22 ต.ค. 2021 เวลา 07:35 • ประวัติศาสตร์
พรุ่ง-พรุก-รุ่ง
"พรุ่ง" หรือ "พรุ่งนี้" หมายถึงวันถัดจากวันนี้ไปวันหนึ่ง
เช่นสำนวนว่า “ตายวันตายพรุ่ง” หมายถึงตายในวันนี้หรือตายในวันต่อไป
“ผัดวันประกันพรุ่ง” หมายถึงขอเลื่อนเวลาออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า
หรือที่พบในวรรณคดี เช่น “...อาชาขานคำ บ มิเทรา บัดบอกว่าเรา สำนักนิพรุ่งจักไป...” (สูตรธนูคำฉันท์)
"...จักเจริญศิริสวัสดิ์วงษ์จร เจียรจากภูธร จะถึงในพรุ่งวันวาร..." (มหาราชคำฉันท์)
โบราณใช้ “พรุก” หรือ “พรุกนี้” ดังตัวอย่าง
“...นานนักกว่าชิ่นแล้ มนตรี/ไปพรุกควรพอดี อย่าช้า/ครั้นนานราชธานี เราเปลี่ยว อยู่นา/เยียวออกท้าวเจ้าถ้า ข่าวถ้าฟังสาร...” (ลิลิตพระลอ)
“...ผิแลว่าเจ้ามีบุญกว่าเราจริงไส้ก็ดียิ่งนักหนาแลไว้เราจะลองบุญของเจ้าดูพรุกนี้...แลพรุกนี้เมื่อเช้าเจ้าเร่งหาไตรจีวรไว้ให้เราจงได้ ๖ หมื่นสำรับในวันพรุกนี้เช้าเถิด ฯ...ถ้าแลว่านางหาให้แก่เรามิได้ดุจดังคำเราว่านี้ไส้ เราก็จะรู้บุญนางในวันพรุกนี้แล...” (ไตรภูมิพระร่วง)
“...เสฺว ตสฺสา อรญฺญคตกาเล ในกาลพรุกนี้เช้า ครั้นเจ้ามัทรี ดาบศนี้นักพรต จากพระดาบศไปป่าน้นน...” (มหาชาติคำหลวง กัณฑ์กุมาร)
นอกจากนี้ ยังพบคำที่ออกเสียงใกล้เคียงกับ “พรุก” ในภาษาไทยถิ่นเหนือ อีสาน และใต้ของไทยด้วย
ภาษาล้านนาว่า “พรูก” หรือ “พูก” เช่น “...ดูกราเจ้าคู วันพรูกพอยามตูดซ้าย...” (ตำนานถ้ำปุ่ม)
ภาษาอีสานว่า “พรุกเช้า” เช่น “...เพิงที่เมือทูลไหว้จอมเมืองภูวนาถ ดีรือ วันพรุกเช้าจวนตั้งแต่งพล...” (ท้าวฮุ่งหรือท้าวเจือง)
ภาษาใต้ว่า "โพรก" หรือ "โพรกเช้า" เช่น "...โพรกเช้าถึงนัดยักษา จงนาถพนิดา จากปราอย่าทันรุ่งราง..." (ป้องครกคำกาพย์)
ภาษาถิ่นตากใบหรือภาษาเจ๊ะเหที่สื่อสารกันมากในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และบางส่วนของรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียว่า “โผรก, โผรกๆ”
กับพบในภาษาไทถิ่นอื่น เช่น ภาษาลาวว่า พุก (ພຸກ) ในคำ พุกนี้ (ພຸກນີ້) ภาษาไทลื้อว่า ภุก (ᦘᦳᧅ) ภาษาไทใหญ่ว่า ผุ้ก (ၽုၵ်ႈ)
ส่วนคำว่า “รุ่ง” เมื่อเป็นคำนามหมายถึงระยะเวลาตอนเริ่มแรกแห่งวัน เช่น รุ่งอรุณ รุ่งเช้า ยันรุ่ง ตลาดโต้รุ่ง
เวลาสว่าง เช่น ใกล้รุ่ง
ชื่อดาวพระศุกร์ที่เห็นในเวลาเช้ามืด เรียกว่า ดาวรุ่ง
เมื่อเป็นคำคุณศัพท์หมายถึงสว่าง เช่น ฟ้ารุ่ง อรุณรุ่ง
คำว่า “รุ่งขึ้น” มีความหมายว่า วันใหม่ วันพรุ่งนี้ ดังตัวอย่าง
“...รุ่งขึ้นพรุ่งนี้ไอ้คนธรรพ์ มันจะยกมาชิงชัยศรี...” (รามเกียรติ์ รัชกาลที่ ๑)
“...รุ่งขึ้นไม่เห็นอรไท จริงใจฉะนี้พระทรงธรรม์...” (บทละครเรื่องอุณรุท)
ใช้เป็น “วันรุ่ง” หรือ “วันรุ่งพรุ่งนี้” ก็มี
“...ทูลลาพระองค์ผู้ทรงธรรม์ จะได้พบกันต่อวันรุ่ง...” (ขุนช้างขุนแผน)
“...วันรุ่งมุ่งเฝ้าท้าวไท พระนลภูวไนย ก็โสรดก็สรงทรงศรี...” (พระนลคำฉันท์)
“...เร่งรัดพหลพลไกร เราจะไปวันรุ่งพรุ่งนี้...” (บทละครนอกเรื่องยุขัน)
“...ไว้วันรุ่งพรุ่งนี้ถึงหนีเร้น คงจับได้ใช้เล่นเป็นเชลย...” (พระอภัยมณี)
เว้นเสียแต่เอาไว้นัดหมายแล้ว กล่าวในแง่อุดมคติวันพรุ่งนี้ก็ดูเหมือนภาพเลื่อนลอยที่ไม่คงที่และไม่มีอยู่จริง
คุรุและศาสดาที่เห็นสัจธรรมจึงพร่ำสอนสาวกให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท
พุทธพจน์บทหนึ่งในสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วีสตินิบาตชาดก ว่า
“หิยฺโยติ หิยฺยติ โปโส ปเรติ ปริหายติ--คนที่ผัดวันว่าพรุ่งนี้ ย่อมเสื่อม ยิ่งว่ามะรืนนี้ ก็ยิ่งเสื่อม”
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สรรเสริญสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่าทรงมีความสามารถอันเป็นอัจฉริยะที่จะทำให้บุคคลได้รู้ธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างแจ่มแจ้ง
ครั้งหนึ่งทรงแสดงธรรมเรื่องความไม่ประมาท
วันนั้นสมเด็จฯ ได้ต้นพะยอมจากหัวหินมาต้นหนึ่ง คุณชายไปเฝ้าเห็นเข้าก็ร้อง “โอ้โฮ”
“ทำไมโอ้โฮ ?” สมเด็จฯ ถาม
“ก็พะยอมมันต้องใช้เวลาตั้งสี่สิบหรือห้าสิบปีตั้งแต่ปลูกจึงจะโตออกดอกได้ สมเด็จแก่จะตายมิตายแหล่อยู่แล้วจะไปดูดอกมันทันอย่างไร”
“อย่างนั้นหรือ” สมเด็จฯ ว่า “เอ็งว่ากี่ปีนะ”
“ห้าสิบปี” คุณชายตอบ
สมเด็จฯ ตะโกนเรียกไวยาวัจกรลั่นกุฏิ พอไวยาวัจกรมาเฝ้าก็รับสั่งให้เอาต้นพะยอมแค่คืบนั้นไปหาที่ปลูกทันที อย่าให้เสียเวลาแม้แต่นาทีเดียว
“ไอ้นี่มันบอกว่าต้องปลูกถึงห้าสิบปีต้นพะยอมจึงจะออกดอก ต้องรีบปลูกเร็วๆ อย่าให้เสียเวลา ลุแก่ความประมาทไม่ได้”
ธรรมที่สมเด็จฯ ทรงแสดงนี้ ปลุกคุณชายให้ตื่นรู้จนเหไปสมาทานวิธีคิดอย่างใหม่ดังท่านกล่าวว่า
“ตั้งแต่นั้นมามีต้นอะไรจะปลูกผมก็รีบปลูก มีอะไรที่จะต้องทำผมก็รีบทำให้เร็วที่สุดที่จะเร็วได้ ไม่เคยผัดวันประกันพรุ่งลุแก่ความประมาทอีกเลย”
‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ผู้เคยเป็นศิษย์อาจารย์กับคุณชายคึกฤทธิ์ก็ดูจะมีแนวคิดคล้ายกัน
นักเขียนหนุ่มสำนวนเพรียวนมรำพึงถึงโศกนาฏกรรมของมนุษย์ผู้ตกเป็นเหยื่อแห่งเวลาและความใคร่รู้ว่าชีวิตคืออะไรกับอะไรคือความรัก ในนวนิยาย “แดงรวี” ว่า
“...พรุ่งนี้มันเป็นคำแก้ตัวดีที่สุดของคนเกียจคร้าน เป็นความหวังของคนที่เดินทางผ่านวันวานมาอย่างสะเพร่า...”
เฟื้อ หริพิทักษ์ ดำรง วงศ์อุปราช ถวัลย์ ดัชนี ลาวัณย์ อุปอินทร์ ศิลปินชั้นเยี่ยมผู้ทันได้ร่ำเรียนกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี รำลึกถึง "อาจารย์ฝรั่ง" ว่า
นอกจากวลี “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” (ars longa vita brevis) ที่ท่านยึดเป็นคติพจน์ตลอดชีวิตความเป็นครูแล้ว
ภาษิตที่ศาสตราจารย์ชาวอิตาลีอุทิศชีวิตหว่านเมล็ดพันธุ์ศิลปะสมัยใหม่ในเมืองไทยย้ำเตือนลูกศิษย์ของท่านอยู่เสมอคือ
“พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว”
ปรัชญา ปานเกตุ เขียนเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔
#ศัพทาธิบาย #ศัพทานุกรม #ศัพทานุกรมวัฒนธรรมไทย #Lexicon of Thai Culture #ศัพทานุกรมวรรณคดีไทย # Lexicon of Thai Literature #วรรณคดี #วรรณกรรม #ประวัติศาสตร์ #ศิลปวัฒนธรรม #สูตรธนูคำฉันท์ #มหาราชคำฉันท์ #ลิลิตพระลอ #ไตรภูมิพระร่วง #มหาชาติคำหลวงกัณฑ์กุมาร #ตำนานถ้ำปุ่ม #ท้าวฮุ่งหรือท้าวเจือง #รามเกียรติ์รัชกาลที่๑ #บทละครเรื่องอุณรุท #ขุนช้างขุนแผน #พระนลคำฉันท์ #บทละครนอกเรื่องยุขัน #พระอภัยมณี #แดงรวี #พรุ่ง #พรุ่งนี้ #พรุก #พรุกนี้ #พรูก #พูก #พรุกเช้า #โพรก #โพรกเช้า #โผรก #โผรกๆ #รุ่ง #ใกล้รุ่ง #ดาวรุ่ง #รุ่งขึ้น #วันรุ่ง #วันรุ่งพรุ่งนี้
ติดตามเพิ่มเติม
Facebook page : https://bit.ly/3hnR3hN
คำบรรยายภาพ ศ.ศิลป์ พีระศรี (๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๕-๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๕) ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรและผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย ภาพลงสีได้รับความอนุเคราะห์จากคุณ Wongsakorn Sebastian Thoongtong Wongsakorn Sebastian Thoongtong
โฆษณา