30 ต.ค. 2021 เวลา 03:08 • ท่องเที่ยว
เตรียมพร้อมก่อนท่องเที่ยว!!! กรมอุทยานฯ แนะท่องเที่ยววิถีใหม่ เที่ยวปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19 ย้ำปฏิบัติตามกฎ ลดความเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัย พร้อมดึงชุมชนร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้
1 พฤศจิกายนนี้ นักท่องเที่ยวต้องเตรียมตัวอย่างไร กับการ“ท่องเที่ยววิถีใหม่ เที่ยวอย่างปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19” และมีช่องทางไหนบ้างที่จะตรวจสอบว่า อุทยานแห่งชาติไหน เปิด หรือ ปิดการท่องเที่ยว รวมทั้ง ข้อควรระวัง และข้อปฏิบัติต่าง ๆ เมื่อเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ วันนี้เรามีข้อมูลที่เป็นประโยชน์มานำเสนอ ก่อนรับชมรายละเอียดจากผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ (นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์) อีกครั้งในรายการอุทยานเล่าข่าว เวลา 10.00 น.ของวันนี้ ( 30 พ.ย. 64 )
วันที่ 1 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำหนดให้มีการใช้แอปพลิเคชัน QueQ ในการจองเข้าอุทยานแห่งชาติล่วงหน้า โดยกำหนดสัดส่วนให้มีการจองล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน QueQ จำนวน 70% และอีก 30% จะเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้จองล่วงหน้าสามารถ Walk in มาท่องเที่ยวได้ หลังจากที่ยืนยันการจองและชำระค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติแล้ว นักท่องเที่ยวจะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดกรองตามมาตรการโควิด 19 จากนั้นให้ทุกท่านลงทะเบียนเช็คอินด้วยแอปพลิเคชันไทยชนะ ถึงแม้จะมีการเปิดการท่องเที่ยวแล้ว แต่อุทยานแห่งชาติทุกแห่ง ยังคงดำเนินการควบคุม Carrying Capacity ควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโรค Covid 19 ซึ่งเป็นไปเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเอง และเพื่อให้นักท่องเที่ยวก็สามารถเข้าเที่ยวชม พักผ่อน ชื่นชมธรรมชาติได้สมความตั้งใจ
สำหรับมาตรการขั้นพื้นฐานและมาตรการเข้มข้น ที่กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ดำเนินการในแต่อุทยานแห่งเพื่อเป็นการป้องกันโควิด-19 ได้ดำเนินการตามมาตรฐานประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กำหนดให้มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ยังสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในบริเวณที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่น รวมถึง ห้องน้ำก็กำชับให้ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเรามีอุทยานแห่งชาติจำนวน 72 แห่ง ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยว หรือ SHA (Amazing Thailand Safety and Health Administration) และมาตรฐาน SHA Plus+ ที่เจ้าหน้าที่ได้รับการฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 อีกจำนวน 7 แห่ง และยังดำเนินการผลักดันให้อุทยานแห่งชาติทุกแห่งดำเนินการตามมาตรฐานดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ก่อนการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งขอให้นักเที่ยวประสานกับทางเจ้าหน้าที่ก่อนท่องเที่ยวหรือเข้าพักทุกครั้ง ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดที่เว็บไซต์อุทยานแห่งชาติ เพจเฟซบุ๊กสำนักอุทยานแห่งชาติ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่อัพเดตข้อมูลการเปิด-ปิด อุทยานแห่งชาติเป็นประจำทุกวัน และจะมี ลิงค์เพื่อให้นักท่องเที่ยวตรวจสอบข้อมูล รายละเอียด หากแหล่งท่องเที่ยวใดปิด จะกำกับด้วยข้อความสีแดง หากแหล่งท่องเที่ยวใดเปิดจะกำกับด้วยข้อความสีดำ
สำหรับอุทยานแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่นำร่อง (Sand box) 10 จังหวัด (เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี พังงา บุรีรัมย์ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพมหานคร) ยกตัวอย่างเช่น อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ปัจจุบันเปิดการท่องเที่ยวและพักแรมทั้งหมด อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ปัจจุบัน เปิดแหล่งท่องเที่ยวเกาะละวะใหญ่ อ่าวเคียนเกาะโบยใหญ่ เกาะห้อง เกาะทะลุ เกาะตะปู เขาพิงกัน และเปิดให้บริการพักค้างแรม และลานกางเต็นท์ อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ปัจจุบันเปิดแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมดและเปิดให้บริการพักค้างแรม และลานกางเต็นท์ และเขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งจะเปิดการท่องเที่ยวในวันที่ 1 พ.ย.เป็นวันแรกเช่นกัน
เราจะทราบได้อย่างไรว่าที่ไหนต้องใช้ผลรับรอง rt-pcr หรือ atk ที่ไหนต้อง swop บ้าง? นักท่องเที่ยวสามารถติดตามได้ในเพจต่างๆของแต่ละแหล่งท่องเที่ยว หรือสอบถามเข้ามายังเพจสำนักอุทยาน โดยเจ้าหน้าที่จะประสานแจ้งเบอร์โทรศัพท์ของอุทยานแห่งชาตินั้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องการจะเข้าไปท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถโทรสอบถามกับทางอุทยานแห่งชาติได้โดยตรง ซึ่งในบางพื้นที่อาจแตกต่างกันไปเนื่องจากว่าในแต่ละจังหวัดก็มีมาตรการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละอุทยานก็ต้องยึดตามมาตรการของจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดนั้น ๆ ด้วย เมื่อเข้าไปท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 และท่องเที่ยวอย่างไรให้สนุกและได้ความรู้ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร นักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT ด้วย
มาถึงเรื่องการห้ามนักท่องเที่ยวปรุงอาหารประเภทมีกลิ่นและอาหารปิ้งย่างบริเวณลานกางเต็นท์หรือที่พักในอุทยานแห่งชาติ ตามประกาศกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง งดประกอบอาหารประเภทที่มีควันและกลิ่นรบกวนบริเวณพื้นที่กางเต็นท์หรือที่พักในอุทยานแห่งชาติ ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยให้อุทยานแห่งชาติทุกแห่งดำเนินการจัดให้มีแนวทางรองรับสำหรับการงดประกอบอาหารบริเวณพื้นที่กางเต็นท์ในอุทยานแห่งชาติ ดังนี้ จัดร้านค้าสวัสดิการในการรองรับนักท่องเที่ยว จัดพื้นที่ประกอบอาหารหรือการแบ่งโซน จัดพื้นที่ให้เอกชนหรือชุมชนท้องถิ่นเข้ามาขออนุญาตจำหน่ายอาหารในช่วงเทศกาลต่าง ๆ และยังมีแนวทางอื่น ๆ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของอุทยานแห่งชาติตามความเหมาะสม
และเรื่องที่ต้องขอความร่วมมืออย่างยิ่งก็คือ เรามีการจำกัดความเร็วของรถยนต์ จำกัดความดัง เพราะมีผลกระทบกับสัตว์ป่าและเป็นการรบกวนนักท่องเที่ยวท่านอื่น ตรงนี้นักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เราจะได้ท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ไม่รบกวนสัตว์ป่า และต้องฝากเรื่องขยะเมื่อนำเข้าไปแล้วก็ขอให้นำกลับออกมาด้วย หรือทิ้งในจุดที่ทางอุทยานกำหนดให้เท่านั้น
สำหรับการงดใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตราย ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่
1. Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3)
2. Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate)
3. 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC)
4. Butylparaben
ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 4 สิงหาคม 2564 นั้นได้กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ขอความร่วมมือ รณรงค์ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปทราบถึงเหตุผลของประกาศฯ
ในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ให้เจ้าหน้าที่แจ้งนักท่องเที่ยวทราบถึงประกาศดังกล่าวก่อน และสามารถฝากครีมกันแดดดังกล่าวไว้กับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ โดยให้เจ้าหน้าที่เขียนชื่อพร้อมเบอร์โทรศัพท์ของนักท่องเที่ยวติดไว้ที่ครีมกันแดดดังกล่าว และให้เจ้าหน้าที่ส่งคืนในวันที่เดินทางออกจากอุทยานแห่งชาติ โดยมีสมุดบันทึกเพื่อเป็นหลักฐานการรับและการคืนไว้
โดยการเปิดการท่องเที่ยวครั้งนี้ ยังมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนรอบอุทยานแห่งชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการท่องเที่ยว ทั้งการดำเนินกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว การให้บริการพายเรือ ขนาดเล็ก พานักท่องเที่ยวชมความสวยงามในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล หรือการเข้ามาเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น นำเที่ยว หรือการเข้ามาขายอาหาร ขายของที่ระลึก เพราะเชื่อว่าชุมชนจะช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติที่เป็นบ้านเกิดของตัวเองได้ดีที่สุด นอกจากนี้เราไม่ได้มีการก่อสร้างบ้านพักนักท่องเที่ยวเพิ่มเติม เพราะเราต้องการให้นักท่องเที่ยวได้พักในที่พักโดยรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง
โฆษณา