27 ต.ค. 2021 เวลา 06:29 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
วิศวกรรมสำรวจ ทำอะไรบ้าง
ตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้มาสักพักแล้ว บางจังหวะก็คิดว่าหลายคนคงพอรู้แล้ว แต่เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน จะลองเรียบเรียงจากสิ่งที่ได้ร่ำเรียนมาเมื่อนานมากแล้ว กับประสบการณ์ทำงานมาลองแลกเปลี่ยนกันดู หลายคนอาตพบเจออุปกรณ์สำรวจ ที่เป็นกล้องตามถนนหนทาง หรือไซต์ก่อสร้าง อาจมีคำถามในใจว่า ไอ้ที่ส่องกันอยู่นี่จะเอาไปใช้ทำอะไรได้
ถ้าว่ากันตามประวัติศาสตร์งานวิศวกรรมสำรวจนี่มีประวัติมายาวนาน นับย้อนไปตามที่เคยได้หาข้อมูลอยู่ และมีบันทึกตามหน้าประวัติศาสตร์ คงจะเริ่มตั้งแต่มนุษย์เรามีการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพราะงานสำรวจเกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมโยธา (Civil Engineering) อย่างแนบแน่น เรียกได้ว่า จะก่อสร้างอะไรก็ตามต้องมีการทำสำรวจเข้าร่วมด้วย
ผมสรุปจากประสบการณ์ได้ว่า งานสำรวจเกี่ยวข้องกับ ตำแหน่ง ปริมาณ และความผิดพลาด (Error)
1. ตำแหน่ง ในงานก่อสร้างจะมีการทำงานอย่างน้อย สามขั้นตอน คือ ออกแบบ ก่อสร้าง และตรวจสอบ ทั้งสามส่วนนี้เกี่ยวข้องกับตำแหน่งทั้งหมด คือ ในช่วงการออกแบบ เราต้องรู้ก่อนว่า มีอะไรอยู่ตรงไหน ตัวอย่างเช่น ผมจะสร้างบ้านหนึ่งหลัง ผมต้องรู้ก่อนว่าที่ดินของเรามีขนาดเท่าไหร่ หน้ากว้างและความลึกเท่าไหร่ ระดับดินปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง เทียบกับพื้นที่รอบๆ เป็นอย่างไร
คำถามคือ ไม่สำรวจทำได้ไหม ก็ทำได้ครับ แต่เราจะกำหนดงบประมาณยากมาก แต่ช่างสร้างบ้านสมัยก่อน อาศัยจากประสบการณ์และคาดการณ์ว่าจะต้องทำอย่างไร แต่อาจไม่ถูกต้องนัก ถ้าสมัยก่อน คงไม่เป็นอะไรเท่าไหร่ เพราะเราสามารถหาวัสดุจากรอบๆ ตัวได้ไม่ยากมาก ดินยังไม่พอ ไปขุดเอาที่ข้างๆ มาเติมก็ไม่ได้มีปัญหามากมาย หรือต้องการไม้มาปลูกบ้านก็มีอยู่เหลือเฟือ
หลังจากเราได้เก็บตำแหน่งของเดิมแล้ว ก็จะนำข้อมูลพวกนี้ไปออกแบบต่อ จากนั้นก็ทำการก่อสร้าง แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะต้องทำอะไรตรงไหนละ ถ้าวางมั่วๆ บ้านเราคงเป็นรูปทรงตามที่ออกแบบไว้ยาก
ก่อสร้างเสร็จก็ต้องมาเช็คกันว่าที่ทำไปนี่ผิดไปจากแบบหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น งานสำรวจจะต้องมีข้อมูลที่แม่นยำ ทั้งส่วนออกแบบ ก่อสร้าง และตรวจสอบ แต่วิธีการจะทำก็ทำได้หลากหลาย ถ้าสร้างบ้านแถวในเมืองทำผิดไปอาจมีปัญหาบานปลายหลายอย่าง เช่น ปลูกบ้านแล้วระยะถอยร่น ไม่ได้ตามกฎหมาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะกำหนดว่า ตัวบ้านจะต้องห่างแนวเขตที่ดิน 2 เมตร แต่มีเงื่อนไขอีกพอสมควร คงไม่กล่าวละเอียดนะครับ
2. ปริมาณ นอกจากต้องรู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน และไปวางตำแหน่งตามที่ออกแบบแล้ว การทำงานสำรวจต้องหาปริมาณให้ได้ อย่างการสร้างบ้านที่ยกตัวอย่างไว้ การที่เราจะต้องถมดิน ต้องรู้ก่อนว่า ปริมาณดินที่จะถมมากน้อยเท่าไหร่ ที่จะคุ้นกันคือ ต้องใช้ดิน (หรือวัสดุอื่นเช่น ลูกรัง) กี่คิว พวกนี้เป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด
1
งานก่อสร้างขนาดใหญ่ปริมาณงานนี่สามารถเป็นตัวแปร ทำให้โครงการกำไรขาดทุนได้เลย เพราะถ้าทำการสำรวจแล้ว ได้ปริมาณไม่ถูกต้อง พอถึงเวลาทำงานจริงต้องมีวัสดุเพิ่มเติม มีค่าใช้จ่ายทั้งตัววัสดุที่ต้องหามาเพิ่ม ค่าขนส่ง และที่สำคัญคือ เวลา
3. ความผิดพลาด (Error) เรื่องนี้สมัยผมเรียนหนังสือ ต้องเรียนเป็นเรื่องแรกเลย เหมือนจะเรียนยูโด ก็ต้องรู้วิธีล้มก่อนจะเรียนวิธีทุ่ม ผมขอใช้ทับศัพท์ว่า Error นะครับ จะได้เข้าใจไม่ผิด
การที่จะทำให้งานมี Error ที่ยอมรับได้นั้นถือว่าสำคัญ จะเกี่ยวข้องกับเครื่องมือและวิธีการที่จะใช้ด้วย เช่น ถ้าเราจะถมดินในสวน ถ้าวัดมาแล้ว ได้ค่าต่างจากของจริง สมมติว่า คำนวณว่าต้องใช้ดิน 10 คันรถ แต่เวลาทำงานจริง ต้องใช้ 11 คันรถ Error ที่ต่างกันนี้ถือว่าผิดไปไม่น้อย คือ 10% เราก็จ่ายค่าส่วนต่างนี่ไม่เท่าไหร่ แค่หลักพัน ถ้าต้องการให้มันมี Error น้อยกว่านี้อาจต้องใช้เครื่องมือพิเศษ หรือต้องมีคนที่ใช้เครื่องมือเป็น ก็ต้องมีค่าแรงเพิ่มอีก รวมแล้ว ราคามากกว่าที่เราต้องไปจ่ายเงินเพิ่มกับดิน 1 คันรถ เสียอีก
Error ที่เหมาะสมและยอมรับได้ของแต่ละงานจึงแตกต่างกันไป
ย้อนกลับไปถึงคำถามเดิมว่า ตกลงที่ส่องกล้องตามถนนนี่ทำไปทำไม คำตอบก็คือ เพื่อวัดตำแหน่ง และนำไปคำนวณปริมาณ และปรับแก้ให้มี Error ที่เหมาะสมและยอมรับได้ของงานนั้นครับ
โอกาสต่อไป คงมีรายละเอียดแต่ละงานมาเล่าสู่กันฟังครับ
โฆษณา