25 ต.ค. 2021 เวลา 10:29 • ยานยนต์
#EP20 การเลือกแบตเตอรี่ให้เหมาะกับรถของเรา
แบตเตอรี่เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญมากในรถยนต์ปัจจุบันนี้ เนื่องจากรถยนต์รุ่นใหม่ๆ แข่งขันกันใส่อุปกรณืควบคุมเครื่องยนต์ ควบคุมการขับขี่รถ และอุปกรณ์เสริมความปลอดภัยต่างๆ รถยนต์นั้นจะไม่สามารถใช้งานได้เลยถ้าแบตเตอรี่มีกำลังไฟไม่เพียงพอที่จะสตาร์ตเครื่องยนต์ แต่เดิมนั้นเราอาจจะเคยได้ยินแต่เพียงค่าความจุของแบตเตอรี่มีหน่วยเป็น แอมแปร์-ชั่วโมง เช่น 12V 60Ah หมายถึงแบตเตอรี่มีค่าแรงดัน 12 โวลต์ และมีค่าการปล่อยกระแสคงที่ 50 แอมแปร์-ชั่วโมง โดยจะมีการเทียบอัตราส่วนภายใน 20 ชั่วโมง เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ที่มีความจุ 50 แอมป์แปร์-ชั่วโมง ก็จะมีความสามารถในการจ่ายกระแสไฟได้สูงสุด 5 แอมป์แปร์ เป็นเวลานาน 10 ชั่วโมงเป็นต้น ความจุจะมากขึ้นถ้าเป็นแบตเตอรี่รถขนาดใหญ่หรือรถกระบะ เนื่องมาก เครื่องยนต์ใหญ่ขึ้นแรงที่ใช้สตาร์ตต้องมากขึ้นด้วย
ถ้าเราเปรียบเทียบขนาดความจุแบตเตอรี่เหมือนขนาดถังน้ำ ความจุมากถังจะใหญ่ ความจุน้อยถังเล็ก ถ้าเราก๊อกเพื่อเอาน้ำจากถังไปหมุนกังหันวิดน้ำ ซึ่งในที่นี้เปรียบได้กับมอเตอร์สตาร์ตรถนั่นเองครับ ถ้าถังน้ำมีขนาดใหญ่แต่เราใช้ก๊อกน้ำเล็กขนาด ½ นิ้วน้ำจะไหลไม่แรง กังหันน้ำหรือมอเตอร์สตาร์ตก็หมุนเครื่องไม่ไหว แต่ถ้าเราเลือกถังน้ำขนาดเท่ากัน แต่ใช้ก๊อกน้ำโตหน่อยเป็นขนาด ¾ นิ้ว น้ำจะไหลแรงขึ้นหมุนกังหันน้ำหรือมอเตอร์สตาร์ตไหว ขนาดของก๊อกน้ำในที่นี้คือค่า CCA(Cold Cranking Amps)ที่อยู่บนฉลากฝาแบตเตอรี่นั่นเองครับ
แบตเตอรี่รถยนต์ ในบ้านเรานั้นมีหลายยี่ห้อหลายประเภทให้เราได้เลือกใช้งาน ขอจัดแบ่งชนิดแบตเตอรี่หลักๆที่นิยมใช้ในบ้านเรานะครับ
แบตเตอรี่รถยนต์ที่เรากำลังใช้กันอยู่นั้น จะมีด้วยกัน 4 ชนิด คือ
1. แบตเตอรี่รถยนต์แบบน้ำ(Lead Acid)
2. แบตเตอรี่รถยนต์แบบไฮบริด HB(Hybrid)
3. แบตเตอรี่รถยนต์แบบกึ่งแห้ง MF(Maintenance Free)
4. แบตเตอรี่รถยนต์แบบแห้ง SMF(Sealed Maintenance Free)
ซึ่งคุณสมบัติของแบตเตอรี่แต่ละชนิดก็จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป
1. แบตเตอรี่รถยนต์แบบน้ำ (Lead Acid)
สำหรับแบตเตอรี่รถยนต์แบบน้ำ ถือได้ว่าเป็นแบตเตอรี่รถยนต์แบบดั้งเดิม ตั้งแต่ยุคใช้งานแบตเตอรี่ช่วงแรก แบตเตอรี่ชนิดน้ำนั้น ก่อนใช้งานต้องทำการเติมน้ำกรดและทำการชาร์จแบตเตอรี่ก่อนใช้งานประมาณ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย และต้องหมั่นดูแลเติมน้ำกลั่นบ่อยๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แบตเตอรี่ชนิดนี้มีฝาปิด-เปิดสำหรับเติมน้ำกลั่น ส่วนอายุการใช้งานจะอยู่ที่ 1.5-2 ปี แต่ไม่ควรเกิน 2 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพการใช้งานเป็นหลัก และถ้าหากมีการดูแลรักษาแบตเตอรี่สม่ำเสมอก็จะทำให้แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น แบตเตอรี่ชนิดน้ำนี้ปัจจุบันเริ่มมีคนสนใจน้อยลง
1
ข้อดีของแบตเตอรี่แบบน้ำ
• แบตเตอรี่น้ำมีราคาที่ถูกกว่าแบตเตอรี่แห้ง
• แบตเตอรี่น้ำมีความทนทานต้อการรับโหลดทั้งการประจุและการคายประจุ
• อายุการใช้งานของแบตเตอรี่น้ำจะนานกว่าแบตเตอรี่แบบแห้ง
ข้อเสียของแบตเตอรี่แบบน้ำ
• ต้องคอยดูแลระดับน้ำกั่นเป็นอย่างดี
• ต้องคอยเช็คและดูประจุไฟเอง
• ค่าแอมป์และค่า CCA น้อยกว่าแบตเตอรี่แห้ง
2. แบตเตอรี่รถยนต์แบบไฮบริด (Hybrid)
สำหรับแบตเตอรี่รถยนต์แบบไฮบริดนี้ เป็นแบตเตอรี่รถยนต์ลูกผสม ระหว่างแบตเตอรี่กึ่งแห้งและแบตเตอรี่น้ำ สามารถเช็คระดับน้ำได้ง่ายเหมือนแบตเตอรี่รถยนต์แบบน้ำทั่วไป แต่เหนือกว่าแบตเตอรี่น้ำตรงค่าสตาร์ทรถ(ค่า CCA)ที่สูงกว่า และไม่ต้องเติมน้ำกลั่นบ่อยเท่ากับแบตเตอรี่แบบน้ำ คาดว่าในอนาคตข้างหน้าแบตเตอรี่ไฮบริดจะเข้ามาแทนที่แบตเตอรี่แบบน้ำทั้งหมด
ข้อดีของแบตเตอรี่แบบไฮบริด
• ราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริดถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับราคาแบตเตอรี่แห้ง
• สามารถทดแทนแบตเตอรี่น้ำได้
• ดูแลง่ายกว่าแบตเตอรี่แบบน้ำธรรมดา
ข้อเสียของแบตเตอรี่ไฮบริด
• ราคาของแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริด แพงกว่าแบตเตอรี่รถยนต์แบบน้ำ
• ยังต้องเติมน้ำกลั่นแบตเตอรี่อยู่
3. แบตเตอรี่รถยนต์แบบกึ่งแห้ง (MF)
แบตเตอรี่กึ่งแห้ง เป็นแบตเตอรี่ที่คล้ายๆแบตเตอรี่แห้งซึ่งจะต่างกันตรงแบตเตอรี่แห้งนั้นจะไม่มีรูเติมน้ำกลั่นเลย แต่แบตเตอรี่กึ่งแห้งนั้นยังมีรูเติมน้ำกลั่นอยู่และยังคงต้องมีการดูแลรักษาอยู่ และค่า CCA สูงกว่าแบตเตอรี่น้ำ
ข้อดีของแบตเตอรี่กึ่งแห้ง
• แบตเตอรี่กึ่งแห้งมีราคาถูกกว่าแบตเตอรี่แห้ง
• เติมน้ำกลั่นไม่บ่อย การดูแลรักษาง่ายกว่า
• มีความทนทานสูง
ข้อเสียแบตเตอรี่กึ่งแห้ง
• แบตเตอรี่กึ่งแห้งมีราคาที่สูงกว่าแบตเตอรี่น้ำ
• ต้องดูแลรักษาระดับน้ำกลั่นอยู่บ้าง
4. แบตเตอรี่รถยนต์แบบแห้ง (SMF)
แบตเตอรี่รถยนต์แบบแห้งนี้ ไม่ได้แห้งสนิทแต่เป็นคำที่คนทั่วไปชอบเรียก เพราะในแบตเตอรี่รถยนต์แบบแห้งนั้น ยังคงมีของเหลวอยู่ แบตเตอรี่ชนิดนี้นั้นไม่มีช่องให้เติมน้ำกลั่นและไม่มีฝาเปิดปิด แต่สามารถเช็คระดับไฟผ่านตาแมวได้ อายุการใช้งานก็ยาวนาน
ข้อดีของแบตเตอรี่แห้ง
• ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น
• สามารถดูแลรักษาง่ายไม่ยุ่งยาก
• การคายประจุไฟในเวลาที่ไม่ได้ใช้แบตเตอรี่น้อยกว่าแบตเตอรี่น้ำ
• แบตเตอรี่แบบแห้ง มีค่าแอมป์และค่า CCA สูงกว่า
ข้อเสียของแบตเตอรี่แห้ง
• แบตเตอรี่รถยนต์แบบแห้งมีราคาที่สูงกว่าแบตเตอรี่แบบอื่นๆ
• มีระบบปิดที่มีรูระบายทางเดียวและมีขนาดเล็กทำให้มีโอกาสอุดตันได้ง่าย
• ถ้าหากเป็นแบบที่ปิดผนึกซีล หากซีลช่องหายใจหลุดอาจเกิดความเสียหายขึ้นได้
ค่า CCA ในแบตเตอรี่
CCA ย่อมาจาก Cold Cranking Amps
ซึ่งหมายถึงความสามารถในการจ่ายกระแสเพื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ในสภาวะอากาศหนาวหรือความสามารถในการทนทานที่ถูกกระชากไฟในการสตาร์ทต่อครั้ง ซึ่งค่า CCA ยิ่งสูง ยิ่งดี
การวัด ค่า CCA ของแบตเตอรี่คืออะไร?
CCA ย่อมาจาก Cold Cranking Amps ยิ่งค่า CCA สูงเท่าไหร่ก็แสดงว่าแบตเตอรี่มีกำลังสำหรับสตาร์ทแรงเท่านั้น อุณหภูมิที่ใช้เป็นตัวกำหนดมาตรฐานการวัดค่า CCA นั้นแตกต่างกันไปตามแต่มาตรฐาน เช่น ตามมาตรฐานของ IEC คือ -18องศาเซลเซียส เป็นต้น
ค่า CCA นี้มีความจำเป็นสำหรับรถในทวีปยุโรปเพราะในสภาพอากาศหนาวนั้นจะทำให้ค่า CCA น้อยลง เปรียบเทียบกับการใช้มือถือในสภาพอากาศหนาวแบตเตอรี่ของมือถือจะหมดเร็วนั่นเองครับ
สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาในการวัดค่า CCA
ก็คือค่าที่วัดได้นี้จะลดน้อยถอยลงตามสภาพแบตเตอรี่ และสถานะของแบตเตอรี่ เช่น แบตเตอรี่ที่ไฟอ่อนหรือไฟหมดค่า CCA ที่วัดได้จะน้อยลงแต่เมื่อชาร์จไฟเต็มแล้วค่าที่วัดได้จะมากขึ้น ดังนั้นค่า CCA อย่างเดียวจึงไม่อาจระบุได้ว่าแบตเตอรี่เสียหรือไม่
การวัดค่าต่างๆ ในตัวแบตเตอรี่ มีหลายค่าที่ต้องวัด
เพื่อทราบถึงประสิทธิภาพของการทำงานของแบตเตอรี่ นอกเหนือจากการวัดค่าแรงดันไฟ Voltage no-load แล้วค่าอื่นๆ ก็มีความสำคัญเช่นกัน แต่ถ้าจะมาจำเพาะเจาะจงถึงเรื่องกำลังไฟสำหรับการติดหรือการสตาร์ทเครื่องยนต์ สิ่งที่สามารถบอกถึงประสิทธิภาพในเรื่องนี้คือการวัดค่า CCA (Cold Cranking Amps)
ค่า CCA (Cold Cranking Amps)
คือ ค่าที่บอกจำนวนกระแสไฟฟ้า ที่แบตเตอรี่ลูกนั้นๆ สามารถส่งออกมาในระยะเวลา 30วินาที (ที่อุณหภูมิ ประมาณ -18 องศาเซลเซียส) จนกว่าแรงดันไฟของแบตเตอรี่จะตกลงไปที่ 1.2 โวลต์ ต่อเซลล์ หรือต่ำกว่า 7.2 โวลต์ ในกรณีสำหรับแบตเตอรี่ 12 โวลต์ ด้วยเหตุนี้แบตเตอรี่ 12 โวลต์ที่มีค่า CCA 600 บอกเราคือแบตเตอรี่จะปล่อยกระแสไฟ 600 แอมป์ เป็นเวลา 30 วินาที ที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส จนกว่าแรงดันไฟของแบตเตอรี่จะตกลงไปที่ 1.2 โวลต์ต่อเซลล์ หรือ 7.2 โวลต์ต่อลูก
เมื่อค่าที่วัดได้ เปรียบเทียบกับค่าที่ระบุจากแบตเตอรี่และจากผู้ผลิตรถยนต์ไม่ตรงกันอาจก่อปัญหาได้ เช่นถ้าค่าที่วัดได้ต่ำกว่าที่ผู้ผลิตรถยนต์กำหนดให้ใช้ อาจทำให้แบตเตอรี่ไม่มีกำลังพอที่จะสตาร์ทเครื่องยนต์ได้ ซึ่งเหตุการณ์เกิดได้บ่อยกับรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่เป็นเวลานานและไม่มีการตรวจเช็คอย่างถูกต้อง ทำให้ต้องขอพ่วงไฟเพื่อสตาร์ทเครื่องยนต์จากรถยนต์คันอื่นๆ
CCA (Cold Cranking Amps) ค่านี้สำคัญอย่างไร?
ในสภาพอากาศหนาวเย็นปฏิกิริยาเคมีจะช้าลงและแบตเตอรี่ของคุณไม่สามารถส่งพลังงานได้มากเท่าสภาวะอุณหภูมิปกติ ในขณะเดียวกันเครื่องยนต์ที่เย็นก็ต้องการกำลังในการสตาร์ทมากขึ้น สาเหตุหลักมาจากความจริงที่ว่าน้ำมันเครื่องเย็นและหนืดขึ้น กระแสไฟจากแบตเตอรี่(แอมป์)สำหรับหมุนเพลาข้อเหวี่ยงที่เย็นในสภาพอากาศหนาวเย็นจึงมีความต้านทานมากกว่ามาก ค่า CCA จึงเป็นการบอกถึงปริมาณกระแสไฟที่แบตเตอรี่มีมากพอที่จะสตาร์ตเครื่องได้ที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียสนั่นเองครับ
ค่า CCA นี้จะลดลงไปจากการเสื่อมสภาพจากการใช้งานมานานได้ อาจทำให้มีกำลังไฟไม่พอสำหรับการสตาร์ทเครื่องยนต์ ซึ่งค่า CCA นี้จะไม่เท่ากันแตกต่างกันไปตามแต่ขนาดของแบตเตอรี่ และรุ่นที่มีกำลังไฟแอมป์ที่ต่างกัน นอกจากนั้นระหว่างแบตเตอรี่ชนิดเติมน้ำกลั่น(แบตเตอรี่น้ำ)กับแบตเตอรี่พร้อมใช้กึ่งแห้งกึ่งน้ำ(แบตเตอรี่แห้ง) ก็อาจมีค่า CCA ที่ต่างกันได้ เราจึงควรเลือกให้เหมาะกับการใช้งานของเรา
ยกตัวอย่างเช่น
แบตเตอรี่ที่มีกระแสแอมป์เท่ากันคือ 45 แอมป์ ระหว่างแบตเตอรี่แห้งกับแบตเตอรี่น้ำ ค่า CCA ของแบตเตอรี่แห้งจะสูงกว่าคือ 433 ในขณะที่แบตเตอรี่น้ำจะมีค่า CCA นี้คือ 325 และถ้าคุณใช้รถไม่บ่อย ต้องจอดทิ้งไว้นานๆ หรือไปต่างประเทศนานๆบ่อยๆ ก็ควรเลือกแบตเตอรี่ชนิดที่มี CCA สูงกว่าหรือควรเลือกใช้แบตเตอรี่กึ่งแห้งกึ่งน้ำนั้นเอง เพราะสามารถเก็บไฟได้นานกว่าและอยู่อึดทนนานกว่า
ฉะนั้นการเลือกซื้อแบตเตอรี่ควรคำนึงถึงค่า CCA กับราคา เปรียบเทียบกันเป็นหลัก แบตเตอรี่ราคาที่สูงควรมีค่า CCA ที่สูงด้วย การที่มีค่า CCA ตัวนี้ ช่วยให้เราไม่ถูกร้านค้าหลอกเพราะหากใช้เครื่องวัดค่า CCA มันหลอกเราไม่ได้
กรณีที่แบตเตอรี่เสียก่อนอายุอันควร(ช๊อตระหว่างเซลล์) สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาส่วนใหญ่เกิดจากกำลังไฟจากไดชาร์จจ่ายไฟมากเกินไฟ(โอเวอร์ชาร์จ) หรืออุณหภูมิร้อนเกินไป แผ่นธาตุอาจกรอบหรือหักได้ เป็นเหตุให้บางคนใช้แบตเตอรี่ได้ไม่ถึงปี บางคนใช้แบตเตอรี่ได้ปีกว่า บางคน 2-3ปี ขึ้นอยู่กับการใช้งานรถ และความชำนาญในการวิเคราะห์ของช่างด้วย
วิธีการเลือกแบตเตอรี่รถยนต์ให้เหมาะกับรถคุณ
1. เลือกแบตเตอรี่รถยนต์ยี่ห้อที่เชื่อถือได้
เลือกแบตเตอรี่โดยดูจากยี่ห้อที่เชื่อถือได้เท่านั้น โดยในเมืองไทยยี่ห้อที่ได้รับการไว้วางใจจากผู้ใช้ที่สุดมีอยู่ 8 แบรนด์ด้วยกัน : GS Battery, 3K Battery, FB Battery, Boliden, Panasonic Battery, Yuasa Battery, Puma Battery และ Bosch
2. ขนาดของแอมแปร์
ดูขนาด แอมแปร์ ของแบตเตอรี่ให้เหมาะกับประเภทรถของคุณ ให้พอดีหรือมากกว่าแบตเตอรี่ที่ติดมากับรถ (ดูขนาดของแบตเตอรี่ให้ใส่ได้ด้วยนะครับ) เช่น
รถเก๋งธรรมดา ญี่ปุ่น เครื่องขนาด 1,300 C.C. ให้เลือกใช้แบตเตอรี่รถยนต์ ขนาด 45 – 60 แอมป์
รถเก๋งธรรมดา ญี่ปุ่น เครื่องขนาด 1,600 C.C. ให้เลือกใช้แบตเตอรี่รถยนต์ ขนาด 45 – 60 แอมป์
รถเก๋งธรรมดา ญี่ปุ่น เครื่องขนาด 1,800 C.C. ให้เลือกใช้แบตเตอรี่รถยนต์ ขนาด 45 – 60 แอมป์
รถเก๋งธรรมดา ญี่ปุ่น เครื่องขนาด 2,000 C.C. ให้เลือกใช้แบตเตอรี่รถยนต์ ขนาด 60 – 75 แอมป์
รถเก๋งธรรมดา ญี่ปุ่น เครื่องขนาด 2,200 CC ให้เลือกใช้แบตเตอรี่รถยนต์ ขนาด 60 – 75 แอมป์
รถเก๋งธรรมดา ญี่ปุ่น เครื่องขนาด 2,400 CC ให้เลือกใช้แบตเตอรี่รถยนต์ ขนาด 60 – 75 แอมป์
รถเก๋งธรรมดา ญี่ปุ่น เครื่องขนาด 3,000 CC ให้เลือกใช้แบตเตอรี่รถยนต์ ขนาด 60 – 75 แอมป์
รถกระบะ เครื่องขนาด 2,000 CC – 3,000 CC. ให้เลือกใช้แบตเตอรี่รถยนต์ ขนาด 70 – 90 แอมป์
รถเก๋ง ยุโรป เครื่องขนาด 2,000 CC – 3,000 CC ให้เลือกใช้แบตเตอรี่รถยนต์ ขนาด 75 แอมป์ขั้วจม
รถเก๋ง ยุโรป เครื่องขนาด 2,800 CC – 4,000 CC ให้เลือกใช้แบตเตอรี่รถยนต์ ขนาด 100 แอมป์ขั้วจม
*การเลือกแบตเตอรี่รถยนต์ที่มีขนาดแอมมากกว่าจะมีความทนทานมากกว่าแบตเตอรี่รถยนต์ที่มีขนาดแอมป์น้อยกว่า*
สัญญาณเตือนว่าต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่
1. รถสตาร์ทติดยาก เครื่องยนต์หมุนช้าลง
อาการนี้ปกติจะเกิดตอนที่ไม่ได้ใช้รถนานๆเช่น ตอนเช้า จอดรถเข้าห้าง ซึ่งปกติเมื่อเราบิดกุญแจ รถของเราจะสตาร์ทติดทันที แต่ถ้ามีอาการแชะๆ หรือเครื่องหมุนอืดๆ กว่าจะสตาร์ทรถติดได้ นั่นแหละครับ ควรรีบเปลี่ยนแบตเตอรี่ทันที เพราะแบตเตอรี่ของคุณมีกำลังไฟอ่อนเสียแล้ว รวมทั้งการดับเครื่องทันทีแล้วสตาร์ทใหม่ไม่ค่อยติดด้วยแสดงว่าแบตเตอรี่ถึงขั้นวิกฤติแล้ว(อาจเกิดจากค่าของ CCA ในแบตเตอรี่ลดลง)
2. ไฟหน้ารถอ่อน หรือสว่างน้อยลง
อาการนี้จะพบมากตอนกลางคืน เพราะตอนกลางคืนเราต้องเปิดไฟหน้ารถเพื่อส่องสว่าง จึงทำให้เห็นว่าไฟหน้ารถไม่สว่างเท่าเดิม ซึ่งหากเราเช็คดูแล้วว่าไฟหน้าเรายังสะอาดเหมือนเดิมไม่สกปรก ให้คิดไว้ได้ก่อนเลยว่าแบตเตอรี่ของงเรามีปัญหาแล้ว และยิ่งเป็นคนที่ใช้รถยามค่ำคืนเป็นประจำยิ่งต้องรีบเปลี่ยนแบตเตอรี่ทันทีครับ
3. น้ำกลั่นหมดไว น้ำกรดอยู่ในระดับไม่ได้มาตรฐาน
น้ำกรดทำหน้าที่เป็นตัวนำไฟฟ้า หากระดับน้ำกรดน้อยเกินไปการนำไฟฟ้าจะไม่ดี หากแบตเตอรี่ของท่านมีระดับน้ำกรดที่ลดลงเร็ว ทำให้ต้องคอยเติมน้ำกลั่นอยู่บ่อยๆแล้ว นั่นหมายความว่าประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ของท่านไม่เต็มร้อยเสียแล้ว ควรต้องรีบเปลี่ยนแบตเตอรี่ อีกทั้งยังไม่ต้องคอยระวังว่าน้ำกลั่นจะหมดจนทำให้แบตเตอรี่พังกลางถนนจนขับรถต่อไปไม่ได้อีกด้วย ซึ่งแบตเตอรี่ต่างประเภทกันก็ดูแลรักษาน้ำกรดต่างกันอีกด้วย
4. ระบบไฟฟ้าในรถทำงานผิดปกติ
ระบบไฟฟ้าในรถมีมากมายหลายอย่างยิ่งรถรุ่นใหม่ๆแล้วระบบไฟฟ้าจะเยอะแยะไปหมด แต่ที่เป็นหลักๆที่เราจะสังเกตุได้ว่าแบตเตอรี่เราเริ่มหมดไหม ดูได้จากที่ปัดน้ำฝนหมุนช้า ระบบล๊อกประตูอืดๆ กระจกไฟฟ้าขึ้นลงช้ากว่าปกติ วิทยุหรือเครื่องเสียงมีอาการติดๆดับๆ เหล่านี้เป็นอาการที่ทำให้รู้ว่าแบตเตอรี่ของท่านเสื่อมแล้วครับ
5. แบตเตอรี่มีอาการบวมหรือผิดรูป
แบตเตอรี่ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีการทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ หากแบตเตอรี่มีลักษณะที่เปลี่ยนไป เช่น มีน้ำกรดไหลซึมออกมา มีลักษณะที่บวมหรือผิดรูป ลักษณะนี้เป็นลักษณะที่อันตราย ต้องรีบเปลี่ยนแบตเตอรี่ทันที เพราะอาจจะทำให้แบตเตอรี่ระเบิดได้ ไม่ควรใช้ต่อในทุกๆกรณี
6. ตาแมวในแบตเตอรี่เปลี่ยนไป
ตาแมวเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราสังเกตุได้จากแบตเตอรี่ แบตเตอรี่รุ่นใหม่ๆจะใส่ช่องให้เราดูค่าไฟในแบตเตอรี่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าค่าไฟในแบตเตอรี่เต็ม รถจะสตาร์ทติดได้ เพราะมันมีผลของ CCA ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่การที่แบตเตอรี่มีตาแมวก็ช่วยเรื่องไฟว่าตอนนี้ไฟในแบตเตอรี่มีประจุไฟหรือเปล่า ทั้งนี้นอกจากช่วยดูความเสื่อมของแบตเตอรี่แล้ว เรายังวิเคราะห์เรื่องไฟรั่วจากตาแมวได้อีกด้วย
7. แบตเตอรี่หมดอายุ
โดยทั่วไปแบตเตอรี่จะมีอายุ 18-24 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาแบตเตอรี่ และการใช้งานแบตเตอรี่ด้วย แบตเตอรี่ที่ใช้มานานจะมีคราบเกลือเกาะที่แผ่นตะกั่ว ตะกั่วที่ใช้งานมีการกรัดกร่อนจนบาง น้ำกรดเสื่อมสภาพ ทำให้ไฟในแบตเตอรี่เดินได้ไม่เต็มที่ หรือไม่มีไฟในแบตเตอรี่เพราะน้ำกรดเข้มหรือบางเกินไป เราจึงควรเปลี่ยนแบตเตอรี่ของเราทุกๆปีครึ่ง เพื่อให้แบตเตอรี่รถพร้อมสำหรับรถเสมอไม่ไปเสียกลางทาง อีกทั้งยังเป็นการปกป้องไดชาร์จ ไดสตาร์ท ให้รถอีกด้วยครับ
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเพจนะครับ ฝากกด Like กด Share กด Follow ให้ด้วยนะครับ เพื่อเป็นกำลังใจในการสรรหาข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอต่อไปครับ
มีคำเสนอแนะหรือคำถามสามารถ คอมเม้นด้านล่างมาพูดคุยได้ครับ
โฆษณา