Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
บ้านและสวน
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
21 ต.ค. 2021 เวลา 02:00 • บ้าน & สวน
โครงสร้างเป็นสิ่งแรกที่ต้องตรวจสอบก่อนการรีโนเวต เพราะหากเสียหายมาก จำเป็นต้องรีบซ่อมแซมก่อนทำอย่างอื่น แต่ขอย้ำว่าการซ่อมแซมและปรับปรุงงานโครงสร้างอาคาร ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่ควรให้ผู้รับเหมาทำเองแม้จะมีประสบการณ์ก็ตาม เพราะวิธีการรีโนเวตของหลังหนึ่ง ไม่อาจใช้ได้กับทุกกรณี ลองมาดูแนวทางการซ่อมแซมและปรับปรุงโครงสร้างบ้านคอนกรีตเสริมเหล็กฉบับเบื้องต้น ซึ่งเจ้าของบ้านควรรู้ให้ลึก เพื่อเข้าใจขั้นตอนการรีโนเวตอย่างรอบด้าน
ปัญหาของบ้านเก่า บ้านที่ใช้งานมานานแล้วมักพบต้นเหตุจาก 3 ปัญหาหลัก คือ
-ปัญหาการเสื่อมสภาพของวัสดุ จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่และอาจพิจารณาใช้วัสดุสมัยใหม่ที่มีอายุการใช้งานนานขึ้น
-ปัญหาทางโครงสร้าง อาจเกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานตั้งแต่แรก มีการใช้งานอาคารผิดประเภท การต่อเติมที่ไม่ถูกวิธี หรือจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
-ปัญหาจากการใช้งาน เช่น ขาดการดูแลรักษา อย่างท่อระบายน้ำซึมและการปล่อยให้น้ำขัง ซึ่งทำให้บ้านเกิดความเสียหายตามมา ในการรีโนเวตจึงควรแก้ไขทั้งตัวอาคารและพฤติกรรมการใช้งาน ก็จะไม่ต้องกลับมาซ่อมในจุดเดิมอีก
การตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้าง ไม่ได้ดูเฉพาะคอนกรีตเท่านั้น แต่เหล็กเสริมที่อยู่ภายในก็เกิดปัญหาได้ โดยจุดที่พบบ่อย คือ หลังคาดาดฟ้าของตึกแถวที่พื้นคอนกรีตแตกล่อนจนเห็นเหล็กเสริม ซึ่งมักเกิดจากความชื้น โดยสาเหตุหลัก คือ ดาดฟ้ามีการระบายน้ำไม่ดี พื้นลาดเอียงไม่พอหรือมีน้ำขัง และไม่มีการดูแลท่อระบายน้ำ เมื่อมีน้ำขัง คอนกรีตมีคุณสมบัติอุ้มน้ำและน้ำซึมได้ ทำให้เหล็กเสริมภายในเป็นสนิมและดันเนื้อคอนกรีตให้แตกออก การรีโนเวตในกรณีแบบนี้จะไม่ใช่เพียงการซ่อมแซมโครงสร้าง แต่ต้องย้อนกลับไปดูถึงระบบอาคารและการใช้งานของเจ้าของ ซึ่งเป็นต้นเหตุจริงๆที่ทำให้โครงสร้างเสียหาย กรณีปัญหาความชื้น ควรไล่เช็กจากด้านบนลงด้านล่าง ตั้งแต่ปริมาณน้ำ จุดรับน้ำ ความลาดเอียงที่ระบายน้ำได้เร็วไม่ท่วมขัง และท่อระบายน้ำ
การตรวจรอยร้าว
.
อ่านรวม 24 ปัญหารอยร้าว รู้ไว้ป้องกันบ้านพัง :
https://cutt.ly/PRigCCJ
-ประเมินความเสียหาย โครงสร้างปกติไม่ควรร้าว ไม่ว่าจะร้าวแบบไหนก็ตาม ซึ่งการร้าวที่ไม่เป็นอันตราย คือ การร้าวผิว เบื้องต้นทดสอบได้ด้วยการเคาะ ถ้าเคาะแล้วเสียงแน่นๆ แสดงว่าเนื้อคอนกรีตยังติดกันอยู่ แต่ถ้าเคาะแล้วเสียงกลวงๆ โหวงๆ แสดงว่าเนื้อคอนกรีตไม่ติดกันแล้ว ขั้นต่อไปจึงต้องแคะเนื้อคอนกรีตที่ร้าวบางส่วนออกมา เพื่อตรวจดูเนื้อภายในต่อไป
-วิเคราะห์ต้นเหตุรอยร้าว บางครั้งการร้าวไม่ได้เกิดจากเนื้อคอนกรีต แต่เกิดจากเหล็กเสริมภายในระเบิดซึ่งที่พบบ่อยมักเกิดจากความชื้น
-ตรวจสอบก่อนซ่อมแซม เช่น การสกัดเนื้อคอนกรีตเพื่อตรวจภายในโครงสร้าง จะทำเมื่อพบว่าโครงสร้างมีปัญหาเท่านั้น โดยก่อนการสกัดต้องปลดการรับแรง (Unloading) ของโครงสร้างส่วนนั้นออกก่อน ด้วยการติดตั้งค้ำยันถ่ายน้ำหนักของโครงสร้างที่จะซ่อมแซมไปยังโครงสร้างอื่นให้ช่วยรับแรงแทน หากไม่ปลดการรับแรงอาจทำให้โครงสร้างพังลงมาได้ง่ายๆเลย และย้ำว่าการปลดการรับแรงโครงสร้าง ควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
การทดสอบความแข็งแรงของคอนกรีตจะทำเมื่อพบแล้วว่าคอนกรีตมีปัญหา เช่น เนื้อร่วน ร้าว มีอาการผิดรูป บิดตัว เอียง หรือมีเหล็กด้านในโผล่ออกมา การทดสอบหน้างานที่นิยมทำกันคือ การใช้ Concrete Test Hammer เป็นอุปกรณ์ที่ใช้วัดค่าความแข็งแรงของคอนกรีต ทั้งนี้ยังมีวิธีตรวจสภาพคอนกรีตด้วยอุปกรณ์อีกหลายชนิด ซึ่งวิศวกรจะเป็นผู้พิจารณา
การเสริมกำลังโครงสร้างให้แข็งแรงมากขึ้น
ทำใน 3 กรณี คือ อาคารมีการใช้งานเกินพิกัด และโครงสร้างเดิมแข็งแรงไม่พอสำหรับการใช้งาน หรือมีการเปลี่ยนการใช้งานอาคารทำให้ต้องรับน้ำหนักมากขึ้น
สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้แผ่นเหล็ก โครงสร้างเหล็ก คอนกรีตเสริมเหล็ก หรือวัสดุอื่นๆ อย่างคาร์บอนไฟเบอร์ ปะกับผิวภายนอกโครงสร้างคอนกรีตเดิม และอาจหุ้มด้วยคอนกรีต สารกันไฟ หรือสารเคลือบผิว พร้อมซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย หรือถ้าโครงสร้างยังอยู่ในสภาพดี อาจยึดด้วยวัสดุเสริมกำลังใหม่เข้ากับผิวคอนกรีต โดยมีการเตรียมพื้นผิวอย่างถูกต้อง แต่การเสริมกำลังเข้าไปเพิ่มจะทำให้โครงสร้างมีความแข็งแกร่งมากขึ้น มีผลให้การกระจายแรงในโครงสร้างเปลี่ยนไป จึงต้องอยู่ในการพิจารณาของวิศวกร
ทำด้วยการติดตั้งวัสดุเสริมกำลังให้พาดผ่านรอยแตก เช่น การติดตั้งสลักเดือยอย่าง เหล็กข้ออ้อย เหล็กกลม คาร์บอนไฟเบอร์ หรือสลักเกลียว ในรูที่เจาะตั้งฉากกับพื้นผิวรอยร้าว แล้วยึดติดด้วยสารช่วยยึดเกาะอย่าง อีพ็อกซี่เรซิน อีพ็อกซี่มอร์ตาร์
การเพิ่มโครงสร้าง เช่น เสา คาน ค้ำยัน หรือแผ่นผนังใหม่ เพื่อรองรับโครงสร้างที่ชำรุดเสียหาย โดยทั่วไปจะเสริมด้านใต้ของโครงสร้างเดิม มักใช้ในกรณีที่การเสริมกำลังด้วยวิธีอื่นไม่เพียงพอที่จะทำให้โครงสร้างแข็งแรงตามต้องการ การติดตั้งทำได้เร็ว แต่การติดตั้งเสา คาน ค้ำยันใหม่อาจขวางการใช้งานเดิมหรือไม่สวยงาม จึงมักใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือชั่วคราว
อ่านเรื่องเต็มในบ้านและสวน ฉบับเดือนตุลาคม 2564 วางจำหน่ายแล้ว ฉบับนี้นำเสนอไอเดียงานรีโนเวตบ้านที่น่าสนใจมากๆ สมัครสมาชิกและสั่งซื้อได้ทาง
https://www.naiin.com/product/detail/533275
ขอบคุณข้อมูล
-หนังสือมาตรฐานปฏิบัติในการซ่อมแซมคอนกรีต โดย กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2551
https://cutt.ly/yRidCxg
-คุณปวัน สุทธิพินิจธรรม สถาปนิกและ Director
•บริษัทเฮดรูม เอสเตท จำกัด (บริษัทรับก่อสร้าง)
www.headroomestate.com
https://www.facebook.com/headroomestate
•บริษัทรีโน เอสเตท จำกัด (บริษัทรับออกแบบและต่อเติมอาคาร)
www.reno-estate.com
•บริษัทเพ้นท์โปร จำกัด (บริษัทรับงานทาสี ซ่อมแซมสีครบวงจร)
www.paintpro.co.th
https://www.facebook.com/Paintprothailand
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่
www.baanlaesuan.com
การรีโนเวต
การรีโนเวท
การปรับปรุงบ้าน
7 บันทึก
7
12
7
7
12
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย