20 ต.ค. 2021 เวลา 02:18 • ปรัชญา
"วิหารธรรมที่เหมาะสำหรับฆราวาส"
" ... ธรรมชาติของจิตที่ยังไม่ได้ร้บการฝึกฝน
ก็จะหลงเพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ
ท่านเรียกว่าเกิดกระบวนการ​ "จิตส่งออก"
เวลาจิตส่งออกมันก็ส่งไปตามทวารทั้ง ๖
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น
การลิ้มรส การสัมผัสต่าง ๆ
แต่ละคนก็ต่างส่ง ต่างปรุง
เรียกว่า เกิดจิตส่งออก
แต่เมื่อได้รับการฝึกฝนอบรมตนเอง
ด้วยสติปัฏฐาน ๔ อยู่เนือง ๆ
จนมีสติตั้งมั่นในสติปัฏฐาน
จิตก็หลุดจากอารมณ์ต่าง ๆ
เป็นผู้ที่มีจิตตั้งมั่น
เมื่อจิตมีความตั้งมั่น มีความละเอียดภายใน
มีความโล่งโปร่งเบาสบาย
เราถึงแม้จะไม่ได้ใช้อายตนะภายนอก
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
แต่จิตกลับเป็นอายตนะที่เปิดออกมาเอง
ด้วยความที่จิตมีความเบิกบาน
จิตจะเปิดกว้างออกมา
ภาษาทางโลกบางทีก็เรียกว่า
ซิกซ์เซ้นส์ (Sixth sense) บ้าง
เซเว่นเซ้นส์ (Seventh sense) บ้าง
ตามเรื่องตามราว
คือ จิตมันเปิดออกมานั่นเอง
เมื่อจิตเปิดออกมาเนี่ย
มีความโล่งเบาสบาย
ถ้าเราใช้ชีวิตอยู่ในโลกภายนอก
จิตที่เปิดกว้างแบบนี้
เป็นธรรมดาคฤหัสถ์ฆราวาสก็มีกิจการงาน
มีสิ่งที่ต้องไปสัมผัสผู้คนต่าง ๆ
วัน ๆ ผู้คน ความรู้สึกนึกคิดของผู้คน
ก็มีแต่ความเครียด ความกดดัน
ความเศร้า ความโศก ความขุ่นเคือง
ความคับแค้นใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจ
ลองพิจารณาดู ตอนที่เราเป็นชีวิตฆราวาส
ในโลกภายนอก วัน ๆ เรารู้สึกอะไร
ส่วนใหญ่ก็วุ่นวาย
น้อยที่จะมีชีวิตที่สงบ เย็น เบาสบาย
ส่วนใหญ่ก็มีแต่ความเร่าร้อนกันทั้งนั้น
มันคุกกรุ่นอยู่ข้างใน
หลายคนมันคุมาก
มันไม่สามารถเก็บไว้ข้างในได้
ก็ปะทุออกมาทางกาย ทางวาจา
เป็นคนก้าวร้าวบ้าง เป็นคนรุนแรงบ้าง ต่าง ๆ นั่นเอง
นั่นแหละ เป็นผลรากเหง้าจากข้างใน
ทีนี้ พอเราฝึกจนจิตเราเปิดแล้ว
ก็ไปสัมผัสอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของผู้คน
สิ่งเหล่านั้นมันก็ไหลเข้ามาในใจเราได้ง่าย
อยู่ ๆ ก็เศร้าบ้าง
อยู่ ๆ เราก็ขุ่นเคืองบ้าง
อยู่ ๆ เราก็น้อยใจบ้าง
บางคนก็นอยด์บ้าง
มันเป็นพลังงานที่ไปรับ ไปสัมผัสนั่นเอง
ผลที่ตามมาคือ
เราจะใช้ชีวิตในโลกภายนอกยากนั่นเอง
จึงเป็นที่มาว่า
คฤหัสถ์ฆราวาสเมื่อฝึกปฏิบัติธรรมถึงจุดหนึ่ง
จึงเป็น "ทางสองแพร่ง"
ทางหนึ่ง
จะอยู่กับทางโลกไปใช้ชีวิตปกติ
อีกทางหนึ่ง
จะไปเส้นทางธรรม
มันเริ่มไม่แมตช์กันนั่นเอง
วิธีที่จะทำให้เรารักษาสมดุลได้
ที่เรียกว่า "โลกไม่ช้ำธรรมไม่ขุ่น"
ก็คือ "วสี" ความชำนาญในสมาธินั่นเอง
เราสามารถปรับวิหารธรรมให้เหมาะสมได้
อย่างอยู่ฐานกาย ฐานเวทนา
ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
จิตจะยังไม่เปิด จะเป็นสภาวะที่ปิด
มันเป็นสภาวะที่เหมาะ
ในการใช้ชีวิตอยู่ในโลกภายนอก
ทำงานทำการ พูดคุย ก็ใช้ชีวิตได้ปกติ
เป็นผู้ที่มีจิตตั้งมั่น
แต่ถ้าอยู่ในความละเอียดกว่านั้น
เริ่มแผ่ซ่านแล้ว จิตจะเริ่มเปิดแล้ว
พอโล่งเบาสบาย จิตจะเปิดโล่งออกไปเลย
อันนั้นน่ะ ไม่เหมาะ
เวลาเราไปสัมผัสผู้คน สัมผัสโลกภายนอก
เหมาะที่เราจะอยู่ที่ส่วนตัว
เวลาเราพักแล้ว เราอยู่ในที่เราอยู่คนเดียว
เราว่างจากกิจการงานต่าง ๆ
ฆราวาสจะฝึกสมดุลได้
ก็คือ การปรับสมดุลตรงนี้
"อยู่ในวิหารธรรมที่เหมาะสม"
เวลาทำงาน สัมผัสผู้คน
ก็อยู่ฐานกาย ฐานเวทนาไป
เวลาปฏิบัติในที่ส่วนตัว
ก็สามารถเข้าสู่ความละเอียดภายในได้
ซึ่งจะต่างจากยุคสมัยโบราณ
สมัยโบราณนี้อยู่กับทุ่งนา ป่าเขาธรรมชาติ
ธรรมชาติเป็นกระแสพลังงานที่ดีอยู่แล้ว
ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีปัญหา
แต่ยุคสังคมเมือง มันต่างกันออกไปนั่นเอง
แต่สำหรับผู้ที่สละเรือนแล้ว
ออกบวชประพฤติพรหมจรรย์
เป็นวิถีของสมณะเนี่ย
วิถีของสมณะก็จะอยู่กับการขัดเกลาตนเอง
ฝึกฝนตนเอง
ไม่ได้ไปสัมผัสโลกภายนอก
ไม่ได้ไปสัมผัสผู้คน
กระแสต่าง ๆ ของโลกนั่นเอง
เพราะฉะนั้น สมณธรรม
เราก็จะสามารถฝึกปฏิบัติได้เต็มที่นั่นเอง ... "
.
ธรรมบรรยาย โดย
พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา