23 ต.ค. 2021 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
ทำไม แบรนด์โซจูเกาหลี ถึงนิยมใช้ขวดหน้าตาเหมือน ๆ กัน
ปัจจุบัน “โซจู” (Soju) ถูกจดจำในภาพของ “ขวดแก้ว สีเขียวใส” ที่มาในไซซ์พอดีมือ
แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว ขวดโซจูในอดีตกลับไม่ได้มีสีเขียว และมีรูปร่างหน้าตาอย่างที่เห็นในปัจจุบันเลย
5
แล้วอะไรที่เป็นสาเหตุทำให้แบรนด์โซจูเกือบทั้งหมด เปลี่ยนมาใช้ขวดหน้าตาเหมือน ๆ กัน ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เดิมที “สี” ของขวดโซจูแบรนด์ต่าง ๆ มีทั้งสีใส, สีบรอนซ์, สีดำ, สีฟ้า และสีอื่น ๆ
ซึ่งในตอนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละแบรนด์เลยว่าต้องการจะใช้ขวดสีอะไร
นอกจากนี้ “รูปทรง” ของขวดโซจูในสมัยนั้น ก็ยังมีความหลากหลาย
ไม่ว่าจะทรงเหลี่ยม หรือทรงอ้วนกลมก็มีหมด
อย่าง Jinro ผู้ผลิตโซจู ที่เก่าแก่สุดของเกาหลีใต้
ในช่วงปี 1950 ถึง 2000 Jinro ก็ยังคงใช้ขวดสีใส, สีบรอนซ์ ไปจนถึงสีฟ้า และยังมีการใช้ขวดรูปทรงที่หลากหลาย
สำหรับเรื่องราวของ “ขวดโซจูสีเขียว” นั้นเกิดขึ้นในปี ​​1993
โดยบริษัท Doosan ได้ผลิตโซจูแบรนด์ “Green” ที่มีขวดสีเขียวออกมาวางจำหน่าย
ซึ่งถือเป็น “แบรนด์โซจูรายแรก” ที่มีการใช้แพ็กเกจจิงเป็น “ขวดสีเขียว”
ที่สำคัญคือ หลังจากโซจูแบรนด์ Green วางขาย ก็ได้รับผลตอบรับจากลูกค้าอย่างล้นหลาม จนกลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว
เมื่อแบรนด์โซจูอื่น ๆ เห็นดังนี้ จึงเริ่มมีการเปลี่ยนมาใช้ขวดสีเขียวตาม ๆ กัน
แม้กระทั่ง Jinro ซึ่งเป็นผู้ผลิตโซจูรายใหญ่เดิม ก็ยังต้องหันมาใช้ขวดสีเขียวด้วย
จนกระทั่งในปี 2009 เรื่องนี้ก็ได้เดินทางมาสู่จุดสำคัญ
เมื่อผู้ผลิตโซจูเกาหลีและกระทรวงสิ่งแวดล้อม ได้ตกลงกันว่า จะผลิตขวดสีเขียวที่มี “ขนาด” และ “การออกแบบ” เหมือนกัน โดยกำหนดให้เป็น “ขวดมาตรฐาน” ของโซจู
1
เพื่อให้ผู้ผลิตโซจูแต่ละราย สามารถนำขวดที่ใช้แล้วของแบรนด์อื่น ๆ ไปรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ได้
โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการรีไซเคิลขวดแก้วแบบเดิม ๆ ที่จะต้องแยกขวดตามแต่ละสี ก่อนนำไปรีไซเคิล
15
ซึ่งการใช้ขวดโซจูร่วมกันแบบนี้ จะช่วยให้ผู้ผลิตลดเวลา และต้นทุนในส่วนของการคัดแยกขวดไปได้นั่นเอง
3
ในอีกมุมหนึ่ง การรีไซเคิล และรียูส ขวดโซจูเหล่านี้ ยังถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญไม่น้อย
1
เพราะจากสถิติพบว่า ใน 1 สัปดาห์ ชาวเกาหลีที่อายุมากกว่า 20 ปี จะบริโภคโซจูเฉลี่ย 1-2 ครั้ง และปริมาณที่ดื่มจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.6 ขวด
ซึ่งถ้าหากคิดเป็นต่อปี ชาวเกาหลี 1 คนอาจสร้างขยะจากขวดโซจูกว่า 83 ขวด และถ้านำขยะของทุกคนมารวมกันแล้ว นี่อาจหมายถึงขวดแก้วกองโต..
ดังนั้น ข้อตกลงนี้ จึงไม่ได้มีความสำคัญในแง่ของธุรกิจเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
1
แต่ทว่าข้อตกลงนี้ เป็นเพียงการตกลงแบบสมัครใจ และไม่มีผลผูกมัดตามกฎหมาย
ทำให้ในเวลาต่อมาก็เริ่มมีผู้ผลิตที่แตกแถว
2
ซึ่งนั่นก็คือ Jinro หรือที่ขณะนั้นได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า HiteJinro เนื่องจากบริษัท Hite ได้เข้าซื้อกิจการ Jinro เริ่มแตกแถวผิดสัญญา
2
โดยในเดือนเมษายน ปี 2019 บริษัท HiteJinro ได้เปิดตัว “Jinro Is Back” โซจูแบรนด์ใหม่
ที่มาในขวดสีฟ้า และรูปร่างแตกต่างจากขวดเขียวที่เราคุ้นเคย
1
เนื่องจาก Jinro Is Back ได้ถูกวางคอนเซปต์ให้เป็นแบรนด์โซจูรสชาติดั้งเดิม และหันกลับไปใช้ขวดแบบเก่า ๆ เพื่อรำลึกความทรงจำในอดีต
3
ซึ่งเรื่องนี้ก็อาจดูเหมือนไม่น่าส่งผลกระทบอะไรมาก ถ้าหาก HiteJinro เป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ HiteJinro กลับเป็นผู้ผลิตโซจูรายใหญ่ ที่ครองส่วนแบ่งตลาดโซจูเป็นอันดับ 1 ของเกาหลีใต้
1
และยิ่งไปกว่านั้น Jinro Is Back ยังขายได้มากกว่า 100 ล้านขวด ภายในเวลาเพียงแค่ 7 เดือน
1
แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือ ขยะขวดแก้วสีฟ้ากองโต ที่กำลังทำลายระบบรีไซเคิลที่กลุ่มผู้ผลิตโซจูได้สร้างร่วมกัน
แต่ในโลกของธุรกิจ ที่ทุกนาทีคือการแข่งขัน เมื่อมีบริษัทหนึ่งทำได้ อีกบริษัทก็คงไม่อยู่เฉยเช่นกัน
ดังนั้น ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้น บริษัท Muhak ผู้ผลิตโซจู ที่ครองส่วนแบ่งอันดับ 3 ของเกาหลีใต้ ก็ได้เปิดตัวแบรนด์โซจู CheongChun ที่มาในขวดสีฟ้าคล้ายกับ Jinro Is Back
2
พออ่านมาจนถึงตรงนี้ เราคงจะเห็นแล้วว่า ผู้เล่นอันดับ 1 และ 3 ต่างก็เริ่มออกนอกข้อตกลง
แล้วสงสัยไหมว่า ผู้เล่นอันดับ 2 เป็นใคร และกำลังทำอะไรอยู่ในสถานการณ์นี้ ?
