22 ต.ค. 2021 เวลา 06:23 • ประวัติศาสตร์
การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
หากจะพูดถึงจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Heiliges Römisches Reich) แล้วนั้นทางผู้อ่านต้องทราบก่อนว่าจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์คืออะไร?
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นรัฐของชาวเยอรมันและไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับจักรวรรดิโรมันในยุคก่อนหน้าเลย สาเหตุที่ทำไมรัฐของชาวเยอรมันรัฐนี้ถึงชื่อว่าจักรวรรดิโรมันล่ะ? นั่นก็เพราะจักรวรรดิโรมันนั้นเป็นยุคที่ยุโรปรวมกันเป็นหนึ่งเดียว และแสดงถึงความเป็นใหญ่ในยุโรป
ซึ่งถึงแม้ว่าจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จะเป็นคนละรัฐกับจักรวรรดิโรมัน แต่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์สร้างความต่อเนื่องจากจักรวรรดิโรมันโดยการประกาศจากศาสนจักรใหญ่ในกรุงโรม สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าจักรพรรดิของยุโรปมีเพียงหนึ่งเดียว แต่ตามข้อเท็จจริงนั้นไม่ใช่มีเพียงชาวเยอรมันเท่านั้นที่อ้างว่ารัฐของตนสืบทอดจากจักรวรรดิโรมัน หลายๆ รัฐก็อ้างเช่นนี้และอ้างความเป็นโรมันก่อนจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยซ้ำ ดังเช่นจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือที่เรียกกันในยุคหลังว่าจักรวรรดิไบแซนไทน์ จักรวรรดิโรมันถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือจักรวรรดิโรมันตะวันตกและจักรวรรดิโรมันตะวันออก
ซึ่งจักรวรรดิโรมันตะวันตกนั้นอยู่ได้ไม่นานก็ถึงแก่กาลล่มสลาย เหลือเพียงจักรวรรดิโรมันตะวันออก ตามความเป็นจริงแล้วชาวโรมันตะวันออกนั้นยังคงเรียกตนเองว่า “โรมาเนีย” (หมายถึงชาวจักรวรรดิโรมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศโรมาเนียในปัจจุบัน) ซึ่งแสดงถึงความเป็นชาวจักรวรรดิโรมัน ไม่ได้เรียกตนเองว่าจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือตกแต่อย่างใด เพราะคำเหล่านี้ใช้เรียกกันสมัยหลังทั้งนี้ก็เพื่อแบ่งจักรวรรดิโรมันทั้งสองออกจากกันและให้เข้าใจง่าย
การอ้างสิทธิความเป็นโรมันของจักรวรรดิโรมันตะวันออกนั้นเปลี่ยนไปเนื่องจากจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ ๖ ทรงถูกขับออกจากราชสมบัติ ส่งผลให้พระจักรพรรดินีไอรีนซึ่งทรงเป็นพระมารดาขึ้นเสวยราชย์ต่อ เมื่อพระนางขึ้นครองราชย์นั้นหลายๆ รัฐในยุโรปแม้แต่คริสตจักรก็ยอมรับไม่ได้เพราะพระนางทรงเป็นสตรีเพศ ทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ ๓ ทรงมองว่าในเมื่อจักรพรรดิโรมันไม่ได้เป็นบุรุษเพราะฉะนั้นพระยศจักรพรรดิโรมันจึงว่างลง ส่งผลให้สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ ๓ นั้นทรงมอบความชอบธรรมให้กับพระเจ้าชาร์เลอมาญ (Charlemagne) กษัตริย์แห่งแฟรงค์แทน
ซึ่งในขณะนั้นจักรวรรดิแฟรงค์กำลังเรืองอำนาจทำให้ทรงมอบความเป็นโรมันแก่ผู้ปกครองแฟรงค์ภายใต้แนวคิดการถ่ายโอนอำนาจ ซึ่งแน่นอนว่าในเวลาต่อมาแม้จักรพรรดินีไอรีนแห่งโรมันตะวันออกจะทรงถูกขับออกจากราชบัลลังก์ แต่จักรวรรดิโรมันตะวันออกยังอ้างว่าตนเองก็เป็นจักรพรรดิโรมันเช่นเดิม ทั้งๆ ที่พระสันตะปาปาทรงมอบความเป็นโรมันให้กับแฟรงค์ไปเสียแล้ว ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นว่าตกลงแล้วใครเป็นจักรพรรดิโรมันที่แท้จริง เพราะพระยศจักรพรรดิโรมันในยุคนั้นถูกมองว่ามีเพียงพระองค์เดียวและแบ่งแยกไม่ได้
นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างแฟรงค์และจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือไบแซนไทน์นั้นต่างก็ไม่มีใครยอมรับซึ่งสถานะความเป็นโรมันเลย จักรวรรดิโรมันตะวันออกนั้นเรียกผู้ปกครองแฟรงค์ว่า “จักรพรรดิ (หรือกษัตริย์) แห่งชาวแฟรงก์” และต่อมาเป็น “กษัตริย์แห่งเยอรมนี” ในขณะที่ผู้ปกครองแฟรงค์เรียกผู้ปกครองจักรวรรดิโรมันตะวันออกว่า “จักรพรรดิแห่งชาวกรีก” หรือไม่ก็ “จักรพรรดิแห่งกรุงคอนสแตนติโนเปิล” จะสังเกตว่าทั้งสองฝั่งไม่เรียกฝั่งตรงข้ามว่าโรมันเลย เนื่องจากต่างเชื่อว่าตนนั้นคือพระจักรพรรดิโรมันที่แท้จริง
จนกระทั่งเมื่อจักรวรรดิไบแซนไทน์เสียกรุงคอนสแตนติโนเปิลแก่ออตโตมันไป ส่งผลให้สุลต่านเมห์เหม็ดผู้พิชิตแห่งออตโตมัน (محمد ثان) ทรงอ้างสิทธิสืบทอดความเป็นโรมันต่อ เพราะทรงมองว่าจักรวรรดิออตโตมันเป็นจักรวรรดิที่สืบทอดมาจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ แม้ในช่วงเวลาต่อมาจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จะปกครองโดยราชวงศ์ฮัพส์บวร์ค และเกิดความขัดแย้งระหว่างราชวงศ์ฮัพส์บวร์คกับจักรวรรดิออตโตมันขึ้น ทั้งสองก็ยังมีปัญหาเรื่องจักรพรรดิอยู่ดี
ดังเช่นในยุคของสุลต่านสุไลมาน พระองค์ทรงเรียกพระจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ว่าพระมหากษัตริย์สเปนซึ่งเป็นอีกพระอิสริยยศของจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ยอมรับสุลต่านแห่งออตโตมันเป็นจักรพรรดิตามสนธิสัญญาคอนสแตนติโนเปิลในปี ค.ศ. ๑๕๓๓ (พ.ศ. ๒๐๗๖) แต่สุลต่านแห่งออตโตมันหรือตุรกีกลับยอมรับสถานะพระจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เพียงกษัตริย์จนกระทั่งปี ค.ศ. ๑๖๐๖ (พ.ศ. ๒๑๔๙) นอกจากนี้ยังมีรัสเซียซึ่งใช้ตำแหน่ง “ซาร์” (Tsar) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สืบทอดมาจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ และเรียกตนเองว่ากรุงโรมที่สาม ทั้งยังรับอารยธรรมมาจากจักรวรรดิไบแซนไทน์หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออกทุกอย่าง
แต่เนื่องด้วยในสายตาของยุโรปที่มองรัสเซียในยุคนั้นค่อนข้างล้าหลัง กับรัสเซียเป็นนิกายออร์โธดอกซ์ซึ่งยุโรปส่วนใหญ่เอนเอียงไปทางนิกายโรมันคาทอลิกมากกว่า ทำให้จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไม่ยอมรับว่าเป็นจักรพรรดิจนกระทั่ง ค.ศ. ๑๗๒๖ (พ.ศ. ๒๒๖๙) ในรัชกาลของคาร์ลที่ ๖ พระองค์จึงได้ทรงยอมรับสถานะของรัสเซียว่าเป็นพระจักรพรรดิ เนื่องจากการสร้างพันธมิตรกันระหว่างจักรวรรดิและรัสเซีย แต่ก็ทรงไม่ยอมรับสถานะของรัสเซียว่ามีความเท่าเทียมกับจักรวรรดิอยู่ดี การกระทำเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มีความโดดเด่นเสมอ
การที่หลายๆ รัฐยอมรับพระจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในฐานะพระจักรพรรดิโรมันนั้น คงเป็นเพราะจักรวรรดินั้นได้รับการยอมรับในลักษณะที่เป็นสากล เนื่องจากแม้แต่จักรวรรดิโรมันก็ไม่สามารถปกครองทั้งดินแดนทั่วยุโรปได้ และมีแนวคิดว่าจักรพรรดิโรมันทรงปกครองดินแดนของชาวคริสต์ทั้งหมดแม้ว่าดินแดนเหล่านั้นจะไม่ได้เป็นของพระองค์ก็ตาม เนื่องจากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ปกครองดินแดนทั่วยุโรป ทำให้หลายๆ คนยอมรับในสถานะของจักรวรรดิโรมัน ประกอบกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นั้นขาดเมืองหลวงที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน
จึงถือเป็นการตอกย้ำแนวคิดว่าจักรวรรดินั้นเป็นจักรวรรดิสากลและปกครองดินแดนของชาวคริสต์ทั้งหมด เพราะจักรวรรดิไม่จำเป็นต้องยึดติดกับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ด้วยเหตุนี้ทำให้พระจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และจักรวรรดิของพระองค์มักจะทรงอ้างว่าทรงมีพระราชฐานะเป็นพิเศษ ทั้งยังทรงได้รับความสำคัญเหนือเจ้าผู้ปกครองยุโรปพระองค์อื่นๆ
