Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
28 ต.ค. 2021 เวลา 12:10 • ปรัชญา
"การสร้างบารมีธรรม 10 ประการ"
1 ทานบารมี
บารมีที่เกิดจาการให้ การเสียสละ การเกื้อกูล
ละมลทินในจิตใจ
2 ศีลบารมี
ความมีปกติของกาย วาจา ใจ
ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน
3 เนกขัมมบารมี
การพรากออก หลีกออกจากกามคุณต่าง ๆ
4 ปัญญาบารมี
ตั้งแต่เบื้องต้น อมรมจนเกิดการเห็นตามความเป็นจริง
รอบรู้ในกองสังขาร
5 วิริยบารมี
การสร้างบารมีที่เกิดจากความเพียร
ทั้งทางกายและทางใจ
1
6 ขันติบารมี
การสร้างบารมีที่เกิดจากความอดทน อดกลั้น
ทั้งทางกายและทางใจ
7 สัจจะบารมี
เป็นคนตรง ให้สัจจะ ก็ทำตามที่ให้ไว้
8 อธิษฐานบารมี
ความมุ่งมั่น ตั้งใจ ตั้งเป้าหมาย แล้วพุ่งชนสู่เป้าหมาย
9 เมตตาบารมี
ความกว้างขวางแห่งใจ
ความรัก ความปรารถนาดี ความไร้มลทินแห่งใจ
10 อุเบกขาบารมี
การเข้าถึงความเป็นกลางของธรรมชาติ
ทั้งระดับโลกียธรรมและโลกุตตระธรรม
" ... ผู้ที่จะบรรลุธรรมเป็นสมุจเฉทปหาน
หลุดพ้นจากวังวนแห่งวัฏสงสารโดยสิ้นเชิงได้นั้น
ต้องเป็นผู้ที่สะสมกำลังมาอย่างเพียงพอ
เรียกว่า บารมีธรรมเต็ม
บารมีธรรมเปรียบเหมือนกำลัง
ที่เราจะใช้ในการชำระตนเอง
เพื่อหลุดพ้นจากวังวนแห่งวัฏสงสารได้
ก็จึงเป็นสิ่งที่พวกเราควรเรียนรู้ศึกษา
ว่าบารมีธรรมคือสิ่งใด ?
แล้วเราจะสร้างสิ่งที่เรียกว่าบารมีธรรมได้อย่างไร ?
ตลอดระยะเวลาที่หลงติดอยู่ในวัฏสงสาร
ก็จะหลงทำกรรมต่าง ๆ
เมื่อหลงทำกรรมก็จะก่อให้เกิด
สิ่งที่เรียกว่า วิบาก
เป็นพลังงานด้านมืดขึ้น
วิบาก นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่า หนี้ที่มันเกิดขึ้น
สิ่งนี้แหละที่ทำให้เราติดอยู่ในวังวนอยู่ร่ำไป
ที่เรียกว่า วังวนแห่งวัฏสงสาร
กิเลสทำให้หลงทำกรรม
กรรมทำให้เกิดวิบาก
วิบากทำให้เกิดกิเลส ความปรุงแต่ง
มันก็ติดอยู่ในวังวนแบบนี้
เป็นแรงดึงดูด เป็นยางเหนียว
การที่เราจะสามารถหลุดจากวังวนตรงนี้ได้
เราก็ต้องชำระสิ่งที่เรียกว่า วิบาก
จนหมดสิ้นไปนั่นเอง
กำลังที่ใช้ในการชำระ
ก็คือสิ่งที่เรียกว่า บารมีธรรม
แต่บารมีธรรมมันจะต่างจากทรัพย์ทางโลก
ทรัพย์ทางโลก มันเป็นเรื่องของการที่สะสมเอาเข้าตัว
ทำงาน เก็บเงิน สะสม เอาเข้าตัว
มีบ้าน มีรถ มีสิ่งต่าง ๆ
บางคนเลยกลัวที่จะให้หรือใช้
เพราะว่าถ้าให้หรือใช้ มันก็ลดลง
แต่บารมีธรรมมันไม่เป็นอย่างนั้น
เป็นสิ่งที่เกิดจากการขัดเกลาตนเอง ฝึกฝนตนเอง
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสเรื่องของบารมีไว้
อยู่ 10 ประการด้วยกัน
วิธีการสร้างสมบารมีธรรม
อันแรก คือสิ่งที่เรียกว่า ทานบารมี
บารมีที่เกิดจาการให้ การเสียสละ การเกื้อกูล
เราจะเกิดการให้ทานได้ ก็เพราะว่า
เราเห็นโทษของความตระหนี่ถี่เหนียว
ละมลทินในจิตใจ
ละความโลภ
ละความตระหนี่ถี่เหนียว
เราให้เพราะเราเห็น อยากที่จะเกื้อกูล
อยากที่จะสงเคราะห์
อยากที่จะแบ่งปัน
การให้จึงจะเกิดขึ้นนะ
เพราะฉะนั้นการให้ที่เรียกว่า ทานบารมี
มันจะเป็นการขัดเกลาสิ่งที่เป็นมลทิน
สิ่งที่เป็นความโลภออกไปจากใจของเรา
ถ้าลึกซึ้งลงไป
มันขัดแม้กระทั่งสิ่งที่มันเป็นมานะทิฏฐิ
ความยึดมั่นถือมั่น
ความเป็นอัตตา ตัวตน
การให้มันมีหลายระดับมาก
บางคนก็ให้เพราะหน้าตา ชื่อเสียง
อยากได้รับความชื่นชม
บางคนให้หวังผล
อยากที่จะร่ำรวย เป็นเศรษฐี
อยากที่จะไปเกิดในภพภูมิที่ดี
ไปเกิดบนสวรรค์
ไปเกิดชาติใดก็มีโภคทรัพย์
มันยังเป็นการให้ที่เจือด้วย
ความโลภ ความตระหนี่
ซึ่งอานิสงส์ก็จะสูงขึ้นไป
ตามการฝึกฝนตนเอง
ถ้าสูงขึ้นไป ก็คือเป็นการให้
เพื่อสลัดออก ให้เพื่อสงเคราะห์
ให้ไม่ได้ปรารถนาสิ่งตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น
ให้แบบทิ้ง ให้แบบสลัดออก
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
พระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป
มือชุ่มด้วยการให้ ด้วยการสลัดออก
มีแต่สลัดออกอย่างเดียว
เรานี่เอาเข้า เอาเข้า ๆ
แต่วิถีของอริยะ มันมีแต่การสลัดออก
เริ่มต้นที่ทานบารมี
ขัดเกลามลทินในจิตใจ
ความโลภ ความตระหนี่
บางทีเราทำงาน
หาเงินมาได้ด้วยความยากลำบาก
บางทีจะให้อะไรมันก็เสียดาย
มันเกิดความตระหนี่ มันเกิดมลทิน
เมื่อเราเห็นโทษภัยว่า
ถ้าเรายังติดอยู่กับความตระหนี่
มันก็ต้องติดอยู่ในวังวน
แล้วเกิดกี่ชาติ มันก็ทุกข์อยู่ร่ำไป
ความแร้นแค้นต่าง ๆ
อย่ากระนั้นเลย
เราก็สละเรื่องของมลทินในจิตใจ
เพราะฉะนั้น มันเป็นเรื่องของการขัดเกลาล้วน ๆ เลย
เรื่องของการละมลทินในจิตใจ
…
2 ศีลบารมี
ความมีปกติของกาย วาจา ใจ
งดเว้นจากการเบียดเบียน
ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน
การที่เราจะสามารถรักษาศีล
ที่เรียกว่าศีลบารมีได้ ความเป็นปกติได้
ถ้าเวลาปกติ มันก็พอรักษาได้
แต่บางที อย่างเช่น เราต้องทำมาหากิน
บางคนมีอาชีพที่ต้องไปฆ่าสัตว์
ยิ่งสมัยโบราณ
ฆ่าสัตว์หาเลี้ยงชีพ ตกปลา อะไรต่าง ๆ
มันเป็นการเบียดเบียนหมู่สัตว์ทั้งสิ้น
เราจะรักษาศีลได้
เราต้องเห็นโทษภัยแล้วว่า
สิ่งนี้ มันเกิดเวรกรรมไม่มีที่สิ้นสุด
เราไปทำเขา
เดี๋ยวเราก็ต้องถูกทำแบบนี้นับภพชาติไม่ถ้วน
เชือดแกะตัวหนึ่ง
ต้องตกนรกหมกไหม้ไม่พอ
ผุดขึ้นมา ก็ต้องถูกเขาเชือด
เป็นแกะให้เขาเชือดอีก
ห้าร้อยชาติ พันชาติอย่างนี้
มันคุ้มกันแล้วหรือ
ที่เราจะทำการเบียดเบียนกับผู้อื่น
เมื่อเราเห็นโทษภัยของการเบียดเบียน
เราก็งดเว้นจากการเบียดเบียน
บางครั้งเราถูกกระทำ ถูกคดโกง
ถูกหลอกลวง ถูกพูดจาให้เจ็บช้ำน้ำใจ
ถูกทุบตี เกิดความโกรธขุ่นเคืองใจ
เกิดความคับแค้นใจ
เกิดความเกลียดชัง
เกิดความอาฆาตพยาบาท
บางคนนี่เจ้าคิดเจ้าแค้น
สิ่งเหล่านี้ เราก็ต้องพิจารณาให้เห็น
ความเป็นโทษภัยว่ามันคือไฟที่มันเผา
คนที่เจ็บก็คือตัวเรา
เมื่อไฟมันถูกจุดขึ้นมา มันไม่เผาใครหรอก
มันเผาตัวเราก่อน
พอเผาตัวเรา
ทีนี้มันเริ่มเผาคนรอบข้าง
เผาบ้าน เผาช่อง เผาให้มันวอดวาย
เมื่อเห็นโทษภัย ก็รู้จักการให้อภัย
ละความโกรธ ละความเกลียดชัง
จึงจะสามารถรักษาศีล
ความเป็นปกติของกาย วาจา ใจได้
จัดเป็นบารมีเลย
มันเป็นเรื่องของการฝึกฝนตนเอง
อบรมตนเอง ขัดเกลาตนเอง
...
3 เนกขัมมบารมี
เห็นโทษภัยของกามคุณต่าง ๆ
มันเหมือนบ่วงที่ทำไว้ดักจับสัตว์
ให้เราต้องติดอยู่ในวัฏสงสาร
พบกับความเจ็บปวดอยู่ร่ำไป
เมื่อเห็นโทษภัย
ก็ปรารถนาที่จะหลีกออกจากกาม
เนกขัมมบารมี คือ พรากออก หลีกออกจากกาม
เป็นการสร้างบารมีเช่นกัน
ฆราวาส เขายังบวชไม่ได้
เขาจะมีเรื่องของบวชผ้าขาว 3 วัน 7 วัน
เนกขัมมบารมี เพื่อใช้เวลาที่มี
ในการพรากออกจากกามคุณ
อารมณ์หยาบ ๆ ต่าง ๆ
เป็นบารมีเลย การพรากออกจากกาม
...
4 ปัญญาบารมี
ปัญญาบารมีก็มีตั้งแต่ระดับเบื้องต้น
ที่เรียกว่า สุตมยปัญญา
ปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง
ฟังธรรม ฟังสิ่งที่มันจะทำให้เรา
เกิดปัญญาพอกพูนต่าง ๆ
แล้วก็จินตมยปัญญา
ปัญญาจากการตรึกนึก พิจารณาธรรม
แล้วก็จะเข้าสู่ปัญญาที่แท้จริง
ทีเรียกว่า ภาวนามยปัญญา
ปัญญาที่เกิดจากการอบรมจิต
อบรมสติปัฏฐาน
จนเกิดการเห็นตามความเป็นจริง
รอบรู้ในกองสังขาร
ก็จะเป็นการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ปัญญาบารมี
...
5 วิริยบารมี
การสร้างบารมีที่เกิดจากความเพียร
ความเพียรก็มีทั้งความเพียรทางกาย
อย่างที่เรามาฝึกปฏิบัติ
นั่งสมาธิ เดินจงกลม นั่งฟังธรรม นี่แหละ
เราต้องใช้ความเพียร ความมุมานะ
นี่แหละความเพียรทางกาย
และก็ความเพียรทางใจ ก็คือ
เพียรอบรมตนเองอยู่เสมอ
ด้วยสติปัฏฐาน ๔
มีสติ มีระลึกรู้สึกตัวขึ้นมา
เพียรทั้งทางกาย เพียรทั้งทางใจ
มีการเจริญจิตตภาวนาอยู่เสมอ
เจริญสมณธรรมอยู่เสมอ
สร้างสมสิ่งที่เรียกว่า วิริยบารมี
6 ขันติบารมี
ความอดทนอดกลั้น
เรื่องของขันติ ก็มีทั้งความอดทนทางกาย
ทนปวด ทนเมื่อย ทนร้อน ทนหนาว
ทนหิว ทนกระหาย
และก็ที่สำคัญก็คือความอดทนทางจิตใจ
ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ขันติ คือความอดกลั้น
เป็นตบะ เครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
มันเป็นธรรมดาที่จิตยังไม่ตั้งมั่นพอ
มันก็จะมีกระแสโลกดึงดูดไป
กิเลสต่าง ๆ มันคอยดึงไป
โดยเฉพาะ ถึงแม้ว่าเราละทางกายได้แล้ว
มันยังผุดที่ใจ
มันยังมีกระแสที่ผุด ๆๆๆ ในใจ
ดึงไปทางโลก ทางกาม
ทำสิ่งยั่วยุต่าง ๆ
กระแสโลกก็จะดึงเราไป
เราก็ต้องฝึกขันติ ความอดกลั้น
ไม่ไหลไปตามกิเลสในใจ
มีสติตั้งมั่นอยู่กับตัว
นี่แหละ เป็นตบะเลยนะ
เครื่องเผากิเลส ความอดทนอดกลั้น
โดยเฉพาะชีวิตนักบวช สมณธรรม
ต้องใช้ขันติทางจิตใจ ความอดกลั้นทางใจมาก
แล้วมันเป็นตบะ ไม่ตามใจกิเลสในใจตัวเอง
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่าง ๆ
ที่มันน่าใคร่น่าปรารถนา
บางทีเราอดทนทางกายได้
แต่ว่าใจเรานี่แหละ มันเป็นตัวช่องทางของกิเลส
สังเกตว่ามันจะมีสิ่งที่ผุด ๆ ๆ ๆ
คอยดึงเราไปเรื่องทางโลก
ถ้าเราไหลไป เราก็ติดบ่วง
ติดบ่วงในเรื่องของโลกวัฏฏะ แรงดึงดูดของโลก
ถ้าเราไม่อยากติดบ่วง เราก็ต้องมีขันติ
มีความอดกลั้น เป็นเครื่องเผากิเลส
...
7 สัจจะบารมี
พูดสิ่งใด ทำสิ่งนั้น ตั้งใจสิ่งใด ทำให้ได้
เป็นสัจจะ เป็นคนตรง เป็นคนจริง
ก็เป็นบารมีเช่นกัน
เป็นคนตรง ให้สัจจะ ก็ทำตามที่ให้ไว้
รับปากอะไรก็ทำ เป็นสัจจะบารมี
...
8 อธิษฐานบารมี
อธิษฐานคือความมุ่งมั่น ตั้งใจ
เหมือนเราตั้งเป้าหมายไว้
แล้วพุ่งชนสู่เป้าหมาย
ปรารถนาการหลุดพ้นจากทุกข์
ตั้งอธิษฐานเพื่อการหลุดพ้น
แล้วก็ก้าวเดินเพื่อการหลุดพ้น
มันเหมือนเราตั้งเป้าไว้
เป้าหมายเราชัดปุ๊บ
เราก็เดินไปตามเป้าเลย
นั่นแหละ อธิษฐานบารมี เป็นบารมีเช่นกัน
...
9 เมตตาบารมี
เมตตานี่แหละ ตัวที่จะทำให้กว้างขวาง
ความรัก ความปรารถนาดี
จิตใจก็จะกว้างขวางออกไป
ยิ่งจิตใจที่กว้างขวางนี่แหละ
ก็เหมือนภาชนะที่มันจะกว้างออกไปเรื่อย ๆ
แล้วความบริสุทธิ์ของธรรมชาตินี่แหละ
มันจะเข้ามาเติมในจิตใจ
ที่บอกว่าบารมีธรรม
จริง ๆ แล้วมันคือความบริสุทธิ์
พลังงานความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ
มันจะไหลเข้ามาสู่ใจเราได้ ใจเราต้องว่าง
ใจเราว่างได้
มันต้องผ่านการขัดเกลาสิ่งหล่านี้
แล้วยิ่งมีเมตตา แล้วใจจะกว้างขวางออกไป
จึงต่างจากทางโลก ยิ่งให้ ยิ่งหมด
แต่บารมีธรรม ยิ่งให้ยิ่งกว้างขวาง
เพราะว่าพลังธรรมชาติไม่มีที่สิ้นสุด
จะไหลเติมเข้าสู่ใจเราตลอดเวลาที่ใจเราว่าง
ถ้าใจเรามีตระหนี่ ใจเรามีมลทิน
มีความโลภ ความโกรธ ความหลง
มันเหมือนความอัดแน่นที่มันเต็มน่ะ
พลังธรรมชาติไม่สามารถเข้ามาเติมใจเราได้เลย
นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่า ความยากจนแร้นแค้น
มันจะต่างจากทางโลก
ทางโลกนี่เราต้องไปหาเงิน
แต่บารมีธรรม มันคือความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ
บารมีสิ่งนี้ พลังงานบริสุทธิ์จะเติมใจเราได้น่ะ
ใจเราต้องว่าง ใจเราต้องใหญ่
อย่างบางคน ภาชนะจะไม่เท่ากัน
บางคนภาชนะใหญ่
เป็นจิตใจที่กว้างขวาง โอบอ้อมอารี
มันก็จะส่งผลในเรื่องกายภาพ
ที่เราสังเกตว่า
บางคนจะเป็นพวกจิตใจกว้างขวาง
โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
บางคนก็แค่ตัวเอง
บารมีข้างในมันจะสะท้อนออกมา
กายภาพภายนอก
สิ่งนี้มันผ่านการอบรมมานับภพชาติไม่ถ้วน
เพราะฉะนั้นบางคนที่จิตใจกว้างขวาง
ฐานใหญ่ เวลาสลัดคืนสู่ความบริสุทธิ์
ก็ย่อมเติมเต็มบารมีธรรมได้มาก ชำระตนเองได้มาก
เวลาเข้าถึงความบริสุทธิ์
แต่ละคนจะซึมซับความบริสุทธิ์ได้ไม่เท่ากัน
มันขึ้นอยู่กับฐาน ความกว้างขวางแห่งใจ
ความว่าง ความไร้มลทินแห่งใจ
ยิ่งใจกว้างขวาง เพราะฉะนั้น ยิ่งเราอบรมตน
ละสิ่งเหล่านี้ได้ดี
การปฏิบัติเรามันจะเข้าถึงความเข้มข้น
ของสิ่งที่เรียกว่าบารมีธรรมมาก
การชำระตนเองจะมีประสิทธิภาพที่สูง
จะต่างจากคฤหัสถ์ฆราวาส
ที่ยังมีห่วงหาอาลัยอาวรณ์ มีสิ่งติดข้อง
อย่างแต่ละคนเข้าโดม
แบบนี้กับอยู่ที่บ้าน ไม่เท่ากัน
เห็นเลย พัฒนาการเรื่องของบารมีไม่เท่ากัน
เพราะว่าเวลาเรามาอยู่นี่ เราเป็นพระ
มันผ่านการฝึกฝนตนเอง
บารมีเราเหมือนภาชนะที่เราได้เคลียร์ออก
เหมือนห้องของเราที่มีเคลียร์โล่ง ๆ แล้ว
อะไร ความบริสุทธิ์ก็เติมเข้ามาจนเต็มได้
แต่ถ้าห้องเราเหมือนอะไรไม่รู้
รกรุงรังเต็มไปหมดเลย
สลัดคืนเข้าความบริสุทธิ์เหมือนกัน
แต่ว่ามันเติมได้น้อย
เพราะว่ามลทิน สิ่งที่รกรุงรังในใจเรายังเยอะ
จึงไม่แปลกใจ ทำไมทางบ้านปฏิบัติ
เทียบไม่ได้กับคอร์สพระที่เข้ามา
ไม่นาน มีพัฒนาการดีกว่ามาก
จิตเริ่มพลิก สว่างสไว กว้างขวาง
เพราะว่าฝึกการขัดเกลาตนเองนั่นเอง
มันจะต่างกัน
คอร์สพระนี่เห็นชัดเลย
ฆราวาสกับพระต่างกันแน่นอนนะ
ผู้ที่อบรมตน ขัดเกลาตนเอง
เข้าถึงความบริสุทธิ์เวลาเท่ากัน นี่คนละเรื่องเลย
เพราะว่าใจเราว่างกว่า ใจเรามันเคลียร์สิ่งที่มันรกรุงรัง
เพราะฉะนั้น บารมีธรรม
เป็นเรื่องของการขัดเกลาตนเอง
เป็นเรื่องของการสละออก
บารมีสุดท้าย ก็คือสิ่งที่เรียกว่า อุเบกขาบารมี
การเข้าถึงความเป็นกลางของธรรมชาติ
อุเบกขาจะมีทั้งระดับโลกียธรรม
และก็ระดับโลกุตตระธรรม
โลกียธรรม ก็คือเข้าถึงอุเบกขาที่จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ
ในระดับฌานที่ 4 เข้าถึงอุเบกขา
เข้าถึงความเป็นกลางตรงนี้
เป็นการสะสมบารมีธรรมเช่นกัน
อุเบกขาจริง ๆ มันมีทั้ง
ระดับรูปฌานและระดับอรูปฌาน
ในสมาบัติที่ 8 ก็จะเป็นระดับอุเบกขาเช่นกัน
เดี๋ยวเราจะได้เรียนรู้ระดับอรูปฌาน
เรื่องสมาบัติด้วย
ส่วนอุเบกขาอันเป็นโลกุตตระ
ก็คือเวลาที่เราสลัดคืนเข้าสู่ถึงความบริสุทธิ์
เข้าถึงความบริสุทธิ์
เราถึงจะเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า อุเบกขา
มันคือความเป็นกลางของธรรมชาติที่แท้จริง
ความเป็นกลางของธรรมชาติ
มันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของธรรมชาติอยู่แล้ว
ไม่ได้ถูกสรรสร้าง
ไม่ได้ถูกปรุงแต่งขึ้นมา
เพราะฉะนั้น อุเบกขา
มันคือความเป็นกลางของธรรมชาติ
มันคือธาตุของธรรมชาติ
เหมือนธาตุดิน เหมือนแผ่นดิน
แผ่นดิน ใครไปเหยียบไปย่ำ
ก็ไม่อะไรกับอะไรทั้งสิ้น
เป็นกลางของธรรมชาติอยู่แล้ว
แต่ทุกคนก็เหยียบย่ำบนแผ่นดิน
โอบอุ้มทุกสรรพสิ่ง
ความเป็นกลาง มันไม่ใช่การเฉยเมย
ไม่ใช่ความแห้งแล้ง
แต่ความเป็นกลาง
คือมันไม่เกาะเกี่ยวกับสิ่งใด
ไม่อะไรกับอะไร แต่ว่าโอบอุ้มทุกสรรพสิ่ง
เหมือนสายน้ำที่ไหลผ่าน
แม่น้ำน่ะ ใครจะไปดื่มกิน ไปทำอะไร
สายน้ำก็ไม่เคยบ่น ก็เป็นกลางของธรรมชาติ
แต่ทุกคนก็ต้องมีน้ำในการหล่อเลี้ยงชีวิต
เหมือนแผ่นดิน
นี่แหละ คือความเป็นกลางของธรรมชาติ
เมื่อเราสามารถสลัดคืน เข้าถึงธาตุที่บริสุทธิ์
ที่เป็นความบริสุทธิ์ เป็นอมตธาตุ
ถึงจะเข้าถึงความเป็นกลางที่แท้จริง
สิ่งนี้มันคือธรรมชาติแท้ ๆ อยู่แล้วโดยธรรมชาติ
ที่ไม่ต้องถูกอะไรสรรสร้างหรือปรุงแต่ง
เพียงแต่ว่าจะเข้าถึงได้
ต้องเพิกอวิชชาออกไปจากใจ
จึงจะสามารถสลัดคืนสู่ความบริสุทธิ์
ตรงนี้จึงจัดเป็นบารมีธรรมตัวสุดท้าย
ที่เรียว่า อุเบกขาบารมี เข้าถึงความเป็นกลาง
เพราะฉะนั้น 10 ประการ
ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี
ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี
สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี
เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี
10 ประการ ต้องมีบารมีตรงนี้
จนบารมีธรรมเต็ม
จึงจะสามารถหลุดพ้นเป็นสมุจเฉทปหานได้
แต่ถ้าจะสร้างสมเป็น
ผู้ที่มีขีดความสามารถในการโปรดสัตว์
ที่เรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บารมีตรงนี้จะต้องเข้มข้นมาก
ตั้งแต่บารมีชั้นต้น บารมีชั้นกลาง แล้วก็ปรมัตถบารมี
ต้องสร้างบารมีอย่างยิ่งยวด กำลังใจต้องยิ่งยวดมาก
ในการขัดเกลาตนเอง
ในการชำระตนเองอย่างยิ่งยวดมาก
สิ่งนี้แหละ คือสิ่งที่เรียกว่า
เป็นสิ่งที่ใช้ในการที่จะทำให้เรา
ในการชำระตนเอง เป็นบารมีธรรม ... "
.
ธรรมบรรยาย โดย
พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
เยี่ยมชม
youtube.com
การสร้างบารมีธรรม 10 ประการ | ธรรมให้รู้•2564 : ตอนที่ 123
Photo by : Unsplash
4 บันทึก
14
4
7
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
คำสอนครูบาอาจารย์
4
14
4
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย