23 ต.ค. 2021 เวลา 11:55
ปิยะ แสงน้อยอ่อน หรือ บังเปีย นักสังคมสงเคราะห์มุสลิม ตำนานคนช่วยคนแห่งถนนตก
หลายวันที่ผ่านมา ได้เห็นภาพข่าว พี่น้องมุสลิมผู้มีจิตใจเกื้อกูล เดินทางไปช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมที่ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดต่าง ๆ
ปีนี้ น้ำท่วมในชุมชนมุสลิมหลายจังหวัด คือ อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี
ทุกครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วม มีชีวิตที่ยากลำบากขึ้น ชีวิตดูจะติดขัดไปหมด
ทำอาหารรับประทานแต่ละครั้ง ดูทุลักทุเล ไม่สะดวก
ผู้สูงอายุนั้น ปกติก็ลำบากอยู่แล้ว นั่งก็โอย นอนก็โอย ลุกก็โอย
เมื่อน้ำท่วมมา จึงโอยหนักเป็นทวีคูณ โดยเฉพาะตอนเข้าห้องน้ำ ห้องท่า
สัตว์ร้ายมีพิษ งูเงี้ยวเขี้ยวขอ ต่างร่วมมหกรรมหนีน้ำ
จึงมักมากับน้ำท่วมเป็นแขกไม่ได้รับเชิญ เจ้าบ้านต้องคอยระมัดระวังทุกกระเบียดนิ้ว
ส่วนมาก ผู้ประสบภัยน้ำท่วมมักไม่ค่อยบอกใครว่าเดือดร้อน ทั้งที่ใครเห็นก็ต้องบอกว่า เดือดร้อน
พวกเขาต่างอดทนกันตามที่อัลลอฮ์ทรงตักดีรกำหนด
ทั้งที่พวกเขาสมควรได้รับความเห็นใจ สมควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
" อัลลอฮ์ทรงช่วยเหลือบ่าวของพระองค์ ตราบที่บ่าวผู้นั้นช่วยเหลือพี่น้องของเขา "
คือคำสอนของอิสลามที่ตราตรึง และเป็นแรงบันดาลใจ
อัลฮัมดุลิลละห์
มีนักสังคมสงเคราะห์มุสลิมส่วนหนึ่งในสังคมเมืองไทย ได้เข้าใจหัวอกของผู้ประสบภัยน้ำท่วม ได้พยายามช่วยเหลือพี่น้องของเรา
ต้องขอชมเชยด้วยใจจริงว่า
มุสลิมที่ทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ มีจิตใจเอื้อเฟื้อ อดทน และเสียสละอย่างมาก
งานอย่างนี้ ไม่ใช่งานเบาเหมือนแบกถุงนุ่น หรือแบกกระสอบฝ้าย
เป็นงานที่เหนื่อยแน่นอน เพียงแต่ว่า จะเหนื่อยน้อย เหนื่อยมาก จนถึงเหนื่อยที่สุด
ต้องคนที่หัวใจเข้มแข็งที่จะทำงานอย่างนี้ได้
อย่างไรก็ตาม เป็นความโปรดปรานที่อัลลอฮ์ให้
พระองค์ทรงให้มีนักสังคมสงเคราะห์มุสลิมผู้บริสุทธิ์ใจ ได้ทำงานนี้ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่บ่น และไม่ท้อ
บางคนได้ตั้งปณิธานกันขนาดที่ว่า
วันที่ผืนแผ่นดินกลบหน้าเมื่อไร วันนั้นคือวันที่หมดหน้าที่ เลิกทำงานสังคมสงเคราะห์
คุณสมบัตินักสังคมสงเคราะห์ดังที่กล่าว
ทำให้นึกถึง มุสลิมไทยคนหนึ่งที่ทำงานสังคมสงเคราะห์ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยมาช้านาน
ท่านทำงานไม่เคยมีวันหยุด ไม่มีคำว่าบ่น ไม่มีคำพูดว่าเหนื่อย
จนกระทั่งลมหายใจหมดสลาย เดินทางสู่โลกแห่งสุสาน อาลัม บัรซัค จึงเลิกทำงานไปโดยปริยาย
สุภาพบุรุษผู้มีจิตใจงดงามที่ขอกล่าวถึง มีชื่อว่า " ปิยะ แสงน้อยอ่อน "
หรือ ชื่อที่คนรู้จัก คุ้นเคย เรียกว่า " บังเปีย " หรือ ชื่อที่หลาน ๆ เรียกว่า " แชเปีย "
นิวาสถาน บรรพบุรุษและบ้านเดิมคุณปิยะเป็นคนย่านลำคลอง 15
ลำคลอง 15 ที่สายน้ำลำคลองเชื่อมต่อระหว่าง จังหวัดนครนายก กับ จังหวัดฉะเชิงเทรา
แต่คุณปิยะเติบโตที่เมืองกรุงย่านถนนตก เขตบางคอแหลม ถนนตกที่มีรถประจำทางสาย 1 วิ่งรับผู้โดยสาร
ระหว่างปี พ.ศ.2496 ถึงปี พ.ศ. 2506
มีค่ายมวยมุสลิมที่มีชื่อเสียงดังเปรี้ยงปร้างที่สุดในเมืองกรุง อยู่ 2 ค่าย คือ
1 - ค่ายมวยศรแดง ที่มีมวยเอก อย่างเช่น
อุสมาน ศรแดง
 
สะมะแอ ศรแดง
 
อีเซอร์ ศรแดง
 
และอดุลย์ ศรแดง
ค่ายมวย " ศรแดง " นี้ นักเขียน " ป.อินทรปาลิต " ชื่นชอบมาก มักจะเอาไปเขียนเป็นฉากประกอบในนิยาย " พล นิกร กิมหงวน "
2 - ค่ายมวย ศ.บางคอแหลม ที่มีมวยแนวหน้าอย่างเช่น
ขุนศึกน้อย ศ.บางคอแหลม
สุรัตน์ ศ.บางคอแหลม
และราจู ศ.บางคอแหลม
และค่ายมวยแห่งนี้ คือสถานที่ฝึกปรือความอดทนให้แก่คุณปิยะ
คุณปิยะมีอดีตเป็นนักมวยในค่ายนี้ เพื่อนนักมวยที่สนิทคือ
ราจู ศ.บางคอแหลม
คุณปิยะขึ้นสังเวียนผ้าใบเป็นบางครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จบนเวทีมวย
อัลลอฮ์ทรงประทานสิ่งที่ดีกว่าการชกมวย
อัลลอฮ์ทรงให้ชีวิตคุณปิยะในค่ายมวยประหนึ่งสนามฝึกซ้อม สถานที่เสริมทักษะความอดทนก่อนที่คุณปิยะจะเติบใหญ่เพื่อรับใช้สังคมมุสลิม
ความจริงแล้ว เล่ากันว่า คุณปิยะมีจิตใจช่วยเหลือผู้อื่นมาตั้งแต่วัยเยาว์
คุณปิยะ มีเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่รุ่นราวใกล้เคียงกันชื่อ
" สง่า วิไลวรรณ " ที่เป็นคนย่านบางคอแหลม
คุณสง่า วิไลวรรณ เป็นอดีตข้าราชการทหารอากาศ รุ่นเดียวกับ มิตร ชัยบัญชา
คุณสง่า ใช้ชีวิตบั้นปลายที่ คลอง 13 เขตหนองจอก
คุณสง่า มักจะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับคุณปิยะ และความเสียสละของคุณปิยะให้ฟังเสมอ
โดยเฉพาะเรื่องในวัยเด็ก และชีวิตในค่ายมวย ศ.บางคอแหลม
คุณปิยะไม่ใช่โต๊ะครู ไม่ใช่ผู้รู้ศาสนา ไม่ได้เรียนศาสนามากมาย
แค่เรียนศาสนาขั้นพื้นฐาน
แม้นจะไม่ได้เรียนศาสนามากมาย
แต่สิ่งที่คุณปิยะมีคุณสมบัติที่ดีอย่างหนึ่งคือ เข้าหาผู้รู้ ชอบฟังผู้รู้พูดเรื่องศาสนา ชอบคิตมัต หรือ รับใช้ผู้รู้ทางศาสนา
กล่าวคือ คุณปิยะ รักคนมีความรู้ศาสนา
โบราณว่า " คบคนดีเป็นศรีแก่ตัว " เมื่อคุณปิยะชอบคบอุละมาและคนดี แน่นอนว่าความดีย่อมบังเกิดผล
คุณปิยะจึงซึมซับความดี และความดีดังกล่าวได้แปลงมาเป็นจิตใจ ที่รักในงานสังคมสงเคราะห์
จึงไม่น่าแปลกใจ โต๊ะครูมีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อย จึงรู้จักคุณปิยะอย่างดียิ่ง และต่างชื่นชม เช่น
อัลมัรฮูม อาจารย์อิสมาแอล วิสุทธิปรานี
อาจารย์มุสตอฟา อยู่เป็นสุข
อัลมัรฮูม อาจารย์ยะห์ยา โต๊ะมางี
อาจารย์อาบิดีน ฮัดซัน
อาจารย์ มูรีด ทิมะเสน
อาจารย์อุซามะฮ์ เซ็นติยานนท์
และอาจารย์อีกจำนวนมาก
คุณปิยะมีความตั้งใจสูงมาก ในการรับใช้สังคม เป็นคนพูดไม่เยอะ ชอบยิ้มและเงียบ
แต่เรียกง่าย ใช้คล่อง ไม่มีหน้าตาบูดเบี้ยวเวลาออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ความรักในงานช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมของคุณปิยะ มากล้นและมุ่งมั่น
จึงได้เสนอตัวเข้าร่วมงานกับองค์กรการกุศลแห่งหนึ่ง ชื่อ
" ชมรมมุสลิมสงเคราะห์ผู้ประสบภัย "
ต่อมา เหล่ามวลสมาชิกชมรม เห็นความตั้งใจ และทำงานจริงจังของคุณปิยะ
สมาชิกจึงเทใจมอบตำแหน่งประธานชมรมให้ท่าน
คุณปิยะเป็นนักทำงานที่กระฉับกระเฉง
เรามักจะเห็นท่านในนาม " ชมรมมุสลิมสงเคราะห์ผู้ประสบภัย " ไปถึงก่อนเพื่อน หรือไปถึงก่อนองค์กรอื่น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น
เหตุการณ์ไฟไหม้ที่ ชุมชนมัสญิดดารุ้ลอาบดีน ถนนจันทน์
และเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ชุมชนใกล้มัสญิดสวนพลู เขตธนบุรี
คุณปิยะเสียชีวิตไปแล้วราว 10 ปี
แต่ชื่อของคุณปิยะยังถูกหยิบยกมากล่าวถึงเสมอในหมู่พี่น้องมุสลิมยามประสบภัย เวลาเกิดเหตุการณ์ร้ายต่าง ๆ เช่น
ไฟใหม้ น้ำท่วม อากาศหนาวเย็น คนเสียชีวิตต่างถิ่น และอีกจิปาถะเหตุการณ์
ภารกิจที่คุณปิยะทุ่มเท ได้กลายเป็นมรดกล้ำค่าที่คนรุ่นหลังควรเอาเป็นตัวอย่าง
ขออัลลอฮ์ทรงตอบแทน ทรงเพิ่มพูนน้ำหนักความดีบนตาชั่งในวันกิยามัติ วันแห่งการฟื้นคืนชีพ ให้แก่คุณปิยะด้วยเถิด
" ปิยะ แสงน้อยอ่อน " ตำนานคนช่วยคนแห่งถนนตก จึงเป็นบุคคลที่สมควรบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของมุสลิมไทย
โฆษณา