แต่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่สามารถคงได้ตลอดกาล หลังจากจบสงครามสามสิบปีใน ค.ศ. ๑๖๔๘ (พ.ศ. ๒๑๙๑) จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แทบจะหายไปจากสายตายุโรปและสิ้นอำนาจ ทั้งยังถูกตัดขาดจากศาสนจักรใหญ่ในกรุงโรมอย่างสมบูรณ์ การที่จักรวรรดิถูกทำลายลงและถูกตัดขาดจากสมเด็จพระสันตะปาปา ได้ถือเป็นการทำลายความชอบธรรมที่เชื่อมโยงกับพระสันตะปาปาที่ทรงมอบความเป็นโรมันให้แก่พระเจ้าชาร์เลอมาญด้วย
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ นั้นถูกมองว่าเป็นราชาธิปไตยที่ “ป่วย” หรือ “ผิดปกติ” หลายๆ คนมองถึงความผิดปกติของจักรวรรดิย้อนไปอย่างน้อยถึงสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลียในปี ค.ศ. ๑๖๔๘ เพราะจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้ถูกกำหนดว่าไม่ใช่รัฐชาติอีกต่อไป ทั้งยังถูกมองว่ามีการปกครองแบบแปลกประหลาด เพราะจักรวรรดิขาดทั้งกองทัพประจำการและกองคลังกลาง ประกอบกับพระอิสริยยศพระจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากสายพระโลหิต
ทำให้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เสื่อมอำนาจลงมาก คือต้องเข้าใจว่าจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เป็นรัฐรวมมีรัฐประกอบอยู่ภายในหลายร้อยรัฐ และหลายๆ รัฐก็มีอำนาจมากด้วย เช่น ออสเตรีย บาวาเรีย ปรัสเซีย (หรือบรันเดนบูร์ก) แซกโซนี ฯลฯ ประกอบกับแต่ละราชรัฐแทบจะมีอิสระจนอำนาจของจักรพรรดิไม่สามารถสั่งการได้ด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าแต่ละรัฐก็ไม่ต่างอะไรจากประเทศๆ หนึ่งเลย การที่พระจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้มาจากการสืบสายพระโลหิตจึงส่งผลเสียต่อจักรวรรดิเองอย่างมาก เนื่องจากใครที่ถูกเลือกตั้งก็สามารถเป็นจักรพรรดิได้ การขาดเมืองหลวงที่ชัดเจนก็มาจากสาเหตุนี้ สิ่งเหล่านี้ทำให้จักรพรรดิไม่สามารถรวบพระราชอำนาจได้ ผิดกับฝรั่งเศสที่เคยอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ คือขุนนางผู้ครองที่ดินมีอำนาจมากจนกษัตริย์ฝรั่งเศสปกครองดินแดนจริงๆ เพียงไม่กี่แห่ง
นอกเหนือจากนั้นเป็นดินแดนของขุนนางที่แทบไม่ต่างอะไรจากประเทศหนึ่ง (ดินแดนเหล่านี้ยังปกครองในนามของกษัตริย์ฝรั่งเศสและเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรฝรั่งเศส) แต่กษัตริย์ฝรั่งเศสสามารถรวบพระราชอำนาจได้และดินแดนทั้งหมดก็อยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระองค์ในเวลาต่อมา สาเหตุที่กษัตริย์รวบพระราชอำนาจได้นั้นก็เนื่องจากการมีเมืองหลวงที่ชัดเจนกับมีผู้สืบทอดสายพระโลหิต พระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสใช้เวลาหลายร้อยปีและสืบต่อกันมาจนกระทั่งสามารถรวมดินแดนจากขุนนางได้ทั้งหมด ซึ่งสถานการณ์มันผิดกับในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ การที่จักรพรรดิมาจากการเลือกตั้งทำให้จักรพรรดิทรงมีนโยบายที่ไม่เป็นปึกแผ่น ด้วยเหตุนี้ทำให้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้เสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัดและคงยากที่จะสามารถรวมกันได้โดยที่พระราชอำนาจอยู่ที่จักรพรรดิดังเดิม
ในช่วงศตวรรษที่ ๑๘ นั้นทั่วทั้งยุโรปรู้ดีว่าหากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งก็คือรัฐเยอรมันทั้งหลายรวมตัวกันเป็นหนึ่งจะทำให้จักรวรรดิกลายเป็นรัฐที่ทรงพลังมาก แต่แทนที่ยุโรปจะทำแบบนั้นกลับปล่อยให้จักรวรรดิเป็นไปอย่างละมุน
บรรดาพวกชาตินิยมในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์หรือเยอรมนีมองว่าจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ต้องล่มสลายเพื่อให้รัฐเยอรมันได้เกิดใหม่และมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ชาวเยอรมันหลายๆ คนไม่หวังเช่นนั้นแต่ต้องการให้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้ฟื้นฟูและปรับปรุงขึ้นใหม่ จนกระทั่งในปี ค.ศ. ๑๘๐๑ (พ.ศ. ๒๓๔๒) สาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญากับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ให้จักรวรรดิหมดอิทธิพลในเนเธอร์แลนด์และอิตาลี ประกอบกับการเพิ่มอำนาจของรัฐเยอรมันทางเหนือคือปรัสเซีย ทำให้ขั้วอำนาจของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แข่งกันเสียเอง โดยแบ่งเป็นขั้วอำนาจของราชวงศ์ฮัพส์บวร์คซึ่งปกครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มาแต่เดิม กับปรัสเซียซึ่งเป็นรัฐเยอรมันทางเหนือและเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ ลำดับชั้นทางการเมืองในจักรวรรดิถูกรบกวนอย่างหนักทั้งปัญหาที่เกิดจากภายในและปัญหาที่เกิดจากภายนอก
ในช่วงที่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ถูกปกครองโดยพระราชวงศ์ฮัพส์บวร์คจากออสเตรียนั้น ดูเหมือนว่าราชวงศ์นี้มักจะทำเพื่อผลประโยชน์ของราชวงศ์ของตนมากกว่าผลประโยชน์ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ อำนาจหลายๆ อย่างถูกโอนมาจากราชสำนักเวียนนาซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ฮัพส์บวร์คเป็นหลัก จนกระทั่งสงครามสืบราชสมบัติออสเตรียในปี ค.ศ. ๑๗๔๐ (พ.ศ. ๒๒๔๓) ในรัชสมัยของคาร์ลที่ ๗ ในยุคนี้จะเห็นได้ว่าจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์สิ้นอำนาจจนไม่เหลืออะไรแล้ว
คาร์ลที่ ๗ ไม่สามารถสั่งการจักรวรรดิได้แท้จริงและไม่ต่างอะไรจากจักรพรรดิในนาม ทั้งต่างชาติได้เข้ามาแทรกแซงจักรวรรดิอย่างหนักจนทำให้หลายๆ คนมองว่าจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่ชาติและไม่ได้อยู่ในสายตาของชาวยุโรปอีกต่อไป ส่วนรัชสมัยของพระนางมาเรียเทเรเซีย เนื่องจากจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เป็นสตรีไม่ได้พระองค์จึงให้ฟรันซ์ สเตฟานผู้เป็นพระสวามีและมาจากราชวงศ์โลทริงเงินขึ้นเป็นจักรพรรดิ (หุ่นเชิด) แทนส่วนพระนางซึ่งเป็นราชวงศ์ฮัพส์บวร์คก็เข้าสู่ตำแหน่งพระอัครมเหสีคือเป็นพระจักรพรรดินีแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จะเห็นได้ว่าตำแหน่งจักรพรรดิกลายเป็นหุ่นเชิดของราชวงศ์ฮัพส์บวร์คไปแล้ว
ความเพิกเฉยต่อจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มีมากขึ้นเรื่อยๆ และราชวงศ์ฮัพส์บวร์คก็ไม่สนใจสิ่งเหล่านี้เนื่องจากเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้แล้ว ปล่อยเฉยๆ เอาไว้ดีกว่า จนกระทั่งหลังจากช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสในทศวรรษที่ ๑๗๙๐ ทำให้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เริ่มตอบสนองต่อฝรั่งเศสมากขึ้น
แม้ฝรั่งเศสจะบุกยึดเนเธอร์แลนด์ของออสเตรีย (เนเธอร์แลนด์ในที่นี้หมายถึงดินแดนของเบลเยียมและลักเซมเบิร์กในปัจจุบันไม่ใช่ประเทศเนเธอร์แลนด์ของชาวดัตช์) ในปี ค.ศ. ๑๗๙๒ (พ.ศ. ๒๓๓๕) จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ป้องกันตัวเองได้ดีพอสมควรจนปรัสเซียซึ่งเป็นรัฐที่เรืองอำนาจมากในยุโรปและในจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์นั้นเพิกเฉยต่อปัญหาแถมยังนำทหารไปทำสงครามยึดเพื่อโปแลนด์แทน และทางฝรั่งเศสได้ประกาศสงครามกับฟรันซ์ที่ ๒ แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และจุดสำคัญที่เปลี่ยนโชคชะตาของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์คือปรัสเซีย ปรัสเซียเป็นเพียงรัฐเดียวในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่กล้าต่อกรกับราชวงศ์ฮัพส์บวร์คที่ปกครองจักรวรรดิ
อาณาเขตของปรัสเซียนั้นค่อนข้างแปลกประหลาดเนื่องจากอยู่ทั้งภายในและภายนอกจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และปรัสเซียก็เป็นตัวแทนในสภาจักรวรรดิด้วย แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เผชิญกับปัญหาแทนที่ปรัสเซียจะเข้ามาแย่งชิงอิทธิพลในจักรวรรดิกับราชวงศ์ฮัพส์บวร์ค กลับปล่อยให้ราชวงศ์ฮัพส์บวร์คกับรัฐที่ภักดีเพียงไม่กี่รัฐซึ่งมีอำนาจน้อยเผชิญกับฝรั่งเศสในดินแดนจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ทางตอนใต้อยู่คนเดียว ประกอบกับ
รัฐต่างๆ ที่ภักดีต่อราชวงศ์ฮัพส์บวร์คนั้นกลับกลายเป็นว่าไปเจรจากับฝรั่งเศสและให้ท่าทีที่น่าสนใจกับฝรั่งเศสมากกว่าความภักดีต่อราชวงศ์ฮัพส์บวร์ค สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าอำนาจของจักรพรรดิเริ่มน้อยลงจนทำสิ่งต่างๆ เริ่มลำบาก แม้จะมีการปฏิรูปเช่นการชดเชยดินแดนที่เจ้าผู้ปกครองรัฐต่างๆ สูญเสียต่อฝรั่งเศสไป มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างครั้งใหญ่ แต่ก็ดูเหมือนว่ามันคงสายไปแล้ว
จนกระทั่งพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียนมาถึง นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte) นั้นเป็นกงสุลหรือผู้ปกครองของฝรั่งเศสหลังจากช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ในเวลาต่อมานโปเลียนได้สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส พระสันตะปาปาปิอุสที่ ๗ ทรงทราบดีว่าการที่นโปเลียนนั้นราชาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศสมีความเชื่อมโยงกับพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์เลอมาญ และน่าจะคล้ายคลึงกับพระราชพิธีราชาภิเษกของพระจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แน่นอน
ประกอบกับในงานราชาภิเษกของพระจักรพรรดินโปเลียนครั้งนี้ก็ได้มีการเชิญพระสันตะปาปาเข้าร่วมพระราชพิธีด้วย แสดงให้เห็นประหนึ่งการถ่ายโอนอำนาจเหมือนกับเหตุการณ์ครั้งอดีตที่เมื่อพระจักรพรรดินีไอรีนขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดินีแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ พระสันตะปาปาได้มอบความเป็นโรมันแก่พระเจ้าชาร์เลอมาญแทน (สามารถดูได้จากข้างบนที่ได้อธิบายเอาไว้แล้ว) การราชาภิเษกของนโปเลียนจึงเปรียบประดุจการถ่ายโอนความเป็นโรมันจากชาวแฟรงค์และชาวเยอรมันสู่ฝรั่งเศสแทน
นอกจากนี้ยังทำให้ราชวงศ์ฮัพส์บวร์คกลัวว่าการที่รัสเซียซึ่งปกครองโดยจักรพรรดิเช่นกัน เข้ามายืนกรานในสถานะของตนที่ควรได้เท่าฝรั่งเศส (เพราะจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มอบสถานะความเป็นจักรพรรดิของรัสเซียต่ำกว่าของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) และอาจจะทำให้พระมหากษัตริย์บางพระองค์เช่นพระเจ้าจอร์ชที่ ๓ แห่งอังกฤษสถาปนาพระองค์เป็นพระจักรพรรดิด้วย ไม่ใช่มีเพียงรัสเซียเท่านั้นที่ราชวงศ์ฮัพส์บวร์คมองว่าต่ำกว่า แต่รวมถึงบริเตนใหญ่หรืออังกฤษด้วย
ราชสำนักในเวียนนาซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ปฏิเสธที่จะเรียกพระมหากษัตริย์อังกฤษว่า “His majesty” เพราะทรงเป็นกษัตริย์ไม่ใช่จักรพรรดิ แน่นอนว่าจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ก็มองอังกฤษอยู่ต่ำกว่า ลูทวิช ฟอน โคเบนซิลได้ถวายคำแนะนำต่อฟรันซ์ที่ ๒ พระจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ว่า “ในฐานะที่ทรงเป็นพระจักรพรรดิแห่งโรมัน ฝ่าพระบาททรงมีพระปรีชาสามารถและพระบุญญาบารมีมาก่อนบรรดาผู้มีอำนาจในยุโรป รวมทั้งพระจักรพรรดิแห่งรัสเซียด้วย” ซึ่งแม้ว่าราชวงศ์ฮัพส์บวร์คจะไม่พอใจต่อการกระทำของฝรั่งเศสซึ่งเหมือนเป็นการอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้ายุโรป แต่ก็ไม่สามารถห้ามปรามได้เพราะกลัวจะเกิดสงครามระหว่างกันและกัน ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวนั้นส่งผลเสียต่อออสเตรียซึ่งเป็นดินแดนของราชวงศ์ฮัพส์บวร์คโดยตรง
จนกระทั่งในปี ค.ศ. ๑๘๐๔ (พ.ศ. ๒๓๔๗) ก่อนกาลล่มสลายของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้ ๒ ปี จักรพรรดิฟรันซ์ที่ ๒ ทรงกลัวว่าหากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์สิ้นไป ตำแหน่งเดียวที่ทรงเหลือคือดินแดนอื่นที่ราชวงศ์ฮัพส์บวร์คปกครองอยู่ ราชวงศ์ฮัพส์บวร์คไม่ได้ปกครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อย่างเดียว แต่ยังปกครองออสเตรีย โบฮีเมีย (ในเวลาต่อมาคือสาธาณรัฐเช็ก) กาลิเซีย ฮังการี และดินแดนอื่นๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งดินแดนทั้งหมดเหล่านี้ไม่มีดินแดนไหนที่ปกครองโดยจักรพรรดิ ใช้ตำแหน่งสูงสุดเพียงกษัตริย์เท่านั้น ถ้าจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ล่มสลายไปแล้วสถานะจักรพรรดิของราชวงศ์ฮัพส์บวร์คก็ย่อมสูญหายไป
และในที่สุดเมื่อราชวงศ์ฮัพส์บวร์คมีพระอิสริยยศสูงสุดเพียงกษัตริย์ จะทำให้จักรพรรดิฝรั่งเศสซึ่งเป็นพระจักรพรรดิสูงกว่าราชวงศ์ฮัพส์บวร์คไปโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้ทำให้ฟรันซ์ที่ ๒ แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ทรงรวบรวมดินแดนอื่นๆ ที่ทรงปกครองอยู่เข้าด้วยกันและสถาปนาเป็นจักรวรรดิออสเตรีย (Kaiserthum Öesterreich) ขึ้นโดยไม่มีพิธีราชาภิเษก เนื่องจากดินแดนต่างๆ ในราชสมบัติของราชวงศ์ฮัพส์บวร์คมาจากการสืบทอดตามสายพระโลหิต (ยกเว้นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากการเลือกตั้ง) และไม่มีพิธีราชาภิเษกสำหรับการขึ้นเป็นผู้ปกครองดินแดนแห่งราชวงศ์ฮัพส์บวร์ค เพราะฉะนั้นเมื่อสถาปนาจักรวรรดิออสเตรียจึงไม่มีพระราชพิธีราชาภิเษกสำหรับขึ้นเป็นจักรพรรดิออสเตรีย
สาเหตุที่ใช้ชื่อว่าจักรวรรดิออสเตรียและเรียกพระอิสริยยศของเจ้าผู้ปกครองจักรวรรดิออสเตรียว่า “จักรพรรดิออสเตรีย” (Kaiser von Österreich) นั้นเพื่อเป็นการรักษาพระเกียรติของพระราชวงศ์ให้เท่าเทียมกับพระราชวงศ์พระองค์อื่นๆ ทั่วยุโรป เพราะจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นอีกพระอิสริยยศหนึ่งของราชวงศ์ฮัพส์บวร์นั้นมีการมองว่าเป็นเพียงการเทิดพระเกียรติ ไม่ใช่พระอิสริยยศที่ใช้จริงทั้งยังมีพระราชอำนาจน้อยมาก ทำให้ใช้ชื่อว่า “ออสเตรีย” เป็นพระอิสริยยศ
ซึ่งคำว่าออสเตรียในที่นี้ไม่ได้หมายถึงออสเตรียอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมถึงดินแดนอื่นๆ ที่ราชวงศ์ฮัพส์บวร์คปกครองด้วย เช่น ฮังการี โดยคำว่าออสเตรียในที่นี้หมายถึงราชวงศ์ ซึ่งหลายๆ คนมักจะเรียกราชวงศ์นี้ว่าราชวงศ์ออสเตรียแทนที่จะเรียกว่าราชวงศ์ฮัพส์บวร์ค โดยออสเตรียในที่นี้ไม่ได้หมายถึงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์แต่เป็นราชวงศ์ เมื่อมีการสถาปนาจักรวรรดิออสเตรียในปี ๑๘๐๔ นั้นทำให้ออสเตรียมีดินแดนนอกจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
(เพราะราชวงศ์ฮัพส์บวร์คถือพระอิสริยยศเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกาลิเซีย พระมหากษัตริย์แห่งฮังการี โครเอเชีย และอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นดินแดนที่ราชวงศ์ฮัพส์บวร์คปกครองอยู่นี้เป็นดินแดนที่อยู่นอกจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อรวมดินแดนต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นจักรวรรดิออสเตรีย ทำให้ออสเตรียอยู่ทั้งภายในและภายนอกจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไปโดยปริยาย) และทำให้ฟรันซ์ที่ ๒ แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มีพระอิสริยยศเป็นจักรพรรดิฟรันซ์ที่ ๑ แห่งออสเตรีย และพระอิสริยยศจักรพรรดิออสเตรียนี้ก็โดดเด่นเคียงคู่กับจักรพรรดิฝรั่งเศส
ซึ่งทางฝรั่งเศสก็ทราบถึงเรื่องนี้ดีและจักรพรรดินโปเลียนก็ทรงมีพระราชสาส์นแสดงความยินดีแก่ฟรันซ์ที่ ๑ แห่งออสเตรีย (ฟรันซ์ที่ ๒ แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) ในโอกาสนี้ ทางพระเจ้าจอร์ชที่ ๓ แห่งอังกฤษก็ยอมรับพระราชฐานะจักรพรรดิออสเตรียในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน แต่ทางจักรวรรดิรัสเซียนั้นไม่ค่อยพอใจกับเรื่องนี้ เพราะมองว่าราชวงศ์ฮัพส์บวร์คเหมือนเป็นการลดตัวเองไปแข่งกับฝรั่งเศสซึ่งเป็นศัตรู ส่วนราชอาณาจักรสวีเดนไม่ยอมรับในเรื่องนี้โดยกล่าวหาว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญของจักรวรรดิ
เนื่องจากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มีจักรพรรดิอยู่แล้วจะมีพระจักรพรรดิซ้อนไม่ได้ จนในที่สุดได้มีการตัดสินและชัดเจนว่าไม่ได้ละเมิดรัฐธรรมนูญ เพราะแม้แต่สวีเดนเองซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แต่มีดินแดนอยู่ในจักรวรรดิโรมันอัน ก็ยังใช้พระอิสริยยศเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสวีเดนและยังอ้างสิทธิ์ในดินแดนจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์บางส่วนด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่ผิดที่จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จะอ้างสิทธิในดินแดนภายนอกจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในพระอิสริยยศจักรพรรดิออสเตรีย
จนกระทั่งในปี ค.ศ. ๑๘๐๖ (พ.ศ. ๒๓๔๙) รัฐใหญ่ๆ ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์พยายามที่จะกำหนดทิศทางอิสระระหว่างข้อเรียกร้องของจักรวรรดิกับนโปเลียน และในเวลาต่อมาทั้งบาวาเรีย เวิร์ทเทมแบร์กและบาเดนได้ตกลงเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิฝรั่งเศสอย่างถาวร โดยที่ทั้งสามรัฐนี้ยังคงอยู่ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่กลับกลายเป็นว่าเวิร์ทเทมแบร์กปฏิเสธที่จะเซ็นสนธิสัญญา กาลเวลาผ่านไปในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันนั้นฝรั่งเศสได้กดดันรัฐต่างๆ
ให้มีการจัดตั้งสมาพันธรัฐเยอรมันตอนบน (confédération de la haute Allemagne) และในที่สุดเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคมบาวาเรีย เวิร์ทเทมแบร์กและบาเดนกับรัฐย่อยๆ รัฐอื่นได้จัดตั้งสมาพันธรัฐแห่งลุ่มน้ำไรน์ (Rheinbund,Confédération du Rhin) และสมาพันธรัฐนี้ก็กลายเป็นรัฐบริวารของฝรั่งเศสโดยสมบูรณ์ จนกระทั่งในวันที่ ๑ สิงหาคมสภาของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้แจ้งว่าพระจักรพรรดินโปเลียนทรงมีพระราชประสงค์ไม่ให้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ดำรงอยู่อีกต่อไป และทำให้มีการประกาศออกมาว่าจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้ล่มสลายเนื่องจากพ่ายแพ้ในยุทธการที่อัสเตอร์ลิตช์ (ในบทความนี้ขอเลี่ยงที่จะพูดถึงสงครามว่าเป็นอย่างไร)
.
สิ่งเหล่านี้ทำให้ราชวงศ์ฮัพส์บวร์คครุ่นคิดว่าจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งแทบจะไร้ชีวิตแล้วเหมาะสมที่จะปกป้องหรือไม่ รัฐต่างๆ ซึ่งเคยอ้างว่าภักดีต่อจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์กลับกลายเป็นว่าหักหลังและเข้าข้างฝรั่งเศสแทน ซึ่งการรบของสมรภูมิในยุโรปนั้นหลักๆ ไม่ใช่เพื่อทรัพยากรแต่รบกันเพื่อปกป้องซึ่งศักดิ์ศรีของตนเป็นหลัก ในช่วงก่อนหน้านี้ฟรันซ์ที่ ๒ ทรงถึงขนาดเคยคิดว่านโปเลียนอาจปรารถนาเป็นพระจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากเป็นสมบัติของพระเจ้าชาร์เลอมาญ พิธีราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียนดูเหมือนจะเป็นการฟื้นฟูคติจักรพรรดิโรมันขึ้นมา
และนโปเลียนเองเมื่อสามารถยึดดินแดนเก่าของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และสถาปนาสมาพันธรัฐลุ่มน้ำไรน์ได้สำเร็จ ทั้งนี้นโปเลียนได้ยื่นคำขาดให้ฟรันซ์ที่ ๒ สละราชสมบัติภายในวันที่ ๑๐ สิงหาคม แต่ถึงกระนั้นเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคมหลายๆ คนยังมองว่าการสิ้นสุดของพระอิสริยยศยังน่าจะถูกหลีกเลี่ยงได้อยู่ แต่ในที่สุดการสละราชสมบัติถือก็เป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากราชวงศ์ฮัพส์บวร์คไม่ต้องการให้นโปเลียนเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งแน่นอนว่าถ้านโปเลียน โบนาปาร์ตเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แล้วนั้นจะทำให้ออสเตรียเป็นบริวารของฝรั่งเศสโดยทันที เพราะจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นั้นปกครองครอบคลุมออสเตรีย
และออสเตรียคงไม่อยากให้ใครปกครองดินแดนเหนือตน แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานว่านโปเลียนอยากเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จริงๆ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่านโปเลียนปรารถนาพระอิสริยยศนี้ เพราะการที่นโปเลียนไม่ได้ผนวกรัฐเยอรมันเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฝรั่งเศส แต่กลับกันนโปเลียนกลับสร้างสมาพันธรัฐแห่งลุ่มน้ำไรน์แทน ทั้งนี้นโปเลียนคงมองว่ารัฐเหล่านี้เข้าร่วมกับพระอิสริยยศจักรพรรดิฝรั่งเศสไม่ได้ จนกระทั่งในวันที่ ๖ สิงหาคม ฟรันซ์ที่ ๒ ได้สละราชสมบัติอย่างเป็นทางการและทำให้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ล่มสลายอย่างสมบูรณ์
รายการอ้างอิง
(๑) Berg, Scott M. (2010). "In the Shadow of Joesphinism: Austria and the Catholic Church in the Restoration, 1815-1848". Louisiana State University Master's Thesis.
(๒) Blanning, Tim (2012). "The Holy Roman Empire of the German Nation past and present". Historical Research. 85 (227): 57–70. doi:10.1111/j.1468-2281.2011.00579.x.
(๓) Gagliardo, John G. (1980). Reich and Nation: The Holy Roman Empire as Idea and Reality, 1763–1806. Indiana University Press. ISBN 978-0253167736.
(๔) Renna, Thomas (2017). "Papal Approval of Holy Roman Emperors, 1250–1356". Expositions. 11 (2): 57–90.
(๕) Watson, Alexander (2014). Ring of Steel: Germany and Austria-Hungary in World War I. Basic Books. ISBN 978-0465018727.
(๖) Wilson, Peter H. (2009). "The Meaning of Empire in Central Europe around 1800". In Forrest, Alan; Wilson, Peter H. (eds.). The Bee and the Eagle: Napoleonic France and the End of the Holy Roman Empire, 1806. Palgrave Macmillan. ISBN 978-0-230-00893-9.
(๗) Treaty of Constantinople (1533)". Project Gutenberg Self-Publishing. May 11, 2021.
ดูเพิ่ม
- จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
- ฟรันซ์ที่ ๒
- สงครามนโปเลียน
- ปัญหาสองจักรพรรดิ
เว็บไซต์เพิ่มเติม
History in Brief - แนวคิดเรื่องโรมที่สาม, https://m.facebook.com/HistoryInBrief/posts/988987404471525/
***บทความของวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔
โฆษณา