24 ต.ค. 2021 เวลา 14:33 • ธุรกิจ
dtac เป็นมากกว่า ผู้ให้บริการมือถือ เร่งเครื่องขยายบริการดิจิทัล เพิ่มฐานผู้ใช้งาน
การเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งประจวบเหมาะกับวิกฤติสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 กลายเป็นแรงผลักดันให้บรรดาธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องเร่งเครื่องปรับทิศทางและกลยุทธ์ขององค์กรขนานใหญ่เพื่อให้สอดคล้องและสอดรับกับพฤติกรรมของคนในสังคมยุคดิจิทัล อันเป็นกุญแจสำคัญที่จะพลิกฟื้นให้บริษัทสามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ในอนาคต
ดีแทค ผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือชั้นนำของไทย ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่เร่งเครื่องด้วยการประกาศขยายบริการจากเดิมที่เป็นเพียงผู้ให้บริการโทรคมนาคมไปสู่ผู้ให้บริการดิจิทัล เมื่อเล็งเห็นแล้วว่ามีผู้ใช้งานดิจทัลเซอร์วิสเพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเดินหน้าต่อยอดบริการ “ดีแทค ดีทั่วดีถึง” เพื่อสร้างความเสมอภาคเท่าเทียม ส่งมอบบริการที่ “ทุกคน” ต้องได้ใช้
ปานเทพย์ นิลสินธพ ผู้อำนวยการอาวุโสผลิตภัณฑ์ดิจิทัล บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ คือ ต้องการให้เห็นความตั้งใจของดีแทคที่จะเป็นและไปให้ได้มากกว่าการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม
“เรามีความคิด เรามีการพัฒนา แล้วยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในการที่ให้บริการมากกว่าโทรคมนาคม แล้วเราไปในโมเดลที่เราคิดว่าสามารถที่จะสร้างความคล่องตัว ความยืดหยุ่นในการทดลอง เรียนรู้ เติบโตได้ ไปร่วมกับพาร์ทเนอร์ของเรา ซึ่งเรามองว่าเป็นจุดที่สำคัญ” ปานเทพย์ กล่าว
ด้าน ฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด ดีแทค กล่าวเสริมว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับดีแทคในเวลานี้คือ การที่บริษัทไม่หยุดที่จะพัฒนา และออกก้าวเดินอยู่เสมอ ซึ่งที่ผ่านมาดีแทคตระหนักถึงประโยชน์ของการเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัล (digitalization) เป็นอย่างดี
“ดีแทคเริ่มจากการปรับปรุงระบบการทำงานให้เป็นดิจิทัลเป็นหลักทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่า ดีแทคจะสามารถยืนอยู่แนวหน้าของธุรกิจ ขณะเดียวกัน ดีแทคไม่มีทางหยุด (ปรับเปลี่ยน) แม้กระทั่ง ในตอนนี้เราก็ยังพยายามก้าวไปทุกทิศทางในโลกดิจิทัล” ฮาว ริเร็น กล่าว
ทั้งนี้ ฮาว ริ เร็น กล่าวอีกว่า 3 โฟกัสหลักในการเร่งเครื่อง (fast forward) ธุรกิจของดีแทค คือ 1) Digitize the core หรือการเปลี่ยนธุรกิจหลักให้กลายเป็นดิจิทัล ทั้งช่องทางการขายในและต่างประเทศ 2) dtac App คือ การเป็นทุกอย่างให้กับผู้ใช้งาน ที่บริษัทสร้างความสัมพันธ์ตั้งแต่ต้นจนจบกับลูกค้าอยู่บนรูปแบบของดิจิทัล และสุดท้าย 3) dtac ต้องการให้บริการมากกว่าสิ่งที่เป็นโทรคมนาคมทั่วไป (Go beyond connectivity)
“เราคิดไปไกลเกินกว่าการเชื่อมโยงผู้คนเข้าไว้ด้วยกันแล้ว มันต้องเป็นมากกว่านั้น ผ่านรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันไป เพื่อที่เราจะไปได้เร็วขึ้น โตมากขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้ดีขึ้น” ฮาว ริเร็น กล่าว
สำหรับการเป็นมากกว่าผู้ให้บริการโทรคมนาคม รองซีอีโอกลุ่มการตลาดของดีแทค. กล่าวว่า ยังครอบคลุมถึงการที่ดีแทคจะทำงานร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อช่วยให้บริการของดีแทคสามารถเข้าถึงทุกคนได้มากขึ้น
ในส่วนของการฟื้นตัวของไทยจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ฮาว ริเร็น คาดว่า เศรษฐกิจของไทยน่าจะเป็นไปในทิศทางบวกในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ หลังจากที่มีการกระจายการฉีดวัคซีนมากขึ้น และเริ่มมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ จนทำให้ธุรกิจต่าง ๆ กลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง ขณะที่ผู้คนก็ออกมาใช้ชีวิตตามปกติ ทำกิจกรรมและรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น
“การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย และจากโควิด เป็นสิ่งที่ดีกับไทยและคนไทยอยู่แล้ว สถานการณ์กำลังคลี่คลายไปในทางที่ดี และไปในทางที่ควรจะเป็น เราอาจจะแสดงความเห็นมากไม่ได้ในเรื่องของสถานการณ์โดยรวมในไตรมาสที่ 4 แต่ดีแทคมองในแง่บวก และในเวลาที่สถานการณ์มันดีขึ้น ก็จะไปตามกระแสนั้นเช่นกัน” ฮาว ริเร็น กล่าว
สำหรับแนวคิดครอบคลุมทั่วถึง (inclusive) ฮาว ริ เร็น ระบุว่า ดีแทคมีการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้ลูกค้าได้เข้าถึงช่องทางหรือการใช้งานดิจิทัลอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน เห็นได้จากตัวโปรแกรม net for living ที่มีทั้งการกระตุ้นและช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก และผู้ประกอบการที่ยังไม่คุ้นเคยกับการใช้งานดิจิทัล
ฮาว ริ เร็น ย้ำชัดว่า สิ่งสำคัญของคำว่าทั่วถึงของดีแทค เปรียบได้กับการติดอาวุธให้ผู้ประกอบการสามารถใช้งานดิจิทัลได้ด้วยตนเองเป็น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของตนสูงสุด ขณะเดียวกัน ความครอบคลุมที่ว่านี้ยังเปิดโอกาสทางธุรกิจของดีแทค เพราะการติดอาวุธก็เป็นเสมือนการเพิ่มพลังทางสังคม (empowering society)
“นั่นคือเหตุผลที่ดีแทคเป็นดีแทค เป็นเหตุผลที่เราเกิดขึ้นมา เรามองว่าการที่เราสร้างสังคมให้พัฒนาได้ หรือติดอาวุธให้เขาสามารถโตได้ จะช่วยธุรกิจโดยรวม และถ้าธุรกิจโดยรวมดี ดีแทคก็ดี เพราะฉะนั้น มันเป็น 3 ส่วนที่เชื่อมโยงกัน ทั้งสังคม ทั้งพาร์ทของธุรกิจอุตสาหกรรม และทั้งในส่วนของดีแทคเอง เรามองในมุมกว้าง ว่า โอกาสทางธุรกิจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมและธุรกิจโดยรวมสามารถจะเติบโตต่อไปได้นะครับ และสิ่งที่อยากให้เข้าใจตรงกันก็คือ คำว่าครอบคลุมทั่วถึงตามแนวคิดของดีแทค ไม่ได้มุ่งเฉพาะเจาะจงไปที่การเปลี่ยนเป็นดิจิทัลของดีแทคและพันธมิตรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่หมายรวมถึง การครอบคลุมในทุกแง่มุมของสังคม” ฮาว ริเร็น กล่าว
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงเป้าหมายสูงสุด (end target) ของการเร่งเครื่องดีแทคในขณะนี้ ฮาว ริ เร็น เปิดเผยว่า ประกอบด้วย 2 ประเด็นหลัก ๆ ด้วยกัน ประการแรก คือ การเพิ่มจำนวนลูกค้าใช้งานดิจิทัลเซอร์วิสให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 6 ล้านคน
ขณะที่ประการที่สอง คือ การก้าวเข้าสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ด้วยการสร้างสรรค์ประสบการณ์แบบอี-คอมเมิร์ซบนช่องทางของดีแทค ซึ่งผสานทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ (omni e-commerce) ที่ทำให้ผู้ใช้งานเข้าถึงและค้นหาบริการผลิตภัณฑ์ของดีแทค สามารถซื้อขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ หรือกระทั่งดำเนินการธุรกรรมผ่านช่องทางออฟไลน์
“ทำอย่างไรให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ราบรื่นที่สุด และใช้ได้ง่ายที่สุด โดยไม่มีรอยต่อติดขัด ทั้งในทางออนไลน์ และออฟไลน์ เราคาดหวังที่จะได้เห็นการเข้ามาใช้งาน โดยมีลูกค้าใหม่เข้ามาใช้งานผ่านช่องทางดิจิทัลมากกว่า 5 เท่า” ฮาว ริเร็น กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่เกี่ยวกับการใช้งานดิจิทัล ฮาว ริ เร็น กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีให้กับลูกค้า หรือที่เรียกว่า engagement ซึ่งไม่ใช่แค่การมีส่วนร่วมเฉพาะเพียงแค่ดีแทคเท่านั้น แต่ต้องอยู่ในทุก ๆ ส่วนที่มองเห็น เพราะฮาว ริ เร็น เชื่อมั่นว่า ยิ่งดีแทคสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้มากเท่าไรและดีเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ลูกค้าอยู่กับดีแทคได้นานมากขึ้นและใช้งานดีแทคได้มาก
“ถ้าอยู่กับเรานานขึ้น ใช้งานกับเรามากขึ้น จะสร้างมูลค่าให้กับทั้งตัวลูกค้าเอง ตัวดีแทคและตัวผู้ถือหุ้นของเราได้อย่างยั่งยืน” ฮาว ริเร็น กล่าว
ขณะเดียวกัน ในส่วนที่อยากจะเสริมต่อจากการเร่งกระบวนการเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล (digitalization) คือ การทำให้ ดีแทคไปให้มากกว่าการให้บริการโทรคมนาคม (beyond connectivity) ดีแทคและบริษัทแม่อย่าง Telenor ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะโตในบริการที่เป็นมากกว่าโทรคมนาคมหลายเท่า
“แต่ว่าเราไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุก ๆ ทาง … ทุก ๆ สิ่งที่เขาอยากได้ ดังนั้น เราจึงมองในพื้นที่ที่มีการเติบโตสูง อยู่ในกระแส หรือพื้นที่ที่มีโอกาสในการเติบโต หรือพื้นที่ที่ลูกค้ายังไม่ได้เข้า ยังไม่ได้มีบริการที่ดีนักในตลาด ซึ่งเราเน้นที่จะมองไปยังพื้นที่เหล่านั้น โดยการทำงานในตลาดคู่ค้าในรูปแบบใหม่ที่จะทำให้เรามีความยืดหยุ่นในการทำงาน แล้วสามารถโตไปด้วยกันได้อย่างรวดเร็ว” ฮาว ริเร็น กล่าว
ทั้งนี้ หากถามถึงอุปสรรค ฮาว ริ เร็น กล่าวว่า ไม่เห็นอุปสรรคในการที่จะเข้าถึงเป้าหมายของดีแทค เพราะในมุมมองของตนลูกค้าคนไทยหรือผู้บริโภคไทยมีความพร้อมอย่างมากในการที่จะเข้าถึงและใช้งานช่องทางดิจิทัลหรือบริการดิจิทัลต่าง ๆ ด้วยตนเองอยู่แล้ว ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับตัวดีแทคเองว่าจะสามารถทำได้ดีแค่ไหนที่จะทำให้ลูกค้าหันมาเลือกดีแทคและใช้งานดีแทคได้อย่างดี
ยิ่งไปกว่านั้น ดีแทคยังคาดหวังอีกว่า เมื่อมีมาตรการเปิดประเทศ ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกจะเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นแน่นอน ดังนั้น ดีแทคในฐานะผู้นำในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวจึงมีโอกาสในการนำเสนอประสบการณ์ดิจิทัลให้แก่ลูกค้าจากต่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ ฮาว ริ เร็น ปิดท้ายว่า ดีแทคยังคงเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาดีขึ้น หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ก่อนแง้มถึงการเปิดตัวบริการใหม่ของ ดีแทค ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ว่า ไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
Instagram:
LINE TODAY: TheStoryThailand
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ
โฆษณา