29 ต.ค. 2021 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
หยุดเดี๋ยวนี้! 4 ตัวร้ายทำลายการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
เคยสงสัยกันบ้างไหมว่ากว่า “นวัตกรรมพลิกโลก” จะเป็นอย่างที่เป็นทุกวันนี้ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง
เรามาดูเรื่องราวของกล้องฟิล์มเป็นตัวอย่างกันดีกว่า
ย้อนกลับไปในปี 1974 สตีเวน แซสซัน วิศวกรหน้าใหม่ไฟแรงของ Kodak ได้รับมอบหมายงานให้ศึกษาดูว่า สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า ‘อุปกรณ์ถ่ายเทประจุ’ (C.C.D.) ซึ่งทำหน้าที่แปลงสัญญาณแสงเป็นสัญญาณไฟฟ้า สามารถนำมาใช้งานอะไรได้บ้าง
หลังจากพยายามอยู่นาน ในที่สุดเขาก็ผลิตอุปกรณ์ที่สามารถถ่ายรูปและแสดงบนหน้าจอได้
1
สตีเวนเรียกสิ่งนั้นว่า “การถ่ายรูปแบบไร้ฟิล์ม”
ด้วยความตื่นเต้นกับสิ่งประดิษฐ์ใหม่เขารีบนำเสนอไอเดียนี้ให้แก่หัวหน้าทันที โดยลืมคิดไปว่าเจ้ากล้องถ่ายรูปแบบ “ไร้ฟิล์ม” นี้ สวนทางกับเป้าหมายหลักของบริษัท Kodak ที่มีมากว่าร้อยปี (ซึ่งก็คือการขายฟิล์มถ่ายรูป) โดยสิ้นเชิง
ใช้เวลาตั้งนานกว่าจะประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ๆ สำเร็จ แต่อะไรที่ทำให้คนเก่งอย่างสตีเวนทำพลาด? ในบทความนี้เราได้สำรวจ ‘ข้อผิดพลาด’ จากนักประดิษฐ์กว่า 100 คน ที่ทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ เพื่อศึกษาดูว่า “ศัตรูตัวร้าย” ที่คอยขัดขวางการสร้างสรรค์ไม่ให้เป็นไปตามที่คิดมีอะไรบ้าง
1
1) กลัวที่จะเริ่มต้น
ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เราต้องเผชิญกับความกลัวหลายๆ อย่าง ตั้งแต่กลัวว่าไอเดียของเราจะไม่ดีพอ กลัวว่าคนอื่นจะไม่ชอบ หรือกลัวทำไม่สำเร็จ ความกลัวเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน แต่จะเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษตอนที่เรากำลังข้ามผ่านจากขั้นตอน ‘การคิด’ ไปยังขั้นตอน ‘การทำ’
ในการทำตามฝันเราต้องเสี่ยงอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ลงทุนไป ชื่อเสียง และอาชีพ ยกตัวอย่างเช่น เจฟฟ์ เบโซส์ แห่ง Amazon สมัยที่เขายังทำงานเป็นผู้จัดการ ณ บริษัทหนึ่งอยู่ จู่ๆ วันหนึ่งเขาก็มีไอเดียในการขายหนังสือออนไลน์ แต่หัวหน้าของเขา ณ ขณะนั้นไม่เห็นด้วย
หัวหน้าบอกว่า “ก็เป็นไอเดียที่น่าลอง สำหรับคนที่ไม่ได้มีงานประจำดีๆ อยู่แล้ว”
เจฟฟ์ต้องคิดอยู่นานเพราะ ‘ความกลัว’ เขากลัวว่าไอเดียนั้นอาจทำให้เขาต้องเสียเงินและงานที่มั่นคงไป แล้วเขาทำอย่างไรถึงก้าวผ่านความกลัวนั้นได้จนสร้างเว็บไซต์ Amazon เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซมูลค่าสูงอย่างที่เป็นในทุกวันนี้
1
ทางออกแรกคือการคุยกับตัวเองในอนาคต
มนุษย์เราถูกออกแบบมาให้หลีกเลี่ยงความเสี่ยงโดยการคิดถึงสิ่งที่แย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ เรามักจินตนาการถึงความรู้สึกในอนาคตตอนที่ทุกอย่างออกมาพัง ทำให้เราไม่กล้าลงมือทำอะไรเสียที อย่างไรก็ตาม แทนที่จะโฟกัสเรื่องแย่ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ลองจินตนาการถึงว่าเราจะรู้สึกอย่างไรหากเราเลือก ‘ไม่เสี่ยง’ และเก็บไอเดียเข้ากรุไว้
2
“ผมถามตัวเองว่าจะเสียดายไหมถ้าผมลาออกจากบริษัท” เจฟฟ์เล่า “ผมคิดว่าตอนอายุ 80 ผมคงไม่มานั่งคิดถึงมันหรอก คงจำแทบไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ผมรู้แน่ๆ ว่า ถ้าไอเดียนี้ที่ผมอยากทำแล้วไม่ได้ทำ ผมจะต้องเสียดายมากแน่ๆ ”
1
แทนที่จะจินตนาการว่าถ้าทำแล้วพลาด ลองจินตนาการว่าถ้าเราไม่ได้ทำจะรู้สึกอย่างไรแทน บางทีเราอาจพบคำตอบของตัวเองแบบที่เจฟฟ์ เบโซส์ เจอ
1
วิธีต่อมาคือให้ความกลัวเป็นคุณครู
นอกจากจะกลัวว่าเราอาจเสียอะไรไปแล้ว เรายังต้องกลัวกับความล้มเหลวอีก ถ้าโปรเจกต์ของเราดันเกิดแป้กล่ะ หรือถ้าเราทำมันได้ไม่ดีพอล่ะ ความกลัวเช่นนี้แหละที่ทำให้เราหยุดชะงักได้ หลายๆ คนมักจะหาทางออกด้วยการ ‘เก็บกด’ ความกลัวไว้และมุ่งหน้าต่อแบบไม่สนอะไร
แต่งานวิจัยพบว่าหากเราทำเช่นนั้น เราอาจพลาดสัญญาณเตือนบางอย่างไปได้!
ความกลัวไม่ใช่อยู่ๆ จะเกิดขึ้นมาได้ หลายๆ ความกลัวมีมูลเหตุอยู่ ดังนั้นการค้นหาสาเหตุว่าความกลัวนั้นคืออะไรและแก้ไขมันจะเป็นทางออกที่ดีกว่า เช่น หากเรากังวลว่าเราไม่เก่งพอ เราอาจต้องเรียนรู้เพิ่มเติมให้มากขึ้น หรือ เตรียมตัวให้พร้อม
3
2) กังวลกับปัญหาและข้อผิดพลาด
แน่นอนว่าเราเคยได้ยินกันอยู่แล้วกับคำว่า “เรียนรู้จากความผิดพลาด” แต่ในแง่การปฏิบัติมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดได้โดยอัตโนมัติ แต่เราสามารถเรียนรู้ได้ผ่านขั้นตอนดังนี้
วิธีแก้วิธีแรกคือ “จำแนกความผิดพลาด” ออกมา
ปัญหาหลักๆ ของความล้มเหลวคือมันทำให้เรารู้สึกลบจนไม่อยากจะเรียนรู้อะไร ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกโกรธ รับไม่ได้ สิ้นหวัง หรือโทษตัวเอง คนธรรมดาๆ เช่นเรา หากเกิดอะไรผิดพลาด เราก็มักจะจมอยู่ความรู้สึกนั้น ยิ่งเจ้าของโปรเจกต์ที่ปั้นมากับมือนี่ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะพวกเขารู้สึกผูกพันกับผลงานมากๆ
ทางออกคือจำแนกความผิดพลาดออกมาว่า เราพลาดตรงไหน ทำไมเราถึงพลาด สิ่งใดที่เราควรปรับปรุง และสิ่งใดบ้างที่ดีอยู่แล้ว ส่วนอีกวิธีคือ “เผชิญหน้ากับความเศร้าตรงๆ ”
เพราะในฐานะนักประดิษฐ์ เราต้องพบเจอความผิดหวังและถูกปฏิเสธนับครั้งไม่ถ้วน แล้วเราจะรับมือกับความรู้สึกเสียศูนย์นี้อย่างไรดี
จอร์จ โคห์ลรีเซอร์ นักเขียนและนักจิตวิทยาแห่งสถาบัน IMD ได้ทำการวิจัยกับผู้บริหารกว่าพันคนและได้เสนอ 3 ขั้นในการรับมือไว้ดังนึ้
อันดับแรกคือ “ตระหนัก” ถึงความรู้สึกดังกล่าว แทนที่จะซ่อนมันไว้และทำเป็นไม่รู้สึก เราควรระบุว่าความรู้สึกนั้นคืออะไรและระบายให้คนที่ไว้ใจฟัง อันดับต่อมาคือ “ยอมรับและปล่อยวาง” และอันดับสุดท้ายคือ “ลองหาวิธีใหม่ๆ”
อีกวิธีที่ได้ผล นอกจากการเผชิญหน้าตรงๆ คือ “มองความผิดพลาดเสียใหม่”
เจมส์ ไดสัน ผู้คิดค้นแบรนด์ไดสันก็ต้องเผชิญเหตุการณ์เดียวกันกับวิศวกรแห่ง Kodak ที่กล่าวไปข้างต้น เจมส์คิดค้นเครื่องดูดฝุ่นแบบไร้ถุงเก็บขึ้นมา แต่ก็ถูกบริษัทปฏิเสธเพราะในอดีตนั้น บริษัทเครื่องดูดฝุ่นมีรายได้จากการขายถุงเก็บฝุ่นแยกที่ลูกค้าต้องมาซื้อซ้ำ
แม้จะถูกปฏิเสธ แต่เจมส์กลับมองความผิดพลาดนี้ใหม่ แทนที่จะโฟกัสว่าบริษัทปฏิเสธเพราะอะไร เขากลับโฟกัสในสิ่งที่บริษัทไม่ได้พูด (หรือแทบไม่ได้คิดถึงด้วยซ้ำ) เขาพบว่านอกจากเหตุผลเรื่องรายได้จากการขายถุงเก็บฝุ่นแล้ว จริงๆ บริษัทก็ไม่ได้มีเหตุผลที่มีน้ำหนักในการปฏิเสธเขาเลย
“ถ้าเหตุผลที่เขาปฏิเสธนั้นฟังขึ้น ผมคงกังวลไปแล้ว” เขากล่าว
ด้วยเหตุนี้เอง เจมส์ ไดสัน จึงขายลิขสิทธิ์เครื่องดูดฝุ่นดังกล่าวให้บริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง และนั่นเองจึงกลายเป็นต้นกำเนิดของแบรนด์ดังในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเราสามารถเปลี่ยน ความผิดพลาด ความกังวลและคำปฏิเสธให้เป็นโอกาสได้ หากเราก้าวข้ามผ่านอารมณ์ลบที่เกิดขึ้นได้
3) สร้างสรรค์มากไปจนเป็นปัญหา
เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าความสร้างสรรค์เป็นวัตถุดิบสำคัญในการคิดค้นนวัตกรรม แต่หาก “สร้างสรรค์มากไป” ก็ทำให้แผนของเราคลาดเคลื่อนได้เหมือนกันนะ!
ลองดูอีลอน มัสก์ เป็นตัวอย่าง หลังจากเริ่มมีรายได้มหาศาลจากการทำธุรกิจซอฟต์แวร์ เขาก่อตั้ง SpaceX ในปี 2002 โดยมีเป้าหมายว่าจะทำให้การท่องอวกาศมีต้นทุนที่ต่ำลง และสามารถตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารได้สักวัน แต่ระหว่างนั้น โปรเจกต์การสร้างรถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็เกิดเตะตาเขาขึ้นมา บริษัท Tesla จึงถือกำเนิดขึ้น
อีลอน มัสก์ จึงกลายเป็น CEO ควบสองบริษัทโดยปริยาย
แม้ธุรกิจทั้งสองจะประสบความสำเร็จและโด่งดังในโลกธุรกิจ แต่อีลอน มัสก์ บอกว่าความเครียดในการทำงานนั้นมหาศาลและความต้องการของผู้บริโภคทั้งสองตลาดนั้นสูงจนเขายอมรับว่าทั้งสองบริษัท “เกือบไม่รอด”
มัสก์ บอกว่าการเป็นเจ้าไอเดียนั้นมีทั้งคุณและโทษในเวลาเดียวกัน การจัดลำดับความสำคัญกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอด ไม่ใช่ทำเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การจะห้ามให้ใครสักคนไม่คิดไอเดียใหม่ๆ คงยาก แต่เราพอมีวิธีที่จะทำให้ความสร้างสรรค์และการทำงานไปพร้อมๆ กันได้
1
อย่างเช่นการ “มีตัวถ่วงน้ำหนัก” เป็นต้น
การทำงานโดยมีใครสักคนคอยค้านเราใช่ว่าจะเป็นเรื่องแย่เสมอไป หากเราเป็นคนช่างคิด ชอบนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา เราควรหาเพื่อนคู่ใจในการทำงานที่คอยทักท้วงเราด้วยเหตุผลและข้อมูล อย่าง Steve Jobs ที่เลือก Tim Cook ซึ่งมีนิสัยนิ่งๆ และเน้นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง คอยถ่วงเขาที่เป็นคนช่างคิด
3
ลองจินตนาการดูว่าหากเราพยายามทำตามไอเดียใหม่ๆ ที่คิดออกตลอดเวลา เราคงกระโดดจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งเรื่อยๆ โดยไม่มีอะไรสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันเสียที
1
4) มุ่งมั่นมากไปจนกลายเป็นดันทุรัง
กว่าจะไปถึงความสำเร็จเราต้องอดทนและมีความมุ่งมั่น ต้องผ่านขั้นตอนอันยุ่งยาก ปัญหา ความเหนื่อยล้าและความยากลำบากไปให้ได้ จริงอยู่ที่ความมุ่งมั่นเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ไอเดียของเรากลายเป็นจริง แต่บางครั้งหากเรามุ่งมั่นวิ่งตามอะไรมากเกินไปก็จะกลายเป็นปัญหาได้
วิธีแรกในการป้องกันไม่ให้เรามุ่งมั่นเกินไปจนกลายเป็นดันทุรังได้แก่การ “รู้จักปล่อยวาง” เพราะหลายๆ ครั้งความมุ่งมั่นก็ทำให้เราวิ่งไล่ตามจนลืมสังเกตไปว่าทางที่กำลังวิ่งอยู่เป็นทางตัน หรือเป้าหมายของเรานั้นไกลเกินเอื้อม
เดมิส แฮสซาบิส เจ้าของบริษัทสตาร์ทอัพชื่อ DeepMind เล่าว่า ก่อนที่เขาจะหันมาทำบริษัทนี้ เขาเคยทำบริษัทเกมที่พยายามสร้างเกมที่เต็มไปด้วยไอเดียสุดบรรเจิดและทะเยอทะยาน มันเป็นไอเดียที่หลายคนฟังแล้วคงบอกว่าเป้าหมายของเขานั้น ‘ไกลเกินเอื้อม’ แต่เดมิสยืนยันจะทำต่อ
ผลคือเขาใช้เวลานานกว่าที่คิดถึง 2 เท่า แถมเกมยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
1
“เราอย่าทำอะไรเกินตัว” เดมิสกล่าว เขามองว่าเราควรเลือกสักด้านที่เราทำได้ดีและโฟกัสไปตรงนั้นให้เต็มที่ ส่วนด้านอื่นๆ ก็ควรจะปล่อยวางบ้าง
1
การที่เราดันทุรังจนเกินไปนั้นส่งผลกระทบต่อด้านอื่นๆ ในชีวิตเราด้วย เช่นด้านสุขภาพและด้านความสัมพันธ์ ช่วงเวลาที่เราทุ่มเทกับเงินจนเกินไปนี้เอง อาจเป็นช่วงเวลาที่เราละเลยคนสำคัญในชีวิตไปก็เป็นได้ จริงอยู่ที่เราอาจคิดว่าเราต้องแลกกับอะไรบางอย่างเพื่อความสำเร็จ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก เราอาจพบว่าสิ่งที่เราต้องแลกอาจไม่คุ้มกัน หากเรารู้ว่าเราเป็นคนบ้างาน ควรหาเวลาให้ตัวเองหยุดพักไว้ล่วงหน้า เพราะการพักผ่อนและดูแลด้านอื่นๆ ในชีวิตก็เป็นปัจจัยสำคัญในการสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เช่นกัน
หนทางในการเปลี่ยนแปลงไอเดียของเราให้เป็นนวัตกรรมล้ำสมัยนั้น อาจเต็มไปด้วยขวากหนามมากมาย แต่ตราบใดที่เราตระหนักถึงข้อผิดพลาด จุดแข็ง และจุดอ่อนของตัวเอง เราจะต้องหาทางแก้ปัญหาเหล่านั้นได้และพัฒนาทักษะตนเองจนทำสิ่งที่ต้องการจนสำเร็จได้แน่นอน
อ้างอิง
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill
โฆษณา