28 ต.ค. 2021 เวลา 00:07 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Soft Power หนึ่งในแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกาหลีใต้
1
ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนคงได้รับชมหรือได้ยินเกี่ยวกับซีรีส์เกาหลี Squid Game เล่นลุ้นตาย ที่ถ่ายทอดผ่าน Netflix โดยเนื้อหาหลักในซีรีส์จะเป็นการแข่งขันเกมที่เด็ก ๆ ในเกาหลีเล่นกัน และเอาชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อแย่งชิงเงินรางวัลมูลค่ากว่า 45,600 ล้านวอน หรือมีมูลค่าถึง 1,300 ล้านบาทเลยทีเดียว
ทางด้าน Netflix เปิดเผยว่า Squid Game ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีผู้เข้าชมกว่า 142 ล้านคน ในช่วง 4 สัปดาห์แรกหลังการเปิดตัว ซึ่งถือว่าได้ทำลายสถิติหนังที่มีผู้ชมสูงสุดของ Netflix แซงหน้า Bridgerton ซีรีส์จากทางฝั่งอเมริกาไปเป็นที่เรียบร้อย และสามารถทำรายได้ให้กับ Netflix ได้มากถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ ๆ 30,000 ล้านบาทอีกด้วย
อะไรที่ทำให้อุตสาหกรรมด้านบันเทิงของประเทศเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จได้มากมายขนาดนี้ Soft Power ที่หลายคนพูดถึงคืออะไร และอุตสาหกรรมนี้ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้มากเพียงใด วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังกันครับ
📌 ที่มาของความสำเร็จ
ต้องบอกเลยว่ามีหลายปัจจัยด้วยกันที่ช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมด้านบันเทิงของเกาหลีโด่งดังได้อย่างทุกวันนี้ หนึ่งในนั้นคือความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างคอนเทนต์ที่โดดเด่นและแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ซึ่งเป็นปกติที่คอนเทนต์มีความสำคัญมากที่สุดสำหรับหนังหรือซีรีส์เพราะคงไม่มีใครสนใจดูหนังที่ไม่สนุก ไม่ดึงดูดให้ติดตาม
โครงเรื่องที่เรามักจะพบเห็นบ่อย จะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความรัก เรื่องอาชีพ หรือแหวกแนวไปทางซอมบี้คลั่งอย่างใน Train to Busan ก็มีให้เห็นบ่อยเช่นกัน แต่ที่น่าสนใจคือการเขียนบทที่มักจะมีการสอดแทรกปัญหาในสังคมเกาหลีใต้ เพื่อสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และบรรทัดฐานทางสังคมที่บีบคั้นให้ผู้คนต้องดิ้นรนเพื่อพัฒนาชีวิตของตัวเอง อย่างในซีรีส์ Squid Game ที่ได้พูดถึงไปในตอนต้นก็ได้มีการหยิบยกประเด็นความยากจน การเป็นหนี้เป็นสิน มาเล่าได้อย่างสร้างสรรค์
1
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้คอนเทนต์เกาหลีได้รับความนิยมคือการให้การสนับสนุนอย่างจริงจังจากทางรัฐบาล โดยภาครัฐมีการจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งมีงบประมาณประจำปีกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะสามารถนำไปช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงให้กลายเป็นสินค้าส่งออกได้ นอกจากนั้นรัฐบาลเกาหลียังมีการช่วยทำการวิจัยเพื่อค้นหาคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ไม่ปิดกั้นเนื้อหาที่มีการเสียดสีสังคม ให้อิสระกับการคิดบทละครกับผู้กำกับการแสดงอย่างเต็มที่ และไม่แทรกแซงพล็อตเรื่องเพียงเพราะมีเนื้อหาแทงใจดำรัฐบาล
1
ในตอนนี้เกาหลีใต้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากสำหรับคุณภาพด้านคอนเทนต์ ดังจะเห็นได้จากจำนวนหนัง Netflix Originals ที่ออกฉายในช่วงปี 2019 กว่า 5% เป็นหนังที่ผลิตในเกาหลีใต้และสัดส่วนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเทียบกับปีก่อน สำหรับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย อย่างจีนและอินเดีย ยังคงมีสัดส่วนที่น้อยกว่าที่ 1.9% และ 2.1% ตามลำดับ
เกาหลีใต้เป็นผู้นำด้านการผลิตคอนเทนต์ให้กับ Netflix
📌 Soft Power
Soft Power คำ ๆ นี้ได้ยินกันมานาน ซึ่งความหมายทางการเมืองระหว่างประเทศหมายถึงการขยายอิทธิพลทางความคิด การดึงดูดหรือการโน้มน้าวให้ประเทศอื่นทำตามแทนที่ใช้กำลังบีบบังคับ (Hard Power) ผ่านทางกำลังทางการทหารหรือการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ
โดยแต่ละประเทศก็จะมีช่องทางการสร้าง Soft Power ที่แตกต่างกันออกไป อย่างประเทศญี่ปุ่นก็คงจะเป็นเรื่องการ์ตูนอนิเมะ แต่สำหรับประเทศเกาหลีใต้นั้น Soft Power หลัก ๆ มาจากหนัง เพลงและซีรีส์เป็นหลัก
ถ้าหากอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ Brand Finance ที่มีการจัดทำ Global Soft Power Index ในปี 2021 จะพบว่าประเทศเกาหลีใต้มีอันดับ Soft Power อยู่ในลำดับที่ 11 จากการจัดลำดับ 100 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือได้ว่ามีอิทธิพลต่อโลกในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 33
เพื่อให้เห็นภาพความสำคัญของ Soft Power ชัดขึ้น ผมจะขอยกตัวอย่างกรณีของซีรีส์ Squid Game ที่นับตั้งแต่ซีรีส์เริ่มเข้าฉาย ผู้คนต่างพากันไปซื้อทั้งเสื้อผ้าและรองเท้าที่นักแสดงในเรื่องใส่ โดย Reuters ได้ไปสัมภาษณ์โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในกรุงโซลประเทศเกาหลีใต้แล้วพบว่ายอดขายชุดวอร์มสีเขียวและสีชมพูแบบเดียวกันกับในซีรีส์ Squid Game ขายดีขึ้นมากเนื่องจากผู้คนต้องการนำไปใส่ในเทศกาลฮาโลวีนและช่วยเพิ่มยอดขายให้กลับมาเพิ่มขึ้นหลังจากโดนผลกระทบของโควิด-19 ไปในช่วงที่ผ่านมา
ความนิยมเสื้อผ้าจากในซีรีส์ Squid Game นั้นแพร่กระจายไปทั่วโลก จนเกิดเป็นความกังวล โดยล่าสุดโรงเรียนบางแห่งในสหรัฐฯ และยุโรป ได้มีการออกคำสั่งไม่ให้นักเรียนแต่งกายเลียนแบบตัวละครใน Squid Game ในช่วงฮาโลวีนที่จะถึงนี้ เนื่องจากมีความกังวลว่าเด็กอาจจะมีพฤติกรรมเลียนแบบตัวละครที่มีการใช้กำลังและมีความรุนแรงหลากหลายรูปแบบ
ทั้งนี้ความนิยมของ Squid Game ไม่ได้เพียงแต่ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแต่เพียงอย่างเดียว อุตสาหกรรมอาหารก็ได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน สังเกตได้จากการที่ขนมดัลโกน่าหรือขนมน้ำตาลไหม้ที่ใช้ประกอบการแสดงในซีรีส์ก็ขายดีขึ้นและมีคนทำคลิปวิดีโอสอนทำขนมชนิดนี้มากมายในโลกอินเตอร์เน็ต
📌 หนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ด้วยพลังของ Soft Power มูลค่าการส่งออกคอนเทนต์ของเกาหลีใต้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องตามรายงานของ Bloomberg แม้จะมีขนาดเล็กกว่าสินค้าอุตสาหกรรมอย่างเช่น เซมิคอนดักเตอร์ หรือรถยนต์ แต่ก็มีมูลค่าการส่งออกมากเกือบ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว ซึ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่าสินค้าจำพวกเครื่องสำอางและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เคยได้รับความนิยมในอดีตไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
มูลค่าการส่งออกคอนเทนต์ของเกาหลีใต้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทางด้านการท่องเที่ยว หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “เที่ยวตามรอยซีรีส์” ความชื่นชอบในละครและศิลปินไอดอล ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างพากันเดินทางไปยังสถานที่ถ่ายทำซีรีส์ต่าง ๆ นำโดยนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางไปที่เกาหลีใต้เพิ่มขึ้นมากในช่วงหลายปีก่อน ก่อนที่จะเกิดข้อพิพาทระหว่างเกาหลีใต้และจีนทำให้นักท่องเที่ยวลดต่ำลงในช่วงปี 2017
นอกจากนี้รายงานจาก Bloomberg ยังชี้ให้เห็นว่าในจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้ในปี 2019 กว่า 13% ให้เหตุผลว่าต้องการเดินทางมาเพื่อสัมผัสและเรียนรู้วัฒนธรรมและเข้าร่วมงานแฟนมีตต่าง ๆ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นจำนวนมหาศาล
คอนเทนต์ของเกาหลีใต้เป็นตัวช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว
แม้อุตสาหกรรมบันเทิงจะมีขนาดเล็กอยู่ถ้าดูจากมุมมองด้านรายได้ แต่การจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างรวดเร็วกว่า 27% ในช่วงปี 2009 ถึงปี 2019 และรายงานจาก Netflix ได้ระบุว่าทางบริษัทได้ช่วยสร้างงานกว่า 16,000 ตำแหน่งในเกาหลีใต้นับตั้งแต่ปี 2016 – 2020 ในด้านธุรกิจบันเทิงและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเกาหลีใต้มากถึง 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกด้วย
อุตสาหกรรมบันเทิงช่วยสร้างงานให้กับประเทศเกาหลีใต้
📌 บทสรุป
โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมบันเทิงดูจะมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเกาหลีใต้อยู่พอสมควร เนื่องจากเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยสร้าง Soft Power ที่ใช้กระจายวัฒนธรรมและความเชื่อให้กับประเทศอื่น ๆ และในขณะเดียวกันก็ช่วยตีแผ่ปัญหาทางสังคม อย่างความเหลื่อมล้ำ หรือความยากจนให้ทุกคนได้รับรู้
ในประเทศไทยเราทางรัฐบาลอาจจะไม่ได้มีการสนับสนุนอย่างจริงจังเหมือนกับในเกาหลีใต้ แต่หลายผลงานก็เป็นที่ยอมรับทั่วโลก เช่น โฆษณา ที่เรามักจะเห็นฝรั่งทำคลิปรีแอคชั่นกับโฆษณาไทยเป็นจำนวนมาก แต่การทำหนังหรือซีรีส์อาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จไม่เท่ากับเกาหลีใต้เนื่องจากอาจจะมีทุนที่น้อยกว่าหรือไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากรัฐ ในอนาคตถ้าหากรัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญและเข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิง ผมก็เชื่อว่าไทยจะสามารถพัฒนาตามแนวทางของเกาหลีใต้ได้ไม่ยากครับ
#Soft_power #เศรษฐกิจเกาหลีใต้ #อุตสาหกรรมบันเทิง #SquidGame
#Bnomics #Industry #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา