28 ต.ค. 2021 เวลา 15:36
🏳️‍🌈ความหลากหลายทางเพศ 🏳️‍🌈
📽กับภาพจำที่บิดเบือนในภาพยนตร์ไทย📽
🟥🟧🟨🟩🟦🟪⬛️⬜️🟫
“ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการสร้างภาพลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ผ่านการนำเสนอของสื่อภาพยนตร์ไทย เป็นการสร้างภาพจำที่ทรงอิทธิพลต่อสังคมเป็นอย่างมาก หากผู้นำเสนอมีความเข้าใจ และสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างถูกต้อง มันย่อมเป็นผลดี แต่ถ้าหากไม่เป็นเช่นนั้น มันย่อมส่งผลเสียต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างแน่นอน”
วันนี้‼️ wunnun ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ผ่านมุมมองที่ทุกคนมีความคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว นั่นก็คือ ภาพยนตร์ นั่นเองค่ะ
แต่วันนี้จะไม่ใช่การมาแนะนำหนังให้ตามไปดูหรอกนะคะ แต่จะเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ที่ยังคงถูกผลิตซ้ำในภาพยนตร์นั่นเองค่ะ⁉️
1️⃣ กระเทยเกิดมาต้องตลก หยาบคาย และกระหายเซ็กส์🔻
เราคงจะเคยเห็นภาพยนตร์บางเรื่องที่นำเสนอให้ภาพลักษณ์ของกระเทยเป็นคนตลก แต่งตัวให้มีเครื่องประดับเยอะตลอดเวลา รวมทั้งยังจำเป็นที่จะต้องพูดคำหยาบ และที่สำคัญยังต้องมีความบ้าผู้ชาย มีความต้องการเรื่องเซ็กส์อยู่ตลอดเวลาด้วย
หลายคนที่ดูภาพยนตร์แนวนี้ ย่อมรู้ดีค่ะว่าเนื้อหาแนวนี้ มักจะอยู่ในหมวดภาพยนตร์ตลก จึงทำให้เมื่อรับชมอาจจะมองไม่เห็นในส่วนของการผลิตเนื้อหาที่ตีตราอัตลักษณ์ทางเพศของการเป็น “กระเทย” ซ้ำอยู่ตลอดเวลา เพราะด้วยความที่ดูเป็นภาพยนตร์ดูง่าย คลายเครียดจึงทำให้ปัญหาในภาพยนตร์ถูกฉาบทับเอาไว้ภายใน โดยเนื้อนอกนั่นก็เคลือบด้วยความสนุก ที่ดูแล้วไร้พิษภัยต่อผู้รับชมโดยสิ้นเชิง
📌ปัญหานี้ส่งผลกระทบอะไรบ้าง❓
ในความเป็นจริงแล้วบุคคลย่อมมีความหลากหลาย และมีความเป็นปัจเจกเฉพาะตน ดังนั้นไม่ว่าเพศไหนๆ ย่อมต้องมีนิสัย ความสนใจ ไลฟสไตล์ที่แตกต่างกันออกไป รวมทั้ง
”กระเทย”เอง เขาย่อมต้องมีนิสัยแตกต่างกันออกไปอยู่แล้ว แม้แต่ในเรื่องของความรักและความสนใจในเรื่องเซ็กส์ ที่ในชีวิตจริงผู้ที่นิยามตนว่าเป็นกระเทย ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการจะมีความรักกับเพศกำเนิดชายเสมอไปค่ะ
ดังนั้นหากยังคงมีการสร้างภาพจำเหล่านี้ให้กับ “กระเทย” ก็จะกลายเป็นการฝังความเชื่อและค่านิยมให้กับสังคม ว่ากระเทยจะต้องตลก หยาบคาย และบ้าเซ็กส์บ้าผู้ชาย จนกลายเป็นการกดทับความหลากหลายทางเพศ อย่างกระเทยที่เขาเป็นผู้ที่ไม่ฝักใจในเซ็กส์ ก็จะถูกมองว่าแปลกประหลาด เพียงเพราะแค่เขาไม่ได้มีภาพลักษณ์ตามภาพจำที่เรารู้จักกันในภาพยนตร์นั่นเองค่ะ
2️⃣ กระเทยมีชนชั้น ยิ่งมีร่างกายที่เหมือนเพศกำเนิดหญิงมากเท่าไหร่ ยิ่งมีค่าสูงกว่ากระเทยคนอื่นๆ🔻
หรืออีกนัยนึงของหัวข้อนี้ คือยิ่งร่างกายของกระเทยเหมือนกับเพศกำเนิดชายมากเท่าไหร่ ก็จะถูกมองว่าอยู่ระดับต่ำกว่ากระเทยคนอื่นๆ ที่เขามีร่างกาย ที่มองแล้วมีความเป็นเพศกำเนิดชายน้อยกว่านั่นเอง คือยิ่งเหมือนเพศกำเนิดหญิงยิ่งทรงคุณค่า แต่ถ้าหากยิ่งเหมือนเพศกำเนิดชายค่าของเขาก็จะถูกลดทอนลงตามลำดับค่ะ
ภาพยนตร์หลายเรื่องที่มีการสร้างตัวละครหลักที่มีเพศเป็นกลุ่มเพื่อนกระเทย เราจะเห็นความแตกต่างของตัวละครกระเทยอยู่ 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1. ตัวละครกระเทยที่มีร่างกายเป็นเพศกำเนิดหญิง
จะมีคาแรคเตอร์เรียบร้อย อ่อนหวาน ตามแบบฉบับกุลสตรีไทย แต่หนังมักเขียนให้ตัวละครกระเทยแบบแรกนี้ มีสิ่งที่แตกต่างจากเพศกำเนิดหญิงคือ ในเรื่องเซ็กส์ ที่ต้องมีการโหยหาเรื่องเซ็กส์เป็นเป้าหมายในชีวิตเป็นสำคัญ
2. ตัวละครกระเทยที่มีอายุมาก
หนังจะให้คาแรคเตอร์ของการเป็นคนที่ต้องใช้เงินเพื่อซื้อเซ็กส์ หรือเพื่อความรัก หรืออีกนัยนึงจะสื่อว่า กระเทยไม่สามารถเจอรักที่ยืนยาวในชีวิตได้นั่นเอง
3. กระเทยไม่เหมือนเพศกำเนิดหญิง ต้องตลก และชอบล่าผู้ชาย
กระเทยในแบบที่สามนี่ ก็คือคาแรคเตอร์ที่ผลิตซ้ำบ่อยที่สุด แต่ในความแตกต่างคือหากภาพยนตร์มีคาแรคเตอร์กระเทยแบบแรกอยู่ในเรื่องด้วย ก็จะมีการเขียนบทที่ให้กระเทยประเภทแรกมีคุณค่าและโดดเด่นกว่ากระเทยประเภทที่สามอยู่เสมอ
📌ปัญหานี้ส่งผลกระทบอะไรบ้าง❓
ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่อยู่ในสังคมของเราและนิยามตนเองว่าเป็นกระเทย มีความหลากหลายมาก ดังนั้นการแบ่งลักษณะนิสัยของตัวละครโดยใช้เกณฑ์รูปลักษณ์ภายนอก จะส่งผลให้สังคมมองว่า กระเทยที่มีลักษณะนี้เท่านั้นถึงควรเรียบร้อย ควรตลก หรือควรหยาบคาย และยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่เป็นกระเทยในชีวิตจริง ยังถูกปฏิบัติแตกต่างกัน เพียงเพราะว่ารูปลักษณ์ภายนอกไม่เหมือนเพศกำเนิดหญิง นั่นเอง
และนอกจากนี้การที่หนังพยายามสร้างภาพจำว่ากระเทยไม่มีทางที่จะเจอรักที่ยืนยาวได้ ก็กลายเป็นการมอบค่านิยมให้กับสังคมมองว่า ความรักแบบคนหลากหลายทางเพศมันฉาบฉวย และพุ่งเป้าไปที่ผลประโยชน์ต่อคู่ของตนเท่านั้น และที่แย่ที่สุดมันกลับส่งผลให้ผู้ที่เป็นกระเทยในชีวิตจริง เชื่อค่านิยมตัวนี้ไปด้วย ว่าตนเองไม่มีทางเจอคนที่รักตนได้จริงๆ
3️⃣ เกย์เป็นเพศที่มีความต้องการทางเพศตลอดเวลา และใช้เซ็กส์แก้ปัญหาเสมอ
นอกจากภาพยนตร์ที่มักสร้างให้คนหลากหลายทางเพศเป็นตัวตลกแล้ว บางเรื่องยังพยายามสร้างให้คนหลากหลายทางเพศมีเป้าหมายหลักของชีวิตคือการมีเซ็กส์เท่านั้น หรือแม้แต่อาชีพของตัวละครหลากหลายทางเพศในหนัง ก็ยังต้องเป็น sex worker โดยเฉพาะตัวละครที่เป็น “เกย์” มักจะมีคาแรคเตอร์ที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องเซ็กส์ตลอดทั้งเรื่อง มีปัญหาชีวิตแบบไหนก็แล้วแต่ สุดท้ายก็ต้องใช้เซ็กส์เป็นตัวแก้ปัญหาเสมอ
ขยายความอาชีพ sex worker ไม่ใช่อาชีพที่ไร้เกียรติแต่อย่างใด ในชีวิตจริงมีผู้ประกอบอาชีพนี้หลากหลายเพศมาก แต่ที่ต้องยกอาชีพนี้มากล่าวด้วย เพราะหนังมักสร้างภาพจำว่าอาชีพสำหรับเกย์คือ sex worker เท่านั้น
📌ปัญหานี้ส่งผลกระทบอะไรบ้าง❓
การที่ภาพยนตร์มักสร้างภาพจำเรื่องอาชีพที่อยู่คู่กับเกย์คือ sex worker อยู่เสมอ ส่งผลให้ภาพจำของคนในสังคม มองว่าเกย์ แทบทุกคนชื่นชอบการทำงานโดยมีเซ็กส์มาเกี่ยวข้อง และมีคนในสังคมบางส่วนที่กลัวผู้ที่เป็นเกย์ เพียงเพราะคิดว่าเขาจะต้องอยากมีเซ็กส์กับผู้ชายทุกๆคนที่เห็น หรือรู้จัก
ในความเป็นจริง ผู้ที่นิยามตนเองว่าเป็นเกย์ เขาเองก็ต้องมีความฝันในอาชีพที่หลากหลาย ไปตามความสามารถ ความชื่นชอบของแต่ละบุคคล เพราะการประกอบอาชีพไม่จำเป็นต้องใช้เพศมากำหนดเลยด้วยซ้ำ และนอกจากนี้เรื่องความรัก ผู้ที่เป็นเกย์เขาก็ย่อมมีสเปก มีบุคคลที่เขาสนใจและไม่สนใจปะปนกันไป ดังนั้นอย่าแสดงท่าทีรังเกียจหรือส่งต่อความคิดชุดนี้ให้กับคนรุ่นต่อไปเลยค่ะ เพราะมันเป็นการไม่ให้เกียรติ และกดทับความหลากหลายทางเพศอย่างรุนแรงนั่นเองค่ะ
4️⃣ จุดเริ่มต้นของเลสเบี้ยน คือคนที่ผิดหวังในความรักจากเพศกำเนิดชาย🔻
ในภาพยนตร์เกี่ยวกับเลสเบี้ยน แทบ100% มักจะสร้างให้ความรักของเลสเบี้ยน มักมีจุดเริ่มต้นจากความผิดหวังในความรักจากเพศกำเนิดชาย หรือยิ่งไปกว่านั้นการเป็นเลสเบี้ยนสามารถรักษาได้ ด้วยการมีเพศกำเนิดชายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต หากมีชายกับหญิงให้เลือก ในภาพยนตร์เรื่องนั้นก็จะทำให้ตัวละครเลสเบี้ยน เลือกที่จะลงเอยกับเพศกำเนิดชายแทน โดยสร้างให้หนังดูเป็นการจบที่สมบูรณ์แบบและมีความสุขมากกว่าตอนที่ตัวละครรักกับตัวละครเพศกำเนิดหญิง
📌ปัญหานี้ส่งผลกระทบอะไรบ้าง❓
ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่นิยามตนเองว่าเป็นเลสเบี้ยน เขาไม่จำเป็นที่จะต้องผิดหวังจากเพศกำเนิดชายเพื่อมารักกับเพศกำเนิดหญิง เพราะเลสเบี้ยนคือบุคคลที่รักและสนใจผู้หญิงอยู่แล้ว หรืออีกแง่หนึ่งสามารถอธิบายได้ว่า อย่างเพศกำเนิดหญิงที่รักกับเพศกำเนิดชาย ก็ไม่สามารถเปลี่ยนให้มาชอบเพศกำเนิดหญิงได้เพียงเพราะอกหัก ไม่ต่างจากการที่เพศกำเนิดชายที่ชื่นชอบเพศกำเนิดหญิง ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นเกย์ได้โดยการบังคับให้มาชอบเพศกำเนิดชายนั่นเอง
ดังนั้นการที่ภาพยนตร์เขียนให้ตัวละครเลสเบี้ยนต้องมีเพศกำเนิดชายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงในความรักอยู่เสมอ มันเป็นการลดคุณค่าความรักของเลสเบี้ยน และลดทอนอัตลักษณ์ความเป็นเลสเบี้ยนให้เป็นเพียงภาพมายา เพราะหนังสร้างภาพจำที่ว่า เลสเบี้ยนสามารถเปลี่ยนได้ด้วยการให้ผู้ชายเข้าไปในชีวิตพวกเขา และนั่นคือสิ่งที่ผิดมากจริงๆ
สิ่งที่ต้องการสะท้อนในบทความนี้ คือการที่อยากให้ภาพยนตร์ไทย มองความหลากหลายทางเพศให้มีคุณค่ามากขึ้นกว่านี้ ควรลดการตีตราหรือสร้างภาพจำที่บิดเบือนให้แก่สังคม และเปลี่ยนมาเป็นการสร้างภาพจำที่ถูกต้อง และพังทลายการกดทับความหลากหลายทางเพศ ที่ยังอยู่ภายในสังคมให้น้อยลง เพื่อช่วยสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดภายในสังคมได้ในเร็ววัน
🔴🟠🟡🟢🔵🟣⚫️⚪️🟤
โฆษณา