23 ต.ค. 2021 เวลา 00:45 • ศิลปะ & ออกแบบ
สตรีทอาร์ต“บ้านโป่ง”ดูของงามต้องมาบ้านนี้
“บ้านโป่ง”กับความทรงจำผมในอดีตคือถิ่นคนงามของจังหวัดราชบุรี ควบคู่มากับอำเภอโพธาราม จากครั้งที่แล้วเราได้พาเพื่อนๆไปเที่ยวชมผลงานสตรีทอาร์ตในอำเภอคนสวยอย่าง“โพธาราม”กันมาแล้ว
ครั้งนี้ผมเลยถือโอกาสพาชมอำเภอคนงามนาม”บ้านโป่ง”กันบ้าง และแน่นอนเป้าหมายเรายังคงเป็นการพาชมความงามของผลงานสตรีทอาร์ตเป็นหลัก
ก่อนเข้าเรื่องตัวผลงานเรามาทำความรู้จักอำเภอนี้อย่างคร่าวๆกันก่อน
อำเภอบ้านโป่ง เป็นอำเภอสำคัญอำเภอหนึ่งในจังหวัดราชบุรี เดิมชื่อ อำเภอท่าผา ต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปยังตำบลบ้านโป่งเพื่อให้ใกล้สถานีรถไฟบ้านโป่งมากขึ้น จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบ้านโป่ง ส่วนชื่อ “บ้านโป่ง” เดิมมีชื่อว่า “บ้านทับโป่ง” เนื่องจากสมัยก่อนชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานอยู่บนดินโป่ง ปัจจุบันบ้านโป่งเป็นอำเภอที่เป็นศูนย์กลางความเจริญและการคมนาคมทางภาคตะวันตกของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์โดยสารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งจำหน่ายปลาสวยงามที่ใหญ่ที่สุด มีสถานีชุมทางรถไฟที่แยกไปได้ถึงสามเส้นทาง
ผลงานสตรีทอาร์ตภายในอำเภอบ้านโป่ง มีปรากฏให้เห็นหลายพื้นที่ ดูจากรายละเอียดในภาพแต่ละภาพส่วนใหญ่คาดว่าจะสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 2018 โดยจุดแรกที่มีผลงานรวมตัวอยู่มากที่สุดคือ บริเวณโรงหนัง(เก่า)เฉลิมทองคำ ตั้งอยู่ใกล้กับตลาดสด ผลงานปรากฏให้เห็นบนกำแพงรอบตึกโรงหนังทั้งสองฝั่ง ตัวผลงานมีความหลากหลายอาทิ รูปเทพเจ้าจีนวาดด้วยลายเส้นขาว-ดำ
งานสตรีทอาร์ตบริเวณโรงหนัง(เก่า)เฉลิมทองคำ
ผลงานลายเส้นและงานคาแรคเตอร์คนคู่กับเสือของศิลปินชาวญี่ปุ่นที่อยู่บริเวณมุมทางขึ้นบันไดโรงหนัง และผลงานลายเส้นขาว-ดำอีกหลายหลายชิ้นที่เพ้นท์บนกำแพงปูนเก่า รวมถึงกำแพงสังกะสี ผลงานลายเส้นในหลายพื้นที่ชวนให้นึกถึงงานจิตกรรมไทยและจีนแบบร่วมสมัยและยังมีผลงานกราฟิกตี้แท็กตัวอักษรสีสันสดสวยแทรกตัวอยู่ในพื้นที่ปะทะสายตาผู้ชมได้เป็นอย่างดี
ผลงานมีปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วภายในซอยทางเดินข้างโรงหนัง และอีกฝั่งหนึ่งของโรงหนังรวมไปด้วยผลงานของศิลปินชื่อดังอาทิ ภาพน้องมาร์ดี นั่งแช่น้ำในกะละมัง มีเรือดำน้ำลำเล็ก ปลาทองติดอาวุธและปลากัดลายธงชาติไทยเป็นส่วนประกอบในภาพซึ่งเป็นผลงานของศิลปินไทยคือ “อเล็กซ์ เฟส” (Alex face) และยังมีภาพนกกระจอกสีดำขับเครื่องบินรบ เป็นของศิลปินไทยชื่อ “มือบอน” (Mue Bon)
ผลงานที่บ้านโป่งของ “อเล็กซ์ เฟส” (Alex face)
ผลงานของ Mue Bon
ผลงานของ Big del
บริเวณอาคารใกล้เคียงเป็นผลงานของศิลปินชาวเกาหลีวาดภาพดอกไม้แบบเหมือนจริงขนาดใหญ่ที่ต้องเงยหน้าเพื่อรับชม เดินต่อมาอีกไม่ไกลภายในซอยเชาวน์ศรัทธา ถือเป็นจุดพื้นที่ปะทะกับการมองเห็นได้เป็นอย่างดี
ผลงานชาวเกาหลี
เดินอ้อมด้านข้างอีกสักนิด มีผลงานขนาดใหญ่ บนพื้นกำแพงสีส้มสดสะดุดตา เป็นผลงานของ EYAMONSTA (ศิลปินไทย) ชื่อผลงานว่า “ตู้เสบียงหมายเลข 70110” เป็นภาพคาแร็คเตอร์ของสัตว์บางชนิดผสมผสานกับรูปทรงของตู้เสบียงรถไฟ และรูปแบบของซูชิ เป็นการแฝงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตอนที่ญี่ปุ่นเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ อีกผลงานตรงกันข้ามเป็นภาพนกกระจอกนอนเอนหลังอยู่บนจรวดซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานของ มือบอน (Mue Bon) สะท้อนความเกี่ยวพันของพื้นที่อำเภอบ้านโป่งกับประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองในอดีต
ผลงานของ EYAMONSTA
ผลงานสตรีทอาร์ตในอำเภอบ้านโป่งสามารถแบ่งเป็นจุดพื้นที่สำคัญๆได้ดังนี้คือ 1 โรงหนังเฉลิมทองคำ 2 ซอยมิตรเสถียรและซอยเชาวน์ศรัทธา 3 ตลาดนัดดงมะพร้าว 4 บริเวณร้านไนน์คาเฟ่ 5 ตลาดสดเทศบาลบ้านโป่ง และ 6 ซอยร้านบะหมี่นางงาม และยังมีผลงานกระจายอยู่บนกำแพงบ้านเรือน และในตลาด โดยศิลปินเจ้าของผลงานแต่ละภาพนำเสนอเรื่องราวบริบทของพื้นที่รวมไปถึงประวัติความเป็นมา และอัตลักษณ์ของเมืองได้อย่างน่าสนใจ
งานสตรีทอาร์ตและผลงานรูปแบบกราฟิกตี้ทั้งหมดสร้างสรรค์ขึ้นโดยศิลปินไทย ศิลปินต่างชาติและกลุ่มศิลปินชาวบ้านโป่งที่มีชื่อกลุ่มว่า “Art Exchange”
ผลงานลายเส้นที่มีเอกลักษณ์รอบๆเมือง
ในด้านการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ จากการพูดคุยสอบถามคนในตลาดและชุมชนใกล้เคียง ผู้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีความชื่นชอบผลงาน อาจไม่ได้เข้าใจหรือเข้าถึงในเชิงลึกของเนื้อหาแนวคิดของศิลปิน แต่ความชื่นชมและชื่นชอบในแง่ความงามของผลงานสตรีทอาร์ตที่ปรากฏนั้น ถือเป็นการสร้างความภาคภูมิใจ และเสริมสร้างสุนทรียภาพของชีวิตให้กับผู้คนในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้เมืองน่าอยู่ ร้านค้า ร้านบริการต่างๆในย่านพื้นที่นี้ก็คึกคักตามไปด้วย
เรื่องหนึ่งที่ผมมักนำเสนอทิ้งท้ายไว้เสมอคือ เรื่องของสื่อสำหรับใช้เป็นคู่มือในการท่องเที่ยวชมผลงาน อาทิแผนที่ คู่มือ แผ่นพับ หรือแอพพิเคชั่นนำชมผลงาน หรือสื่อกลางแจ้ง ที่สามารถบอกเส้นทางการเดินชมผลงานในแต่ละจุด รวมไปถึงบอกตำแหน่งร้านค้าบริการที่น่าสนใจต่างๆที่อยู่ใกล้เคียงจุดชมงาน หรือมีการจัดกิจกรรมด้านศิลปะเสริมเข้าไปในพื้นที่ ถ้ามีกลุ่มองค์กร หรือกลุ่มคนจัดทำในส่วนนี้เสริมขึ้นมา จะเป็นการเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างครบวงจร
ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก
โฆษณา