คำตอบก็คือ “Lotte Chilsung Beverage”
1
ซึ่งเมื่อผู้ครองส่วนแบ่งโซจูอันดับ 2 เห็นว่า ข้อตกลงเรื่องรีไซเคิลที่เริ่มสั่นคลอน
เนื่องจากบริษัทต้องเผชิญปัญหาจากการคัดแยก Jinro Is Back ออกจากกลุ่มขวดที่ใช้แล้ว
ซึ่งมีมากกว่า 2 ล้านขวด ที่กองรวมกันอยู่ในบริเวณคัดแยกขวดของบริษัท
1
ทำให้ Lotte Chilsung Beverage ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และยังทำให้ขั้นตอนการทำงานยิ่งยุ่งยากมากขึ้น
แน่นอนว่า Lotte Chilsung Beverage เองก็คงไม่นิ่งเฉย
โดยบริษัทได้เรียกร้องให้ HiteJinro มารับขวด Jinro Is Back ที่กองอยู่ในโรงงานของตนคืนไป พร้อมทั้งยังเรียกเก็บค่าคัดแยกขวด Jinro Is Back จาก HiteJinro อีกด้วย
3
และแม้ว่า HiteJinro จะทำตามข้อเรียกร้องของ Lotte Chilsung Beverage ที่บอกให้มารับขวดคืนไป
แต่ HiteJinro ก็ได้ปฏิเสธที่จะจ่ายค่าคัดแยกขวดให้ Lotte Chilsung Beverage
2
ทำให้ความขัดแย้งในประเด็นเรื่องขวดก็ยังคงดำเนินต่อไป
โดยมีตัวละครใหม่ ๆ อย่างผู้ผลิตโซจูรายย่อย ที่เลือกเข้าข้างฝ่ายที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสียด้วย
1
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วเรื่องราวทั้งหมดก็มาจบลงตรงที่ การปรากฏตัวอีกครั้งของตัวละครสำคัญ ที่เราได้เล่าไปตอนต้น อย่าง “กระทรวงสิ่งแวดล้อม” ซึ่งได้สังเกตความขัดแย้งนี้มาระยะหนึ่ง
4
ทางกระทรวงจึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานบริการหมุนเวียนทรัพยากรของเกาหลี (KORA) และผู้ผลิตโซจู 10 รายของเกาหลีใต้ ยกเลิกข้อตกลงเก่า และเขียนข้อตกลงขึ้นใหม่ ที่กำหนดให้ระหว่างผู้ผลิต สามารถ “แลกเปลี่ยน” กันได้
3
ลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น
บริษัท A ที่ปกติแล้วจะใช้ขวดโซจูสีเขียว แต่ในตอนที่คัดแยกขวด ดันไปเจอขวดสีฟ้าของบริษัท B
ดังนั้นทางแก้ที่ข้อตกลงใหม่เสนอก็คือ ให้นำขวดสีฟ้าที่เก็บได้ ไปแลกกับ บริษัท B
โดยให้บริษัท B หาขวดสีเขียวมาแลกขวดตัวเองคืนไป
1
ส่วนในกรณีที่ผู้ผลิตไม่สามารถแลกเปลี่ยนขวดกันได้ ก็ให้นำไปแลกเป็นขวดที่สามารถรีไซเคิลได้ ที่ KORA พร้อมกับจ่ายค่าธรรมเนียม
1
อย่างไรก็ตาม หลังจากออกข้อตกลงใหม่นี้ ก็ดูเหมือนจะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ รวมถึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หลากหลาย เพราะภาครัฐขาดความชัดเจน ทำให้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการรีไซเคิลได้จริงจัง
แต่ในฝั่งของภาครัฐเอง ก็ระบุว่าไม่อยากเข้าไปบังคับผู้ผลิตโซจูจนเกินไปเช่นกัน
ซึ่งอย่างน้อย ๆ ข้อตกลงนี้ก็ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ภาคธุรกิจและภาครัฐได้ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อพยายามแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดการขยะ
และไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจได้เห็นการพัฒนาข้อตกลงในมิติอื่น ๆ มากขึ้นด้วย
1
ไม่น่าเชื่อเลยว่า ขวดโซจู ที่ดูแสนธรรมดา จะมีเรื่องราวเบื้องหลังซ่อนอยู่มากมายขนาดนี้
1
ที่สำคัญคือ เจ้าขวดสีเขียวนี้ ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ ที่แม้ว่าจะไม่มีฉลากสินค้าแปะอยู่ แต่ถ้าได้เห็นเจ้าขวดสีเขียว ก็จำได้ทันทีว่าเจ้าสิ่งนี้คือ โซจู นั่นเอง..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
แบรนด์ Green โซจูรายแรกที่ใช้ขวดสีเขียว
ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า “Cheoeum-Cheoreom” หลังจากที่ถูกบริษัท Lotte Chilsung Beverage เข้าซื้อกิจการไปในปี 2008
1
โฆษณา