30 ต.ค. 2021 เวลา 12:52 • สุขภาพ
Decision making: ถอดบทเรียนจาก“ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก”ของแพทย์ในยุค
โควิด-19
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เริ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสร้างความลำบากใจให้กับบุคลากรทุกๆภาคส่วนแต่เมื่อคำนึงถึงกลุ่มคนที่ทำงานหนักที่สุดคงไม่ใช่ใครอื่นใดนอกจาก บุคลากรทางการแพทย์ แต่ถึงแม้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ได้ทุ่มเทอย่างหนักในการรับมือภาวะวิกฤตินี้ จำนวนผู้ติดเชื้อกลับยังสูงขึ้นเรื่อยๆ และยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากอุปสรรคต่างๆ หลายประการ โดยเมื่อจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจนเกินกำลังของสถานพยาบาล ปัญหาที่เกิดก็คือการบริหารและรับมือกับการดูแลผู้ป่วยที่อาจมีประสิทธิภาพลดลง ซึ่งปัจจัยที่สำคัญคือการตัดสินใจที่ดีที่จะนำไปสู่ผลที่สามารถลดปัญหาได้ในระดับที่น่าพอใจ
ฉะนั้น เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย จึงต้องผ่านการฝึกการตัดสินใจเชิงจริยธรรม (ethical decisions) ซึ่งหมายถึงการตัดสินใจที่ยึดหลักการเกี่ยวกับจริยธรรมทางการแพทย์ เพื่อใช้แก้ปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นขณะดูแลรักษาผู้ป่วย นอกจากนี้บุคลากรทางการแพทย์ยังอาจเจอกับสถานการณ์ซึ่งต้องอาศัยเหตุผลและหลักในการตัดสินใจที่มากขึ้นที่เรียกว่า ภาวะความขัดแย้งทางจริยธรรม หรือ ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก (medical dilemma) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหลักการทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องมีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน ทำให้ยากต่อการหาข้อสรุปที่ถูกต้องอย่างแท้จริง
ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จึงต้องมีทักษะในการตัดสินใจที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยจะต้องทำให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุดและทำให้การดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเป็นไปอย่างราบรื่น
โดยในบทความนี้ประกอบด้วยการนำเสนอประเด็นความขัดแย้งทางจริยธรรมที่เกิดขึ้นในยุคโควิด และกล่าวถึงทักษะสำคัญของโลกยุคใหม่อย่างทักษะการตัดสินใจ (Decision-making) โดยจะอ้างถึงความสำคัญและความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ทักษะนี้เป็นอย่างมากในการใช้รับมือกับความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิดเช่นนี้ และพูดถึงการประยุกต์นำหลักทฤษฎีเชิงปรัชญาต่างๆ มาใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจและให้เหตุผล โดยมีการเปรียบเทียบมุมมองของแต่ละหลักการต่อปัญหาที่จำเพาะ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจให้เหมาะแก่สถานการณ์
นอกจากนี้ยังนำกระบวนการตัดสินใจเชิงจริยธรรมเพื่อใช้แก้ปัญหาประเด็น dilemma มาพูดถึงเพื่อให้เห็นขั้นตอนการตัดสินใจที่เป็นระบบและสมควรนำไปใช้ สุดท้ายจึงสรุปบทเรียนที่ได้จากการศึกษาในประเด็นที่ได้กล่าวมาทั้งหมดเพื่อให้เกิดความตระหนักและเป็นประโยชน์ต่อทั้งบุคลากรการแพทย์ และบุคคลทั่วไปที่จะสามารถนำข้อคิดที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน
ทักษะสำคัญในโลกยุคใหม่: การตัดสินใจ (decision making)
ในปัจจุบัน ผู้คนมีการบริโภคข้อมูลข่าวสารมากขึ้นและยังต้องเผชิญกับโรคระบาด ทำให้อุปสรรคในการดำเนินชีวิตมีมากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น การที่เราฟังข่าวเกี่ยวกับข้อมูลวัคซีน ทำให้เรามีตัวเลือก ซึ่งเราจะต้องเลือก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและคุ้มที่สุด แน่นอน ทักษะที่เราจะต้องมีคือ ทักษะการตัดสินใจ หรือ decision-making ซึ่งสิ่งที่สำคัญเนื่องจากการที่เรากำลังอยู่โลกที่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น การตัดสินใจที่ผิดพลาดอาจทำให้เกิดความเสียหายที่ยากเกินกว่าจะเยียวยาได้ ดังนั้น นอกจากเราจะต้องเลือกทางเลือกที่ให้ประโยชน์สูงสุดแล้ว เรายังต้องคำนึงการทำให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุดด้วย
การตัดสินใจเป็นส่วนหนึ่งของการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และยังเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคนในทุกองค์กร เพื่อใช้แก้ปัญหาในแต่ละด้านซึ่งอาจมีความสลับซับซ้อนแตกต่างกันไป แต่ในบางองค์กร การตัดสินใจของบุคลากรสามารถเป็นตัวชี้ชะตาของชีวิตคนได้ ซึ่งองค์กรที่กล่าวถึงนี้ก็คือ สถาบันทางการแพทย์ ที่มีบุคลากรการแพทย์เป็นหัวใจสำคัญ โดยที่บุคลากรเหล่านี้ต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ต้องเจอขณะปฏิบัติงานมากขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโรคเช่นนี้ สิ่งที่ตามคือ ความจำเป็นที่จะต้องมีการตัดสินใจที่มากขึ้นและซับซ้อนขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
อะไรคือ“ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก”ในยุคโควิด
ในสถานการณ์ที่มีอุปสรรคและทางเลือกที่น้อยลงนั้น นอกจากบุคลากรทางการแพทย์จะต้องรักษาผู้ป่วยจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากโควิดแล้ว การบริหารเวลาและทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน สิ่งที่ตามมาคือ การตัดสินใจที่ถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย แต่ในบางกรณี ทางเลือกที่มีอยู่กลับมีความขัดแย้งกันเอง ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ที่ยากต่อการตัดสินใจ และต้องอาศัยการพิจารณาไตร่ตรองที่รอบคอบ ที่เรียกว่า ภาวะความขัดแย้งทางจริยธรรมการแพทย์ หรือ ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางการแพทย์ (medical dilemma) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหลักการทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องมีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน ทำให้ยากต่อการหาข้อสรุปที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ซึ่งหลักจริยธรรมที่บุคลากรทางการแพทย์พึงยึดเป็นหลักสำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจมีอยู่หลายประการ
ได้แก่ 1. การเคารพในเอกสิทธิ์แห่งผู้ป่วย (Autonomy) 2. การยึดถือประโยชน์ของผู้ป่วย (Beneficence) 3. การไม่ทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตราย (Non-maleficence) 4. การให้ความยุติธรรมแก่ผู้ป่วย (Justice) 5. การรักษาความเป็นส่วนตัวและความลับของผู้ป่วย (Confidentiality) โดยที่ ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกคือกรณีที่มีทางเลือกที่สอดคล้องตามหลักจริยธรรมหนึ่ง แต่ขัดกับหลักอีกข้อหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดอิหลักอิเหลื่อในการตัดสินใจขึ้นมา เพราะไม่มีทางเลือกได้ที่มีความถูกต้องอย่างในเชิงจริยธรรมอย่างแท้จริง
การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มจากจำนวนผู้ป่วยไม่มากแต่กลับเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยมากเกินกว่าศักยภาพของสถานพยาบาล การขาดแคลนเตียงและห้องสำหรับผู้ป่วยหนัก การขาดแคลนอุปกรณ์ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยรวม และการมีบุคลากรไม่เพียงพอ ทำให้แพทย์และพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ต้องเผชิญกับอุปสรรคที่สำคัญมากอีกอย่างคือการตัดสินใจว่าจะรักษา (และช่วยชีวิต) ผู้ป่วยคนไหนก่อน และจะต้องปล่อยให้ผู้ป่วยคนไหนรอไปก่อน ควรส่งผู้ป่วยคนไหนให้กลับไปดูแลที่บ้าน หรือในหลายๆกรณีคือการตัดสินใจปล่อยให้คนไข้เสียชีวิตไปเอง ซึ่งการตัดสินใจเช่นนั้นเปรียบเสมือนการตัดสินชีวิตของผู้ป่วย
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้คือ ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการเคารพในเอกสิทธิ์แห่งผู้ป่วย (Autonomy) และหลักการให้ความยุติธรรมแก่ผู้ป่วย (Justice) ถึงแม้จะเป็นการตัดสินใจเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วย (Beneficence) ดังนั้นจะเห็นว่ากรณีนี้เกิดความขัดแย้งเชิงจริยธรรมขึ้นอย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้ วิธีที่จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถตัดสินใจในสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างถูกต้องควรเป็นอย่างไร
ภาพบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับมือการรักษาผู้ป่วยที่จำนวนมากพร้อมทั้งบริหารจัดการเครื่องช่วยหายใจ เตียง และเลือกรักษาผู้ป่วย จาก https://www.thaipost.net/main/detail/107957
การตัดสินใจโดยใช้ปรัชญา
ในข่าวจาก The New York Times ได้มีการกล่าวถึงวิธี หรือ protocol ที่ใช้ในการตัดสินใจว่าจะรักษาชีวิตผู้ป่วยหรือไม่ โดยในข่าวอธิบายว่าแพทย์ในอิตาลีใช้หลักเกณฑ์ที่ยึดตามหลักศีลธรรมแบบประโยชน์นิยม (utilitarian principles) ซึ่งเป็นหลักการที่ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของ ผลของการกระทำนิยม (consequentialism) แต่จะจำเพาะไปที่การมุ่งเน้นทำให้เกิดผลที่เป็นประโยชน์สูงสุด ดังนั้น เมื่อนำหลักเกณฑ์นี้มาใช้จึงหมายความว่าบุคลากรควรเลือกการรักษาที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไข้ที่คาดว่าจะน่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการรักษา หรือก็คือในการตัดสินใจเลือกรักษาให้กับผู้ป่วยโควิด-19
ตัวอย่างเช่น ใช้เครื่องช่วยหายใจที่มีจำนวนจำกัด จะไม่ได้ตัดสินตามลำดับผู้ป่วย ซึ่งแสดงว่าผู้ป่วยคนแรกอาจไม่ใช่คนที่ควรถูกรักษามากที่สุด แต่เป็นคนที่มีความจำเป็นมากกว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม วิธีนี้เป็นการปฏิบัติที่ยังไม่เท่าเทียมต่อผู้ป่วย เพราะการเลือกเช่นนี้อาจทำให้ผู้ป่วยบางคนขาดการรักษา
เมื่อพิจารณาหลักศีลธรรมขั้วตรงข้ามอย่าง หลักเสรีนิยม (libertarian principles) ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิของปัจเจก การเลือกนำหลักเกณฑ์นี้มาใช้จึงสอดคล้องกับหลักการให้เอกสิทธิ์ (Autonomy) กับผู้ป่วยทุกคนและให้มีโอกาสเลือกได้ตามประสงค์ ดังนั้นในกรณีนี้ ผู้ป่วยจะมีสิทธิ์เลือกว่าตนเองจะรับการรักษาหรือไม่ ซึ่งในทางทฤษฎีนั้น วิธีจะช่วยสร้างประโยชน์และถูกต้องอย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัตินั้นกลับเป็นไปได้ยากหรือน้อยมากในสถานการณ์ที่มีทรัพยากรไม่เพียงพอให้สนองความต้องการรักษาของผู้ป่วยรายคน
อีกหลักการหนึ่งซึ่งใกล้เคียงกันคือ หลักของคานต์ (Kantian principles) ซึ่งยึดความสำคัญของหน้าที่ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ได้ และยึดหลักการสากลคือการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษย์เป็นสิ่งที่มีศีลธรรม หรือในอีกความหมายคือ การปฏิบัติใดๆก็ตามควรเป็นไปตามเหตุผลที่ก่อเกิดประโยชน์กับผู้ป่วยในทุกกรณีในฐานะที่ผู้ป่วยก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง จะเห็นว่าหลักการนี้สอดคล้องกับจริยธรรมการยึดถือประโยชน์ผู้ป่วย (beneficence) และไม่ทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตราย (non-maleficence) และยังคล้ายกับหลักเสรีนิยมที่การรักษาควรได้รับอย่างเท่าเทียม แต่ถึงแม้จะสอดคล้องกับหลักจริยธรรมทางการแพทย์ทุกประการ วิธีนี้กลับเป็นอีกวิธีที่ยากต่อการนำมาใช้ในวิกฤตโรคระบาด
จากหลักเกณฑ์ที่ได้กล่าวมานั้นจะเห็นว่าแม้แต่หลักปรัชญาที่สามารถนำมาใช้ช่วยในการตัดสินใจยังมีความขัดแย้งกัน แล้วเราควรทำอย่างไร? โดยนอกจากหลักปรัชญาศีลธรรมที่เรายึดถือในการตัดสินใจในประเด็นหนึ่ง สิ่งที่เราต้องคำนึงก็คือเรื่องของบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะหลักปรัชญาศีลธรรมอันหนึ่งอาจใช้ได้ แตกต่างกันในแต่ละกรณี ซึ่งในที่นี้หมายถึง หลักเกณฑ์ที่จะสามารถนำไปใช้ได้ จะต้องใช้ประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเข้ากับสถานการณ์ พูดง่ายๆก็คือ หลักเกณฑ์ใดก็ตามที่สามารถปฏิบัติได้จริงแล้วทำให้เกิดผลลัพธ์เป็นไปตามเป้าประสงค์ของหลักศีลธรรมนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น หลักเสรีนิยมที่มุ่งเน้นทำให้เกิดประโยชน์ต่อปัจเจก จะถูกนำไปใช้ได้ก็ต่อเมื่อ เรามั่นใจว่าจะสามารถให้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยทุกคนได้ นั่นหมายความว่าเราต้องมีทรัพยากรที่เพียงพอ
ดังนั้นสิ่งนี้คือบริบทที่เราต้องนำมาใช้ในการประกอบการตัดสินใจว่าควรหยิบเอาหลักการใดมาใช้ในบริบท เราสามารถเรียกวิธีการตัดสินใจเช่นนี้ว่าเป็น บริบทนิยม (contextualism) แต่เราจะต้องมีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจเชิงศีลธรรมด้วย เพราะเมื่อเราใช้วิธีแบบบริบทนิยม เราจะต้องไม่ยึดอยู่กับหลักเกณฑ์เพียงอันเดียวและ “เลือก”เพียงอันที่สมควรใช้ในแต่ละบริบท
ถึงตรงนี้เราอาจตระหนักว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ การนำวิธีบริบทนิยมมาใช้ก็ไม่ต่างกับการยึดหลัก ผลของการกระทำนิยม (consequentialism) เพราะเราให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกใช้หลักปรัชญาศีลธรรมอันใดอันหนึ่ง แต่ที่จริงแล้ว ผลของการกระทำนิยม คือการมองไปที่ผลกระทบของการกระทำ ในขณะที่หลักบริบทนิยมที่เรานำมาเสนอนี้จะต้องเน้นไปที่การหาหลักเกณฑ์ที่ถ้าปฏิบัติตามจะสามารถบรรลุเป้าหมายในตัวมันเองได้ ตราบใดที่หลักเกณฑ์นั้นๆมีจุดประสงค์คือเพื่อให้เกิดศีลธรรมและยังมีความสอดคล้องกับหลักจริยธรรมอยู่ หรือก็คือ เราจะไม่สนใจว่าผลจากการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใดจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุด แต่เราจะเลือกสิ่งที่ทำให้มีความเป็นไปได้ที่สุดที่จะเกิดผลลัพธ์ ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำคือการประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบเสียก่อน
กระบวนการตัดสินใจ
จากประเด็นที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้อาจทำให้เห็นในการตัดสินใจโดยเฉพาะการตัดสินใจของบุคลากรการแพทย์มีความซับซ้อนอยู่พอสมควร (ยังไม่รวมเรื่องของกฎหมายและจรรยาบรรณแพทย์ปลีกย่อยอื่นๆ) และที่สำคัญ เราได้รู้ว่า การตัดสินใจในประเด็นใด ประเด็นหนึ่ง ไม่ได้มีแค่การเลือก แต่เราจะต้องนำหลักการบางอย่างมาใช้พิจารณาด้วย ดังนั้นอีกสิ่งที่เราควรให้ความสนใจคือ กระบวนการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอนที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติได้ โดยในที่นี้จะขอยกตัวอย่างหลักการที่น่าสนใจไว้ ดังนี้
1. กระบวนการตัดสินใจอย่างมีศีลธรรม (Rest's moral development) มีอยู่ 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย
moral awareness — การรับรู้ว่ามีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมในสถานการณ์นั้นๆ
moral judgement — การตัดสินว่าสิ่งใดถูกหรือผิด
moral intention — ความตั้งใจที่จะทำให้ถูกต้องตามจริยธรรม
moral behavior — การกระทำ
สิ่งที่น่าสนใจคือ สิ่งแรกที่เราพึงมีจะต้องเป็น การรับรู้ถึงประเด็นทางจริยธรรม เพราะถ้าเราขาดในส่วนนี้ การกระทำของเราจะกลายเป็นการกระทำที่ไร้ความรอบคอบและขาดศีลธรรม ต่อมาคือ เราสามารถนำหลักเกณฑ์ก่อนหน้านี้อย่าง บริบทนิยม มาใช้ในกระบวนการ moral judgement ได้ ซึ่งในกรณีนี้ สิ่งที่ถูกหรือผิดอาจไม่ใช่เรื่องของผลลัพธ์แต่เป็นการเลือกใช้หลักปรัชญาอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความตั้งใจปฏิบัติและกระทำในสิ่งที่สมควร
2. ขั้นตอนการตัดสินใจเชิงจริยธรรมทั่วไป
การรับรู้และกำหนดประเด็นจริยธรรม (Recognize and state the dilemma)
o รับรู้ว่าเกิดประเด็นจริยธรรมที่ยากต่อการตัดสินใจ หรือภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกขึ้น เนื่องจากมีความขัดแย้งกันในหลักจริยธรรม
การจำแนกประเด็นที่ขัดแย้ง (Break)
o จำแนกประเด็นหรือหลักการที่ขัดแย้งออกมาอย่างชัดเจน
การเก็บรวบรวมข้อมูล (Seek)
o นำข้อมูลที่รวบรวมมาซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานการณ์มาแปลผล เพื่อให้ได้ปัญหาและสาเหตุของปัญหา ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย และการรักษา ความต้องการของผู้ป่วย สิ่งแวดล้อม นโยบาย ศักยภาพ กฎเกณฑ์ และความพร้อมของหน่วยงาน
การพิจารณาทางเลือกในการปฏิบัติ (Consider the choices of action)
o หาแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขประเด็น ขัดแย้งทางจริยธรรม เพื่อให้ได้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดตามมา
การวิเคราะห์แนวทางการปฏิบัติ (Analysis)
o นำแนวทางปฏิบัติมาวิเคราะห์เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ โดยการนำความรู้ทางหลักการศีลธรรมและจริยธรรมมาประกอบการพิจารณา
การตัดสินใจเลือกและลงมือปฏิบัติ (decision-making and action)
o ตัดสินใจและปฏิบัติตามแนวทางที่เลือกไว้
จากขั้นตอนเหล่านี้จะเห็นว่าสิ่งที่สำคัญนั้นไม่ใช่มีเพียงแค่การตัดสินใจ แต่เราต้องกลับไปมองที่ปัญหาและวิเคราะห์ในหลายๆแง่ ทั้งสาเหตุ ข้อมูลบริบทต่างๆ และหลักการ จึงจะได้มาซึ่งแนวทางปฏิบัติ หรือก็คือ ทางเลือกในการตัดสินใจ ก่อนจะจบที่การลงมือปฏิบัติ ทั้งนี้ ผลลัพธ์ออกมาเช่นไรก็ตาม เราก็ควรจะพร้อมรับมือกับผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบ และควรเรียนรู้วิธีการตัดสินใจเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกันได้อย่างเหมาะสม
บทเรียนการตัดสินใจ
จากแนวคิดและกระบวนการตัดสินใจก่อนหน้านี้ บุคลากรทางการแพทย์สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในการตัดสินใจปัญหาภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก โดยจะคำนึงถึงหลักจริยธรรมและหลักการทางศีลธรรมอื่นๆ ที่นำมาประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้เข้าใกล้ความถูกต้องเหมาะสมมากที่สุด ซึ่งไม่ได้หมายความว่า การตัดสินใจใดจะถูกหรือผิดแต่อย่างใด ดังนั้นสิ่งที่พึงมีคือ การใช้เครื่องมือในการตัดสินใจเหล่านี้มาใช้โดยพิจารณาอย่างรอบคอบว่าเหมาะสมต่อสถานการณ์หรือไม่ — บุคลากรการแพทย์ในยุคโควิดควรนำหลักการมาใช้เพื่อให้เป็นแนวทางหรือตัวช่วยในแต่ละกรณีมากกว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่ตายตัว โดยที่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ป่วย อุปกรณ์การแพทย์ และการประเมินศักยภาพของบุคลากรและสถานพยาบาลที่อาจส่งผลกระทบกับการตัดสินใจและผลที่ได้
จากการวิเคราะห์ประเด็นการตัดสินใจของบุคลากรการแพทย์แล้ว สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับทักษะการตัดสินใจ และบุคคลทั่วไปจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร? แน่นอน เราอาจไม่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงหลักจริยธรรมทางการแพทย์ แต่ในชีวิตประจำวันและวิถีของ นักศึกษา และคนทำงานทั่วไปนั้น หลักปฏิบัติ ค่านิยม และวัฒนธรรมองค์กร ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจของเราทั้งสิ้น และบางสถานการณ์ที่เราต้องเผชิญระหว่างใช้ชีวิตและทำงาน ก็อาจทำให้เราลังเลและสงสัยในความถูกต้องของการกระทำอยู่ไม่น้อย นี่ถือเป็นเป็นประเด็นความขัดแย้งอย่างหนึ่งที่เราควรหาวิธีที่เหมาะสมในการตัดสินใจ ซึ่งถ้าเราสามารถตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลและมีหลักการ ก็จะเกิดประโยชน์และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราได้
โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เรามีทางเลือกในการบริโภคข้อมูลเพิ่มขึ้นก็ย่อมทำให้เรามีตัวช่วยในการตัดสินใจมากขึ้น แต่สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือ การมีตรรกะที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเร็วในโลกยุคใหม่ ซึ่งเหมือนกับบุคลากรการแพทย์ที่ต้องปรับความคิดและการตัดสินใจไปตามสถานการณ์ หรือแม้แต่กระบวนการตัดสินใจที่อาจเปลี่ยนได้แล้วแต่ความเหมาะสม เราจึงต้องพร้อมที่จะเรียนรู้หลักการและพัฒนาทักษะการตัดสินใจอยู่เสมอ
By Khanut Boonjong
อ้างอิง
โฆษณา