1 พ.ย. 2021 เวลา 12:19 • สิ่งแวดล้อม
บรรดาผู้นำของกลุ่มประเทศ G20 ต่างเห็นพ้องต้องกันในแถลงการณ์สรุปที่จะร่วมกันลงมือแก้ไขและล้อมกรอบปัญหาจากภาวะโลกร้อน ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP26 จะเริ่มต้นขึ้นที่เมืองกลาสโกลว์ของสกอตแลนด์ภายในสัปดาห์นี้
แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมต่างยังคงไม่พอใจกับการนำเสนอพันธกรณีที่เห็นประจักษ์ออกมาเพียงน้อยนิด เช่นเดียวกับปธน. โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯที่แสดงความผิดหวังโดยกล่าวโทษไปถึงจีนและรัสเซียที่ไม่ได้ร่วมนำเสนอแผนการใด ๆ เข้ามา
แม้ผู้นำกลุ่ม G20 ได้ร่วมปฏิญาณที่จะหยุดสนับสนุนทางการเงินแก่โรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างแดน แต่ก็ไม่ได้วางกำหนดการสำหรับแหล่งพลังงานดังกล่าวในประเทศ และยังหันเหประเด็นไปที่ความพยายามลดการปล่อยก๊าซมีเทน
กลุ่มประเทศ G20 ที่ประกอบไปด้วยบราซิล, จีน, อินเดีย, เยอรมนี และสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนของประชากรทั่วโลก 60% และมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คิดเป็นอัตราส่วนรวมกัน 80% ของทั่วทั้งโลก
นอกจากนี้บรรดากลุ่มผู้นำต่างเพียงยอมรับประเด็นหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในช่วงประมาณกลางศตวรรษนี้ โดยยกเลิกการระบุวันที่ที่เคยปรากฏอยู่ในเวอร์ชั่นก่อนของถ้อยแถลงคำสุดท้าย
จีนในฐานะประเทศที่มีสัดส่วนของการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมามากที่สุดของโลกวางกำหนดการของตนเองเอาไว้ในปี 2060 ในขณะที่ประเทศอื่นที่สร้างมลพิษอันดันต้น ๆ อย่างอินเดียและรัสเซียยังไม่ให้คำมั่นสัญญาตามเป้าหมายภายในปี 2050
แม้นายกฯ อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีจะให้ความเห็นว่า ผลสรุปที่ออกมาจะกลายเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการประชุม COP26 แต่นายกฯ จัสติน ทรูโด แห่งแคนาดากลับแสดงออกถึงความคาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรที่มีความทะเยอทะยานมากกว่านี้
อย่างไรก็ตามมีสัญญาณที่ชี้ถึงความมุ่งมั่นในการต่อต้านถ่านหินมากขึ้น จากแถลงการณ์ที่จะหยุดสนับสนุนการเงินแก่โรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงคำสัญญาที่จะเลิกใช้งานโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเปรียบเทียบกับกำหนดเดิมที่วางไว้ในปี 2030
ในส่วนของก๊าซมีเทนที่มีอิทธิพลต่อภาวะโลกร้อนสูงกว่าแต่ส่งผลกระทบในระยะยาวน้อยกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ได้รับการปฏิญาณจากกลุ่มผู้นำว่าจะเร่งลดระดับลง ด้วยมุมมองถึงแนวทางที่เป็นไปได้และมีประสิทธิภาพต่อต้นทุนที่สูงกว่า
จากแหล่งข่าวภายในยังเปิดเผยว่า อีกปัญหาที่ไม่เป็นไปตามเป้าคือประเด็นการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกี่ยวโยงถึงคำกล่าวอ้างในปี 2009 ของกลุ่มประเทศร่ำรวยที่จะจัดสรรงบ $1 แสนล้านต่อปีภายในปี 2020 เพื่อการพัฒนาในส่วนนี้
บรรดาผู้นำจากทั่วโลกจะเริ่มการประชุม COP26 ในวันนี้ ด้วยกำหนดการ 2 วันของการกล่าวคำปราศรัยเพื่ออธิบายข้อสรุปถึงถ้อยคำสัญญาใหม่เกี่ยวกับการลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของความตกลงปารีสในปี 2015
จากเมื่อสัปดาห์ก่อนสหประชาชาติ (UN) ยังได้กล่าวเตือนถึงระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในปี 2020 ที่สูงขึ้นจนกลายเป็นสถิติ ในขณะที่โลกกำลังหลุดออกจากเส้นทางของการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอย่างที่ควรจะเป็น
References :
โฆษณา