Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Wild Chronicles
•
ติดตาม
27 ต.ค. 2021 เวลา 07:31 • ประวัติศาสตร์
*** ไขปริศนา พระเจ้าตากสิน ***
บทความนี้เป็นการ recap งานเสวนาเรื่อง “ไขปริศนาพระเจ้าตากสิน” ทาง The Wild Chronicles Clubhouse เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2021 ที่ผ่านมานะครับ หัวข้อประกอบด้วย:
- พระเจ้าตากเสียสติจริงหรือ?
1
- พระเจ้าตากถูกประหารอย่างไร?
1
- ท่านถูกเปลี่ยนมุมมองจากกษัตริย์วิปลาส เป็นผู้กอบกู้บ้านเมืองในยุคไหน?
ร่วมกับวิทยากร ประกอบด้วย อ. สุชาติ กนกรัตน์มณี และ อ. อัฐพงษ์ บุญสร้าง ครับ
*** พระเจ้าตากเสียสติจริงหรือ? ***
หลักฐานว่าเสียสติ เชื่อว่ามาจากสำนวนในเอกสารประวัติศาสตร์ที่ใช้คำว่า “ฟั่นเฟือน”
เหตุที่มีประเด็นนี้ขึ้นมาคือ ครั้งหนึ่งสมัยธนบุรีมีหนูระบาดจนเข้าไปถึงพระราชวัง (คือพระราชวังเดิมที่ธนบุรีปัจจุบัน) พระเจ้าตากจึงรับสั่งให้พวกฝรั่งที่รับราชการในขณะนั้นมาเข้าวังช่วยจับหนู
ภาพแนบ: พระแท่นบรรทมของพระเจ้าตากสินที่วัดอินทาราม ที่มา: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
ทว่าฝรั่งเหล่านั้นไปเป็นชู้กับเจ้าจอมองค์โปรดของพระเจ้าตาก 2 พระองค์ พระเจ้าตากจึงสั่งประหารฝรั่งกับเจ้าจอมทั้ง 2
แต่ปรากฏว่าเจ้าจอมนั้นมีบุตรติดครรภ์ด้วย ทำให้พระเจ้าตากทรงโศกเศร้าอย่างมาก มีรับสั่งว่าอยากตายและสอบถามข้าราชบริวารว่ามีใครอยากตายตามบ้าง หลายคนรับอาสา แต่พอพระเจ้าตากรับสั่งว่าจะปลิดชีพคนเหล่านี้ก่อนพระองค์เอง คนเหล่านี้ก็หวาดกลัว
กระทั่งมีผู้มาเตือนสติ พระเจ้าตากจึงเลิกคิดปลงพระชนม์ตนเองไป ...กลายเป็นมูลเหตุอันหนึ่งที่ทำให้มีการวิเคราะห์ว่าเสียสติ
ภาพแนบ: ภาพเมื่อครั้งพระเจ้าตากสินปราบก๊กเจ้าพระฝาง ในโคลงภาพพระราชพงศาวดาร เขียนโดย หลวงฤทธิจักรกำจร ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม
เหตุการณ์ที่ 2เกิดหลังจากพระเจ้าตากยกทัพขึ้นไปปราบก๊กเจ้าพระฝางที่เมืองสวางคบุรี (คืออุตรดิตถ์ปัจจุบัน)
เจ้าพระฝางนี้เป็นผู้นำสงฆ์ และมีสงฆ์ใต้อาณัติจำนวนมากประพฤติทุศีล เช่น ออกปล้น ดื่มสุราหรือเสพสีกา
1
ภาพแนบ: ขุนช้างและพระไวยดำน้ำพิสูจน์ตน ท้องเรื่องเกิดขึ้นสมัยอยุธยา จากละครเรื่อง วันทอง ช่อง 31
เมื่อพระเจ้าตากปราบเจ้าพระฝางจึงจับพระสงฆ์ในเขตปกครองของเจ้าพระฝางทั้งหมด แล้วใช้วิธีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยการให้ดำน้ำ (เพราะถือว่าพระที่ศีลที่บริสุทธิ์อยู่จะมีเทวดาคอยคุ้มครองให้ดำน้ำได้นาน ตามความเชื่อในสมัยอยุธยา) ถ้าสงฆ์รูปใดคิดว่ามีศีลบริสุทธิ์และอยากบวชต่อ จะต้องผ่านพิธีนี้เสียก่อน
1
เหตุการณ์นี้คนวิเคราะห์ว่าฟั่นเฟือน แต่จริงๆ น่าจะเป็นยุทธวิธีในการปราบศัตรูมากกว่า
เหตุการณ์ที่ 3 คือ กัลบก (ช่างตัดผม) เข้ามาตัดพระเกศาพระเจ้าตากสิน แต่พระองค์เห็นว่ายังตัดได้ไม่เรียบร้อยดี จึงรับสั่งให้พระโอรสเข้ามาช่วยดู
พระโอรสกราบทูลว่าไม่เห็นมีอะไร พระเจ้าตากสินทรงพิโรธจึงสั่งประหารกัลบก และสั่งขับไล่พระโอรสออกนอกวังไปช่วงหนึ่งจนคลายพิโรธจึงให้กลับมาประทับอยู่ตามเดิม
ภาพแนบ: สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ที่พระเจ้าตากสินปลดออก ก่อนได้รับสถาปนาใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1
เหตุการณ์ใหญ่ที่พระองค์ถูกโจมตีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ...พระเจ้าตากสินตรัสถามสมเด็จพระสังฆราชว่า ภิกษุสามารถไหว้ฆราวาสที่บรรลุโสดาบันได้หรือไม่?
พระสังฆราชและพระสงฆ์จำนวนหนึ่งตอบว่าไม่ได้ พระองค์ก็ทรงไม่พอพระทัย (เพราะเชื่อว่าตนเองสำเร็จโสดาบัน) จึงสั่งถอดสมเด็จพระสังฆราชให้ไปใช้แรงงานเป็นกรรมกรขนของในวัด และโบยภิกษุอีกประมาณ 500 รูป จากนั้นตั้งคนที่บอกว่าไหว้ได้เป็นสังฆราชแทน
...นี่เป็นเหตุการณ์ที่เป็นข้อโจมตีใหญ่...
ภาพแนบ: ภาพที่เชื่อกันว่าเป็นพระเจ้าตากสินทรงผนวชในช่วงปลายรัชกาล
ช่วงปลายรัชกาลยังมีบันทึกเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองที่ออกจะดูโหดร้ายหรือผิดจากทำนองคลองธรรมออกมา เช่น
- การตีตรวนมเหสีหรือพระราชบุตรของพระองค์เอง
- ยุให้ราษฎรทำผิดเพื่อที่จะได้ปรับเป็นเงินเข้าคลังมากๆ
- ตั้งพระสังฆราชเป็นคนดูแลท้องพระคลัง เพราะทรงเชื่อว่าในช่วงนั้นเงินท้องพระคลังหายและเชื่อว่าพระภิกษุเป็นคนซื่อสัตย์จะไม่คดโกง
นอกจากนี้ยังมีบันทึกร่วมสมัยของฝรั่งที่บอกว่า พระเจ้าตากสินเคยตรัสว่าจะเหาะให้ดู
ภาพแนบ: พระเจ้าตากสินขณะทรงม้าทำศึก
เหตุการณ์ต่างๆ นี้มาประกอบกับการไม่ยึดถือจารีตเดิม, ลักษณะที่มั่นพระทั่ยในพระองค์เอง, วิกฤตศรัทธาในหมู่ราษฎรช่วงปลายรัชกาลที่มีขุนนางรังแกราษฎร, และวิธีการปกครองของพระเจ้าตากสินในช่วงปลายรัชกาล เช่น จับลูกเมียของแม่ทัพที่ออกศึกเป็นตัวประกัน รวมทั้งเคยจับลูกเมียเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (คือรัชกาลที่ 1 ต่อมา) ล้วนส่งเสริมให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชนชั้นนำขั้วตรงข้าม
ภาพแนบ:ศาลพระเจ้าตากสินที่วัดอรุณ ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ทั้งนี้หลักฐานในภายหลัง เช่น พงศาวดารในสมัยรัชกาลที่ 1 มีข้อความแสดงความไม่พอใจในตัวพระเจ้าตากสิน โดยกล่าวโทษในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินแต่ไม่ได้พูดถึงสติวิปลาส ดังเช่นข้อความ
“ละสุจริตทำเสีย ประพฤติการทุจริตฉะนี้ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดิน จะละไว้ไม่ได้ ควรจะให้สำเร็จโทษเสีย”
...หลักฐานต่างๆ ท่านวิทยากรพอสรุปได้ว่า ในช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าตากสินน่าจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะช่วงพระชนม์ชีพของพระองค์ได้ประสบเหตุการณ์หนักๆ มาหลายครั้ง
พระองค์น่าจะยังมีสติรู้สึกพระองค์ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ แต่อาจมีบางช่วงที่มีอาการหลงผิด (delusion) หรือประสาทหลอน (psychosis) สิ่งเหล่านี้จึงทำให้เป็นประเด็นสืบต่อมา
ภาพแนบ: ภาพการประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ โดย ธีรพันธ์ ลอไพบูลย์ ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม
*** พระเจ้าตากถูกประหารอย่างไร? ***
สำหรับบั้นปลายชีวิตของพระองค์นั้น พงศาวดารหลายฉบับเขียนตรงกันว่าพระองค์ถูกนำไปสำเร็จโทษที่ป้อมท้ายเมือง ฉบับนี่น่าเชื่อถือมีระบุว่าใช้ดาบตัด “ศีรษะ” ตรงนี้สังเกตว่าไม่ได้ใช้ท่อนจันทน์ซึ่งเป็นวิธีประหารชีวิตเชื้อพระวงศ์ ซึ่งอาจเพราะพระเจ้าตากขาดจากความเป็นกษัตริย์ตั้งแต่บวชแล้ว
ภาพแนบ: หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ)
ส่วนบันทึกที่บอกว่าที่ประหารชีวิตไปนั้นเป็นตัวปลอม และมีการสลับตัวพระองค์ไปบวชที่ภาคใต้ เป็นเรื่องที่แต่งเติมขึ้นมาภายหลังโดยมีคนเขียนคนแรกคือ หลวงวิจิตรวาทการ (แถมมีเกร็ดเล่าด้วยว่า “ผีบอกให้เขียน” ซึ่งมาเล่าทีหลังว่าเชื้อสายพระเจ้าตากสินคนหนึ่งซึ่งเป็นขุนนางใหญ่บอกมา)
ภาพแนบ: พระเจ้าตากสินจากละครหนึ่งด้าวฟ้าเดียว ช่อง 3
*** พระเจ้าตากถูกเปลี่ยนมุมมองจากกษัตริย์วิปลาส เป็นผู้กอบกู้บ้านเมืองในยุคไหน? ***
ในช่วงรัชกาลที่ 1 มุมมองของชนชั้นนำกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับพระเจ้าตากสินยังมีการกล่าวโทษพระองค์อยู่มาก
หลักๆ คือจะไม่ยึดถือแนวทางของพระองค์ไปปฏิบัติ เช่น จะไม่มีการจับลูกเมียแม่ทัพนายกองเป็นตัวประกันในเวลาออกศึก, หรือมีการเลิกถวายเงินปีแก่พระสงฆ์ (เปลี่ยนเป็นถวายเงินเดือนแทน)
1
จนถึงรัชกาลที่ 4 ยังคงมีการกล่าวถึงพระเจ้าตากสินในแง่ลบอยู่ ดังเช่นพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า ราษฎรเกลียดชังพระเจ้าตากมากกว่าข้าพเจ้าสักร้อยเท่า (แต่ไม่ทราบว่าในบริบทใด)
ภาพแนบ: พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 4 ที่กล่าวถึง
แต่ในสมัยนั้นเองที่มีการหล่อพระพุทธรูป 30 กว่าพระองค์อุทิศแด่พระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็พบว่ามีการหล่อถวายพระเจ้าตากสินด้วย ไม่ได้ตัดทิ้งไปเหมือนขุนวรวงศาธิราช (เชื่อกันว่าสมคบคิดกับท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นกบฏ) ที่ ร.4 ไม่นับ
1
ภาพแนบ: บันทึกความทรงจำของกรมพระยาดำรงราชานุภาพต่อพระราชดำรัส ร.5 ดังกล่าว
สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนมุมมองต่อพระเจ้าตากสินเป็นเชิงบวกอย่างชัดเจน และเป็นช่วงที่พบหลักฐานต่างๆ กล่าวถึงพระองค์เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้รัชกาลที่ 5 เองแม้จะยังทรงเชื่อว่าพระเจ้าตากสินมีสติวิปลาส แต่ก็แสดงอาการพิโรธที่มีขุนนางกล่าวล้อเลียนพระเจ้าตากสิน (ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากมุมมองที่มีในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์) โดยตรัสว่าแม้พระเจ้าตากสินจะเป็นอย่างไร แต่ก็ยังเป็นผู้มีคุณในการกอบกู้บ้านเมือง
1
...นี่นับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการสร้างแนวบรรยาย (narrative) เกี่ยวกับพระเจ้าตากสินในเวลาต่อมา
ภาพแนบ: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา
สมัยรัชกาลที่ 6 นั้นพระองค์ทรงตรัสชมพระเจ้าตากสินในการชุมนุมเสือป่าครั้งหนึ่งว่ามีความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว
และในสมัยรัชกาลที่ 7 มีความคิดจะก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายพระเจ้าตากสิน โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภามีรับสั่งว่าจะประเดิมบริจาคให้
พ.ศ. 2524 ประชาชนมีความพยายามให้เกียรติพระเจ้าตากสินเป็น “มหาราช”
ก่อนหน้านั้นราชการเรียกเพียง “สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี” เท่านั้น แต่เมื่อราชการจะเอาป้ายชื่อนี้ไปติดที่อนุสาวรีย์ของพระองค์ที่จันทบุรี ประชาชนได้เข้าชื่อกับ ส.ส. จันทบุรีขอให้เปลี่ยนพระนามเป็น “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติในปีเดียวกัน
ภาพแนบ: อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่จันทบุรี ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ยิ่งมาช่วงหลังๆ ยังมีการยกย่องพระองค์ในหมู่ประชาชน เช่น อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ที่เขียนหนังสือ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี”, หรือศิลปินแอ๊ด คาราบาวที่แต่งเพลง "เจ้าตาก" ยกย่อง ก็เหมือนเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้กอบกู้บ้านเมืองของพระเจ้าตาก ทำให้ความรู้สึกว่าท่านมิได้ "ฟั่นเฟือน" อย่างที่เคยเป็นมา
::: ::: :::
สนใจอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตาม เพจ The Wild Chronicles ได้เลยนะครับ
https://facebook.com/pongsorn.bhumiwat
และ youtube
https://youtube.com/user/Apotalai
13 บันทึก
12
7
13
12
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย