Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Krungthai Asset Management
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
20 ต.ค. 2021 เวลา 03:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การจัดพอร์ตรับมือ Stagflation
ภาวะ Stagflation คืออะไร
“Stagflation” จะหมายถึงภาวะที่เศรษฐกิจซบเซาแต่เงินเฟ้อสูง ซึ่งเป็นภาวะที่เรียกว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะปรกติเศรษฐกิจแย่จะตามมาด้วยเงินเฟ้อที่ต่ำ หรือเศรษฐกิจดีแล้วเงินเฟ้อถึงจะสูง
แต่ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญสองด้าน คือ การเติบโต กับเงินเฟ้อ กลับวิ่งสวนทางกันในภาวะเช่นนี้ ซึ่งจริงๆ “Stagflation” เป็นคำผสมระหว่าง “Stagnation” ซึ่งหมายถึงภาวะเศรษฐกิจซบเซา กับคำว่า “Inflation” ซึ่งรู้จักกันทั่วไปอยู่แล้วว่าหมายถึง เงินเฟ้อ ทั้งนี้ หากราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นบ้างถือเป็นเรื่องดีต่อเศรษฐกิจ แต่ถ้าเพิ่มมากเกินไปก็จะกัดกร่อนความสามารถในการใช้จ่าย คนอาจจะซื้อสินค้าได้น้อยชิ้นลงเพราะของมัน “แพง” ขึ้น
แล้วทำไมช่วงนี้ถึงได้กังวลภาวะนี้
ในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่าน หลายประเทศเริ่มคลายมาตรการการล็อคดาวน์ที่บังคับใช้ในช่วงการแพร่ระบาด จึงเห็นการ “ระเบิด” ของความต้องการซื้อจากที่เคยอยู่ในภาวะ “หดหู่” กลับเข้ามาสู่ภาวะที่ “ใกล้เคียงปรกติ” มากขึ้น เศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วมาก แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงแรกนั้นไป หลายๆ อย่างกลับเข้าสู่ภาวะปรกติแล้ว
ผู้คนเดินทางไปมาหาสู่เหมือนปรกติ การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคก็กลับมาเข้าสู่ภาวะปรกติ (ที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน) การเติบโตในช่วงถัดจากนี้ไปจะเข้าสู่ภาวะปรกติ ซึ่ง “ชะลอ” ลงกว่าช่วงก่อนหน้านี้มาก
แถมหากมองไปในอนาคต วิกฤติโควิดก็เปิดบาดแผลให้เกิดขึ้นหลายด้าน ผลพวงที่ตามมาอาจทำให้ภาวะปรกติหลังโควิดอาจจะไม่แย่กว่าภาวะปรกติก่อนโควิด อีกทั้ง เม็ดเงินใช้จ่ายของรัฐบาลในหลายประเทศที่ลดแลกแจกแถมในช่วงที่ผ่านมาคงต้องมีวันเลิกลากันไป อาจเกิดเป็น “หน้าผาทางการคลัง” ในปีหน้า เป็นอีกปัจจัยฉุดรั้งที่สำคัญ มิหนำซ้ำ ธนาคารกลาง
หลักๆ ของโลกที่ใช้นโยบายผ่อนคลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยที่เป็นประวัติการณ์ หรือการดำเนินมาตรการ QE ขนาดใหญ่ ก็ล้วนแต่มีแนวโน้มที่จะลดมาตรการช่วยเหลือเหล่านั้น
1
ซึ่งปรกติเวลาที่เศรษฐกิจชะลอลง เงินเฟ้อก็มักจะชะลอตามไปด้วย แต่ในคราวนี้เราเห็นการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในหลายจุดและหลายสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการขาดแคลนทางด้านอุปทาน อาทิเช่น ปัญหาการขาดแคลนชิปในการผลิต ที่ส่งผลต่อการผลิตรถยนต์และอีกหลายสินค้า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นในหลายประเภท แถมราคาบ้านก็ปรับเพิ่มขึ้นจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นจากการ WFH (แต่จริงๆ การขาดแคลนชิป และราคาบ้านที่พุ่งขึ้นเป็นผลจากอุปสงค์ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตสูงขึ้นในอนาคต
เพียงแต่ในปัจจุบันฝั่งอุปทานยังปรับตัวไม่ทันในระยะสั้น จึงเกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา) ส่งผลให้เงินเฟ้อในหลายๆ ประเทศปรับตัวสูงขึ้น เช่น เงินเฟ้อสหรัฐฯ หรือในยูโรโซน พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี เป็นต้น
การดำเนินนโยบายที่เหมาะสมภายใต้ภาวะนี้
ปัญหา Stagflation เป็นปัญหาที่ “ปวดหัว” สำหรับผู้ดำเนินนโยบาย ไม่ว่าจะด้านการเงินหรือการคลัง เพราะการจัดการกับปัญหาด้านใดด้านหนึ่ง จะทำให้ปัญหาอีกด้านยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ แต่เป็นที่เชื่อกันทั่วไปว่าควรจะต้องผสานทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเข้าด้วยกัน โดยนโยบายการเงินควรเข้ามาจัดการกับเงินเฟ้อ ด้วยการใช้นโยบายการเงินที่ “เข้มงวด” ขึ้น เช่นการขึ้นดอกเบี้ย (หรือลด QE)
เพื่อป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นไปกว่านี้ ซึ่งแน่นอนว่านโยบายการเงินเช่นนี้จะยิ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจซบเซาลงไปอีก ดังนั้น นโยบายการคลังจึงต้องใช้นโยบายที่ “ผ่อนคลาย” มากขึ้น เพื่อเข้าช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้หลุดพ้นภาวะซบเซา โดยเฉพาะการใช้นโยบายการคลังที่จัดการกับอุปสงค์ เช่น การเร่งการใช้จ่าย การกระ
ตุ้นการบริโภค หรือนโยบายด้านอุปทาน ไม่ว่าจะการจัดการกับปัญหาการขาดแคลนสินค้าโดยตรง (สำหรับประเทศที่มีความสามารถ) หรือการฝึกทักษะฝีมือแรงงาน (Upskill/Reskill) การสร้างเสริมประสิทธิภาพให้กับภาคการผลิต หรือการลดหรือผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง (Deregulation) เป็นต้น แม้ว่าจะเป็นความท้าทายในเชิงนโยบาย แต่เราเชื่อว่ายังสามารถจัดการได้ และดูเหมือนว่าเรากำลังจะไปในแนวทางที่ถูกต้อง
แล้วคาดว่าอะไรจะเกิดขึ้น
เรามองว่าเศรษฐกิจยังไม่ได้หดตัว (ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่ากลัวกว่า) แต่การเติบโตอาจจะชะลอลง แต่หากมองไปข้าง เราเชื่อว่ายังแรงกระตุ้นที่จะทำให้เศรษฐกิจ (โดยเฉพาะไทย) ขยายตัวได้ดีในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยเรามองว่าเชื่อว่า “ก๊อกแรก” ของการฟื้นตัวของโควิดเกิดขึ้นไปแล้ว คือการ “ระเบิด” ของความต้องการใช้ชีวิตตามปรกติ ส่วน “ก๊อกสอง” จะเกิดขึ้นหากสถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้น
จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โรงแรมเปิดมากขึ้น ร้านอาหาร ห้างช๊อปปิ้งมีรายได้มากขึ้น การจ้างงานสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจตามไปด้วย เพียงแต่เวลาการเปิด “ก๊อกสอง” นี้เราเกรงว่าอาจจะต้องรอไปอีกซักระยะหนึ่ง และประโยชน์จะค่อยๆ ไหลจากก๊อกจะไม่เกิดอาการ “ระเบิด” อย่างเหมือนก๊อกแรก
แม้ว่าในปัจจุบันเราเห็นตัวเลขการเดินทางโดยเครื่องบินเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่เป็นการเดินทางในประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการเดินทางระหว่างประเทศยังมีค่อนข้างน้อย เที่ยวแล้วจะติดเชื้อไหม ประเทศปลายทางควบคุมไวรัสได้ดีหรือยัง ไปเที่ยวแล้วยังจะโดนกักบริเวณไหม
ตกลงว่ากระเป๋าตังค์ตัวเองมีเงินพอเที่ยวหรือเปล่า ตอนนี้ก็คงยังไม่มีใครอยากเดินทางเท่าไหร่ แถมประเทศจีนซึ่งเป็นลูกค้าสำคัญของหลายๆ แหล่งท่องเที่ยว ยังคงเน้นนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งหมายถึงนักท่องเที่ยวออกจากประเทศจีนก็เป็นศูนย์ด้วย คงยังต้องรอลูกค้ากลุ่มสำคัญนี้ไปก่อน
แต่ในอนาคตความท้าทายยังคงมีอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแผลเป็นที่เกิดขึ้น เงินออมที่น้อยลง-หนี้ที่เพิ่มขึ้น การรับเอาทางเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันที่รวดเร็ว จนอาจมีการทิ้งคนบางกลุ่มไว้ข้างหลัง ปัญหาการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน (K-shaped recovery) ดังนั้น แม้ว่าการกลับคืนภาวะปรกติของภาคการท่องเที่ยวอาจสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจไปอีก 2-3 ปี แต่หากหมดแรงกระตุ้นดังกล่าว อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับมา “ผิดหวัง” หากไม่มีการจัดการกับความท้ายเหล่านั้นได้ดีเพียงพอ
ในด้านเงินเฟ้อนั้น เรามองว่าปัญหาการขาดแคลนอุปทานอาจทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในบางสินค้า บางอุตสาหกรรม หรือบางอาชีพ ซึ่งหากการปรับตัวที่เกิดขึ้นในช่วงถัดไปอาจทำให้การขาดแคลนเหล่านี้บรรเทาลง เช่นเดียวกันกับเงินเฟ้อ โดยล่าสุด IMF ก็ยังออกมาบอกว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลด
ลงในช่วงต้นปีหน้า ที่สำคัญที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นเหมือนกัน (ซึ่งไม่ค่อยจะเกิดขึ้นบ่อยนัก) คือไม่น่าจะมีเงินเฟ้อที่รุนแรงเหมือนสมัยทศวรรษ 1970s ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจและเป้าหมายการดำเนินนโยบายที่แตกต่างไปจากเดิม
และนักลงทุนเองก็เชื่อเช่นนั้น เห็นได้จากเงินเฟ้อคาดการณ์ (Breakeven Inflation) ในช่วงปีที่ 6-10 จากปัจจุบันนี้ที่สะท้อนอยู่ในตัวพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แกว่งตัวอยู่ในกรอบ 2.1-2.4% เป็นส่วนใหญ่ในปีนี้ ซึ่งแม้ว่าจะสูงกว่าในช่วงหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งอยู่ประมาณ 2% แต่ก็ยังถือว่าไม่ห่างจากเป้าหมายระยะยาวของเฟด และยังห่างไกลจากเงินเฟ้อสองหลักที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1970s
การจัดพอร์ตรับมือ Stagflation
ไม่ต่างจากผู้ดำเนินนโยบาย การจัดพอร์ตรับมือกับภาวะ Stagflation ก็ไม่ง่ายเช่นเดียวกัน อัตราผลตอบแทน (Yield) ของบอนด์ปรับเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น (ราคาของบอนด์ร่วง)
1
ส่วนผลประกอบการบริษัทก็แย่ไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ความผันผวนของตลาดก็มักจะสูงขึ้นด้วย แต่ถึงกระนั้น ก็คงไม่ใช่ว่าจะให้นักลงทุนต้องขายทุกอย่างแล้วกลับมาถือแต่เงินสด
เพราะสถานการณ์อาจจะพลิกผันเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต แต่ภายใต้ภาวะ Stagflation นั้น เราก็ยังอาจจะหาโอกาสในการลงทุนได้ ทั้งนี้ เรายังคงเน้นให้การจัดพอร์ตลงทุนที่มีการผสมผสานสินทรัพย์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (โดยเฉพาะสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง)
ซึ่งปัญหาระยะยาวกว่า Stagflation คือการที่ดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ ทำให้นักลงทุนต้องหันหาสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นในพอร์ตการลงทุน ในการลงนั้นก็อาจต้องเน้นพอร์ตที่มี “คุณภาพ” อาจต้องลดสัดส่วนของสินทรัพย์ที่ได้รับประโยชน์จากสภาพคล่องที่สูง
และหันไปเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมหรือธีมการลงทุนที่มีการเติบโตชัดเจนตามกระแสหลัก (Megatrend) ที่จะเกิดขึ้นในโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี ประชากรสูงวัย การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ หรือกระแสการลงทุน ESG หรืออื่นๆ อย่างเช่น อุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น เหล่านี้เป็นต้น
ดร. สมชัย อมรธรรม
บลจ. กรุงไทย
การจัดพอร์ต
3 บันทึก
6
4
3
6
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย