25 ต.ค. 2021 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
‘เจาะเทรนด์โลก 2022’
ทุกธุรกิจต้องรู้! ลูกค้าแต่ละ Generation ต้องการอะไร
2
ในโลกของการทำธุรกิจ หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือเราต้องรู้ว่า “ลูกค้า” ของเราคือใคร ยิ่งเข้าใจชีวิต ไลฟ์สไตล์ และความต้องการของลูกค้าดีเท่าไร ยิ่งช่วยให้แบรนด์ได้เปรียบในการทำธุรกิจมากขึ้น
แต่ถ้าลูกค้าเรามีหลากหลายไปหมด เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพวกเขาต้องการอะไรบ้าง?
การศึกษาผู้บริโภคจาก Generation (เช่น เบบี้บูมเมอร์ เจน X และเจน Z เป็นต้น) จะช่วยให้เราเข้าใจได้ดีกว่าเดิมว่าลูกค้ามีความสนใจแบบไหนและต้องการอะไร แม้จะมาจากหลากหลายท้องถิ่น แต่ถ้าเกิดในช่วงวัยเดียวกัน อย่างน้อยก็ต้องมีความเหมือนกันบางอย่างที่ช่วยให้แบรนด์กำหนดทิศทางได้
2
ในรายงาน ‘เจาะเทรนด์โลก 2022’ โดย TCDC ได้มีการสรุปสถิติและการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจของคนแต่ละเจเนอเรชันไว้ดังนี้ เรามาดูกันดีกว่าว่าตั้งแต่รุ่นเบบี้บูมเมอร์​ ไปจนถึงเจนอัลฟามีความแตกต่างอะไรบ้าง
1) เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) หรือคนที่เกิดในปี 1946-1964
การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับคนทุกวัย แต่อาจจะมากเป็นพิเศษสำหรับคนสูงวัย ผลวิจัยจากบริษัท Morning Consult พบว่ากว่า 60% ของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ “รับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง” และ “ท่องเที่ยวน้อยลง” กว่าเจเนอเรชันอื่นๆ เพราะความกังวลเรื่องสุขภาพ อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้ยังให้ความสนใจกับเรื่องเดิมๆ เช่นการรักษาสุขภาพ การใช้เวลาอยู่กับคนในครอบครัว และการใช้เวลาอยู่บ้าน
2
การสำรวจของ NRF พบว่าคนวัยนี้กว่า 47% ใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น เพื่อลดความโดดเดี่ยวและเพื่อติดต่อกับครอบครัว โดยมีสถิติการใช้เฟซบุ๊กสูงถึง 75% และการใช้อินสตาแกรมก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
ในอดีตเราอาจคิดกันว่า ไม่จำเป็นต้องทำการตลาดออนไลน์ก็ได้ หากลูกค้าของเราคือกลุ่มคนอายุเยอะ เพราะพวกเขาใช้อินเทอร์เน็ตไม่เก่ง แต่ปัจจุบันการทำการตลาดออนไลน์กับคนวัยนี้เป็นที่พูดถึงกันมากขึ้น เพราะคนสูงวัยเหล่านี้ท่องอินเทอร์เน็ตเก่งขึ้น ตามกระแสได้เร็วกว่าเดิม อายุยืนยาวขึ้น แถมมีกำลังซื้ออีกด้วย!
เพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์ มนุษย์เราจึงมีชีวิตยืนยาวกว่าในอดีต ส่งผลให้ “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นทั่วทุกมุมโลก ที่สำคัญคนเหล่านี้ยังเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อมาก ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ถือครองทรัพย์สินมากกว่า 70% จากทั้งหมดของประชากร นอกจากนั้น ในรายงานของ VISA ในทศวรรษที่ผ่านมายังพบว่า คนสูงอายุซื้อของออนไลน์มากขึ้น และใช้จ่ายเยอะไม่แพ้คนวัยอื่นๆ แถมยังเกษียณช้าลง
ในต่างประเทศจึงเริ่มมีเทรนด์การสร้างแอปพลิเคชันเพื่อคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เช่น แบรนด์สตาร์ตอัปในไมอามีที่ชื่อ “Papa” จัดทำขึ้นเพื่อให้บริการจับคู่ระหว่างผู้สูงอายุกับเพื่อนรุ่นหลาน เพื่อเป็นเพื่อนช่วยเหลือกันในสถานการณ์ต่างๆ เช่น การซื้อของ หรือการไปโรงพยาบาล บางแอปพลิเคชันก็หันมาเพิ่มฟังก์ชันที่อำนวยความสะดวกให้คนวัยนี้เช่นกัน เช่น แอปฯ ส่งอาหาร DoorDash ที่มีบริการส่งฟรีแบบไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อผู้สูงอายุ
2) เจเนอเรชันเอกซ์ (Gen X) หรือคนที่เกิดในปี 1965-1980
รายงานของ TCDC ระบุว่าชาวเจเนอเรชันเอกซ์สนใจเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่าย ดังนั้นหากธุรกิจคุณมี “ของสมนาคุณ” หรือ “บัตรสะสมแต้ม” จะถูกใจคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษเพราะพวกเขาชอบความคุ้มค่า
2
ในสถานการณ์โรคระบาด คนวัยนี้มีความกังวลสูงกว่าคนวัยอื่น เพราะต้องกังวลทั้งสุขภาพตัวเอง สุขภาพของพ่อแม่วัยเบบี้บูมเมอร์ และของลูกเล็กจากเจเนอเรชันซี ไหนจะเรื่องการงานของตัวเอง ค่าใช้จ่าย และความสัมพันธ์อีก รายงานของ KPMG รายงานว่า 75% ของคนรุ่นนี้กังวลเรื่องความสำเร็จของลูก 42% เครียดเรื่องงาน และอีก 40% เหนื่อยล้ากับการพัฒนาตนเอง
แม้จะชอบซื้อสินค้าราคาพิเศษและดีลดีๆ เป็นนิสัย แต่ชาวเจนนี้ก็มีการซื้อของให้ตัวเองตามอำเภอใจหรือที่เราเรียกกันว่า “Retail Therapy” เช่นกัน รายงานจาก Digital Meida Solutions พบว่าเจนเอกซ์ใช้จ่ายไปกับการช็อปมากที่สุดในช่วงโควิดและหลังสถานการณ์คลี่คลาย มีจำนวนไม่น้อยที่เลือกตัวเลือก “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” ด้วย (Buy Now Pay Later) เท่านั้นยังไม่พอ ผลการศึกษายังพบอีกว่าคนเจนเอกซ์มี Brand Loyalty สูงกว่าเจนอื่นๆ ด้วย เรียกได้ว่าถ้าแบรนด์ไหนถูกใจแล้วคงไม่มีเปลี่ยนใจไปอุดหนุนแบรนด์อื่นง่ายๆ
2
ช่องทางที่คนวัยนี้นิยมใช้คือ Facebook และ Youtube (81% และ 71%) ส่วนผลิตภัณฑ์ที่สนใจคือ “อาหารเสริม” รายงานจาก International Foundation of Integrated Care พบว่าคนเจเนอเรชันนี้ที่อายุ 45 ปีขึ้นไป สนใจอาหารเสริมอย่างมากโดยเฉพาะวิตามิน A และแคลเซียม
1
3) มิลเลนเนียลส์ (Millennials) หรือคนที่เกิดในปี 1981-1996
ในรายงานกล่าวว่า คนเจนนี้เป็นเจนแห่งการต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง เพื่อสิ่งที่ตัวเองต้องการ และเพื่อขับเคลื่อนสังคม เป็นเจนที่ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ แถมยังปรับตัวเข้ากับสถานการณ์เก่ง
73% ของคนเจนนี้ติดโซเชียลมีเดีย ทว่าก็ยังเกิดความโดดเดี่ยวไม่แพ้เจนอื่นๆ เราจึงเห็นเจนนี้ใช้กิจกรรมวันหยุดโดยการออกไปคาเฟ่ ดำน้ำ หรือตั้งแคมป์ ที่น่าสนใจคือ 77% ยังสนใจเรื่องเครื่องดื่มใหม่ๆ เป็นพิเศษอีกด้วย ดังนั้นธุรกิจร้านกาแฟหรือร้านชานมไข่มุกควรให้ความสนใจเจนนี้เป็นพิเศษ
เจนนี้ยังมีความเครียดสะสม ความวิตกกังวล ความเหงา และอาการเบิร์นเอาท์สูง เป็นเพราะอยู่ในช่วงอายุที่ต้องมีความรับผิดชอบหลายๆ ด้าน ประกอบกับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด ดังนั้นเจนมิลเลนเนียลจึงสนใจเรื่องสุขภาพจิตและสุขภาพกายกันมาก ช่องทางที่จะช่วยผ่อนคลายและช่วยรักษา Work-Life Balance จึงเป็นที่สนใจของคนเจนนี้ ตัวอย่างเช่น วิดีโอเสียง ASMR ช่วยคลายเครียด อาหารคลีน หรือคอร์สฟิตเนสออนไลน์
1
ชาวมินเลนเนียลมักจะรู้สึกเฉยๆ กับการตลาดแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม พวกเขาจะสนใจเป็นพิเศษหากสินค้าหรือบริการถูกรีวิว เพราะคนเจนนี้มักจะตัดสินใจจากรีวิว จากรูปในอินสตาแกรม หรือคำแนะนำจากเพื่อน การศึกษาพบว่ากว่า 68% ของชาวมิลเลนเนียลจะไม่ตัดสินใจซื้อจนกว่าจะได้ปรึกษาเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจเสียก่อน
4) เจเนอเรชันซี (Gen Z) หรือคนที่เกิดในปี 1997-2012
เจเนอเรชันนี้เติบโตท่ามกลางยุคที่เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นเจเนอเรชันที่ไม่เพียงแต่แสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังลงมือทำจริงๆ อีกด้วย
เพราะเติบโตมากับโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นมีม ศัพท์ใหม่ๆ หรือเรื่องราวที่เป็นไวรัลอยู่ เจนนี้ตามทันเกือบหมดทุกอย่าง แถมยังมีความคิดสร้างสรรค์และความช่ำชองในการใช้สื่อพอๆ กับเจนมิลเลนเนียลอีกด้วย แต่ต่างกันที่เจนซีมีแนวโน้มในการเปิดใจรับเนื้อหาใหม่ๆ ได้ง่ายกว่า และด้วยแนวโน้มในการเปิดใจนี้เอง การนำเสนอสินค้าหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เจนซีมักจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ทดลองและอออกมารีวิว
หนึ่งช่องทางที่เป็นที่นิยมของคนวัยนี้คือ Youtube โดยเฉพาะช่องสตรีมมิงเกมและการไลฟ์ขายของ ซึ่งพวกเขาไม่เพียงแต่เสพย์สื่ออย่างเดียวแต่ยังลงมือทำเองด้วย
เจนนี้ยังให้ความสนใจกับแบรนด์ที่รักสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหลากหลาย ความเท่าเทียมทางเพศ เจนนี้จะสนับสนุนเป็นพิเศษ ส่วนแบรนด์ที่ละเลยเรื่องพวกนี้อาจมีสิทธิถูกคว่ำบาตรได้
‘สุนทรียะ’ (Aesthetics) หรือภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการ เป็นสิ่งที่ชาวเจนซีให้ความสำคัญอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนวัยนี้ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเลยก็ว่าได้ ซึ่งตรงข้ามกับคนอายุมากที่มักจะเน้นความคุ้มค่าหรือการใช้งานเป็นหลัก
5) เจเนอเรชันอัลฟา (Alpha) หรือคนที่เกิดปี 2012-2024
เด็กเจนนี้เกิดมาพร้อมกับทัชสกรีนและโซเชียลมีเดีย งานวิจัยพบว่าในประเทศจีน เด็กวัยนี้ใช้เวลาเฉลี่ยถึง 4 ชั่วโมง 36 นาทีในการใช้สมาร์ตโฟน ผลที่ตามมาคือพวกเขาเข้าถึงไลฟ์สไตล์และแฟชันแบบผู้ใหญ่เลย สินค้าและบริการที่พวกเขาเห็นบนโลกออนไลน์นั้น แม้ส่วนใหญ่จะยังไม่มีกำลังในการซื้อเอง แต่ความเห็นของพวกเขาก็ส่งผลต่อการตัดสินใจของพ่อแม่อย่างมาก
รายงานของ 2020 Children Economy Insights ระบุไว้ว่าการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้ปกครองนั้นคำนึงความต้องการของลูกเจนอัลฟาเป็นปัจจัยหลักด้วย
เพราะเติบโตมากับโลกเทคโนโลยี เด็กเจนนี้จึงเรียนรู้การใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ ได้รวดเร็วและไม่ต้องพึ่งผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ควรจะมีคนคอยสอดส่องด้วย ผู้ผลิตหลายบริษัทตระหนักถึงเรื่องนี้ดี เราจึงเห็นว่าหลายแอปฯ นิยมออกโหมด ‘สำหรับเด็ก’ เพื่อให้ผู้ปกครองสบายใจและไม่ต้องคอยกังวลเวลาลูกๆ ท่องโลกอินเทอร์เน็ต
แม้หลายคนจะมองว่าผู้บริโภควัยนี้ยังเด็กเกินกว่าจะมีข้อมูลแน่ชัด แต่ Mark McCrindle นักวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์​ แย้งว่าเราสามารถคาดเดาเทรนด์ของเจนนี้ได้จากคนเจนก่อน ซึ่งก็คือ เจนซีและมิลเลนเนียล
อ้างอิง
รายงานเจาะเทรนด์โลก TCDC
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#business
โฆษณา