26 ต.ค. 2021 เวลา 03:06 • การเกษตร
การเลี้ยงโคนมในประเทศไทย
การเลี้ยงโคนม เพื่อนำน้ำนมมาบริโภคในประเทศไทย เริ่มมานานแล้ว แต่เพิ่งมาเลี้ยงอย่างจริงจัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์กขึ้น ที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ร่วมกับพระเจ้าเฟรเดริคที่ ๙ (King Frederick IX) แห่งประเทศเดนมาร์ก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ ศูนย์ฝึกอบรมนี้ ต่อมา ได้พัฒนากลายเป็น องค์กรส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทดลองเลี้ยงโคนม ด้วยพระองค์เอง ในบริเวณสวนจิตรลดา และเมื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม สามารถผลิตน้ำนมดิบ ได้เกินความต้องการของตลาด ก็ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานนมผง และศูนย์รับนม นอกจากนี้ยังทรงริเริ่มให้มีการจัดตั้ง บริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพ จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ดำเนินการผลิตนมผงใน พ.ศ. ๒๕๑๕
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้ทรงโอนกิจการของบริษัทนี้ ให้สหกรณ์โคนมราชบุรีจำกัด ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์)
ในปัจจุบันมีแหล่งเลี้ยงโคนมที่สำคัญอยู่ ๔ แห่ง คือ บริเวณจังหวัดสระบุรี-นครราชสีมา- ลพบุรี บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์-เพชรบุรี บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ และบริเวณจังหวัดราชบุรี-นครปฐม เกษตรกรในสามแหล่งแรกส่งน้ำนม ดิบเข้าโรงงานขององค์การส่งเสริมกิจการโคนม แห่งประเทศไทยที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตามลำดับ ส่วนแหล่งสุดท้าย ส่งเข้าโรงงานของสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ได้มีการมีเลี้ยงโคนมกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณใกล้เคียงกับ วิทยาลัยเกษตรกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา และบริษัทเอกชนที่มีการแปรรูปนม
การเลี้ยงโคนมแม้มีรายจ่ายค่อนข้างสูง แต่ผลตอบแทนจากการเลี้ยงโคนม จะสูงกว่าการทำนาทำไร่หลายเท่า จึงเป็นการสร้างรายได้ที่ดีของเกษตรกร ทั้งที่มีอาชีพเลี้ยงโคนมโดยตรง และที่เป็นอาชีพเสริม นับว่ามีส่วนช่วยในการ สร้างงานในชนบทของชาติ และช่วยลดการสูญเสียเงินตราให้แก่ต่างประเทศ จากการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมชนิดต่างๆ ประกอบกับประเทศไทย ก็มีภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการเลี้ยงปศุสัตว์ เนื่องจาก อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารสัตว์ เช่น ทุ่งหญ้าเลี้ยง สัตว์ ผลิตผลพืชไร่ (ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ) วัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมทางการเกษตร (เปลือกข้าว รำข้าว เปลือกสับปะรด ยอดอ้อย กากน้ำตาล ฯลฯ) ซึ่งมีราคาถูก และสามารถ เลือกใช้ทดแทนกันได้หากสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีราคาเพิ่มขึ้น ส่วนมูลโค ก็มีประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ดินของเกษตรกร และอาจนำมาใช้ทำแก๊สชีวภาพ สำหรับใช้ในครอบครัวได้อีกด้วย
การเลี้ยงโคนมจึงเป็น การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตผลที่ผลิตได้ เช่น แทนที่จะผลิตมันสำปะหลัง เพื่อส่งออก สำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์ในต่างประเทศ ก็นำมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ เพื่อส่งออกเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า เป็นต้น นอกจากนี้ ทางรัฐบาลก็ได้ให้การส่งเสริมทางด้านสินเชื่อการเกษตร การปรับปรุงพันธุ์สัตว์โดยการผสมเทียม การบริการสัตวแพทย์ และเกษตรกรสามารถ ขายน้ำนมดิบได้ในราคาประกันที่เป็นธรรม
พันธุ์โคที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยได้แก่ พันธุ์โฮลสไตน์ (Holstein) ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น ในอังกฤษเรียกว่า ฟรีเชียน (Friesian) ใน เดนมาร์กเรียกว่า ขาว-ดำ (Black and White) หรือ ดัตช์ฟรีเชียน (Dutch friesian) ในอิสราเอลเรียกว่า อิสราเอลฟรีเชียน (Israel friesian) เป็นต้น เป็น โคนมที่มีลักษณะเด่นตรงที่มีสีดำตัดกับสีขาวอย่างชัดเจน โคตัวผู้ที่โตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ ๘๐๐-๑,๐๐๐ กิโลกรัม ส่วนตัวเมียจะมีน้ำหนัก ประมาณ ๖๐๐-๗๐๐ กิโลกรัม และเจริญเติบโต ดีกว่าตัวผู้ แม่โคจะเจริญเต็มที่เมื่ออายุ ๖-๗ ปี มีอายุผสมพันธุ์ประมาณ ๑๘ เดือน คลอดลูก เมื่ออายุได้ ๒๘-๓๐ เดือน การให้นมอยู่ใน เกณฑ์สูงประมาณ ๕,๐๐๐ กิโลกรัมต่อปี มีไขมัน นม ๓.๕% (ไขมันสีขาวเหมาะที่จะนำไปบริโภค) เคยมีความเชื่อกันว่าโคพันธุ์นี้มีสายเลือด ๑๐๐% ไม่สามารถเลี้ยงได้ดีในประเทศที่มีอากาศร้อน
แต่ในอิสราเอล กลับเลี้ยงเป็นผลสำเร็จ ในประเทศไทย โคพันธุ์นี้ส่วนใหญ่มีสายเลือดผสม ๕๐-๗๕% แต่ก็มีแนวโน้ม ที่จะพัฒนาให้มีสายเลือดสูงขึ้น จน สามารถเลี้ยงสายเลือด ๑๐๐% ได้ พันธุ์โคนมที่นิยมเลี้ยงมากอีกพันธุ์หนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณอำเภอมวกเหล็ก คือ พันธุ์เรดเดน (Red dane) ซึ่งพัฒนาขึ้นที่ประเทศเดนมาร์ก ให้นมและเนื้อใกล้เคียงกับพันธุ์โฮลสไตน์ แต่มีปัญหาในการปรับตัวในสภาพอากาศร้อน นอกจากนี้ยังมีโคพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งพัฒนา มาจากอินเดียและปากีสถาน คือ พันธุ์เรดซินดิ (Red sindhi) และซาฮิวาล (Sahiwal) ให้นมน้อย กว่าพันธุ์ยุโรปครึ่งหนึ่ง และมีไขมันค่อนข้างสูง
การพัฒนาหรือการปรับปรุงพันธุ์ จะช่วยให้ได้โคลูกผสมที่สามารถให้นมได้มากที่สุด และสามารถเลี้ยงได้ในสภาพแวดล้อมในประเทศไทย จนในที่สุดสามารถสร้างพันธุ์แท้ของตนเองได้ ในระยะแรก จำเป็นต้องใช้โคพันธุ์ยุโรป ซึ่งให้น้ำนมสูงผสมกับโคพันธุ์พื้นเมืองซึ่งทนต่ออากาศร้อนได้ โดยจะต้องคัดพันธุ์อย่างเข้มงวด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิสารานุกรมไทยสําหรับเยาวชน
โฆษณา