20 ต.ค. 2021 เวลา 12:58 • ประวัติศาสตร์
ยศเสมาจากไหน?
ป้ายซอยยศเส 3
ในปัจจุบัน "ยศเส" ถือเป็นศูนย์รวมร้านอาหารยามค่ำคืนที่อยู่ระหว่างเกาะรัตนโกสินทร์และรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ อยู่ไม่ไกลจากสถานที่ทำงานและย่านช้อปปิ้งที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร แม้ในปัจจุบันยศเสจะเป็นแค่ชื่อซอย แต่มีความเป็นมาที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน
คำว่า "ยศเส" มีที่มาจาก ยศเสสวราช เป็นราชทินนามของข้าราชการในกระทรวงวัง (สำนักพระราชวังในปัจจุบัน) โดยคนที่ดำรงตำแหน่งตามหลักฐานที่เท่าพบมีหลายคน ได้แก่ หลวงยศเสสวราช (หรุ่น ไชยาคำ), พระยศเสสวราช (สาย) ต้นตระกูล สายะเสวี และ หลวงยศเสสวราช (สิน)
จากประวัติของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เมื่อครั้งเป็นพระญาณรักขิต ได้พูดถึงการใช้ที่ดินของหลวงยศเสสวราช (สิน) เพื่อตัดถนนเข้าหลังวัดบรมนิวาส ดังนี้
"ที่ของหลวงยศเส 2 เส้นเศษ แต่ถนนหลวงเข้าไปเขาเรียกเอาราคาวาละ 20 บาท ในนั้นเข้าไปถึงวัด วาละ 6 บาท แต่อย่างนั้นเขาก็ไม่ยอมให้ตัดตรงๆ คดไปคดมาเพราะเจ้าของเขาหวงที่"
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส
โดยพระญาณรักขิตใช้เวลาเจรจาถึง 3 ปี จึงสามารถตัดถนนเข้าวัดและสร้างสะพานไม้ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมได้สำเร็จในปี ค.ศ.1906 และตั้งชื่อสะพานไม้นั้นว่า "สะพานยศเส" ตามชื่อหลวงยศเส (สิน) เจ้าของที่ดิน
ซึ่งชื่อหลวงยศเสสวราช (สิน) สอดคล้องกับประวัติการสร้างวัดพระศรีมหาอุมาเทวีว่า เป็นชาวอินเดียเป็นผู้ซื้อที่ดินแถวหัวลำโพงและจัดสร้างเทวสถานเพื่อเป็นที่สถิตเจ้าแม่อุมาเทวี หรือ ศาลศรีมารีอันนัม (มารีอันมะ) ก่อนย้ายไปอยู่ตรงถนนสีลมในปัจจุบัน
สะพานยศเสเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างรถรางสายหัวลำโพง (บางลำพู -หัวลำโพง) และรถรางสายปทุมวัน (ยศเส-ประตูน้ำ) โดยยศเสถือเป็นจุดเริ่มต้นของรถรางสายปทุมวัน
รถรางสายปทุมวัน ผ่านสนามกีฬาแห่งชาติ https://thelist.group/realist/blog/%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%95/
สะพานยศเสที่เป็นสะพานไม้ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมถูกรื้อลง เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดเนื่องจากต้องรอรถไฟสัญจร จึงสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเชื่อมสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมและทางรถไฟให้เป็นสะพานเดียวกัน รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานนามสะพานนี้ว่า "สะพานกษัตริย์ศึก" ตามพระอิสริยยศของรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก โดยสันนิษฐานว่าเป็นสะพานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเดินทัพกลับของพระองค์เมื่อปี ค.ศ.1782 โดยรัชกาลที่ 7 เสด็จเปิดสะพานแห่งนี้เมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.1929
สะพานกษัตริย์ศึก https://library.stou.ac.th/odi/ka-sad-suk-bridge/page_4.html
ชื่อของสะพานกษัตริย์ศึกได้พัฒนากลายเป็นสี่แยกตัดระหว่างถนนพระราม 1, ถนนบำรุงเมือง และถนนกรุงเกษม แทนที่ ยศเส ต่อมากลายเป็นชื่อซอยซึ่งเป็นทางเชื่อมของถนนบำรุงเมือง, ถนนกรุงเกษม และถนนพลับพลาไชย จนถึงปัจจุบัน
ที่มา
-สุกัญญา ประเสริฐศรี, เทศกาลนวราตรีวัดพระศรีอุมาเทวี:การศึกษาพิธีกรรมและความเชื่อ, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2551
โฆษณา