Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
23 ต.ค. 2021 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
อินโดนีเซีย: จากหมู่เกาะอาณานิคมสู่เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
1
📌 ย้อนรอยจุดเริ่มต้นของหมู่เกาะอินโดนีเซีย หมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่พร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและชัยภูมิที่ดี
หมู่เกาะอินโดนีเซียนับได้ว่าเป็นหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีจำนวนเกาะทั้งหมดกว่า 17,000 เกาะ โดยในแต่ละเกาะเหล่านี้ ก็มีทรัพยากรธรรมชาติที่เพียบพร้อมมากมาย อย่างเช่น เครื่องเทศ ข้าว งาช้าง และพวกแร่ต่างๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมาก อีกทั้งยังมีชัยภูมิที่ดี ตั้งอยู่ในเส้นทางการเดินเรือระหว่างจีน อินเดีย และทะเลอาหรับ ส่งผลให้คนเริ่มมาตั้งรกรากมากขึ้นเรื่อยๆ จนท้ายที่สุด พัฒนาขึ้นไปเป็นอาณาจักรในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7
4
หมู่เกาะอินโดนีเซีย เป็นหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก - Indonesian Travel Book
อาณาจักรแห่งแรกของหมู่เกาะอินโดนีเซียก็คือ อาณาจักรศรีวิชัย (Srivijaya) ซึ่งแผ่ขยายอิทธิพลครอบคลุมอาณาบริเวณตั้งแต่แถบ อ.ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปัจจุบัน ไปถึงบริเวณเกาะสุมาตรา โดยอาณาจักรศรีวิชัยก็นับได้ว่ามีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก สมดังชื่อว่า “ศรีวิชัย” ในภาษาสันสกฤตจริงๆ ที่แปลเป็นไทยได้ว่า ความรุ่งเรือง เนื่องจากตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ที่ดีมาก ทำให้สามารถควบคุมการค้าระหว่างจีนและอินเดียผ่านช่องแคบซุนดา และช่องแคบมะละกาได้ทั้งหมด
1
แต่ความรุ่งเรืองของอาณาจักรศรีวิชัยก็มาถึงจุดสิ้นสุดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 เมื่อถูกแทนที่ด้วยอาณาจักรที่แข็งแกร่งกว่าอย่างอาณาจักรมัชปาหิต (Majapahit) ซึ่งได้กลายมาเป็นอาณาจักรใหม่ที่อิทธิพลเหนือหมู่เกาะอินโดนีเซียแทน โดยครอบคลุมอาณาบริเวณที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับพื้นที่ของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน
6
อาณาจักรศรีวิชัย (Srivijaya) ซึ่งแผ่ขยายอิทธิพลครอบคลุมอาณาบริเวณตั้งแต่แถบ อ.ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปัจจุบัน ไปถึงบริเวณเกาะสุมาตรา
ในยุคสมัยของทั้งสองอาณาจักรนี้ เรียกได้ว่าเป็นยุคที่ศาสนาพุทธและฮินดูก็ได้เข้ามามีอิทธิพลในอย่างมาก จากการเผยแผ่ศาสนาเข้ามาผ่านเส้นทางการค้าจากอินเดีย โดยช่วงที่เรียกได้ว่าเป็นจุดพีคสุดของศาสนาพุทธและฮินดูก็คือ ในช่วงอาณาจักรมัชปาหิตนี่แหละ
2
หลังจากที่อาณาจักรมัชปาหิตขึ้นมามีอิทธิพลเหนือชวา หรือหมู่เกาะอินโดนีเซียไม่นาน ก็เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญขึ้น เมื่อกษัตริย์ Hayam Wuruk แห่งอาณาจักรมัชปาหิตสิ้นพระชนม์ นำไปสู่วิกฤติการแย่งชิงบัลลังก์ขึ้น และทำให้ราชอาณาจักรอ่อนแอลง ในขณะเดียวกัน คู่แข่งของอาณาจักรมัชปาหิตในขณะนั้น ก็คือเครือข่ายการค้ามาเลย์ (Malay Trading Network) ที่มีจุดศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่เมืองมะละกา ซึ่งควบคุมการค้าที่ผ่านช่องแคบมะละกาทั้งหมด ก็ได้เจริญรุ่งเรืองและแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ
2
ในขณะนั้น เมื่อเห็นความขัดแย้งเกิดขึ้นในอาณาจักรมัชปาหิต มะละกาเริ่มขยับขยายอิทธิพลเข้ามาเรื่อยๆ โดยเข้ามาแปลงศาสนาของเมืองต่างๆ ของอาณาจักรมัชปาหิต จากฮินดูและพุทธให้กลายเป็นอิสลาม เหมือนดังเช่นศาสนาของมะละกา ผลก็คือเมื่อแปลงได้สำเร็จ บรรดาเมืองเหล่านี้ก็เริ่มหันมาสวามิภักดิ์กับทางมะละกามากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้าย ศาสนาอิสลามได้กลายเป็นศาสนาหลักในชวาแทน และมะละกาก็ได้เป็นขุมอำนาจใหม่ของพื้นที่หมู่เกาะดังกล่าวไป
5
📌 เมื่อความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเชื้อเชิญการมาเยือนของจักรวรรดิยุโรป
จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อเหล่าจักรวรรดิในยุโรปเริ่มออกเดินทางเพื่อแสวงหาอาณานิคมเพื่อนำทรัพยากรมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง โดยชาติแรกที่ได้มาเยือนชวาก็คือ โปรตุเกส ด้วยความมุ่งหวังที่ว่าต้องการเข้ามายังแหล่งต้นตอการผลิตเครื่องเทศโดยตรง เนื่องจากต้องการผูกขาดการค้าเครื่องเทศ ซึ่งมีความต้องการสูงมากในขณะนั้น แต่ถูกผูกขาดโดยเวนิสและบรรดาพ่อค้าชาวมุสลิมแต่เพียงเท่านั้น
2
ในช่วงแรก โปรตุเกสสามารถเข้ามายึดกรุงมะละกาได้สำเร็จ และพยายามขยายขอบเขตเข้าไปยังหมู่เกาะอินโดนีเซียต่อ แต่ด้วยความที่มีจำนวนคนที่น้อย ทรัพยากรก็มีจำกัด และมีความขัดแย้งกับชนพื้นเมือง ส่งผลให้ความพยายามดังกล่าวล้มเหลว
2
ต่อมา อีกชาติหนึ่งที่ได้เดินทางเข้ามาก็คือ ดัชต์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับโปรตุเกส นั่นก็คือการเข้ามาแสวงหาเครื่องเทศ เพื่อผูกขาดการค้าสินค้าดังกล่าวนั่นเอง โดยด้วยการนี้ ดัชต์ก็ได้จัดตั้งบริษัท Dutch East India หรือ VOC ขึ้นมาเพื่อดูแลในกิจการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยทางรัฐบาลดัชต์ก็ได้ให้อำนาจบริษัท VOC เต็มที่ในการก่อสงคราม ตลอดจนเจรจาหย่าศึก เพื่อทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริง
3
ผลก็คือบริษัท VOC ของดัชต์สามารถมาตั้งฐานปฏิบัติงาน เข้าถึงแหล่งการผลิต จนสามารถผูกขาดการค้าเครื่องเทศในบริเวณแถบพื้นที่เอเชียได้สำเร็จ ทำให้ได้กำไรอย่างมาก จนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักสำคัญของเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ในตอนนั้น และเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองของดัชต์ที่กินเวลาไปยาวถึงราวสามร้อยปี
3
ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่หมู่เกาะอินโดนีเซียอยู่ภายใต้อิทธิพลของดัชต์นั้น ในช่วงแรก ทางบริษัท VOC ก็ยังไม่ได้มีแนวคิดในการตั้งเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด โดยมุ่งเน้นไปที่ผูกขาดการค้าเป็นหลัก
2
แต่เมื่อทางแผ่นดินใหญ่ดัชต์ได้เผชิญกับปัญหาในบ้าน มีการทำสงครามต่างๆ เป็นจำนวนมาก จนทำให้กลายเป็นหนี้ก้อนโต จึงทำให้ดัชต์หันไปสู่ทางเลือกในการดึงทรัพยากรของหมู่เกาะอินโดนีเซียเพื่อไปใช้อย่างเต็มที่ นำไปสู่การก่อตั้งอาณานิคมขึ้นบนหมู่เกาะอินโดนีเซีย หรือที่เรียกกันว่า Dutch East Indies นั่นเองในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19
1
บริษัท Dutch East India หรือ VOC
ในสมัยของ Dutch East Indies ทางรัฐบาลเจ้าอาณานิคมก็ได้มีการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่กดขี่ขูดรีดชาวเมืองเป็นอย่างมาก อย่างเช่น มีการนำระบบเก็บเกี่ยวพืชผล เพื่อการส่งออก (Cultivation System) มาใช้ เพื่อให้ชนพื้นเมืองผลิตพืชเศรษฐกิจ (Cash crops) โดยนำไปขายให้กับทางการในราคาต่ำ เพื่อที่จะให้ดัชต์ได้นำไปขายได้กำไรเยอะๆ
ผลก็คือ ดัชต์ก็ร่ำรวยขึ้นอย่างมาก สามารถนำผลกำไรที่ได้จากระบบดังกล่าวไปชำระหนี้จำนวนมหาศาลได้ อีกทั้งยังนำไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างประเทศตัวเอง เช่น การก่อสร้างระบบรางอีกด้วย
ขณะเดียวกัน บรรดาชาวเมืองที่จำใจต้องปลูกพืชเหล่านี้ก็เป็นทุกข์อย่างมาก เพราะตามที่เคยตกลงกันเอาไว้ ดัชต์จะให้ชาวเมืองแบ่งสัดส่วนในการปลูกพืชเศรษฐกิจเหล่านี้ให้พอดีกับการปลูกพืชเพื่อใช้ในการบริโภค โดยเม็ดเงินที่ได้จากการขายให้รัฐบาลเหล่านี้ ก็จะได้นำไปจ่ายเป็นภาษีให้กับรัฐบาลได้ ถือเป็นวินวินทั้งสองฝ่าย
2
ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ชาวเมืองเหล่านี้ถูกบีบบังคับให้ผลิตพืชเศรษฐกิจเหล่านี้ในสัดส่วนที่สูงเกินไปอย่างมาก จนทำให้พืชสำหรับการบริโภคก็มีไม่เพียงพอ เงินที่ได้มาก็ไม่พอยาไส้ เพราะถูกกดราคาให้ต่ำ อีกทั้งยังต้องจ่ายรายได้ที่ได้มาส่วนหนึ่งเป็นภาษีให้กับรัฐบาล ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร จนเกิดเป็นโรคระบาด ทำให้ชาวเมืองเสียชีวิตหลายครั้งหลายครา
2
ในช่วงต่อมา ราวทศวรรษที่ 1860 ก็ได้เกิดการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลในเนเธอร์แลนด์ ทำให้รัฐบาลซึ่งสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมขึ้นมามีอำนาจ และได้เริ่มทยอยยกเลิกระบบเก็บเกี่ยวพืชผลเพื่อการส่งออก (Cultivation System) รวมถึงยกเลิกบรรดาการผูกขาดการค้าต่างๆ และเริ่มเปิดเสรีการค้า อนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้ามาประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้น
1
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ก็ยังดำเนินไปถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่ได้มีการนำนโยบาย Ethical Policy มาใช้ ซึ่งเป็นยกเลิกบรรดานโยบายดั้งเดิมที่เคยขูดรีดชาวเมืองในอาณานิคมอย่างมาก ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม และเริ่มมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเมืองในด้านต่างๆ เช่น การสร้างระบบชลประทานเพื่อการเกษตร ไปจนถึงการจัดสรรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ชาวเมืองอาณานิคมอย่างเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง ยังเป็นช่วงที่เศรษฐกิจการค้าของอาณานิคมเจริญเติบโตได้ดีอย่างมาก จากการที่ยกเลิกการผูกขาดการค้าโดยรัฐบาล และอนุญาตให้เอกชนเข้ามาประกอบธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่หมู่เกาะอินโดนีเซียเริ่มเปลี่ยนผ่านจากสินค้าดั้งเดิมอย่างบรรดาเครื่องเทศ เมล็ดกาแฟ และน้ำตาล มาเป็นสินค้าส่งออกชนิดใหม่ อย่างเช่น น้ำมัน และยางต่างๆ นั่นเอง
3
📌 จากอาณานิคมของดัชต์กว่าสามร้อยปีสู่การประกาศเอกราช
1
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากจักรวรรดิญี่ปุ่นต้องใช้ทรัพยากรอย่างเช่น น้ำมัน และเหล็ก เพื่อสนับสนุนการบุกเข้ายึดภาคเหนือของจีน (ภายหลัง ยึดสำเร็จ กลายเป็นแมนจูกัว) จึงเข้ามายึดหมู่เกาะอินโดนีเซีย อาณานิคมของดัชต์ ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติเพียบพร้อมอยู่มาก
1
ในช่วงเวลาที่เข้ามายึดครอง ญี่ปุ่นได้ถือสโลแกนที่ว่าตัวเอง ผู้นำของเอเชีย ผู้พิทักษ์แห่งเอเชีย และแสงสว่างของเอเชีย ซึ่งได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนอันสำคัญอย่างมากให้กับชาวเมืองซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของดัชต์มาเป็นระยะเวลายาวนาน อุดมการณ์ชาตินิยมของญีปุ่นได้ทำให้ชาวเมืองอาณานิคมฮึดสู้ จนนำไปสู่การเรียกร้องอิสรภาพ และปลดแอกตัวเองออกจากการปกครองของดัชต์ได้สำเร็จในวันที่ 17 สิงหาคม 1945 โดยมีผู้นำคนสำคัญคือซูการ์โน และโมฮัมหมัด ฮัตตา
4
การประกาศอิสรภาพดังกล่าวนำไปสู่การจัดตั้งสาธารณรัฐอินโดนีเซียขึ้น โดยมีซูการ์โน ผู้นำการเรียกร้องอิสรภาพได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย โดยในช่วงแรก มีความพยายามนับสิบปีในการสร้างชาติขึ้นมาให้ยึดโยงกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่ด้วยความที่แนวคิดการปกครองตนเอง มีสำนึกอยู่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวในฐานะชาติเดียวกัน เป็นแนวคิดที่ใหม่มากสำหรับประชาชนในประเทศที่ถูกปกครองภายใต้อาณานิคมมาอย่างยาวนาน ก็ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมากมายขึ้น ส่งผลให้ท้ายที่สุด ซูการ์โนก็ทนไม่ไหวกับความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น และได้นำพาประเทศเข้าสู่การปกครองระบบเผด็จการเต็มรูปแบบ
4
ซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ ในสมัยของซูการ์โนนั้น ก็ได้ดำเนินนโยบายที่นำพาประเทศไปสู่ทางเดินที่ผิดพลาดอย่างมาก มีการเข้ายึดบรรดาบริษัทต่างชาติต่างๆ และแปรรูปให้กลายเป็นกิจการของรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งเมื่อยึดมาแล้ว รัฐบาลก็มีความสามารถไม่เพียงพอในการบริหารธุรกิจเหล่านี้ให้ประสบความสำเร็จอีกด้วย
2
นอกจากนี้ รัฐบาลไม่ได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น การส่งออกที่ตกต่ำ หรือเงินเฟ้อที่พุ่งสูง เนื่องจากความสนใจหลักๆ พุ่งเป้าไปที่การรักษาฐานอำนาจ และจัดการประเด็นด้านการเมืองมากกว่าการจัดการปัญหาทางเศรษฐกิจ
จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อประธานาธิบดีซูการ์โน หมดอำนาจลงในปี 1967 และซูฮาร์โตก้าวขึ้นไปเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสาธารณรัฐอินโดนีเซียแทน โดยในยุคของประธานาธิบดีซูฮาร์โตจะมีความคล้ายคลึงกับยุคก่อนหน้าในแง่ที่ว่าเป็นเผด็จการเช่นเดียวกัน แต่นโยบายทางเศรษฐกิจก็แตกต่างไปอย่างมาก
1
📌 จุดเปลี่ยนทางการเมืองครั้งสำคัญ ที่ทำให้อินโดนีเซียถูกกล่าวถึงในฐานะประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ควบคู่ไปกับมาเลเซียและไทย
โดยช่วงยุคประธานาธิบดีซูฮาร์โต อินโดนีเซียได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่พาประเทศไปถูกทาง มีการปฏิรูปในด้านต่างๆ จนสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เช่น ลดการขาดดุลงบประมาณ และการพิมพ์เงิน เพื่อคุมให้อัตราเงินเฟ้อกลับลงมา จนสุดท้าย สามารถรักษาเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคได้อย่างที่ควรจะเป็น
1
ขณะเดียวกัน มีการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ กฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ มีการจัดทำกฎหมายการลงทุนต่างประเทศ เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับมา
ซูฮาร์โต ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอินโดนิเซีย
อีกทั้ง ในช่วงดังกล่าว ราคาน้ำมันโลกยังพุ่งขึ้นสูง ซึ่งเป็นผลดีสำหรับประเทศผลิตน้ำมันอย่างอินโดนีเซียอย่างมาก โดยรัฐบาลของซูฮาร์โตก็ได้ใช้โอกาสดังกล่าวในการนำรายได้จากการขายน้ำมันมาใช้ลงทุนภาครัฐ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานที่สำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย
ในช่วงประธานาธิบดีซูฮาร์โต เศรษฐกิจอินโดนีเซียเจริญเติบโตได้เฉลี่ยถึงราวๆ 7% ต่อปี จนทำให้อินโดนีเซียได้รับกล่าวถึงโดยธนาคารโลกไปควบคู่กับมาเลเซียและไทยในฐานะประเทศอุตสาหกรรมใหม่หรือ NICs
2
แต่สมัยของซูการ์โนก็สิ้นสุดลง เมื่อเกิดวิกฤติการณ์การเงินเอเชียขึ้นในปี 1997 (หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ วิกฤติต้มยำกุ้ง) ซึ่งได้เปิดเผยให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจอินโดนีเซียไว้อย่างมาก ทั้งการทุจริตคอรัปชันของภาครัฐ กฎเกณฑ์ที่หละหลวมเกินไปของภาคการเงิน ตลอดจนถึงการกู้ยืมหนี้ต่างชาติที่เยอะเกินไป
วิกฤติในครั้งนั้น ทำให้อินโดนีเซียต้องปฏิรูปตัวเองอย่างขนานหนัก ทั้งการปรับโครงสร้างด้านการคลัง เน้นย้ำไปที่การรักษาวินัยทางการคลังมากยิ่งขึ้น การจัดทำกรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายชัดเจน โปร่งใส รวมทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตที่ยังฝังรากลึกอีกด้วย
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 5% พร้อมกับศักยภาพที่ยังก้าวไปได้อีกไกล เป็นทั้งตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 270 ล้านคน ซึ่งนับว่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมากเป็นอันดับสี่ของโลก ซึ่งหมายถึงกำลังซื้อจำนวนมหาศาลที่ธุรกิจต่างๆ ไม่อาจมองข้ามไปได้
4
ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียก็เป็นประเทศชั้นนำของธุรกิจแห่งอนาคตอย่างพวกเหล่าบริษัทเทคโนโลยีอีกด้วย เป็นบ้านที่น่าอยู่สำหรับบริษัทแห่งอนาคตเหล่านี้ มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และเป็นที่ให้กำเนิดสตาร์ทอัพยูนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) จำนวนมากที่สุดในภูมิภาค
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่าน อินโดนีเซียก็ไม่รอช้า ได้ออกกฎหมายสารพัน (Omnibus Law) ซึ่งเป็นการแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจเกือบร้อยฉบับในครั้งเดียว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเตรียมพร้อมให้ก้าวสู่โลกใหม่ในยุคหลังโควิดได้อย่างสมบูรณ์ เรียกได้ว่าทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
5
#ประวัติศาสตร์อินโดนิเซีย #เศรษฐกิจอินโดนิเซีย #อินโดนิเซีย
#Bnomics #All_about_History #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
https://jurnal.ugm.ac.id/jieb/article/view/39915
https://en.wikipedia.org/wiki/Economic_history_of_Indonesia
https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/00074918.2019.1592280?journalCode=cbie20
https://www.britannica.com/place/Indonesia/Indonesia-from-the-coup-to-the-end-of-the-New-Order
https://www.indonesia-investments.com/culture/economy/new-order-miracle/item247
https://eh.net/encyclopedia/the-economic-history-of-indonesia/
https://mainichi.jp/english/articles/20210921/p2a/00m/0op/018000c#:~:text=In%20other%20words%2C%20Indonesia%20is,middle%20power%20in%20Southeast%20Asia
.
https://greenhouse.co/blog/omnibus-law-indonesia/
https://tradingeconomics.com/indonesia/gdp-growth-annual#:~:text=GDP%20Annual%20Growth%20Rate%20in,the%20second%20quarter%20of%202020
.
https://histclo.com/country/other/indo/hist/ih-eur.html
https://www.autographauctions.eu/230416-lot-576-SUHARTO-1921-2008-President-of-Indonesia-1967-98-Vintage-signed-7-x-9-5-photograph-by-Suharto-t?auction_id=96&view=lot_detail
76 บันทึก
42
2
58
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
All About History
76
42
2
58
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย