Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เฉลิมพันธุ์ ฤาวิชา
•
ติดตาม
28 ต.ค. 2021 เวลา 12:35 • การศึกษา
เทคโนโลยีและนวัตกรรมดนตรีไทยศึกษา
ความหมายและที่มาของคำว่า “เทคโนโลยี”
“เทคโนโลยี หรือ เทคนิควิทยา (อังกฤษ: Technology) มีที่มาจากภาษากรีกโบราณ คำว่า กรีก: τέχνη แปลว่า "ทักษะ หรือการใช้ฝีมือ" และ กรีก: λογία แปลว่า วิทยาการ) หมายถึง บรรดาเทคนิควิธี, ทักษะ, วิธีการ หรือ กรรมวิธี ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์และการให้บริการ หรือเพื่อนำไปใช้ให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เทคโนโลยีอาจเป็นได้ทั้งความรู้ด้านเทคนิควิธี วิธีการทำงาน หรือวิธีการทำหรือประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ และยังรวมถึงการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือหรือเครื่องจักรของบุคคลทั่ว ๆ ไปโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเข้าใจถึงหลักการทำงานของมันอีกด้วย”
ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีไว้ว่า น. วิทยาการที่นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ อุตสาหกรรม เป็นต้น
คำว่า "เทคโนโลยี" ในความหมายอย่างกว้าง หมายถึงการนำความรู้ทางธรรมชาติวิทยาและต่อเนื่องมาถึงวิทยาศาสตร์ มาเป็นวิธีการปฏิบัติและประยุกต์ใช้เพื่อช่วยในการทำงานหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ อันก่อให้เกิดวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร แม้กระทั่งองค์ความรู้นามธรรมเช่น ระบบหรือกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้การดำรงชีวิตของมนุษย์ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น
ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีไว้ว่า น. วิทยาการที่นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ อุตสาหกรรม เป็นต้น
คำว่า "เทคโนโลยี" ในความหมายอย่างกว้าง หมายถึงการนำความรู้ทางธรรมชาติวิทยาและต่อเนื่องมาถึงวิทยาศาสตร์ มาเป็นวิธีการปฏิบัติและประยุกต์ใช้เพื่อช่วยในการทำงานหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ อันก่อให้เกิดวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร แม้กระทั่งองค์ความรู้นามธรรมเช่น ระบบหรือกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้การดำรงชีวิตของมนุษย์ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ไฮนิช และคณะ (Heinich, Molenda, & Russell, 1993) กล่าวว่า เทคโนโลยีจำแนกออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
1. เทคโนโลยีในลักษณะของกระบวนการ (process) เป็นการใช้อย่างเป็นระบบของวิธีการทางวิทยาศาสตร์หรือ
ความรู้ต่างๆที่ได้รวบรวมไว้ เพื่อนำไปสู่ผลในทางปฏิบัติ โดยเชื่อว่าเป็นกระบวนการที่เชื่อถือได้และนำไปสู่การแก้ปัญหาต่าง ๆ
2. เทคโนโลยีในลักษณะของผลผลิต (product) หมายถึง วัสดุและอุปกรณ์ที่เป็นผลมาจากการใช้กระบวนการทางเทคโนโลยี
3. เทคโนโลยีในลักษณะผสมของกระบวนการและผลผลิต (process and product) เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งมีการทำงานเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเครื่องกับโปรแกรม
เทคโนโลยีในมิติด้านดนตรีไทย หากตีความจากความหมายของเทคโนโลยีในความหมายแบบกว้างแล้ว ย่อมมีความเป็นมาที่ยาวนาน และต้องทำการสืบค้นข้อมูลในเชิงลึกและกว้างขวางมาก ดังนั้นผู้เขียนจึงขอกำหนดกรอบในการศึกษาด้วยข้อมูลการศึกษาเทคโนโลยีด้านดนตรีไทยที่ปรากฏหลักฐานการศึกษาข้อมูล ทางด้านวิชาการและจากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลที่มีประสบการณ์ ความรู้ และศึกษาเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีกับมิติทางด้านดนตรีไทยเท่านั้น จะนำเสนอข้อมูลตามประเดนต่าง ๆ ต่อไปนี้
1. พัฒนาการของเทคโนโนโลยีด้านดนตรีไทย
2. การนำเทคโนโลยีมาใช้กับงานด้านดนตรีไทย
3. อนาคตของเทคโนโลยีด้านดนตรีไทย
4. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนดนตรีไทย
1. พัฒนาการของเทคโนโนโลยีด้านดนตรีไทย
จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงการศึกษาจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่า เทคโนโลยีด้านดนตรีไทย เริ่มมีข้อมูลความเป็นมาตั้งแต่ช่วงรัชสมัย รัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนขอนำเสนอพัฒนาการของเทคโนโลยีด้านดนตรีไทย โดยแบ่งลักษณะของเทคโนโลยีทางด้านดนตรีไทยออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
1) เทคโนโลยีด้านการบันทึกงานดนตรีและการนำเสนอผลงานดนตรี และ 2) เทคโนโลยีเพื่อการสร้างเครื่องดนตรี โดยนำเสนอไล่เรียงตามช่วงเวลาที่เทคโนโลยีนั้นเกิดและมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับดนตรีไทย ด้วยข้อูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ อัษฎาวุธ สาคริก ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ ศึกษา และเก็บรวมรวมผลงานและข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับดนตรีไทยมาตลอด รวมไปถึงศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสารวิชาการ งานวิจัย และบทความที่น่าสนใจจากสื่อการเรียนรู้แบบออนไลน์ พบข้อมูลในการนำเสนอ ดังนี้
1) พัฒนาการเทคโนโลยีด้านการบันทึกงานดนตรีและการนำเสนอผลงานดนตรี
1.1) ยุคเริ่มต้น ยุคกระบอกเสียงหรือกระบอกขี้ผึ้ง
liveauctioneers.com
Edison Concert Phonograph, 1901 - May 18, 2019 | Auction Team Breker in Germany
Edison Concert Phonograph, 1901 No. C 6718, 2nd version, oak case with lid, original cabinet finish with decal, origi... on May 18, 2019
ภาพที่ 1 แสดงภาพ Edison Concert Phonograph, 1901
ที่มา:
https://www.liveauctioneers.com/item/71303733_edison-concert-phonograph-1901
จากการสัมภาษณ์เก็บข้อมูล อัษฎาวุธ สาคริก (2564) ได้กล่าวถึงกระบอกเสียงหรือกระบอกขี้ผึ้งไว้ว่า มีประวัติว่าถูกใช้ในการบันทึกเสียงตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ความยาวในการบันทึกเสียงนั้น ไม่เกิน 3-4 นาที Speed อยู่ที่ราว 78 Rpm (รอบต่อนาที) อุปกรณ์ชิ้นนี้ ถูกพัฒนาโดย Thomas Elva Edison ซึ่งมีความสอดคล้องกับข้อมูลการทบทวนวรรณกรรมของงานวิจัยเรื่อง เรื่องการบันทึกเสียงเพลงไทย : กรณีศึกษาแผ่นเสียงร่องกลับทาง (ศันสนีย์ จะสุวรรณ์, 2554) ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในปี พ.ศ.2443 มีหลักฐานของการอัดเพลงไทยที่มีชื่อเพลงว่าคำหอม โดยใช้กระบอกเสียงชนิด Concert และกระบอกเสียงทั้งหมดนี้ไปยังกรุงปารีส เพื่อแปลงเป็นแผ่นแม่แบบต่อไป
นอกจากนี้ในข้อมูลจากงานวิจัยนี้ ยังกล่าวถึงอุปกรณ์การบันทึกชนิดนี้ที่มีความเชื่อมโยงกับชื่อเรียก “กระบอกขี้ผึ้ง” ที่อัษฎาวุธ สาคริก เรียก ในเนื้อความที่กล่าวถึงการจดทะเบียบกรรมสิทธิ์เครื่องบันทึกเสียงที่ Edison พัฒนาขึ้น ในปี 2430 เครื่องบันทึกเสียงนี้ ถูกเรียกว่า “กระบอกเสียงของเอดิสัน” (Edison Cylinder) กระบอกบันทึกเสียงนั้น มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก บนผิวด้านนอกฉาบไว้ด้วยขี้ผึ้งแข็ง จึงเป็นที่มาของการเรียกอุปกรร์บันทึกเสียงชิ้นนี้ว่า กระบอกขี้ผึ้ง
2) ยุคของแผ่นเสียง
ภาพที่ 2 แสดงภาพแผ่นเสียงตรากระต่าย ตำนานแผ่นเสียงแห่งย่านบางลำพู ที่มา : http://banglamphumuseum.treasury.go.th/news_view.php?nid=273
การใช้แผ่นเสียงในการบันทึกเสียงและนำเสนอผลงานดนตรีไทย มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งปรากฏหลักฐานจากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นจากพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 เองที่กล่าวถึงการบันทึกลงแผ่นเสียงในราวปี พ.ศ.2450 โดยหม่อมส้มจีนเป็นผู้ขับร้อง การบันทึกและนำเสนอเพลงไทยด้วยแผ่นเสียงมีอายุยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงต้นรัชกาลที่ 9 เป็นที่นิยมและแพร่หลายมาก และมีปรากฎหลักฐานการใช้แผ่นเสียงอยู่ด้วยกัน 3 ลักษณะ ได้แก่
2.1) แผ่นเสียงหน้าเดียว มีเพียง 2 บริษัท คือ บริษัท Gramophone Concert Record
ได้แก่ เพลงแสนเสนาะ 3 ชั้น บั้ยคลั่ง (ใบ้คลั่ง) 3 ชั้น ซึ่งขับร้องโดยหม่อมส้มจีน (ซ๊มจีน) ส่วนอีกตราหนึ่งเป็นของบริษัท Robinson Piano (Columbia) พบเพียงแผ่นเดียวคือเพลงลาวแพน ซึ่งขับร้องโดยหม่อมเจริญในเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์
2.2) แผ่นเสียงสองหน้าร่องกลับทาง ไม่ปรากฏชื่อบริษัท แต่เขียนไว้ว่าบันทึกที่เมือง Brussel ประเทศ Belgium เป็นเพลงตับคาวีพระราชนิพนธแสมเด็จเจ้าฟ้กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ หม่อมเจริญ เป็นผู้ขับร้อง
2.3) แผ่นเสียงสองหน้าร่องธรรมดา แผ่นเสียงชุดนี้เป็นของบริษัท InternationalTaking Machine พิมพ์บนแผ่นเสียงไว้ว่า จัดทำให้กับบริษัท Fonotopia โดยเฉพาะเครื่องหมายการค้าตราตึก หรือตรา Oden Record ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10.5 นิ้ว
อัษฎาวุธ สาคริก ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า ในช่วงแรกของการใช้แผ่นเสียง สามารถบันทึกได้ 2-3 นาทีเท่านั้น ต่อมาราวปี พ.ศ. 2490 ได้มีการใช้แผ่นเสียงที่เรียกว่า แผ่นเสียงไวนิล และแผ่นเสียง Long play ที่สามารถบันทึกเสียงเพลงดนตรีไทยได้ยาวนานยิ่งขึ้น แต่ความนิยมลดน้อยลงจากการเข้ามาของเทปรีล
3) ยุคของเทป
ภาพที่ 3 แสดงภาพเทปรีล ที่มา : https://inwfile.com/s-gf/ctlkd2.jpg
ยุคของการใช้เทปเริ่มต้นด้วยการใช้เทปชนิดที่เรียกว่า “เทปรีล” โดยจากงานวิจัยเรื่อง วิเคราะห์ทางขับร้องเพลงหน้าพาทย์บทคอนเสิร์ต ตับนางลอย บ้านพาทยโกศล โดยครูอุษา แสงไพโรจน์ (ปริญญา ทัศนมาศ, 2562) ปรากฏข้อความที่กล่าวว่า เมื่อคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณได้มาทำงานในตำหนักปลายเนิน หม่อมเจ้าเพลารถ จิตรพงศ์ และหม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ ได้จัดให้มีการบันทึกเสียงเพื่อเก็บรักษาบทเพลงที่เป็นฝีมือการบรรเลงของนักดนตรีจากบ้านพาทยโกศล ประมาณปี พ.ศ. 2489 คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ได้เป็นต้นเสียงในการบันทึกเทปรีล (Tape Reel) ซึ่งในสมัยนั้นได้รับความนิยมมากกว่าแผ่นเสียงแบบโบราณ
ต่อมา เทปรีลถูกพัฒนาต่อให้มีขนาดที่เล็กลง มีราคาถูก และสามารถบันทึกเสียงได้ง่ายขึ้น โดยอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า เทปคาเซ็ท ไม่ปรากฏหลักฐานว่าถูกใช้กับดนตรีไทยในครั้งแรกเมื่อใด ผู้เขียนรายงานสันนิษฐานว่าน่าจะถูกใช้กับงานดนตรีไทยในช่วงรัชกาลที่ 8 ถึงรัชกาลที่ 9 เนื่องจากเกิดธุรกิจห้องอัดเสียงดนตรีไทยและขายในรูปแบบเทปคาสเซ็ทหลากหลายที่ อาทิ ห้องอัดเสียงของ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ห้องอัดเสียงของครูประสิทธิ์ ถาวร นอกจากนี้ อัษฎาวุธ สาคริก ยังได้กล่าวถึงเทปที่ลักษณะคล้ายกับเทปคาสเซ็ทที่เรียกว่า เทป DAT โดยให้ข้อมูลว่า เทป DAT นี้มีลักษณะคล้ายเทปคาสเซ็ท แต่ขนาดเล็กกว่า มีคุณภาพเสียงที่ดี และต้องใช้เครื่องเล่นในรูปแบบเฉพาะ
ภาพที่ 4 แสดงภาพเทปDAT ที่มา : https://image.makewebeasy.net/makeweb/0/IxnCJtZGY/Remastering/DAT_1.jpghttps://inwfile.com/s-gf/ctlkd2.jpg
4) ยุคของ CD CD-R แผ่นดิสก์ และ MD
ภาพที่ 5 แสดงภาพแผ่น CD-R ที่มา : https://cf.shopee.co.th/file/2b6d1f810ec35e2906af0963e906639d
CD เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2525 ในช่วงแรกอุปกรรืชนิดนี้ไม่สามารถเขียนข้อมูลทับลงไปบนแผ่นได้ การบันทึกเสียงจำเป็นต้องพึ่งห้องบันทึกเสียงเท่านั้น แต่ให้คุณภาพเสียงที่ดีและชัดเจน จนต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ได้พัฒนากลายเป็น CD-R ที่สามารถเขียนข้อมูลทับลงไปบนแผ่นได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้วงการดนตรีไทยเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ในธุรกิจการบันทึกเสียงดนตรีไทย ต่อมาพัฒนาให้เล็กลงที่รู้จักกันดีในชื่อเรียกว่า MD แต่ในวงการดนตรีไทยไม่ได้รับความนิยม ไม่มีธุรกิจที่เก่ยวข้องกับเพลงไทยด้วยการใช้ MD เลย
ภาพที่ 6 แสดงภาพแผ่น MD ที่มา : https://db.lnwfile.com/zhrsb5.jpg
5) ยุคของ Computer Internet Application และCloud
การเข้ามาของ Internet ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 (วรรณรัตน์ เสนบัว, 2564) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการดนตรีไทยที่ทำให้เกิดการตื่นตัวต่าง ๆ ขึ้นมากมาย อาทิ การเกิดเว็ปไซต์ทางดนตรีไทยขึ้นครั้งแรก ได้แก่
www.thaikids.com
เว็ปบอร์ดห้องดนตรีไทย ที่อยู่ภายใน
www.pantip.com
ที่ทำหน้าที่ในการให้ความรู้ด้านดนตรีไทย กระดานข่าว ประชาสัมพันธ์ข่าวด้านดนตรีไทยและกิจกรรมทางธุรกิจดนตรีไทย จากการตื่นตัวนี้ทำให้นักดนตรีไทยสนใจที่จะศึกษาองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น จนทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ในยุคนั้น ได้แก่ Software ทางด้านดนตรีไทย เช่น โปรแกรมพิณผีเสื้อ โปรแกรมประดิษฐไพเราะ โปรแกรมบันทึกโน้ตดนตรีไทยแบบตัวเลข โปรแกรมการสอนเครื่องดนตรีไทย
Internet ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ได้รับความนิยมและมีการตื่นตัวอย่างมากสำหรับคนไทย สังคมในโลกออนไลน์ได้เกิดขึ้นจากการเข้ามาของ Hi5 และ Facebook สิ่งเหล่านี้ ทำให้วงการดนตรีไทย เกิดพื้นที่สังคมเฉพาะกลุ่มดนตรีไทยที่หลากหลายยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และเผยแพร่เนื้อหาได้ง่าย รวดเร็ว
ต่อมาในยุคที่สมาร์ทโฟน เข้ามามีอิทธิพลและบทบาทในสังคมไทย การเข้ามาของ Application ที่หลากหลาย ทำให้วงการดนตรีไทยต้องปรับตัวอีกครั้ง เช่น การนำเสนอเพลงไทยใน youtube Facebook Pods Cast การสร้างสังคมพูดคุยแลกเปลี่ยนแบบเรียลไทม์ ด้วย Zoom meeting Line Group หรือแม้แต่กระทั่งการสร้าง Application ทางด้านดนตรีไทยอย่าง Thai Tuner App สาธิตเครื่องดนตรีไทยเป็นต้น
ระบบการจัดเก็บข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบสัญญาณดิจิตอลที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งอุปกรณ์เสริมอีกต่อไปอย่างระบบ Cloud นั้นนับว่ามีปะโยชน์ทางด้านดนตรีไทยเช่นกัน ในเรื่องของการบันทึกผลงานดนตรีไทยที่ง่าย และรวดเร็วมากขึ้น กลุ่มผู้ฟังเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม อัษฎาวุธ สาคริก ยังได้ให้ทัศนที่สำคัญเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางด้านดนตรีไทยไว้อีกด้วยว่า เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ความต้องการของกลุ่มผู้เสพงานดนตรีไทยและการผลิตงานดนตรีของกลุ่มนักดนตรีก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ส่งผลให้ธุรกิจดนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจดนตรีไทย จำเป็นต้องมีการปรับตัวตามตัวแปรต้นเหล่านั้น ซึ่งต่อไปในอนาคต ย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงและนักดนตรีไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ให้ได้
2) พัฒนาการเทคโนโลยีเพื่อการสร้างเครื่องดนตรี
จากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลัก พบว่า เทคโนโลยีการผลิตเครื่องดนตรีไทย มีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยในอดีตนั้น นักดนตรีไทย เป็นผู้ผลิตเครื่องดนตรีด้วยตนเอง จากวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นหาได้ง่าย ยกตัวอย่าง เช่น ผืนระนาดเอก ที่ในอดีตมักทำด้วยไม้ไผ่ เพราะเป็นเนื้อไม้ที่สามารถดัดแปลงได้ง่าย แต่ในยุคต่อมา พบว่า ผืนระนาดเอก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งหลายชนิดยิ่งขึ้น อาทิ ไม้พยุง ไม้ชิงชัน เนื่องด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น เครื่องกลึงไม้ เครื่องมือในการตัดไม้ ฯลฯ จึงทำให้สามารถผลิตได้ง่าย และได้จำนวนที่มากขึ้น หรือแม้กระทั่ง สายซอประเภทต่าง ๆ ในยุคแรกผลิตด้วยการถักสายไหมด้วยตนเอง ภายหลังร้านดุริยบรรณ สามารถผลิตเครื่องทำสายซอขึ้นเองได้ มีคุณภาพมากกว่า และผลิตได้จำนวนมีมากกว่า กรรมวิธีการผลิตแบบเดิมจึงหายไป
ปัจจุบันพบว่า การใช้วัสดุทดแทนในการผลิเครื่องดนตรีไทยมีมากขึ้น เช่น รางระนาดเอกที่ทำจากไฟเบอร์กลาส (ศุภกร เจริญสุขประภา, 2555) หุ่นกลองแขกที่ทำจากพลาสติก เนื่องด้วยสาเหตุจากแนวคิดในการอนรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ทุกวงการ และทุกประเทศให้ความสำคัญร่วมกัน คือ เรื่องของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเกี่ยวข้องโดยตรงในเป้าหมายที่ 13 และ 15 ดังนั้นเทคโนโลยีการผลิตเครื่องดนตรีไทยที่ใช้วัสดุทดแทนจึงถูกให้ความสำคัญมากขึ้น
ภาพจากงานวิจัยเรื่อง การเลือกใช้วัสดุทดแทนในการสร้างเครื่องดนตรีไทยของอาจารย์มานพ แก้วบูชา: กรณีศึกษารางระนาดเอกไฟเบอร์กลาส (ศุภกร เจริญสุขประภา, 2555)
การนำเทคโนโลยีมาใช้กับงานด้านดนตรีไทย
จากข้อมูลที่ผู้เขียนได้ทำการเก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลหลัก และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกสาร ตำรา บทความทั่วไป บทความวิจัย บทความวิชาการ และงานวิจัย ทำให้ได้เห็นมุมมองของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานดนตรีไทยในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งผู้เขียนสามารถวิเคราะห์ได้ดัง 6 ข้อต่อไปนี้
1) การใช้เทคโนโลยีกับงานด้านดนตรีไทย ด้านการบันทึกเสียงดนตรีไทย
จากข้อ 1 ที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยี ถูกนำมาใช้กับงานดนตรีไทย ในด้านการบันทึกเสียงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จากข้อมูล และหลักฐานยืนยันหลายด้าน
2) การใช้เทคโนโลยีกับงานด้านดนตรีไทย ด้านการเผยแพร่ผลงานดนตรีไทย
เมื่อมีการบันทึกเสียงดนตรีไทยแล้ว ย่อมมีการเผยแพร่เพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจ ตามความนิยมและความต้องการของผู้ฟังในแต่ละยุคสมัย
3) การใช้เทคโนโลยีกับงานด้านดนตรีไทย ด้านการผลิตเครื่องดนตรีไทย
การเข้ามาของเครื่องจักรในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านงานไม้ ทำให้กรรมวิธีการผลิตเครื่องดนตรีไทยมีความเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีการผลิตงานไม้ที่เปลี่ยนแปลงไป ทันสมัยมากขึ้น ทำให้ผลิตได้มีคุณภาพเสียงที่แตกต่างออกไป มีคุณภาพ มีความคงทน และสามารถผลิตได้ในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งในภายภาคหน้าอาจทำให้แก้ปัญาการขาดแคลนเครื่องดนตรีไทยในสถานศึกษาได้ไม่ยาก รวมไปถึงการใช้วัสดุทดแทนที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน เทคโนโลยีมีผลอย่างมากในการพัมนาเครื่องดนตรีไทยด้วยวัสดุทดแทนที่ยังคงสภาพของคุณภาพเสียงที่ดีไว้ได้
4) การใช้เทคโนโลยีกับงานด้านดนตรีไทย ด้านธุรกิจการซื้อ-ขาย ผลงานดนตรีไทย
ผลงานดนตรีไทยในที่นี้ ได้แก่ ผลงานด้านการบันทึกเสียง การแสดง รวมไปถึงเครื่องดนตรีไทย การเข้ามาของอินเทอร์เน็ต ทำให้ความสะดวก ความคล่องในการซื้อขายเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
5) การใช้เทคโนโลยีกับงานด้านดนตรีไทย ด้านการศึกษา
โดยปกติแล้วนั้น ดนตรีไทยมีการถ่ายทอดแบบมุขปาฐะ แต่เมื่อมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อวงการดนตรีไทย จึงทำให้เกิดสื่อการสอนเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทำให้ผู้เรียนได้เข้าถึงเนื้อหาได้อย่างรวดเร็ว กระชับ กว้างขวาง และสามารถศึกษาในเชิงลึกได้ด้วยความสามารถในการค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง อีกทั้งยังสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลาด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ปัจจุบัน การถ่ายโอนข้อมูลมีความรวดเร็วมาก
6) การใช้เทคโนโลยีกับงานด้านดนตรีไทย ด้านการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม
จากการศึกษาข้อมูลด้านการเกิดแอพพลิเคชั่น หรือเว็ปไซต์ทางด้านดนตรีไทย ทำให้ผู้เขียนสามารถวิเคราะห์ได้ว่า เทคโนโลยี มีผลต่อการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรง คือ การเผยแพร่ผลงานเพื่อการอนุรัก์ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ การประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ทางอ้อมได้แก่ การคอมเม้นในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของผู้ที่สนใจศึกษาดนตรีไทย หรือแม้กระทั่งการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยให้คนทั่วไปเข้าถึงงานดนตรีไทยได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น แพลตฟอร์มด้านการฟังเพลง อาทิ แอพพลิเคชั่น Youtube Joox ฯลฯ เป็นต้น
ในครั้งนี้ผู้เขียนขอนำเสนอการใช้เทคโนโลยีกับงานด้านดนตรีไทย ด้านการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม ในแง่มุมของการเผยแพร่ และอนุรักษ์เพลงไทย โดยเป็นรูปแบบของ Virtual Ensemble พร้อมทั้งโครงงานที่ระบุรายละเอียดในการจัดทำทั้งหมด สำหรับผู้ที่สนใจจะสร้างการรวมวงในรูปแบบนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอผ่านบทเพลงประเภทโหมโรงเสภาที่มีชื่อว่า โหมโรงมะลิเลื้อย สามชั้น ในรูปแบบของวงปี่พาทย์เสภา
youtube.com
โหมโรงมะลิเลื้อย สามชั้น
เป็นส่วนหนึ่งของโครงงานในรายวิชา Technology and Innovation for Music2008101เสนอ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สยาม จวงประโคนโดย นายเฉลิมพันธุ์ ฤาวิชานิสิตปริญญาเอก ชั้นป...
drive.google.com
โครงงาน virtual ensemble.pdf
อนาคตของเทคโนโลยีกับดนตรีไทย ในมุมมองของผู้เขียน
1) การรวมวงแบบออนไลน์
จะพบได้ว่า ปัจจุบัน ความเร็วของอินเทอร์เน็ตยังไม่สามารถที่จะทำการรวมวงในรูปแบบออนไลน์ได้ 100 เปอร์เซ็น เนื่องด้วยการดีเลย์ของสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่ภายในไม่กี่ปีหลังจากการมีสัญญาณ 4G ก็เกิดการใช้สัญญาณ 5G ขึ้นมา แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า ทางด้านความรวดเร็วของการสื่อสาร ดังนั้นจึงอาจมีความเป็นไปได้ที่จะรวมวงดนตรีไทยแบบออนไลน์ได้ทุกที่บนโลก
โดยจะพบได้ว่า ขณะนี้ได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการเล่นดนตรีรวมวงออนไลน์แบบเรียลไทม์เเล้ว เช่น Jamulas ผู้เขียนเอง ได้เคยทดลองใช้ซอฟแวร์นี้ดูบ้างเเล้ว พบว่า ยังต้องอาศัยอุปกรณ์หลายอย่าง เช่น sound Interface คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพที่ดี รวมไปถึงอุปกรณ์ทางด้านเสียงแบบต่าง ๆ ดังนั้น การประยุกต์ใช้แอพพลิเคชั่นนี้ ยังคงต้องติดตามศึกษาอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อประยุกต์ใช้กับดนตรีไทยต่อไป
2) การสร้างงานดนตรีโดยไม่ต้องใช้เครื่องดนตรี
ปัจจุบันมี Software หลายตัวที่มีศักยภาพในการทำสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น Cubase, Logic Pro x แต่พบว่า ความเป็นธรรมชาติของรสดนตรีไทย ยังไม่สามารถทำได้ใกล้เคียงกับการใช้นักดนตรีในการบรรเลงจริงได้ แต่จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของระบบ AI ทำให้ผู้เขียนคิดว่า ในอนาคต อาจมีความเป็นไปได้สูงในการผลิตงานดนตรีไทยแบบฉบับ ที่มีความใกล้เคียงกับธรรมชาติของการบรรเลงดนตรีไทยมากขึ้น
google.com
�ٻ�Ҿ: Education Discount on Steinberg Products | Steinberg
��� Google �ҡ www.steinberg.net
3) เทคโนโลยีด้าน AR, VR, และ MR รวมไปถึง Hologram จะถูกนำมาปรับใช้กับงานดนตรีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านการแสดงดนตรี โดยเฉพาะด้านการแสดงดนตรี มีการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้บ้างเเล้ว เช่น คอนเสิร์ต วง F4 ของประเทศไต้หวัน เมื่อปี 2020
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนดนตรีไทย
สุดท้ายของบทความนี้ ผู้เขียนจะขอนำเสนอคู่มือการใช้งานแอพพลิเคชั่น BandLab for Education แอพพลิเคชั่นสำหรับสร้างบทเพลงในรูปแบบออนไลน์ ปกติเเล้วนั้น แอพพลิเคชั่นนี้ วัยรุ่นไทยในสายที่ทำเพลงประเภทเพลง hip hop จะรู้จักกันเป็นอย่างดี ศิลปินใต้ดินหลายท่าน จะใช้แอพพลิเคชั่นนี้ในการทำเพลงเป็นหลัก เพราะเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีฟังชั่นการใช้งานที่หลากหลาย สามารถสร้างสรรค์ได้ง่ายผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟน เพียงเครื่องเดียว ซึ่งเหมาะกับการเรียนการสอนในยุคปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง โดยจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองในฐานะครู พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ในชั้นเรียน หากพบเจอกับเนื้อหาที่น่าเบื่อหรือไม่น่าสนใจ โดยส่วนใหญ่เเล้ว นักเรียนมีกจะนำโทรศัพท์มือถือออกมาเพื่อเล่นเกมส์ หรือเข้าแอพพลิเคชั่นอื่น ๆ เพื่อระบายความเบื่อหน่าย ดังนั้น ผู้เขียน จึงพยาพยามอย่างยิ่ง
ในการหากิจกรรมที่ใช้สมาร์ทโฟนในการทำกิจกรรมทางดนตรี เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้อุปกรณ์ของตนเองในการเรียนรู้ดนตรีให้ได้มากที่สุด โดยที่ผู้เรียนไม่เกิดความรู้สึกต่อต้าน หรือขัดเเย้งกับผู้สอน
BandLab for Education เป็นซอฟแวร์ที่น่าสนใจ ใช้งานง่าย สามารถแชร์บทเพลงที่สร้างขึ้น และสามารถเรียนรู้การสร้างงานเพลงผู้คนในสังคมดนตรีทั่วโลกที่ใช้แอพพลิเคชั่นนี้ได้ ผู้เขียนได้ทำการสร้างคู่มือ และวิดิโอแนะนำแอพพลิเคชั่นและการใช้งานเบื้องต้นตามลิ้งก์ที่ปรากฏด้านล่าง
drive.google.com
Bandlab for Education.pdf
youtube.com
คลิปวิดีโอ สอนการใช้งาน bandlab เบื้องต้น
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่า บทความนี้จะมีประโยชน์ไม่มากก็ไม่น้อยสำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยี นักดนตรีไทย รวมไปถึงผู้เรียนผู้สอนทางดนตรีไทยศึกษาทุกคน เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงควรที่จะศึกษา เรียนรู้ อัพเดทข่าวสารข้อมูลอยู่ตลอดเวลาเพื่อประโยชน์ในการปรับใช้ให้เท่าทันต่อสถานการณ์ของโลก และเพื่อความสะดวก ความคุ้มค่า รวมไปถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดการเรียนรู้ดนตรีไทยที่ดีขึ้น
Bibliography
Heinich, R., Molenda, M., & Russell, J. D. (1993). Insrtuctional Media and the New Technologies of Insrtuction. Macmillan Publishing Company, 449.
ปริญญา ทัศนมาศ. (2562). วิเคราะห์ทางขับร้องเพลงหน้าพาทย์บทคอนเสิร์ต ตับนางลอย บ้านพาทยโกศล โดยครูอุษา แสงไพโรจน์. วารสารศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 25.
วรรณรัตน์ เสนบัว. (24 กรกฎาคม 2564). อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย. เข้าถึงได้จาก
https://sites.google.com/site/nangsawwrrnratnsenbaw/prawati-khwam-pen-ma-khxng-xinthexrnet-internet-history/xinthexrnet-ni-prathesthiy
ศันสนีย์ จะสุวรรณ์. (2554). การบันทึกเสียงเพลงไทย : กรณีศึกษาแผ่นเสียงร่องกลับทาง. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
ศุภกร เจริญสุขประภา. (2555). การเลือกใช้วัสดุทดแทนในการสร้างเครื่องดนตรีไทยของอาจารย์มานพ แก้วบูชา: กรณีศึกษารางระนาดเอกไฟเบอร์กลาส. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ.
อัษฎาวุธ สาคริก. (24 กรกฎาคม 2564). พัฒนาการเทคโนโลยีทางด้านดนตรีไทย. (เฉลิมพันธุ์ ฤาวิชา, ผู้สัมภาษณ์)
เทคโนโลยี
ดนตรี
culture
2 บันทึก
6
2
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย