25 ต.ค. 2021 เวลา 12:18 • ไอที & แก็ดเจ็ต
🙏🏻🙇🏻‍♀️🤗💓✨windasharing...🦋
ทุกคนเห็น "อิโมจิ(Emoji)" ผสมกับตัวอักษร ด้านบน แล้วตีความกันว่ายังไงบ้างค่ะ (ลองตอบในใจก่อนนน้าาา😊)
วินดาสื่อว่า..."สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับสู่เพจ windasharing คร๊าาา" แปลถูกกันไหมค่ะ อิอิ
ขอบคุณรูปจาก Pexels
ต้องยอมรับนะคะว่าเจ้าอิโมจิเนี่ยถือเป็นตัวช่วยในการสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว สื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกโดยไม่ต้องพิมพ์ให้ยืดยาว แล้วก็ไม่ต้องเอียงคอมองเหมือนอย่างอิโมติคอนสมัยก่อนด้วยค่ะ แบบนี้ไง :)
ค.ศ. 1999 "อิโมจิ" ได้ถือกำเนิดขึ้น โดย ชิเกตากะ คูริตะ ผู้มีอาชีพ Interface Designer ของบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์ NTT DoCoMo ในญี่ปุ่น เขาอยู่ในทีมพัฒนาแพล็ตฟอร์มอินเตอร์เน็ตบนมือถือ คิดค้นอิโมจิขึ้นมาเพื่อพัฒนาวิธีการสื่อสารของผู้ใช้มือถือชาวญี่ปุ่นในตอนนั้น
โดยเอาความรู้สึกส่วนตัวมาประกอบว่าข้อความตัวอักษรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้ครบถ้วน
"ตอนนั้นทุกอย่างในมือถือ ถูกแสดงผลเป็นข้อความตัวอักษรทั้งหมด แม้กระทั่งพยากรณ์อากาศยังใช้ข้อความว่า "ดี" ซึ่งผมคิดว่ามันเข้าใจยากเกินไป ถ้าเป็นการพยากรณ์อากาศในทีวีจะมีรูปภาพหรือสัญลักษณ์ต่างๆประกอบอยู่ด้วยเสมอ เช่น รูปพระอาทิตย์ หมายถึง "แดดจัด" แต่ส่วนตัวผมอยากเห็นรูปพระอาทิตย์มากกว่าข้อความที่เขียนว่า "ดี" เสียอีก"
และแล้วอิโมจิในตอนนั้นก็ถือกำเนิดขึ้นมา 176 แบบ และเเต่ละตัวเล็กเพียง 12 x 12 พิกเซล เพื่อให้สามารถแสดงผลบนจอมือถือสมัยนั้นได้
ขอบคุณภาพจาก stories.moma.org
จะว่าไปเรื่องนี้ก็ไม่ได้แปลกอะไรเรื่องการสื่อสารที่เข้าใจได้ เป็นอีกสิ่งนึงของการสื่อสารนอกจากตัวอักษร เพราะคนเราไม่ได้สื่อสารกันด้วยคำพูดหรือตัวอักษรแค่นั้นอยู่แล้ว แต่เรายังมีการสื่อสารกันด้วยโทนเสียง สีหน้า ท่าทาง ประกอบด้วยอยู่แล้ว จึงทำให้การสนทนาสมบูรณ์ในแบบที่เข้าใจตรงกัน
Linda Kaye จาก Edge Hill University เจ้าของงานวิจัยเรื่อง Emoji : Insights, Affordances, and Possibilities for Psychological Science กล่าวว่า "ระบบประสาทมีการตอบสนองที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบระหว่างการดูอิโมจิ และการไม่ดูอิโมจิ แสดงว่าอิโมจิเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารที่ไม่ใช่ภาษา (non-verbal communication)"
อิโมจิจึงถือเป็น ตัวแทนบนโลกดิจิตอล ที่แสดงสีหน้าและอารมณ์ของเรา ซึ่งจะช่วยให้คู่สนทนาตีความสารที่เราต้องการส่งได้อย่างถูกต้อง!!!
แต่ "อิโมจิ" ทำให้เข้าใจการสื่อสารได้ตรงกัน และถูกต้องจริงหรือ???🤔
ในสหรัฐอเมริกามีคดีเกี่ยวกับการตีความอิโมจิมากขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นความยากลำบากในการพิจารณาคดี โดยเฉพาะอิโมจิที่ถูกใช้เป็นหลักฐาน เพราะความกำกวม คลุมเครือ ของอิโมจิ เช่น หากส่งอิโมจิในลักษณะข่มขู่ โดยมี รูปปืน รูปการชี้นิ้ว แล้วตามด้วยสัญลักษณ์ว่าล้อเล่น แต่!!!คนรับสารไม่คิดว่าล้อเล่น ซึ่งจริงๆแล้วคนส่งสารอาจจะล้อเล่นจริงหรือไม่ ก็ดูคลุมเครือ กำกวม เป็นต้น (คงต้องใช้ข้อมูลหลายๆส่วนประกอบกันหากเกิดเป็นคดีขึ้นมา)
จะว่าไปวินดาลองมานึกๆดู เราเองก็มีความ เอ๊ะๆ มึนๆ งงๆ ไม่แน่ใจ กับ อิโมจิที่เราส่ง-รับ เหมือนกันค่ะ
มีครั้งนึงที่จำได้จากหลายๆครั้ง ตอนนั้นวินดาแชทคุยกับเพื่อนเรื่องขนมค่ะ
วินดา : ขนมอร่อยมากกกก😋
เพื่อน : แหมมมม...ไม่แบ่งยังมาเยาะเย้ยอีกนะ
วินดา : ...
คือ อิโมจิ 😋 ที่วินดาส่งให้เพื่อนในความหมายวินดา คือ อร่อยมากจนต้องเลียปาก แต่เพื่อนตีความว่าวินดาไม่แบ่งแล้วยังมาเยาะเย้ยอีก ซะงั้น!!! แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ต่อความยาวกันนะคะ แค่ เอ้า!!! เข้าใจกันไปคนละทาง มันก็ไม่ได้มีอะไรร้ายแรง ไม่ได้ทำให้ทะเลาะกัน แต่ก็เข้าใจได้ว่าเข้าใจไม่ตรงกันค่ะ
แล้วทุกคนหละค่ะ เคยเจอสารจากอิโมจิจนทำให้ 🤦🏻‍♀️ ไหม😉 มาเล่าสู่กันฟังนะคะ🙋🏻‍♀️😬🦋
แล้วพบกันใหม่นะคะ👋🏻
#windasharing
โฆษณา