22 ต.ค. 2021 เวลา 14:12 • หนังสือ
"เข้าใจภูมิศาสตร์ เข้าใจการเมืองโลก“
หนังสือเรื่อง “Prisoners of Geography“ เขียนโดย ทิม มาร์แชล (Tim Marshall) สำนักพิมพ์ Elliott & Thompson
ทิม มาร์แชลเป็นนักข่าวและนักเขียนชาวอังกฤษที่มีประสบการณ์ในวงการข่าวกว่า 25 ปี เคยทำงานที่ Sky News, BBC, LBC/IRN และมีความเชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแนวภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ซึ่งวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของประเทศและภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อการเมืองโลกผ่านแผนที่ 10 ฉบับ ได้แก่ รัสเซีย จีน สหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก แอฟริกา ตะวันออกกลาง อินเดียและปากีสถาน เกาหลีและญี่ปุ่น ลาตินอเมริกา และอาร์กติก
ผู้เขียนเห็นว่าบ่อยครั้งที่ภูมิศาสตร์มักจะถูกมองข้ามในบทวิเคราะห์การเมืองโลก ทั้งที่เป็นปัจจัยทรงอิทธิพลต่อความเป็นมาของประเทศและความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมุมมองนี้ลดทอนความสำคัญของมนุษย์ในฐานะ “ผู้ครองโลก”
แน่นอนว่ามนุษย์มีความพยายามที่ประสบความสำเร็จในการก้าวข้ามขีดจำกัดทางภูมิศาสตร์ผ่านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เช่น การสร้างเส้นทางคมนาคมและอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ดี ภูมิศาสตร์ยังคงส่งผลต่อการพัฒนาประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การตัดสินใจของผู้นำ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศและการเมืองโลกในอนาคต
3 สิ่งที่ได้เรียนรู้
1. ภูมิศาสตร์เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการสร้างชาติ (defining a nation)
การขยายอาณาเขตของสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 อาทิ การซื้อพื้นที่รัฐหลุยเซียน่าซึ่งฝรั่งเศสยึดครองอยู่ก่อนหน้าในปี 1803 ได้เพิ่มพื้นที่ของประเทศเป็นสองเท่าและยังทำให้สหรัฐฯ ได้ครอบครองเส้นทางน้ำในประเทศที่ใหญ่ที่สุดอย่างแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ซึ่งไหลผ่านที่ราบกว้างลงสู่อ่าวเม็กซิโก แม่น้ำมิสซิสซิปปี้เป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้าในประเทศไปยังท่าเรือที่มหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนเมื่อเทียบกับการขนส่งทางบกแล้ว ยังเป็นตัวเชื่อมผู้คนและพื้นที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกันอีกด้วย
ในขณะที่แม่น้ำมิสซิสซิปปี้ในสหรัฐฯ ช่วยขยายอิทธิพลทางการค้าและเชื่อมชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม่น้ำส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกาส่งผลตรงกันข้าม เนื่องจากแม่น้ำหลายสายมีต้นกำเนิดบนที่สูงและไหลลงต่ำฉับพลันคล้ายน้ำตก ซึ่งอาจจะมีเสน่ห์ในเชิงการท่องเที่ยว แต่ไม่ได้ช่วยในการขนส่งสินค้าหรือเพิ่มการติดต่อระหว่างชุมชนในประเทศ ตัวอย่างเช่น แม่น้ำแซมบีซีที่มีความยาวเป็นอันดับ 4 ของแอฟริกาซึ่งไหลผ่าน 6 ประเทศและไหลลงต่ำเท่าระดับน้ำทะเลประมาณ 4,900 ฟุตสู่มหาสมุทรอินเดียที่โมซัมบิก แม้ว่าเรือจะแล่นผ่านบางส่วนของแม่น้ำเส้นนี้ได้ แต่เส้นทางน้ำเหล่านี้ไม่ได้เชื่อมต่อกัน ทำให้ไม่เหมาะที่จะขนส่งสินค้าหรือสัญจรไปมาหาสู่กัน
1
2. ภูมิศาสตร์เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อการพัฒนาระดับประเทศ ระหว่างประเทศและระดับโลก
มหาสมุทรอาร์กติกในบริเวณขั้วโลกเหนือครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5.4 ล้านตารางไมล์ ซึ่งใกล้เคียงกับขนาดของประเทศรัสเซียหรือ 1.5 เท่าของสหรัฐฯ การสำรวจและค้นพบแหล่งพลังงาน อาทิ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำให้หลายประเทศหันมาให้ความสนใจกับภูมิภาคนี้ ซึ่งนำไปสู่การลงทุนทางธุรกิจของบริษัทพลังงาน อาทิ ExxonMobil, Shell, Rosneft ได้ขอใบอนุญาตเพื่อดำเนินการขุดเจาะน้ำมัน นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ ยังมีการพัฒนาทางเทคโนโลยี อาทิ เรือตัดน้ำแข็ง (icebreaker)
แต่ในทางกลับกันก็เกิดข้อพิพาทเขตแดนเพื่อช่วงชิงทรัพยากรและเส้นทางเดินเรือเพื่อการค้าและการทหาร เช่น ข้อพิพาทระหว่างรัสเซียกับนอร์เวย์ในทะเลแบเร็นต์ หรือสหรัฐฯ กับรัสเซียในทะเลเบริง มหาสมุทรอาร์กติก และแปซิฟิกเหนือ
ปัจจุบันรัสเซียถือเป็นผู้นำในอาร์กติก โดยมีจำนวนเรือตัดน้ำแข็งมากที่สุดในโลกและกำลังสร้างกองทัพอาร์กติก ในขณะที่จีนได้ประกาศในปี 2019 ว่าจะสร้างเรือตัดน้ำแข็งที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์
ในขณะเดียวกัน ผลพวงของภาวะโลกร้อนได้เร่งการละลายของน้ำแข็งทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น นอกจากจะส่งผลให้สัตว์ขั้วโลกและชุมชนในบริเวณใกล้เคียงต้องโยกย้ายถิ่นฐานแล้ว อาจส่งผลถึงประเทศที่อยู่ไกลออกไป อาทิ บังกลาเทศและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมมากขึ้น
3. แม้เทคโนโลยีและโลกยุคโลกาภิวัตน์จะช่วยให้เราก้าวข้ามอุปสรรคทางภูมิประเทศบางอย่างได้ แต่ประเทศต่าง ๆ ยังคงเป็นนักโทษทางภูมิศาสตร์ที่ยากจะหลุดพ้นได้
ข้อพิพาททางเขตแดน ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ รวมถึงนโยบายต่างประเทศสำคัญ ๆ มีต้นกำเนิดจากภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องทิเบตและซินเจียง กรณีพิพาทแคชเมียร์ คาบสมุทรเกาหลี เบร็กซิทและสหภาพยุโรป สงครามอัฟกานิสถาน อิสราเอล-ปาเลสไตน์ อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจในลาตินอเมริกาและแอฟริกา เป็นต้น
ในช่วงท้ายของบทสรุปหนังสือ ผู้เขียนกล่าวว่า แม้หลายประเทศจะประสบความสำเร็จในการเดินทางไปนอกโลกและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ "สงครามอวกาศ" แต่ในที่สุดแล้ว เราทุกคนอาจจะต้องร่วมมือกันเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติในฐานะมนุษย์โลกคนหนึ่ง แต่ตราบใดที่ประเทศต่างๆ ยังเป็น "นักโทษทางจิตใจ" ที่ยังหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ยังแก่งแย่งทรัพยากรกัน หนทางก็ยังอีกยาวไกล
1
โฆษณา