่งลำ) ทำให้ภาพลักษณ์ของสหรัฐบนเวทีนานาชาติสั่นคลอน
ความสูญเสียครั้งนี้… สร้างความบอบช้ำให้กับฝ่ายก๊กมินตั๋งเป็นอย่างมาก จนไม่สามารถสร้างอิทธิพลทางทหารเหนือพม่าได้อีก
ภาพแนบ: นายพลต้วนและนายพลหลี่
*** ที่มั่นแห่งใหม่... กับการเดินทางที่ยังไม่จบสิ้น (ค.ศ. 1961) ***
หลังความปราชัย ทหารก๊กมินตั๋งได้ล่าถอยจากพม่ามายังแถบดอยแม่สลองในประเทศไทย เพราะตอนนั้นไทยเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐและฝ่ายโลกเสรี
รัฐบาลไทยให้ก๊กมินตั๋งทำหน้าที่เป็นกันชนป้องกันการแทรกซึมของฝ่ายคอมมิวนิสต์ โดยเรียกพวกเขาว่า "กำลังนอกแบบจีน" (CIF) และวางให้อยู่ภายใต้การดูแลของคณะทำงานพิเศษของกองบัญชาการทหารสูงสุดในกรุงเทพมหานคร แบ่งออกเป็นสองหน่วยใหญ่ๆคือ
“กรมทหารที่ 5” ภายใต้การควบคุมของนายพลต้วนซีเหวิน ที่คนไทยรู้จักในนาม “นายพลต้วน” มีฐานที่มั่น ณ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีทหารจำนวน 1,500 นาย
“กรมทหารที่ 3” ภายใต้การควบคุมของนายพลหลี่เหวินฮ้วน มีฐานที่มั่น ณ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีทหารจำนวน 1,000 นาย
นอกจากนี้ทางการไทยยังยอมหลับตาข้างหนึ่งให้กองกำลังจีนสามารถดำเนินกิจการการค้าฝิ่นและจัดเก็บค่าคุ้มครองจากการขนส่งฝิ่นเพื่อสร้างรายได้สำหรับใช้จัดหายุทโธปกรณ์ในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ดังที่นายพลต้วนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวของวีกเอนด์เทเลกราฟในปี 1967 ว่า
“เพื่อที่จะสู้กับคอมมิวนิสต์ที่ชั่วร้าย เราจำต้องมีกองทัพ และกองทัพจะต้องมีปืน และการซื้อปืนต้องใช้เงิน ...ในบริเวณภูเขาเช่นนี้ แหล่งหาเงินอย่างเดียวคือฝิ่น”
ภาพแนบ: ขุนส่า ขุนศึกแห่งรัฐฉานและผู้ทรงอิทธิพลที่เติบโตจากครอบครัวของทหารจีนในรัฐฉาน
*** หนทางเพื่อความอยู่รอด ***
เมื่อไร้การสนับสนุนจากรัฐบาลก๊กมินตั๋ง… นายพลต้วนกับนายหลี่จึงทำข้อตกลงแบ่งเขตอิทธิพลด้วยสองฝั่งของแม่น้ำสาละวิน โดยนายพลต้วนครองฝั่งตะวันออกและนายพลหลี่ครองฝั่งตะวันตก (คือฐานอยู่ในไทย แต่ยังมีการกลับไปค้าขายฝั่งพม่า) ก่อนจะหันมาจะร่วมมือกันต่อสู้กับกองทัพรวมฉาน (Shan United Army) ของขุนส่านักรบท้องถิ่น (ที่เติบโตมาจากครอบครัวทหารจีนในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ) จนกลายเป็นการต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่การขนส่งฝิ่นในปี 1967 และได้รับชัยชนะ
ภาพแนบ: พิพิธภัณฑ์วีรชนทหารจีนคณะชาติ
*** การลงหลักปักฐานในไทย ***
การมีอยู่ของกรมทหารที่ 3 และ 5 นั้นช่วยป้องกันการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์และดูแลชายแดนไทยอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างกองพล 93 และชนเผ่าพื้นเมืองอาทิมูเซอร์และลีซอ ยังช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับฝ่ายไทยเป็นอย่างมาก เห็นได้จากช่วงการปราบ “กบฏแม้วแดง” ในจังหวัดน่านที่กองกำลังดังกล่าวสามารถปรับตัวเข้ากับพื้นที่จนเอาชนะศัตรูได้
เมื่อเห็นว่ากองกำลังจีนสามารถช่วยเฝ้าระวังภัยคุกคามบริเวณภาคเหนือของประเทศ รัฐบาลไทยที่กำลังประกาศทำสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์ จึงมีมติเห็นชอบข้อเสนอของกองบัญชาการกองทัพไทยและสภาความมั่นคงแห่งชาติว่า “สมควรให้กองทัพที่ 3 และ 5 อาศัยอยู่ในประเทศต่อไป” พร้อมกับมอบที่ดินเพื่อใช้สำหรับลงหลักปักฐานให้สองแห่ง แต่มีข้อแม้ว่าทหารจีนเหล่านี้ต้องเข้าโจมตีฐานที่มั่นสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ในจังหวัดเชียงรายเสียก่อน จึงจะสามารถลงหลักปักฐานในบริเวณดังกล่าวได้
ภาพแนบ: ภาพทหารก๊กมินตั๋งในไทย (รูปนี้มีขนาดเล็กมาก แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นภาพจริงบางส่วน)
…แน่นอนว่าสองนายพลตอบรับข้อเสนอนี้ พร้อมจัดกำลังทหารจีนและผู้นำทางชาวเขาเพื่อโจมตีฐานที่มั่นของศัตรูคือ “ฐานปฏิบัติการบ้านใหญ่พญา” บนสันดอยยาวและ “ฐานดอยผาม่อน” ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ระดับเขตของพรรคคอมมิวนิสต์
พวกก๊กมินตั๋งรุกรบห้าวหาญ ตีจนศัตรูแตกพ่ายในเวลาเพียง 26 วัน (8 ธันวาคม 1970 – 3 มกราคม 1971) โดยมีทหารจีนเสียชีวิต 15 นายและบาดเจ็บ 45 นาย ขณะที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ทางการไทยส่งมาสนับสนุนบาดเจ็บ 3 นาย
ภาพแนบ: บัตรประจำตัวทหารจีนในพิพิธภัณฑ์วีรชนทหารจีนคณะชาติ
หลังความสำเร็จในการยึดอดีตฐานที่มั่นของฝ่ายคอมมิวนิสต์ กองกำลังก๊กมินตั๋งได้ยอมส่งมอบฝิ่นดิบกว่า 40 ตันให้ทางการ เพื่อเป็นเครื่องหมายของการเลิกค้าฝิ่น พร้อมกับเปลี่ยนชื่อฐานที่มั่นของกองพล 93 บนดอยแม่สลองเป็น “หมู่บ้านสันติคีรี” ที่มีความหมายว่า “ภูเขาแห่งสันติภาพ” ก่อนจะเปลี่ยนสถานะจากฐานทัพมาเป็นที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ทางการไทยได้มอบสัญชาติไทยให้ทหารก๊กมินตั๋งและครอบครัว เป็นการตอบแทนที่ช่วยป้องกันชายแดนมานาน โดยนายพลต้วนซีเหวินได้ใช้ชื่อไทยว่า ชวาลย์ คำลือ ส่วนนายพลหลี่เหวินฮ้วนใช้ชื่อไทยว่า ชัย ชัยศิริ
ในปัจจุบันดอยแม่สลองกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับพักผ่อนทางธรรมชาติ โดยมีทั้งโรงแรม, รีสอร์ท, ร้านกาแฟ, ร้านอาหาร, ไร่ชาที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อท้องถิ่น, และมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อื่นๆ
ลูกหลานของทหารก๊กมินตั๋งกลุ่มนี้กลายเป็นชาวไทยอย่างเต็มภาคภูมิ และช่วยทางการพัฒนาประเทศในทางต่างๆ อย่างแข็งขัน
*** สรุป ***
เรื่องราวของการต่อสู้ของกองพล 93 ถือเป็นบันทึกบทสั้นๆ ในสงครามเย็น ซึ่งน้อยคนจะรู้ว่าครั้งหนึ่งเคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้กับประเทศไทย...
พวกเขาคือนักรบที่ระหกระเหินจากบ้านเกิดด้วยความหวังว่าวันหนึ่งจะกลับมาช่วงชิงแผ่นดินเกิด จนกลายเป็นผู้รุกรานในสายตาของประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะพยายามต่อสู้อย่างสุดความสามารถ แต่โชคชะตากลับไม่อยู่เคียงข้าง จนต้องระหกระเหินจากการถูกรุกไล่นับครั้งไม่ถ้วน
ซ้ำร้าย… รัฐบาลและพันธมิตรที่เคยสนับสนุนก็กลับปฏิเสธตัวตนและการมีอยู่ จนทหารเหล่านี่ต้องทำทุกวิธีทางเพื่อความอยู่รอด กระทั่งต้องถอยร่นมายังประเทศไทยและกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การสู้รบปกป้องดินแดนจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ ...จนสามารถลงหลักปักฐานในฐานะ “พลเมืองไทย”
เรื่องราวการเดินทางกว่า 2,000 ลี้จากบ้านเกิดเป็นเวลากว่า 20 ปีก็จบลงในลักษณะนี้...
แหล่งที่มา:
library (ดอต) fes (ดอต) de/libalt/journals/swetsfulltext/11448875 (ดอต) pdf
ecommons (ดอต) cornell (ดอต) edu/bitstream/handle/1813/57561/093.pdf?sequen
baike (ดอต) baidu (ดอต) com/item/国民革命军第九十三师/667918
www (ดอต) irrawaddy (ดอต) com/specials/on-this-day/day-chinese-invaders-forced-myanmar (ดอต) html
www (ดอต) taipeitimes (ดอต) com/News/feat/archives/2019/06/30/2003717840
www (ดอต) taipeitimes (ดอต) com/News/feat/archives/2019/11/17/2003725988
ท่านที่สนใจอ่านเรื่องราวแปลกๆ จากรอบโลกสามารถสมัครเข้ากลุ่ม illumicorgi
อนึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่ม exclusive ผมจะใช้ลงบทความพิเศษ ซึ่งมีเนื้อหาเจาะลึกกว่าที่ลงในเพจ The Wild Chronicles และบทความส่วนใหญ่ในกลุ่มจะเกี่ยวกับธีมของหนังสือที่ผมกำลังเขียน
ผู้ที่ต้องการสมัครเข้ากลุ่มให้ทำดังนี้เลยนะครับ
(1) กดสมัคร Line OA ของ The Wild Chronicles มาทาง link นี้ https://lin.ee/fNEO1jr
(2) กด add เป็นเพื่อน
(3) กด chat
(4) จากนั้น พิมพ์ชื่อที่ท่านใช้ใน Facebook มาทางช่องแชทของ Line OA เพื่อให้ทีมงานบ่งชี้ได้ว่าบัญชีของท่านสมัครมาแล้ว
(5) จากนั้นจะมีแอดมินมาคุยกับท่าน ให้แจ้งประเภทสมาชิกที่ท่านต้องการสมัคร แอดมินจะส่ง link เพื่อชำระค่าสมาชิก และแนะนำวิธีการเข้ากลุ่มต่อไป See less
::: ::: :::
สนใจอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตาม เพจ The Wild Chronicles ได้เลยนะครับ https://facebook.com/pongsorn.bhumiwat
โฆษณา