22 ต.ค. 2021 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
Lawson คู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับ 7-Eleven ในญี่ปุ่น
เกือบทุกคนรู้ว่า 7-Eleven คือ เชนร้านสะดวกซื้อที่มีจำนวนสาขามากสุดในโลก
โดยประเทศที่มีสาขาของ 7-Eleven มากสุดก็ไม่พ้นญี่ปุ่น เพราะมีอยู่กว่า 21,000 สาขา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของจำนวนสาขาบนโลก
2
จนหลายคนคิดว่า 7-Eleven มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศญี่ปุ่น
แต่จริง ๆ แล้ว ร้านสะดวกซื้อแห่งนี้ มาจากประเทศสหรัฐฯ
ก่อตั้งโดย Joe C. Thompson ซึ่งเริ่มแรกเป็นร้านขายน้ำแข็ง ที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส
ก่อนจะผันตัวมาเป็นร้านสะดวกซื้อครบวงจร และขายกิจการให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น
ที่น่าสนใจคือ ถ้าถามว่า ใครคือคู่แข่งตัวฉกาจ ที่สามารถแข่งกับ 7-Eleven ได้สมน้ำสมเนื้อ ?
หลายคนคงนิ่งไปชั่วขณะ เพื่อพยายามนึกถึงตัวเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด
ซึ่งคำตอบก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ บางประเทศนึกอยู่นานก็นึกไม่ออก เพราะไม่มีเลย
หรือบางประเทศก็มีบ้าง ซึ่งก็เป็นเชนร้านสะดวกซื้อท้องถิ่น
2
แต่คำถามนี้ ถ้าถามกับคนในประเทศญี่ปุ่น พวกเขาจะไม่ลังเลที่จะตอบเลยว่า หนึ่งในนั้นคือร้าน “Lawson”
เพราะปัจจุบัน Lawson เป็นเชนร้านสะดวกซื้ออันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น และมีสาขาอยู่กว่า 14,651 สาขา เป็นรองเพียง 7-Eleven และ FamilyMart เท่านั้น
3
และที่น่าสนใจคือ Lawson ซึ่งหลายคนคิดว่าเป็นแบรนด์ที่ลืมตาตื่นขึ้นมาดูโลก ณ ประเทศญี่ปุ่น
จริง ๆ แล้ว แบรนด์กลับมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่สหรัฐฯ​ เช่นเดียวกับ 7-Eleven..
ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1939 ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา
คุณเจ. เจ. ลอว์สัน ได้เปิดร้านขายนมเล็ก ๆ ในชื่อ “Mr. Lawson's milk store”
ซึ่งร้านนี้ขึ้นชื่อเรื่องความสดของนม ทำให้มีลูกค้าแวะเวียนมาซื้อนมในทุก ๆ เช้า
1
พอกิจการเติบโตขึ้น เขาจึงได้จัดตั้งบริษัท Lawson Milk Co. ขึ้นมา และพัฒนาจากร้านที่ขายนมอย่างเดียว ไปเป็นร้านที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคและของใช้ประจำวัน
พร้อมกับสร้างโลโกแบรนด์ เป็นรูปถังใส่นม บนพื้นหลังสีฟ้า เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ และสื่อถึงต้นกำเนิดของธุรกิจ
1
หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1959 Lawson Milk Co. ก็ได้ถูกขายกิจการให้กับ Consolidated Foods Inc. บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารของสหรัฐฯ ซึ่งการที่เป็นบริษัทในเครือของยักษ์ใหญ่ ทำให้กิจการของ Lawson ถูกผลักดันให้ขยายสาขาออกไปนอกรัฐโอไฮโอ ซึ่งเริ่มจากรัฐใกล้เคียง เช่น เพนซิลเวเนีย ก่อนจะขยายสาขาไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา
1
ถึงแม้กิจการ Lawson ในสหรัฐฯ จะเติบโตและขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง
แต่กิจการก็ถูกเปลี่ยนมืออยู่หลายครั้ง เช่น ในปี 1985 ถูกขายกิจการให้กับ Dairy Mart เชนร้านสะดวกซื้อของสหรัฐฯ ซึ่งต่อมาชื่อร้าน Lawson ในสหรัฐฯ ก็ถูกเปลี่ยนเป็นร้าน Dairy Mart
2
หรือในปี 2002 ที่ Dairy Mart ขายกิจการให้กับ Alimentation Couche-Tard of Laval, Quebec เชนร้านสะดวกซื้อของแคนาดา ทำให้สุดท้ายแล้ว ไม่มีร้าน Lawson หลงเหลืออยู่ในสหรัฐฯ เลยแม้แต่ร้านเดียว
1
สำหรับในญี่ปุ่น Lawson เริ่มเข้าไปทำตลาดและเปิดร้านสาขาแรก เมื่อปี 1975 ที่เมืองโทโยนากะ จังหวัดโอซากะ โดยเป็นการทำสัญญาแฟรนไชส์กับบริษัทท้องถิ่นที่ชื่อว่า Daiei, Inc. เจ้าของเชนซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่น
1
ซึ่ง Lawson ในประเทศญี่ปุ่น ดูแลและบริหารโดยบริษัท Daiei Lawson Co., Ltd. ที่เป็นบริษัทในเครือของ Daiei, Inc. อีกที
ต่อมา Daiei Lawson Co., Ltd. มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Lawson Japan, Inc. ในปี 1979
และ Lawson, Inc. ในปี 1996 พร้อมกับขยายสาขาไปนอกประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปีเดียวกัน โดยเริ่มที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
ซึ่ง Lawson, Inc. ก็มีการกลับไปบุกตลาดประเทศบ้านเกิดอย่างสหรัฐฯ อีกครั้ง ด้วยการเปิดสาขาที่ฮาวาย เมื่อปี 2012
โดยตอนนี้ Lawson เปิดให้บริการอยู่ด้วยกัน 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น, จีน, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, ไทย, สหรัฐอเมริกา รวมทั้งหมด 18,896 สาขา ซึ่งสาขาส่วนใหญ่จะอยู่ที่ญี่ปุ่น (14,651 สาขา)
รองลงมาคือ จีน (3,958 สาขา) และไทย (150 สาขา)
1
และปัจจุบัน Lawson, Inc. เป็นบริษัทในเครือของ Mitsubishi Corporation (ถูกถือหุ้นอยู่ 50.1%) บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ที่ทำธุรกิจหลากหลายอย่าง เช่น รถยนต์, การเงิน, เครื่องใช้ไฟฟ้า, พลังงาน และอื่น ๆ
3
ซึ่ง Lawson, Inc. จดทะเบียนในตลาดหุ้นโตเกียว มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 162,800 ล้านบาท
 
และมีผลประกอบการ (ปิดรอบบัญชีเดือน ก.พ.)
ปี 2020 มีรายได้ 219,909 ล้านบาท
ปี 2021 มีรายได้ 200,564 ล้านบาท
สำหรับร้าน Lawson ในญี่ปุ่น จะมีรูปแบบของร้านหลัก ๆ 3 แบบ ที่มีคอนเซปต์แตกต่างกันออกไป ได้แก่
1
- Lawson
ร้านสะดวกซื้อทั่วไปที่เห็นได้ตามท้องถนน มีสาขากระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ และต่างประเทศ
เน้นขายของกินและของใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงสินค้าแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งบางสาขาก็จะมีการขายผักและอาหารสดด้วย
1
- Natural Lawson
เน้นขายสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงามเป็นหลัก โดยมีทั้งสินค้าระดับพรีเมียมที่ถูกคัดสรรมา, อาหารกล่อง, อาหารสำหรับสายรักสุขภาพ รวมถึงสินค้าออร์แกนิก เป็นต้น
โดยร้านจะเน้นเปิดสาขาตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ในย่านธุรกิจ และสินค้าภายในร้าน จะมีราคาที่สูงกว่าร้าน Lawson ทั่วไป
 
- Lawson Store 100
ร้านที่ขายสินค้าในคอนเซปต์ สินค้าทุกชิ้นมีราคาเท่ากัน โดยขายชิ้นละ 100 เยน ​(ยังไม่รวมภาษี)
ซึ่งร้านรูปแบบนี้ค่อนข้างได้รับความนิยมในญี่ปุ่น โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นแม่บ้านและผู้สูงอายุ
1
ทั้งนี้ จริง ๆ แล้ว ร้านสะดวกซื้อ Lawson ในญี่ปุ่น ไม่ได้ขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลายบริการ มาตอบโจทย์และอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า เช่น มีบริการตู้ ATM ให้สามารถอน-โอนเงิน ได้ตลอด 24 ชม., มีบริการจัดส่งพัสดุไปรษณีย์, บริการซื้อบัตรคอนเสิร์ตหรือดิสนีย์แลนด์, บริการเครื่องถ่ายเอกสาร
ส่วนประเทศไทยนั้น Lawson ได้เข้ามาเปิดตัวสาขาแรก ให้คนไทยไปสัมผัสกัน ตั้งแต่ปี 2013
โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่าง บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด และ Lawson, Inc. จากประเทศญี่ปุ่น
ในการปรับโฉมร้านสะดวกซื้อในเครือสหพัฒนพิบูล อย่าง “108 Shop” ให้กลายเป็น “Lawson 108” พร้อมกับขยายสาขาใหม่เพิ่มเติม
1
ซึ่งจุดเด่นของร้าน Lawson 108 คือการนำเสนอสินค้าคุณภาพอันหลากหลาย ทั้งเมนูอาหารพร้อมทาน และเบเกอรีสูตรเฉพาะ ที่วางขายที่ Lawson 108 เท่านั้น ซึ่งก็มีหลายวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ ร้านยังได้รับ Know-How และระบบหลังบ้านต่าง ๆ จาก Lawson ประเทศญี่ปุ่น มาใช้ในการบริหารร้านค้าและบริการลูกค้า
2
ทีนี้มาดูผลประกอบการ Lawson 108 ในประเทศไทย
บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด
ปี 2018 มีรายได้ 2,904 ล้านบาท
ปี 2019 มีรายได้ 2,957 ล้านบาท
ปี 2020 มีรายได้ 2,661 ล้านบาท (เป็นปีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด)
2
ปัจจุบัน Lawson ในประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 150 สาขา
16
จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ในญี่ปุ่น Lawson จะสามารถต่อกรกับคู่แข่งที่เป็นเจ้าตลาดร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven ได้สมน้ำสมเนื้อ
แต่ในประเทศไทย ภาพนี้ยังคงห่างไกลอยู่ เพราะ 7-Eleven มีกว่า 12,700 สาขาทั่วประเทศไทย..
1
ดังนั้น เมื่อมีเจ้าตลาดเดิมที่แข็งแกร่ง ซึ่งครองอาณาเขตทางธุรกิจทั่วประเทศได้อย่างเหนียวแน่น
ทาง Lawson 108 จึงปรับกลยุทธ์ในการขยายสาขา โดยจะไม่เน้นขยายสาขาให้เยอะ ๆ
แต่จะเน้นหาทำเลที่เหมาะสม อย่างพื้นที่ที่เข้าถึงกลุ่มคนวัยทำงาน, คนรุ่นใหม่ โดยตรงแทน เช่น อาคารสำนักงาน, ทำเลตามสถานีรถไฟฟ้า และที่พักอาศัย
เพราะหากทำการขยายสาขาแบบแมสไปทั่วเมือง ทั่วประเทศ ก็จะเจ็บตัวหนัก จากการแข่งขันที่รุนแรง
1
และนี่คือเรื่องราวคร่าว ๆ ของ Lawson
แบรนด์ร้านสะดวกซื้อในใจของใครหลาย ๆ คน
ถึงแม้ว่า Lawson จะไม่ได้เป็นเจ้าตลาดในประเทศไทย
1
แต่สิ่งที่ยืนยันได้แน่ ๆ คือ คุณภาพของสินค้าในร้านสะดวกซื้อชื่อนี้ ไม่เป็นรองใคร
และ Lawson ก็จะยังคงทำตลาดและให้บริการคนไทย ไปได้อีกนานแสนนาน..
โฆษณา