28 ต.ค. 2021 เวลา 08:44 • ท่องเที่ยว
ลอนดอนวันที่ 5 (ตอน 3) ชมงานที่หอศิลป์เทตบริเตน (Tate Britain)
งานต่อไปก็คือทัวร์งานศิลปะแบบฮาร์ดคอร์กันต่อ คราวนี้ก็เป็นคิวของหอศิลป์เทตบริเตน (Tate Britain) ซึ่งเดินทางมาไม่ยากเลย ตามป้ายลูกศรซึ่งบอกทางมาโดยตลอดก็พบอาคารใหญ่ด้านหน้ามีจั่วและเสาสูงแบบวิหารกรีกริมแม่น้ำเทมส์เดาไม่ยากว่านี่คือที่หมาย
การจัดแสดงของเทตบริเตนคือการนำเสนองานในแบบประวัติศาสตร์ศิลปะ การเข้าชมในแต่ละห้องนั้นเสมือนกับการก้าวเดินไปตามเส้นเวลา (Timeline) โดยเส้นทางเข้าชมจะบังคับให้เราเดินผ่านเส้นเวลาไปเรื่อยๆ ทำให้เราเห็นได้ว่าในแต่ละช่วงเวลามีสิ่งสำคัญอะไรบ้างที่เกิดขึ้น และสามารถอธิบายว่างานศิลปะได้สะท้อนสิ่งเหล่านั้นออกมาได้อย่างไร ราวกับการเดินทางของงานศิลปะไปบนพื้นพรมของเหตุการณ์ที่พลิกผันไป
ผมจึงขอเล่าตามที่เขาได้นำเสนอไว้เพื่อให้ท่านได้รับความรู้สึกราวกับได้เดินไปชมด้วยกันดังนี้นะครับ
งานศิลปะเก่าแก่ที่สุดของที่นี่เริ่มตั้งแต่ยุคทิวดอร์ในช่วงประมาณสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ซึ่งเน้นภาพวาดบุคคลชั้นสูง ในยุคที่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมีพลังสูงสุด จะเห็นได้จากการวางท่าและชุดที่สวมใส่ที่หรูหราฟู่ฟ่า แต่หลังจากนั้นในห้องถัดมาลักษณะงานก็เปลี่ยนทิศทางไป ภาพบุคคลที่แต่งตัวเต็มยศมีการวาดเป็นหมู่คณะมากขึ้น เห็นการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิต ภาพครอบครัวที่ปรากฏในบ้านและสวน งานศิลปะในช่วงเวลานี้จึงดูผ่อนคลาย ไม่เป็นทางการแบบชนชั้นสูง เริ่มมีภาพทิวทัศน์กับหุ่นนิ่งมากขึ้น
ภาพวาดส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่อังกฤษกลายเป็นมหาอำนาจของโลก สร้างจักรวรรดิได้อย่างไพศาล สามารถการสู้รบกับคู่แข่งคนสำคัญอย่างเช่นฝรั่งเศสและสเปน มีเหตุการณ์ที่คนอังกฤษประทับใจและต้องการจดจำในช่วงนั้นทำให้เกิดงานภาพเขียนจำลองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และวีรกรรมในสงคราม
ความคิดเห็นว่าศิลปะที่ดีมีคุณค่าต้องเป็นอย่างไรทำให้ศิลปินทั้งหลายตอบสนองคุณค่าเหล่านั้น ตัวอย่างเช่นในยุคที่มีการจัดตั้งสำนักราชบัณฑิตยสถานศิลปะ (Royal academy of arts) จิตรกรรมในสมัยนั้นจึงต้องทำตัวให้ดูไฮโซด้วยการวาดภาพเทพเจ้ากรีกและโรมันเพื่อให้งานของตนดูสูงส่งกว่าภาพของช่างทั่วไป บุคคลในภาพจึงโพสต์ท่าแบบเทพเจ้าสวยงามเกินจริง
อิทธิพลของวรรณกรรมและละครก็มีผลต่อการสร้างงานในยุคต่อมา โดยเฉพาะจากเชคสเปียร์หลายภาพ ตัวอย่างเช่นเรื่องราวจากคิงเลียร์ แมคเบธ และแฮมเลต ซึ่งมีความโดดเด่นจากการแสดงอารมณ์ของตัวละครเกินจริง แต่ในเวลาต่อมาเมื่อเกิดวรรณกรรมสมัยใหม่ที่มองโลกแบบสมจริงมากขึ้น เราจึงได้เห็นภาพการวาดของมนุษย์ที่ไม่ได้ดูดีงามอย่างอุดมคติแบบก่อน ตัวอย่างเช่น จากภาพคู่รักกลายมาเป็นภาพชู้รักไปได้
นอกจากนี้ งานศิลปะยังมีโอกาสย้อนยุค ตัวอย่างเช่นศิลปะสมัยนีโอคลาสิกซึ่งได้รับแรงกระตุ้นจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่สำคัญ เช่นเมืองปอมเปอี ซากเก่าของเมืองสมัยโรมันต่างๆทำให้เกิดการสร้างงานในรูปแบบกรีกโรมันอีกครั้ง
และแล้วโลกก็เปลี่ยนไปอีก ถึงยุควิคตอเรีย งานที่สร้างขึ้นจะแสดงถึงชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นตามความเป็นจริง จิตรกรกลับเริ่มหันมาสนใจวาดคนสามัญ ชาวบ้านและกรรมกรมากขึ้น
ตรงนี้เองที่โลกศิลปะเข้ามาสู่จุดเปลี่ยนเป็นยุคสมัยใหม่ เริ่มมีงานศิลปะแบบอิมเพรสชันนิซึ่มที่แสดงฝีแปรงที่ปาดอย่างรวดเร็ว สร้างภาพที่เก็บบรรยากาศของชีวิตและสภาพแวดล้อมกลางแจ้งได้
และเมื่อเดินมาถึงศตวรรษที่ 19 งานศิลปะก็ก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่อย่างเต็มตัว มีการแข่งขันสร้างสไตล์ใหม่ๆเพื่อหาเอกลักษณ์ของศิลปินแต่ละกลุ่ม การเดินทางไปต่างแดนเพื่อพบเจอกับสิ่งแปลกใหม่ในโลกตะวันออก ส่งผลต่อการสร้างงานที่สร้างความตราตรึงใจกับความลี้ลับ ความงาม ชวนติดตามดินแดนในฝันอันแสนไกล และหลังจากนั้นโลกก็ได้เห็นศิลปะแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) สร้างสรรค์และตกแต่งด้วยเส้นสายอ่อนหวานของดอกไม้ ใบไม้ ธรรมชาติ และหญิงสาวสวยในชุดงดงาม ตามมาด้วยการเกิดขึ้นของศิลปะแบบอาร์ตนูโว (Art Nouveau) และบาศกนิยม (Cubism) และลัทธิศิลปะรูปแบบอื่นๆอีกมาก
นอกจากนั้น อิทธิพลของวิทยาศาสตร์ก็มีส่วนต่องานศิลปะเช่นกัน ตัวอย่างเช่นการสร้างภาพให้เป็นภาพสามมิติโดยใช้เครื่องสเตอริโอสโคป (stereoscope) ซึ่งเป็นสิ่งน่าตื่นเต้นแห่งยุค ในแกลอรี่มีห้องหนึ่งแสดงนวัตกรรมนี้โดยเฉพาะทำให้เราสามารถส่องดูภาพสามมิติจากหลายตู้เลยทีเดียว เด็กๆวิ่งไปมาดูภาพอย่างสนุกสนาน ชี้ชวนกันชมหัวเราะคิกคัก สร้างชีวิตชีวาปนน่ารำคาญ
เส้นทางของการเดินทางจบลงด้วยปี 1960 ซึ่งเป็นช่วงของการฟื้นตัวหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงนี้เราได้เห็นการเปิดกว้างของงานศิลปะที่แสดงออกได้อย่างไร้ขอบเขตและให้ความสำคัญของความเป็นปัจเจกบุคคลของศิลปิน มีการนำเสนอรูปแบบใหม่ เช่น conceptual art และ performance art รวมถึง VDO art ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ยังคงอิทธิพลอยู่กับเราจนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากศิลปะที่นี่มีมากมายจนพรรณนาได้ไม่หวาดไหว แต่หากจะให้ผมพาทัวร์อาจยกตัวอย่างที่ตัวเองประทับใจมาบางชิ้น พอให้เกิดความอยากที่จะมาลิ้มลองดูของจริงที่นี่บ้าง ลองดูซิว่าจะตรงรสนิยมกันบ้างไหม
Cholmondeley Ladies เป็นภาพหญิงสอง อุ้มทารกซึ่งถูกห่อไว้ด้วยผ้าแดงอยู่บนตัก จัดท่าทางแบบเดียวกันเป๊ะ เหมือนฝาแฝดคู่หนึ่งถูกปั๊มลงในรูปซ้ำกันดูแปลกสะดุดตา แม่นางสองคนนั้นจ้องมองมาทางคนดูราวกับว่ากำลังจะบอกอะไรแก่เรา
ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ชัดว่าภาพนี้คือใคร ใครวาด และผู้วาดต้องการสื่อสารอะไร สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ไว้ก็คือ ภาพนี้อาจแสดงถึงผู้หญิงสองคนที่เกิดและแต่งงานในวันเดียวกัน นอกจากนี้มีผู้ที่ให้ความเห็นว่าการจัดเรียงตัวละครในภาพทำให้นึกถึงรูปแกะสลักหลุมฝังศพและอาจเป็นการอุปมาอุปมัยวงจรชีวิตของการเกิดและการตาย
ต่อไปขอนำเสนอภาพที่นำเอาละครเชคสเปียร์มาใช้นะครับ
ภาพจาก wilipedia commons
เริ่มจากภาพ Lady Macbeth Seizing the Daggers Henry Fuseli มาจากละครเรื่องแมคเมธ ตอนที่พระเอกของเรื่องหลังการกระทำฆาตกรรมกษัตริย์ อยู่ในสภาพตระหนกตัวซีดเผือดขาวโพลนท่ามกลางความมืด ยืนเกร็งพร้อมกับมือที่กำลังกำมีดเปื้อนเลือด โดยด้านขวามือคือภรรยาที่เป็นผู้ยุยงให้กระทำการดังกล่าวซึ่งมีลักษะร่างกายขาวใสราวกับผี แสดงการตกใจอย่างสุดขีดในบรรยากาศชวนสยอง
ภาพ Head of a Man ของ John Simpson เป็นนักแสดงผิวดำชื่อ Ira Aldridge (1807-1867) ซึ่งได้มาแสดงเป็นพระเอกละครในเรื่อง Othello ของเชคสเปียร์ ภาพนี้สำคัญตรงนี้เขาเป็นคนที่หล่อมาก และภาพก็แสดงความหล่อออกมาจากดวงตาที่มองบนอย่างแข็งแกร่ง คอเสื้อที่แบะออก และโทนสีพื้นน้ำตาลรองรับผิวดำแกร่งแบบลูกผู้ชาย
[1] โอฟิลเลียคนรักของเจ้าชายแฮมเล็ต ผู้ซึ่งเสียใจจากการถูกเจ้าชายแสดงการหมางเมินทอดทิ้ง อีกทั้งยังเป็นผู้ปลิดชีวิตบิดาของเธอโดยไม่ตั้งใจ ทำให้เธอเสียยติและเดินเคว้างคว้างออกจากบ้าน เมื่อมาถึงลำธานแห่งหนึ่งเธอได้ปีนไปที่ต้นไม้เพื่อนำพวงดอกไม้ไปคล้องบนกิ่ง แต่กิ่งนั้นได้หัก ตัวเธอจึงได้ร่วงลงและล่องลอยไปในสายธาร แม้ว่าร่างเธอจะค่อยๆจมลงในสายน้ำแต่เธอก็ยังคงไร้สติสัมปชัญญะได้แต่ร้องเพลงเรื่อยไปจนถูกดึงร่างลงสู่ใต้ลำธารในที่สุด
งานอีกชิ้นหนึ่งที่ผมโปรดปราน คือภาพความตายของโทมัสแชตเตอร์ตัน (The Death of Chatterton) ซึ่งเป็นกวีที่วางยาพิษตัวเองด้วยความสิ้นหวังเมื่ออายุสิบเจ็ดปี ภาพหนุ่มน้อยทรงสเน่ห์ที่ทอดกายระทวยบนเตียงราวกับจะตกลงมา แสดงอารมณ์แบบหนังเศร้าตอนจบจนคนดูต้องร้องไห้สงสาร (คู่กันกับภาพโอฟิลเลียเลย) กางเกงสีม่วงสดใสและเส้นผมสีแดง ยิ่งทำให้พ่อหนุ่มดูหล่อมี charactor อย่างพระเอก การตายของเขาจึงเป็นเรื่องโรแมนติคชวนให้เสียดาย ซึ่งในที่สุดแล้วเขาก็ได้เป็นพระเอกจริงๆเพราะหลังการตายได้มีคนนำเรื่องมาทำเป็นละครโด่งดัง
1
ภาพจาก wikicommons
อีกภาพที่แสนจะอบอุ่นละมุนละไมของเด็กสองคนในสวนในชุดยาวสีขาวท่ามกลางดอกกุหลาบ คาร์เนชั่น และดอกลิลลี่สีขาวสะพรั่งในสนามหญ้า กำลังหยิบถือโคมไฟกระดาษขาวกลมที่มีแสงสีส้มอยู่ภายใน ชื่อว่าภาพ John Singer Sargent , Carnation, Lily, Lily, Rose ภาพบรรยากาศของแสงยามเย็นบนเสื้อผ้าและดอกไม้ขาวเมื่อประกอบกับเด็กน้อยสองคนที่กำลังหยิบโคมไฟก็ยิ่งดูอ่อนโยนมากขึ้น จุดประกายด้วยแสงส้มในโคมก็ยิ่งดูอุ่นใจ
งานของศิลปินอีกคนที่เราชื่นชอบได้แก่ ฟรานซิสเบคอน ที่โปรดปรานมากก็เพราะงานของเขานั้นเครียดร้าวระทมสยอง โดยเฉพาะภาพ Figures at the Base of a Crucifixion - Three Creeks, Missouri เป็นรูปสัตว์ประหลาดคอยาวที่ดูพิกลพิการร่างกายบิดเบี้ยว อ้าปากที่มีฟันเรียงซี่ด้วยความเจ็บปวดทรมานสะใจจริงๆ งานของเบคอนชิ้นนี้ทำขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งสอง พ.ศ. 2488 จึงสะท้อนถึงความโหดร้ายของโลกในช่วงนั้น
นอกจากนี้จะขอแนะนำผลงานของ เฮนรี่ มัวร์ (Henri moore) ที่ถูกสะสมไว้ที่นี่จำนวนมาก เฮนรี่ มัวร์ เป็นประติมากรอังกฤษที่มีสไตล์เฉพาะตัว งานของเขามีรูปทรงชวนให้นึกถึงหินปะการังที่มีมีรูปทรงหงิกงอและมีโพรงเว้า และหากใครบางคนดูแล้วคิดถึงกระดูกหรือหัวกะโหลกก็ต้องบอกเลยว่าใช่แล้ว คุณตาถึงมาก เพราะศิลปินได้สะสมกระดูกและหัวกระโหลกไว้ศึกษาในการสร้างงานไว้เยอะ บางครั้งก็ยังเก็บหินและหอยมานั่งมองก่อนสร้างประติมากรรมอีกด้วย
งานของเขาจึงมีลักษณะภาพกึ่งนามธรรม (abstract) ที่เป็นรูปคนที่ไม่ใช่คน แต่ก็ดูออกว่ามันคล้ายๆกับคนในอิริยบทต่างๆ เช่นคนอ้วนกำลังเอนกาย ผู้หญิงผู้ชายที่นอนหรือนั่งเอกเขนก บางครั้งก็เป็นครอบครัว แต่ไม่ว่าเราจะมองเป็นอะไรก็ตาม สิ่งที่เหมือนกันก็คือความงามของช่องว่างที่สอดรับกันลงตัวดี มาชมงานของเขาที่นี้แล้วรับรองว่าไม่ผิดหวัง
หวังว่าท่านทั้งหลายคงได้อิ่มเอมเปรมใจกับผลงานของศิลปินหลายคนที่นี่นะครับ แต่หากใครสนใจไปชมงานยุคสมัยใหม่ให้สะใจยิ่งขึ้น สามารถข้ามฝั่งน้ำไปต่อที่ Tate modern ได้ หอศิลป์ที่นั่นสะสมงานตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 (1900 เป็นต้นไป) มีงานสมัยใหม่จุใจอย่างยิ่ง ใครจะไปบ้างยกมือขึ้น ผมนี่แหละจะพาไปตามมาละกัน
โฆษณา