Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
รู้เรื่องสัตว์ๆ
•
ติดตาม
25 ต.ค. 2021 เวลา 01:08 • การศึกษา
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 4: "ช. ช้าง"🐘
🕛ระยะเวลาการอ่าน 7-9 นาที
สัตว์ที่ซ่อนอยู่ในอักษรภาษาไทยวันนี้เห็นทีจะต้องใช้เสียงฉิ่งช่วยเรียกให้ออกมาปรากฎตัว ดังคำสร้อยที่ว่า “ฉ. ฉิ่งตีดัง ช. ช้าง วิ่งหนี”🐘💨
มาดูกันว่าเจ้าช้างที่ตัวโตขนาดนี้คงจะมีหูที่ดีมากสินะ เพราะแค่เสียงจากฉิ่งอันเล็กๆ ก็ทำให้ใจตกอกตกใจจนต้องวิ่งหนีได้แบบนี้
ช้างนั้น “หูใหญ่” ไม่เบา
หูของช้างมีหน้าที่หลากหลาย เช่นเดียวกับในสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น ใช้ในการฟังเสียง ช่วยในการทรงตัว ช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกาย และการส่งสัญญาณระหว่างกัน
โครงสร้างของใบหูของช้างจะมีแผ่นกระดูกอ่อนเป็นโครง แต่ก็ไม่ได้แผ่ขยายไปจนถึงขอบใบหู และมีโครงข่ายของหลอดเลือดประสานกันอยู่มากมายทั่วทั้งใบหู
ช้างจะเอียงหูไปมาเพื่อหาตำแหน่ง แหล่งที่มาของเสียงและยังใช้เป็นท่าทางส่งสัญญาณเตือนหรือสื่อสารกันกับช้างตัวอื่น ๆ
เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แน่ใจ ไม่ไว้วางใจ ช้างอาจกางหูออก พร้อมกับหันไปทางต้นกำเนิดของเสียง
และเมื่ออารมณ์ไม่ดี ช้างจะกางหูออก เพื่อให้ดูตัวใหญ่ขึ้นเป็นการข่มขวัญ พร้อมกับจ้องเขม็งไปยังเป้าหมาย และอาจจู่โจมได้ทันที
ใบหูของช้างแบบ close up ดูด้านนอกยังซับซ้อนขนาดนี้ ข้างในจะซับซ้อนขนาดไหน ที่มา: https://herd.org.za/the-anatomy-of-an-elephant-the-elephant-ear/
ช้างสามารถสร้างเสียงที่มีคลื่นความถี่ต่ำกว่าที่มนุษย์จะได้ยินได้ โดยอยู่ช่วงระหว่าง 17 - 10,500 เฮิรตซ์ (Hz) ในขณะที่ช่วงความถี่ที่มนุษย์ได้ยินเสียง อยู่ระหว่าง 31- 19,000 Hz ทั้งนี้ เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ช้างไม่สามารถตรวจจับเสียงที่มีความถี่สูงได้
การที่ช้างสามารถได้ยินเสียงที่มีความถี่ต่ำได้ดีนั้นก็เนื่องจากช้างมีรูหูชั้นนอกยาว แก้วหูกว้าง และหูชั้นกลางที่ใหญ่มาก
โดยสันนิษฐานว่าช้างใช้คลื่นความถี่ต่ำนี้เพื่อการสื่อสารกันในระยะทางไกล ๆ และยังสามารถแยกแยะได้ว่านั่นคือเสียงของช้างในฝูงเดียวกันหรือคนละฝูง
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าโครงสร้างบางอย่างในหูของช้างทำให้ช้างมีความสามารถในการตรวจจับแรงสั่นสะเทือนและคลื่นเสียงความถี่ต่ำ (infrasound )จากช้างตัวอื่นได้อีกด้วย
เนื่องจากหูชั้นในส่วนของคอเคลีย (cochlear) ซึ่งเป็นช่องกลวงมีรูปร่างเป็นก้นหอยโข่งอยู่ในกระดูกห้องหูชั้นในของช้างนั้น มีวิวัฒนาการจนมีลักษณะโครงสร้างคล้ายกับของสัตว์เลื้อยคลานทำให้เชื่อว่าช้างมีความไวต่อแรงสั่นสะเทือนเช่นเดียวกับสัตว์เลื้อยคลาน
หูชั้นกลางของช้างก็สามารถได้ยินเสียงความถี่ต่ำ แถมยังมีแก้วหูขนาดใหญ่ที่จะช่วยช่วยลดเสียงรบกวนรอบข้าง รวมทั้งมีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างหูกับส่วนที่ยื่นออกมาจากหัวช่วยให้ช้างสามารถระบุทิศทางและระยะห่างของเสียงได้อย่างดีเยี่ยม
นอกจากนี้คลื่นเสียงของช้างที่เคลื่อนผ่านอากาศกับผ่านพื้นดินมีค่าความไวของเสียง (distance) ต่างกัน โดยช้างจะกระทืบเท้าเพื่อสื่อสาร และเมื่อหูได้ยินเสียงก็จะรับรู้ได้ถึงทิศทาง ระยะทาง และข้อความที่จะสื่อสารเหมือนเป็นภาษาของช้าง
จากการวิจัยพบว่าศูนย์การได้ยินในสมองของช้างจะรับรู้คลื่นเสียงความถี่ต่ำ (infrasound) ที่สั่นสะเทือนของพื้นดินผ่านกระบวนการที่เรียกว่า "การนำเสียงผ่านกระดูก" (Bone conduction) ซึ่งเป็นการนำเสียงไปยังหูชั้นในผ่านกระดูกในกะโหลกศีรษะ ข้อความจากการสั่นสะเทือนนั้นจะส่งผ่านโครงกระดูกของช้างไปยังกระดูกในหูชั้นในโดยตรง โดยไม่ผ่านแก้วหูทั้งหมด
1
ช้างอะไรหูใหญ่ที่สุด
เราสามารถแยกช้างแอฟริกาและช้างเอเชียออกจากกันได้จากขนาดของ ‘ใบหู’
โดยช้างแอฟริกาจะมีใบหูขนาดใหญ่จนคลุมไปถึงหัวไหล่มีความสูงของใบหูเกินกว่าความสูงของคอ ในขณะที่ใบหูของช้างเอเชียมีขนาดเล็กกว่าและมีความสูงของใบหูไม่เกินความสูงของคอ
เปรียบเทียบภาพหน้าตรงหูใครใหญ่กว่ากันระหว่างช้างเอเชีย (ภาพซ้าย) ช้างแอฟริกา (ภาพขวา) https://animalcreativefacts.com/asian-elephant-vs-african-elephant/
หูใหญ่ๆ นี้มีที่มา
หูช้างทำหน้าที่คล้ายระบบทำความเย็น🌬 โดยเมื่อช้างกระพือปีก (หู) ในสภาพอากาศร้อน หลอดเลือดขนาดใหญ่ที่หลังใบหูจะมีส่วนช่วยในการการระบายความร้อนออกไป โดยเฉพาะในช้างแอฟริกาที่มีหูขนาดใหญ่และมีรูปร่างคล้ายทวีปแอฟริกามาก
ช้างแอฟริกาแท้ต้องมีหูรูปทวีปแอฟริกา (ที่มาภาพต้นฉบับ www.freepik.com)
ซึ่งขนาดของใบหูก็สัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณความร้อนที่กระจายผ่านหู โดยการที่ช้างแอฟริกามีใบหูที่ใหญ่กว่าช้างเอเชียนั้นก็สัมพันธ์กับตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของที่อยู่อาศัยของช้างทั้งสอง
เพราะว่าช้างแอฟริกาอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนและแดดจัดกว่าช้างเอเชีย จึงต้องการหูที่ใหญ่กว่าซึ่งจะช่วยให้ควบคุมอุณหภูมิได้ดีกว่า
แม้จะพบว่าช้างแอฟริกาไม่ค่อยกระพือปีก (หู) จนกว่าอุณหภูมิแวดล้อมจะสูงถึง 25 องศาเซลเซียส🌡
กลไลการระบายความร้อนที่สำคัญมาจากการที่ช้างมีใบหูขนาดใหญ่และมีสัดส่วนพื้นที่ผิวต่อปริมาตรค่อนข้างสูง ประกอบกับโครงข่ายของหลอดเลือดดำและแดงที่แผ่ขยายทั่วใบหู
เมื่อกระพือปีก (หู) ใหญ่ ๆ คู่นี้ก็ช่วยให้ช้างรู้สึกเย็นขึ้นได้ เพราะนอกจากจะช่วยพัดและเคลื่อนย้ายอากาศไปทั่วร่างกายส่วนที่เหลือของช้างแล้ว ก็ยังช่วยให้อุณหภูมิของเลือดที่ไหลเวียนผ่านเส้นเลือดในหูเย็นลงและเมื่อเลือดไหลเวียนต่อไปทั่วร่างกาย ก็จะทำให้อุณหภูมิแกนกลางของช้างลดลงได้หลายองศา
นอกจากนี้ ขนาดของใบหูที่แตกต่างยังเพิ่มพื้นที่ผิวเพื่อแผ่ความร้อนได้ต่างกัน โดยเมื่อช้างแอฟริกากระพือปีกจะเพิ่มพื้นผิวเพื่อแผ่ความร้อน ได้ 13-20% ในขณะที่การกระพือปีกของช้างเอเชียเพิ่มพื้นที่ผิวเพื่อแผ่ความร้อนได้เพียง 7-10% เท่านั้น
นอกจากจะสามารถแยกช้างเอเชียและช้างแอฟริกาจากขนาดใบหูแล้ว ช้างทั้งสองชนิดก็มีความแตกต่างของขนาดลำตัวด้วย
ช้างแอฟริกาไม่ใช่แค่หูใหญ่กว่าแต่ขนาดตัวโดยเฉลี่ยก็ใหญ่กว่าช้างเอเชียเช่นกัน
โดยช้างแอฟริกันนั้นมีความสูงจากพื้นถึงหัวไหล่ประมาณ 3-4 เมตร ในขณะที่ช้างเอเชียมีความสูงประมาณ 2-3.5 เมตร
ภาพเปรียบเทียบช้างชนิดต่างๆ แถวบนคือช้างแอฟริกา (2 สกุลย่อย) แถวล่างคือช้างเอเชีย (4 สกุลย่อย) ซึ่งจะเห็นว่าช้างแอฟริกานอกจากจะมีขนาดตัวใหญ่กว่าแล้วขนาดหูก็ใหญ่กว่าช้างเอเชียอย่างเห็นได้ชัด ภาพวาดโดย ภควัต ทวีปวรเดช ที่มา: https://humanelephantvoices.org/elephants-of-the-world
จะเห็นได้ว่าลักษณะหูของช้างเป็นหนึ่งในวิวัฒนาการเพื่อต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศตามถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของช้าง
แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันช้างป่าทั้งช้างแอฟริกาและช้างเอเชียกำลังตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จากปัญหาการล่า และการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย
หากเราสามารถอนุรักษ์ประชากรช้างในธรรมชาติไว้ได้ก็จะช่วยส่งเสริมกลไกการกักเก็บคาร์บอนของระบบนิเวศป่าไม้ เพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
ส่วนหนึ่งเพราะพฤติกรรมการหากินของช้างที่ต้องเดินทางเพื่อหาอาหารในปริมาณมหาศาลต่อวัน นั่นทำให้พื้นที่ป่าที่หนาทึบถูกเปิดออกตามเส้นทางการเดินของช้าง
และนั่นทำให้ต้นไม้เล็ก ๆ สามารถแข่งขันเพื่อเติบโต จนทำให้พืชในวัยอ่อนที่เติบโตเร็วจะมีอัตราการดูดซับคาร์บอนที่สูงกว่าต้นไม้ที่เติบโตเต็มที่แล้ว
ซึ่งนี่นับเป็นบทบาทสำคัญของช้างในระบบนิเวศป่าไม้ที่ช่วยสร้างสมดุลต่อสภาพภูมิอากาศ
ดังนั้นการอนุรักษ์สัตว์ป่า เช่น ช้าง จึงมีส่วนช่วยให้ระบบนิเวศตามธรรมชาติสามารถดำเนินไปได้อย่างสมดุลพร้อม ๆ กับการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อ้างอิง
https://elephantaidinternational.org/elephant-facts/
https://elephantconservation.org/elephants/just-for-kids/
https://humanelephantvoices.org/elephants-of-the-world
http://www.elephantsfund.org/elephant-facts/หูและใบหูของช้าง.html
https://www.sanparks.org/parks/kruger/elephants/about/afri-asian.php
http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/post/หากช้างป่าสู-พันธุ์-จะทำให้-climate-change-ยิ่งแย่งลง-500
https://www.weforum.org/agenda/2019/08/elephants-fight-climate-change/?fbclid=IwAR3rLLSN0-G8Hj3V5YDE-0CGs3Fs0rPAAptzEIDUu-2rfVmIDZVbkCnINwM
วิทยาศาสตร์
สิ่งแวดล้อม
การศึกษา
บันทึก
2
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เรื่องสัตว์ ๆ ที่ซ่อนอยู่ใน 12 อักษรไทย
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย