21 ต.ค. 2021 เวลา 06:30 • ไลฟ์สไตล์
เด็กสมัยนี้ความอดทนต่ำ?
ประโยคยอดฮิตที่เหล่าเด็กสมัยใหม่ถูกโยนเข้าใส่จนชาชิน คำถามคือประโยคนี้มันจริงหรือไม่? แล้วถ้าจริงแบบไหนที่จะเรียกว่าอดทนพอดี?
ก่อนที่เราจะตอบว่าเด็กยุคนี้ มีความอดทนน้อยหรือไม่ สิ่งที่เราต้องหาให้ได้ก่อนก็คือ เราใช้ความอดทนของใครเป็นตัวตัดสิน? อันไหนเรียกอดทนมาก อันไหนอดทนน้อย อันไหนอดทนพอดี
ส่วนใหญ่แล้วประโยคแบบนี้จะมาจากคนที่มีอายุมากกว่า มองไปที่เด็กที่เกิดมีหลังแล้วก็มองว่า แค่นี้ก็ทนไม่ได้ สมัยของชั้นหนักกว่านี้ชั้นก็ผ่านมาแล้ว
หลายคนมักโยงเรื่องนี้ไปที่เรื่องของ generation แต่เอาเข้าจริงแล้ว มาตรวัดเรื่องความอดทนไม่ได้มีเฉพาะแค่มิติในเรื่องยุคสมัยเท่านั้น ลักษณะพื้นที่ทางกายภาพต่างกันการนิยามความอดทนก็ต่างกัน คนในชนบทอาจจะบอกคนในเมืองนี่ไม่อดทนเอาเสียเลยเมื่อเจอความลำบาก ต่างวัฒนธรรมก็ต่างความอดทน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนิยามความอดทนของคนต่างศาสนา
ปกติแล้วคนเราจะมีอคติในการชี้วัดสิ่งต่างๆจากประสบการณ์ในอดีตของเรา เรียกว่าการผูกติด (Anchorage bias)
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนเราจะจะตัดสินว่ามือถือเครื่องใหม่นี้แพงหรือถูก มันขึ้นอยู่กับอะไร? ฟังก์ชั่น? เทคโนโลยี? ความสะดวกสบายที่ได้รับ?
คำตอบคือ มันขึ้นกับว่าราคามือถือเครื่องแรกที่เราเป็นเจ้าของราคาเท่าไหร่ ถ้าเครื่องแรกราคาสูงกว่าเครื่องนี้ก็ราคาถูก ถ้าเครื่องแรกต่ำกว่าเครื่องนี้ก็แพง คนที่เคยใช้มือถือปุ่มกดเครื่องแรกราคา 15,000 ฿ ยอมมองว่ามือถือราคาเกือบครึ่งแสนสมัยนี้แพงเกินไป แต่คนที่เคยใช้มือถือยุคบุกเบิกรุ่นกระติกน้ำเครื่องละแสนบอกว่าราคาสมัยนี้แค่ครึ่งเดียวของสมัยก่อนแถมทำได้อะไรได้เยอะกว่ามาก
ทำนองเดียวกับความอดทน เราเคยอดทนกับเรื่องนี้ขนาดไหน นั่นจะเป็นตัวชี้วัดว่าความอดทนของคนอื่นนั้นสูงหรือต่ำกว่า
ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งต่างๆที่เราเคยต้องอดทนรอมันกลับไม่จำเป็นต้องรออีกต่อไป หรืออิสรภาพในการเลือกใช้ชีวิตที่เปิดกว้างมากกว่า หรือโอกาสในการทำงานที่หลากหลายกว่า เด็กสมัยนี้จึงเปลี่ยนงาน หรือออกไปหาทางเลือกใหม่ๆให้กับชีวิตมากขึ้น
มันย่อมไม่แปลกที่คนที่เกิดมาในยุคก่อนหน้านี้จะเทียบกับรุ่นของตัวเองแล้วบอกว่า "เด็กสมัยนี้ไม่อดทนเอาเสียเลย" และแน่นอนว่าเด็กสมัยนี้ก็อาจจะพูดแบบเดียวกันนี้กับเด็กในรุ่นต่อๆไป...
และต้องอย่าลืมว่าแม้คนในรุ่นเดียวกับระดับมาตรวัดความอดทนก็อาจแตกต่างกันตามปัจจัยอื่นๆที่กล่าวมาข้างต้น ประเด็นมันจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าอดทนมากคือดีหรืออดทนน้อยคือแย่ คำถามที่น่าสนใจมากกว่าคือ อดทนแล้วได้อะไร อดทนแล้วคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าอดทนแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไรมันก็ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่เรียกว่า "ดื้อดึง" หรือถ้าต้องทนเพราะไม่มีทางเลือกแบบนั้นเรียก "จำทน"...
ถ้าโดนถามว่าแบบไหนเรียกทนพอดี ก็ตอบกลับไปเลยว่าพอดีของใคร?
โฆษณา