28 ต.ค. 2021 เวลา 09:35 • ข่าว
สหรัฐฯ จะถอนทหารออกจากซีเรียตามหลังอัฟกานิสถานหรือไม่?
US soldiers prepare to go out on patrol from a remote combat outpost in northeastern Syria in May [File: John Moore/Getty Images]
สหรัฐฯ จะไม่ถอนทหารราว 900 นายออกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียเร็วๆ นี้ แม้ว่าจะมีการคาดเดากันมากขึ้นว่าพวกเขาจะทำเช่นนั้นหลังจากถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในเดือนสิงหาคม ตามรายงานของเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้เกี่ยวกับแผนการบริหารของไบเด็น
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้สังเกตการณ์ในซีเรียได้ตั้งคำถามว่าการตัดสินใจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการยุติสงครามที่ยาวนานที่สุดของสหรัฐในอัฟกานิสถานซึ่งชาวโลกได้เห็นเครื่องบินอเมริกันลำสุดท้ายออกจากน่านฟ้าอัฟกานิสถานเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม อาจเป็นการแสดงถึงการถอยห่างจากซีเรียในลักษณะเดียวกันหรือไม่
สหรัฐฯ ยังคงทหาร 900 นายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย ทำหน้าที่ช่วยเหลือพันธมิตรต่อต้านการก่อการร้ายในท้องถิ่นของวอชิงตัน อันหมายถึงกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (SDF) ที่นำโดย YPG กลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด เพื่อทำให้มั่นใจว่ากลุ่มติดอาวุธ ISIL (ISIS) จะพ่ายแพ้อย่างถาวร
กองกำลังสหรัฐถูกส่งไปยังภูมิภาคนี้เป็นครั้งแรกในปีค.ศ.2014-2015 ภายใต้อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา เพื่อให้การสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แก่นักรบชาวอาหรับและชาวเคิร์ดในพื้นที่ในการต่อสู้กับ ISIL
ในเดือนตุลาคม 2019 หลังจากความพ่ายแพ้ของ ISILในภูมิภาค อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนกองกำลังสหรัฐออกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย ก่อให้เกิดการโจมตีของตุรกีในพื้นที่ต่อ SDF ซึ่งอังการาถกเถียงกับพันธมิตรมานานว่ากลุ่มนี้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของตุรกีเนื่องจากผู้นำของ YPG มีความสัมพันธ์ของผู้นำกับพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (PKK) ซึ่งอังการาถือเป็น "กลุ่มก่อการร้าย"
อย่างไรก็ตาม หลังถูกวิจารณ์ทั้งภายในและภายนอกสหรัฐฯ ทรัมป์ก็กลับลำและตกลงที่จะคงกองกำลังสหรัฐเอาไว้ในพื้นที่
นักวิเคราะห์บางคนโต้แย้งว่าการที่ไบเดนพยายามยุติ "สงครามตลอดกาล" หลังเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากความปรารถนาอย่างแรงกล้าในหมู่ประชาชนชาวอเมริกันที่อยากเห็นประเทศของตนคลี่คลายจากการสู้รบทางทหารในตะวันออกกลาง อาจหมายความว่าการถอนตัวจากซีเรียอยู่ในวาระนโยบายต่างประเทศอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งซึ่งทำงานเกี่ยวกับนโยบายตะวันออกกลางในสภาความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาวของไบเด็นได้กล่าวว่าความคิดดังกล่าวเป็นการ “ประเมินเกินจริงจากประสบการณ์ในอัฟกานิสถาน”
“ผู้คนพูดถึงวิธีที่เรากำลังดำเนินการเพื่อยุติสงครามที่ไม่มีที่สิ้นสุด ราวกับว่าเรามีกลยุทธ์นี้ที่จะละทิ้งคำมั่นสัญญาทั้งหมดของเราในตะวันออกกลางโดยสิ้นเชิง นี่เป็นเรื่องโกหกชัดๆ และเรียบง่ายจนน่าประหลาดใจ
เรารู้ว่าอัฟกานิสถานและซีเรียเป็นสองสถานที่ที่แตกต่างกัน และนั่นเป็นสาเหตุที่นโยบายของเราต่อแต่ละส่วนนั้นย่อมแตกต่างกันมาก” เจ้าหน้าที่บอกกับ Al-Jazeera โดยไม่เปิดเผยตัวตนเพราะความอ่อนไหวของข้อมูล
“ขนาดและลักษณะของวัตถุประสงค์ของเรา ความลึกของการมีส่วนร่วมของเรา และชนิดของสภาพแวดล้อมที่เราดำเนินการในซีเรียนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง” เจ้าหน้าที่กล่าวเสริม
เขาบอกกับAl-Jazeera อีกว่า สหรัฐฯ ได้แจ้งไปยังผู้นำของ SDF โดย “รับประกัน” ว่าสหรัฐฯ จะยังไม่ออกจากซีเรีย
คีโน กาเบรียล ซึ่งเพิ่งเป็นโฆษกของ SDF แต่มีความใกล้ชิดกับองค์กร กล่าวว่ามีการจัดประชุมระหว่างผู้นำ SDF และ "ภาคส่วนต่างๆ ของฝ่ายบริหารสหรัฐฯ" รวมถึงผู้แทนทางทหารและการเมือง เกี่ยวกับอนาคตของการปรากฏตัวภาคพื้นดินของสหรัฐฯ
“พวกเขา (ชาวอเมริกัน) ยืนยันอย่างชัดเจนและหนักแน่นว่าซีเรียนั้นต่างจากอัฟกานิสถาน” กาเบรียลกล่าว
การวิเคราะห์ที่ผ่านๆ มาได้มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ความพยายามที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงของตุรกีที่จะกวาดล้าง SDF ให้หมดจากภาคเหนือของซีเรีย หรือความพยายามของรัสเซียที่จะโน้มน้าวให้ YPG จะละทิ้งการอุปถัมภ์ของสหรัฐฯ แล้วกลับไปคืนดีกับระบอบการปกครองของประธานาธิบดี Bashar al-Assadอาจเปลี่ยนวิธีคำนวณเชิงกลยุทธ์ของสหรัฐได้ และท้ายที่สุดอาจสนับสนุนวอชิงตันให้ยอมตัดขาดทุนและถอนตัวออกจากเกม
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์เหล่านี้ไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของแรงกดดันทางการเมืองภายในประเทศ
การถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานนั้นได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งของอเมริกามาหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่การสังหาร Osama bin Laden ในปี 2011 ซึ่งต่างจากประเด็นซีเรียที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ได้แสดงการสนับสนุนภารกิจต่อต้าน ISIL ในซีเรียและอิรัก บ่งชี้ว่า Biden อาจเผชิญ แรงกดดันจากล่างขึ้นบนในปริมาณที่น้อยกว่าประเด็นอัฟกานิสถาน
ประเภทของภารกิจที่ถูกติดตามก็มีความสำคัญเช่นกัน ภารกิจสร้างชาติในอัฟกานิสถานได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นวัตถุประสงค์ไม่เป็นที่นิยมอย่างที่สุดในสหรัฐฯ ขณะที่ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนได้สังเกตเห็นชาวอเมริกันยินดีที่จะระงับความสงสัยเกี่ยวกับการแทรกแซงสถานการณ์ต่างประเทศเมื่อเป็นประเด็นการต่อสู้กับอัลกออิดะฮ์และISIL
ยังเป็นที่น่าสงสัยอีกด้วยว่า เร็วๆ นี้ฝ่ายบริหารของไบเดนและตัวประธานาธิบดีเองจะเต็มใจที่จะถูกทรมานในสภาคองเกรสอีกครั้งหรือไม่หลังจากถูกประณามอย่างหนักทั้งในสภาล่างและสภาบนจากการตัดสินใจที่จะถอนตัวจากอัฟกานิสถาน มิพักต้องพูดถึงสื่อระดับชาติที่ขยี้ประเด็นนี้อย่างหนัก
ในฐานะผู้ช่วยคนหนึ่งของวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครตซึ่งนั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการบริการอาวุธบอกกับ Al-Jazeeraว่า “หลังจากอัฟกานิสถาน ฝ่ายบริหารดูเหมือนจะยังไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือการถูกโจมตีอีกครั้งในสภาคองเกรส มีความรู้สึกที่ค่อนข้างรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายว่าเราควรใช้อำนาจอย่างเต็มที่ รวมถึงการคงทหารของเราไว้จนกว่ากระบวนการทางการเมืองที่จริงจังในซีเรียจะเสร็จสมบูรณ์”
“จากสิ่งที่ผมได้ยินมา เมื่อพูดถึงเรื่องกำลังพลภาคพื้นดินของเรา ทำเนียบยังมีความเห็นตรงกัน” ผู้ช่วยกล่าวเสริม
ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไบเดนอาจจูงใจให้เขารักษากองกำลังในซีเรียไว้ในขณะนี้ ระหว่างดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในฝ่ายบริหารของโอบามา ไบเดนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการถอนกองกำลังรบของสหรัฐฯ ออกจากอิรักในเดือนธันวาคม 2011โดยไม่เหลือกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายไว้เลยแม้เพียงนายเดียว ซึ่งการตัดสินใจครั้งนั้นถูกยกย่องว่าได้ช่วยสร้างสุญญากาศทางอำนาจในพื้นที่และเป็นผลดีต่อการกลับมาอีกครั้งของอัลกออิดะฮ์ในอิรัก ซึ่งต่อมาได้เติบโตเป็น ISIL
ในขณะที่ ISIL ได้ถอยกลับไปสู่การก่อกบฏที่มีความรุนแรงต่ำนับตั้งแต่ความพ่ายแพ้ในเดือนมีนาคม 2019 และสมาชิกอาวุโสยังคงถูกไล่ล่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจระวังเกี่ยวกับการถอนทหารออกจากพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ที่ไม่มั่นคงซึ่งเคยถูกยึดครองโดย ISIL ก่อนหน้านี้ เพราะหากถอนตัวแล้วประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง ISIL กลับมาเคลื่อนไหวในพื้นที่เขาก็เสี่ยงที่จะสูญเสียคะแนนทางการเมืองในสหรัฐฯ
แม้ว่าความสามารถในการปฏิบัติการของ ISIL จะลดลง แต่ก็ยังไม่หมดเขี้ยวเล็บ สมาชิกของ ISIL ยังคงดำเนินการซุ่มโจมตีและลอบสังหารอย่างต่อเนื่องตลอดแนวตะวันออกและตอนกลางของซีเรีย นอกจากนี้ มอสโกและดามัสกัสก็ไม่น่าจะแบกรับภาระของปฏิบัติการต่อต้าน ISIL ในพื้นที่เดิมทางตะวันออกของประเทศ เพราะทั้งสองมองว่าการยึดป้อมปราการสุดท้ายของกลุ่มกบฏที่อิดลิบทางตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของซีเรียนั้นเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญมากกว่า
เมื่อSDF ไม่สามารถจะประคับประคองตัวเองได้นานนักหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ จึงไม่ยากที่จะจินตนาการถึงสถานการณ์หลังการถอนตัวของสหรัฐฯ ที่ ISIL จะฟื้นคืนชีพได้อีกครั้ง
ผู้ช่วยวุฒิสมาชิกจากเดโมแครตกล่าวอีกว่า ผลลัพธ์ดังกล่าวจะหมายถึง “การฟื้นคืนชีพของ ISIL ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นสองครั้ง อันเป็นผลมาจากการตัดสินใจเชิงนโยบายโดยตรง ซึ่งนั่นไม่ใช่มรดกที่ประธานาธิบดีไบเดนต้องการสำหรับตัวเขาเองหรือสำหรับพรรคเดโมแครตอย่างแน่นอน”
ที่มา : https://bit.ly/3nAwd1B

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา