26 ต.ค. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
IMF แนะรัฐบาลทั่วโลกให้เตรียมนโยบายหนุนเศรษฐกิจ ลงทุนด้านการศึกษาและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
จากเมื่อวานที่ Bnomics ได้เล่าถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกที่ทาง IMF วิเคราะห์เอาไว้ วันนี้เราจึงมาลงลึกว่า แล้ว IMF มองว่าจะต้องจัดลำดับความสำคัญของนโยบายในระดับพหุภาคีอย่างไรบ้างเพื่อที่นำไปสู่การออกแบบนโยบายให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศต่อไป
📌 นโยบายในระดับประเทศ กับขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเด็นสุขภาพถูกยกมาเป็นประเด็นฉุกเฉินที่ต้องรีบจัดการ อีกทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็หยุดชะงักลง จึงทำให้ต้องใช้งบประมาณจากรัฐขนาดมหาศาลเข้าไปแทรกแซง ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับประเทศที่เผชิญกับโรคระบาดทั้งๆ ที่มีพื้นที่นโยบายการคลังที่จำกัด
มาตรการทางการคลังที่เร็วและแรงในระดับประเทศ ช่วยให้เศรษฐกิจไม่ได้ตกต่ำลงไปถึงขีดสุด และก็ช่วยให้กระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวขึ้นมาได้ มิเช่นนั้นเศรษฐกิจทั่วโลกคงจะแย่กว่านี้สัก 3 เท่าไปแล้ว ยิ่งกว่านั้นยังมีนโยบายการเงินอย่างเช่น การเข้าซื้อสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ของธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศ ทั้งยังออกมาตรการเข้ามาช่วยไม่ให้เกิดวิกฤตทางการเงินตามมา
อย่างไรก็ตาม นโยบายต่างๆ เหล่านี้ก็ได้ทำให้พื้นที่การออกนโยบายการคลังเหลือน้อยลงและจำกัดมากขึ้นหากต้องมีการออกนโยบายอีกในวันข้างหน้า ส่วนหนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกระดับรายได้ของประเทศ และในหลายๆ ประเทศก็ประสบกับปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ด้วยความที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในวันข้างหน้ายังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน จึงมีโอกาสที่การฟื้นตัวจะยืดเยื้อออกไปอีก การออกนโยบายในระดับประเทศจึงเต็มไปด้วยขวากหนามและข้อจำกัดมากมายโดยเฉพาะสำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ที่จะต้องเผชิญกับข้อจำกัดที่หนาแน่นมากขึ้นต่อจากนี้
เครดิตภาพ : IMF
IMF ย้ำว่านโยบายที่ควรจะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกจึงยังคงเน้นไปที่ด้านสาธารณสุข ในเรื่องของการแจกจ่ายวัคซีน การตรวจเชิงรุก การดูแลรักษา โดยเน้นให้ความช่วยเหลือครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดผ่านมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด แต่หากในประเทศนั้นๆ เผชิญกับข้อจำกัดทางการคลังหรือไม่มีความสามารถพอที่จะดำเนินการได้ ก็จำเป็นที่จะต้องมีความช่วยเหลือจากนานาประเทศเข้าไป เพราะยิ่งปล่อยให้ระบาดนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องสูญเสียทรัพยากรไปกับการฝึกอบรมบุคลากร และการช่วยเหลือภาคส่วนที่ลำบากให้ฟื้นกลับมาเหมือนตอนก่อนเกิดโควิดได้อีกครั้ง แต่ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดจะเริ่มทุเลาลง การแจกจ่ายวัคซีนและลงทุนเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชากรก็ควรจะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้ท่ามกลางอนาคตที่การระบาดอาจเกิดขึ้นอีก
ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีมาตรการที่มาช่วยสนับสนุนอุปสงค์โดยรวมและมาตรการที่จะมาช่วยลดแผลเป็นที่เกิดจากวิกฤตนี้ตราบเท่าที่นโยบายการคลังจะรับไหว เพื่อช่วยหนุนเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปได้ นี่จึงอาจเป็นเวลาที่ดีที่จะลงทุนเพื่อวันข้างหน้า โดยถือโอกาสปรับเป้าหมายในระยะยาวและปรับปรุงศักยภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งผู้วางนโยบายสามารถนำข้อมูลการติดเชื้อ การเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิต เข้าไปพิจารณาร่วมด้วยเพื่อว่าแผนว่าควรจะออกนโยบายเมื่อไหร่ และอย่างไร ถึงจะมีประสิทธิภาพที่สุด
📌 การเตรียมพร้อมนโยบายสำหรับโลกหลังโควิด
หากว่ามีความเสี่ยงที่ในอนาคตอาจเกิดวิวัฒนาการของการแพร่ระบาดขึ้นมาอีก ก็จำเป็นที่รัฐจะต้องมีงบประมาณรายจ่ายทางด้านสาธารณสุขที่สูงขึ้นอย่าถาวร (ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์) ซึ่งความท้าทายก็จะอยู่ที่ว่ารัฐจะสามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและไปพร้อมกับโอกาสที่จะมีเทคโนโลยีสีเขียว หรือการไปสู่ความเป็นดิจิทัล การสะสมทุนมนุษย์ และจัดการกับความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร
เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวเข้ารูปเข้ารอยแล้ว จึงจำเป็นต้องมีนโยบายที่จะสามารถจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ได้ ประกอบด้วย
(1) การสนับสนุนโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านทางเศรษฐกิจสีเขียวและการปรับเปลี่ยนเป็นดิจิทัล เช่น การลงทุนในโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อช่วยให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยให้ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลลดลง
การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วโลก
(2) ลงทุนด้านการศึกษา เนื่องจากการที่โรงเรียนปิดชั่วคราวสามารถส่งผลระยะยาวต่อรายได้ของบุคคลๆ หนึ่ง และส่งผลต่อประสิทธิภาพโดยรวมได้ ทาง IMF จึงได้แนะนำว่าผู้วางนโยบายควรจะใช้หลายกลยุทธ์ เช่น การเพิ่มเวลาเรียนในปีถัดๆ ไป มีกระบวนการติดตามช่วยเหลือนักเรียน และมีหลักสูตรกวดวิชาเพิ่มเติม ยิ่งไปกว่านั้น โปรแกรมการศึกษาทั้งปกติและอาชีวะ ควรจะปรับให้เท่าทันต่อความต้องการแรงงานในโลกหลังโควิดที่เทคโนโลยีจะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่หลายๆ อาชีพต้องใช้
1
(3) การลดความเหลื่อมล้ำ การที่เด็กได้รับการศึกษาน้อยลงก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นนอกจากนโยบายที่ช่วยเหลือด้านการศึกษาแล้วก็ควรจะมีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ครอบคลุมและช่วยให้ตัวบุคคลหรือครัวเรือนเมื่อล้มแล้วสามารถลุกได้ไว ผ่านทางการให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข ให้ความช่วยเหลือในเรื่องของอาหารและการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมสำหรับคนรายได้น้อย และขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุม (สิทธิประโยชน์ตอนว่างงานสำหรับอาชีพอิสระ และคนรับจ้างทำงานระยะสั้นๆ รวมถึงให้สามารถลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างได้)
การปิดโรงเรียนและการลงทะเบียนเรียน
แต่อาวุธที่จะไปต่อสู้กับความท้าทายต่างๆ ในโลกหลังโควิดนั้นอาจจะจำกัดสำหรับบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่แม้จะมีดอกเบี้ยต่ำ แต่ภาระหนี้สาธารณะก็สูงมากจากช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด จึงจำเป็นจะต้องมีมาตรการเพิ่มรายได้ นั่นหมายรวมถึงการเพิ่มภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และขยายฐานภาษี ควบคู่ไปกับการลดขนาดเงินอุดหนุนที่ไม่มีเป้าหมาย และทำให้การลงทุนของภาครัฐมีธรรมาภิบาลมากขึ้น (เช่น กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้) นอกจากนี้หน่วยงานระหว่างประเทศก็มีส่วนสำคัญที่จะเข้าไปช่วยเหลือประเทศเหล่านี้เมื่อจำเป็นอีกด้วย
#IMF #internationalmonetaryfund #worldeconomy
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา