Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Nitihub
•
ติดตาม
1 พ.ย. 2021 เวลา 16:07 • การเมือง
⚖️ ถึงเวลาหรือยังที่ผู้พิพากษา ตุลาการ พนักงานอัยการ ต้องยึดโยงกับเสียงประชาชนมากขึ้น ❓
ประเทศไทยซึ่งมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย โดยสามารถแบ่งออกเป็นอำนาจนิติบัญญัติ หรือ รัฐสภา อำนาจบริหาร หรือ รัฐบาล และอำนาจตุลาการ หรือ ศาล
อย่างไรก็ตาม ที่มาของฝ่ายนิติบัญญัตินั้น เฉพาะสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. เท่านั้นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนชาวไทย ส่วนวุฒิสภา หรือ ส.ว. ทั้ง 250 คน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่สมาชิกวุฒิสภา 244 คนมาจากการสรรหา สมาชิก 6 คนเป็นสมาชิกโดยตำแหน่ง
ส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ในระหว่างห้าปีแรกนับตั้งแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ. 2560 มติที่แต่งตั้งบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภารวมกัน และการแต่งตั้งบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งถัดไปต้องกระทำโดยมติของสภาผู้แทนราษฎรโดยมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
เมื่อมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ เพื่อบริหารราชการแผ่นดินต่อไป
ถือได้ว่าอำนาจบริหารก็มีที่มาอันยึดโยงกับเสียงของประชาชน
สำหรับฝ่ายผู้ใช้อำนาจตุลาการนั้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึง ทั้งตำแหน่งผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ตุลาการศาลปกครอง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงตำแหน่งพนักงานอัยการ
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ตำแหน่งผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ตุลาการศาลปกครอง พนักงานอัยการ มาจากการสอบคัดเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถทางด้านนิติศาสตร์ประกอบกับคุณสมบัติอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นมาจากการสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ. 2560 มาตรา 200 ซึ่งบุคคลที่เป็นคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนอกจากประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ดูเหมือนว่า กรรมการคนอื่นก็ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด
แม้ว่าจุดประสงค์ของการสอบคัดเลือกและการสรรหาบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาข้างต้นจะเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลผู้ทำหน้าที่โดยเป็นกลางและปราศจากอคติใดๆ เพื่อไม่ให้มีการแทรกแซงการทำหน้าที่ได้ แต่ในทางในปฏิบัตินั้น มักปรากฎข้อกังขาของประชาชนต่อความเป็นกลาง ความมีมาตรฐานของการใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่ง คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาอยู่บ่อยครั้ง
จากข้างต้น อาจกล่าวให้เข้าใจได้อย่างง่ายๆ ว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจฝ่ายตุลาการ ทั้งตำแหน่งผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ตุลาการศาลปกครอง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และพนักงานอัยการ เป็นอำนาจหนึ่งเดียวในอำนาจอธิปไตย ที่การเข้าสู่ตำแหน่งไม่มีความยึดโยงกับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
ส่วนการพ้นจากตำแหน่งนั้น กฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในขณะนี้ ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง ด้วยการมีสิทธิมีเสียงเข้าชื่อเพื่อให้มีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้เลย
กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้การลงมติให้ถอดถอนบุคคลดังกล่าวในอำนาจตุลาการนั้น มักเป็นการลงมติให้พ้นจากตำแหน่งโดยบุคคลภายในองค์กรนั้นๆ เอง หรือคณะกรรมการในองค์กรนั้นๆ เท่านั้น
ทำไมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจฝ่ายตุลาการกับการยึดโยงกับเสียงของประชาชนจึงมีความสำคัญนัก
นอกจากเหตุผลที่อำนาจตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทยแล้ว เมื่อพิจารณาถึงคำสั่ง คำพิพากษา และคำวินิจฉัยบางประการหรือบางคดีย่อมส่งผลต่อคนไทย ไม่ว่าในแง่การเมืองในขณะปัจจุบัน การใช้ชีวิตของคนไทย รวมถึง ยังอาจเป็นบรรทัดฐานในทางอาญาหรือทางการเมืองในอนาคตต่อไปอีกด้วย
ตัวอย่างคดี
ตัวอย่างที่ 1️⃣
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก โดยกองทัพบกสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา (ทั้งที่เกษียณอายุราชการตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไปแล้ว) ไม่ได้เป็นการกระทำที่เป็นการรับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากกองทัพบกซึ่งเป็นหน่วยงานราชการเป็นพิเศษ เพราะไม่เป็นการถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศ ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเอง ไม่เป็นการขอ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจจะทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่และไม่เป็นการกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงไม่สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ
เช่นนี้ หากมีรัฐมนตรี หรือ นายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ในภายภาคหน้าอยู่บ้านพักรับรองของหน่วยงานราชการอย่างใดอย่างหนึ่งพร้อมการสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา จะถือว่าไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเอง ไม่เป็นการขอ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจจะทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน
ตัวอย่างที่ 2️⃣
ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียม โครงการแอชตัน อโศก (Ashton Asoke) มูลค่า 6,700 ล้านบาท ของบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด อันอาจเป็นเหตุให้ต้องทุบอาคารคอนโดมิเนียมแอชตัน อโศก ซึ่งมีการจำหน่ายห้องชุดในอาคารไปเกือบทั้งหมดและมีผู้เข้าพักอาศัยแล้ว (คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด)
หากต่อมา มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างนั้น เป็นเหตุให้ต้องทุบอาคารคอนโดมิเนียมดังกล่าว ผู้ซื้อและผู้อาศัยในคอนโดมิเนียมจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนและได้รับการเยียวยาอย่างไรบ้าง และเรียกการชดเชยจากบุคคลหรือหน่วยงานใดได้บ้าง แล้วจะมีการลงโทษผู้ที่ออกใบอนุญาตก่อสร้างอันถูกเพิกถอนหรือไม่
ตัวอย่างที่ 3️⃣
ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญามักจะยอมรับเอาคำรับสารภาพของผู้ต้องหาในชั้นพนักงานสอบสวนมาฟังเป็นหลักฐานเอาผิดจำเลยบ่อยๆ เมื่อการเบิกความในชั้นศาลมีการกลับคำรับสารภาพนั้น ดังตัวอย่างที่วินิจฉัยว่า “พนักงานสอบสวนก็เป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่และไม่ปรากฎว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะทำการสอบสวนหรือบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนอันเป็นการปรักปรำจำเลยให้ได้รับโทษทางอาญา จึงเชื่อว่าพนักงานสอบสวนกระทำการสอบสวนโดยสุจริต มิได้กลั่นแกล้งเพื่อให้จำเลยต้องรับโทษทางอาญา”
เนื่องจากในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 135 กำหนดไว้ว่า ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใดๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบ ประการใดๆ เพื่อจูงใจให้เขาให้การอย่างใดๆ ในเรื่องที่ต้องการนั้น ซึ่งหากคำให้การของผู้ต้องหาเกิดขึ้นจากคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบ ศาลมีอำนาจที่จะไม่รับฟังพยานหลักฐานนั้นมาลงโทษจำเลย โดยถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ ตามมาตรา 226
แต่การวินิจฉัยในตัวอย่างกรณีที่สามนั้น เมื่อปรากฎคลิปวิดิโอเหตุการณ์ที่ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ พร้อมพวก ทำร้ายผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนจนถึงแก่ความตาย
โดยแสดงเหตุผลในภายหลังว่า เพื่อต้องการขยายผลในคดียาเสพติด ทั้งยังมีการทำลายหลักฐานและพยายามปกปิดสาเหตุการเสียชีวิตอีกด้วย ซึ่งอาจนำมาสู่การตั้งคำถามจากสังคมต่อคำพิพากษาในทำนองดังกล่าวได้ว่า พนักงานอัยการและผู้พิพากษาในคดีอื่นๆ มีความสงสัยในพยานหลักฐานชั้นพนักงานสอบสวนที่ได้รับมามากน้อยเพียงไหน เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในคดีอาญาอื่นๆ ใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานอย่างไร อาจจะมีการละเลย เพิกเฉยต่อคำกล่าวของจำเลยว่า ตนเองถูกบังคับ ข่มขู่ ทำร้ายให้รับสารภาพ จนนำมาสู่การใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น หรือ เคยมีคดีไหนอีกบ้างที่พนักงานสอบสวนกระทำการบังคับ ข่มขู่ ทำร้ายให้รับสารภาพ เพียงแต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต และผู้พิพากษากลับรับฟังคำรับสารภาพในชั้นพนักงานสอบสวนแล้วลงโทษจำเลย
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์เกี่ยวกับความประพฤติบางประการของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งตรวจสอบและมีการลงมติให้ผิดหรือไม่มีความผิด ให้พ้นตำแหน่งหรือดำรงอยู่ได้ ด้วยการตรวจสอบภายในองค์กรนั้นๆ โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบหรือทำความเห็นว่าผิดหรือไม่ผิดแต่ประการใด
ทั้งในบางกรณี การเข้าถึงเอกสารแสดงเหตุผลในการลงมติกลับมาขั้นตอนยุ่งยาก ไปจนถึงประชาชนทั่วไปไม่ได้รับความยินยอมให้เข้าถึงเอกสารดังกล่าว เช่น รายงานการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมที่จะระบุเหตุผลในการลงมติต่างๆ ไว้ เช่น การเห็นชอบเลือกบุคคลใดดำรงตำแหน่งใด หรือการปลดหรือไล่ข้าราชการตุลาการคนใดออกจากราชการ ซึ่งไม่พบว่ามีปรากฎในเว็บไซต์ของสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม โดยกลับพบเพียงผลการประชุมในครั้งนั้นๆ แล้วเท่านั้น
หากแม้มีประกาศโดยทั่วไปเกี่ยวกับการปลดหรือไล่ออกจากราชการก็ระบุเพียงเหตุผลอันเป็นข้อกฎหมายเท่านั้น ประชาชนไม่อาจรู้ข้อเท็จจริงได้เลยว่า บุคคลดังกล่าวมีการกระทำอย่างไรจึงเป็นเหตุให้ต้องมีมติไล่ออกจากราชการและมตินั้นสมเหตุสมผลหรือไม่
ตัวอย่างเหตุการณ์เกี่ยวกับความประพฤติบางประการของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งซึ่งเกิดข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมในสังคม เช่น
1️⃣ นางเมทินี ชโลธร ซึ่งมติที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาคนที่ 46 ทั้งที่ก่อนหน้านั้น รวมถึงภายหลังจากที่ ก.ต. มีมติเห็นชอบ ได้มีเสียงคัดค้านจากภาคส่วนของประชาชนถึงความเหมาะสมและความเป็นกลาง ความไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดๆ ของผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาประมวลจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ พ.ศ. 2529 จากภาพเหตุการณ์ที่นางเมทินี ฯ ได้เข้าร่วมชุมนุมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.
2️⃣ มติการประชุมคณะกรรมการอัยการ หรือ ก.อ. ว่าเห็นชอบในการเลื่อนนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ ทั้งที่มีกรณีขับรถยนต์ในขณะมึนเมาเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์และไม่หยุดลงมาช่วยเหลือ และต่อมาศาลยุติธรรมพิพากษาให้จำคุก 2 ปี แต่รอลงอาญาและให้คุมประพฤติ 1 ปี
3️⃣ นายสราวุธ ศิริภาณุรักษ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ต้องออกจากราชการ เพราะถูกกล่าวหาว่ารับเงินเพื่อไปวิ่งเต้นคดีที่ศาลฎีกา ซึ่งแม้ที่ประชุม ก.ต.เสียงข้างมาก จะเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจน แต่มีมลทินมัวหมอง จึงให้ออกตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการฯ มาตรา 35
โดยการให้เหตุผลในกรณีที่สามนี้ ค่อนข้างขัดแย้งกับกรณีที่หนึ่งซึ่งมีภาพเหตุการณ์ผู้มีชื่อได้เข้าร่วมชุมนุมปรากฎสู่สาธารณะอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ตำแหน่งสำคัญในของศาลยุติธรรม เช่น ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลฎีกา ได้มีการกำหนดบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งไว้อยู่แล้วคือ บุคคลที่สอบได้ลำดับชั้นสูงสุดไล่ลงมาตามลำดับ เมื่อครั้งสอบเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา หรือที่เรียกกันติดปากของเหล่าข้าราชการตุลาการว่า ลำดับอาวุโส
ทำให้เกิดความเคลือบแคลงได้ว่า บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ของประเทศไทย เป็นคนที่เรียนนิติศาสตร์เก่งทุ่มเทกับการสอบให้ได้ลำดับสูงๆ ก็เพียงพอแล้วหรือ ไม่จำต้องเป็นข้าราชการตุลาการที่ทุ่มเทให้กับการทำงานในหน้าที่เพื่อประชาชน เพื่อผดุงความยุติธรรม เพื่อคุ้มครองและรักษาสิทธิ เสรีภาพ ผลประโยชน์ของประชาชนอย่างเสมอภาคกันอันได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่หรืออย่างน้อยผู้แทนของประชาชนอย่างนั้นหรอกหรือ
เช่นนี้แล้ว ชีวิตประชาชนคนไทยจะมีคุณค่าเพียงพอให้ข้าราชการตุลาการทั้งหลายทุ่มเทเพื่อผดุงความยุติธรรมหรือไหมหนอ
ไม่เพียงแต่เท่านี้ ในปัจจุบัน มีข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 10 ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลหรือวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลโดยไม่สุจริตหรือใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี ปลุกปั่น ยุยง หรืออาฆาตมาดร้าย ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 38 วรรคสาม กำหนดว่า การวิจารณ์คําสั่งหรือคําวินิจฉัยคดีที่กระทําโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคําหรือมีความหมายหยาบคายเสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอํานาจศาล
แต่ทั้งนี้อำนาจในการตีความว่าการกระทำอย่างไรจึงเป็นการไม่สุจริต หรือใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี ปลุกปั่น ยุยง หรืออาฆาตมาดร้าย ตามบทบัญญัติดังกล่าวก็เป็นอำนาจขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีเพียงองค์คณะเดียวตามรัฐธรรมนูญ แล้วสิ่งใดจะเป็นหลักประกันความเป็นกลาง ปราศจากอคติในการตีความกฎหมายและการให้เหตุผลประกอบการวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ หากว่าประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการสรรหา หรือ แม้เพียงแต่การถอดถอนตุลาการเหล่านั้น
กระทั่งในศาลยุติธรรมก็มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31-33
โดยในมาตรา 32 ซึ่งกำหนดว่า ผู้ใดเป็นผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ หรือผู้พิมพ์โฆษณาซึ่งหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์อันออกโฆษณาต่อประชาชน ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะได้รู้ถึงซึ่งข้อความ หรือการออกโฆษณาแห่งหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์เช่นว่านั้นหรือไม่ ให้ถือว่าได้กระทําผิดฐานละเมิดอํานาจศาลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ไม่ว่าเวลาใดๆ ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์เช่นว่ามานั้นได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ซึ่งข้อความหรือความเห็นอันเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อื่นๆ แห่งคดีหรือกระบวนพิจารณาใดๆ แห่งคดี ซึ่งเพื่อความเหมาะสมหรือเพื่อคุ้มครองสาธารณประโยชน์ ศาลได้มีคําสั่งห้ามการออกโฆษณาสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าโดยวิธีเพียงแต่สั่งให้พิจารณาโดยไม่เปิดเผยหรือโดยวิธีห้ามการออกโฆษณาโดยชัดแจ้ง
(2) ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ในระหว่างการพิจารณาแห่งคดีไปจนมีคําพิพากษาเป็นที่สุด ซึ่งข้อความหรือความเห็นโดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาล หรือเหนือคู่ความ หรือเหนือพยานแห่งคดี ซึ่งพอเห็นได้ว่าจะทําให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป เช่น
ก. เป็นการแสดงผิดจากข้อเท็จจริงแห่งคดี หรือ
ข. เป็นรายงานหรือย่อเรื่องหรือวิภาค ซึ่งกระบวนพิจารณาแห่งคดีอย่างไม่เป็นกลางและไม่ถูกต้อง หรือ
ค. เป็นการวิภาคโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งการดําเนินคดีของคู่ความ หรือคําพยานหลักฐาน หรือนิสัยความประพฤติของคู่ความหรือพยาน รวมทั้งการแถลงข้อความอันเป็น การเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของคู่ความหรือพยาน แม้ถึงว่าข้อความเหล่านั้นจะเป็นความจริง หรือ
ง. เป็นการชักจูงให้เกิดมีคําพยานเท็จ
ทั้งในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 กำหนดฐานความผิดดูหมิ่นศาลไว้ว่า ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษ...
เมื่อมีกฎหมายปกป้องการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา ตุลาการมิให้ถูกกระทบกระเทือนจากวิพากษ์วิจารณ์ว่าการทำหน้าที่ในกระบวนพิจารณาพิพากษาได้แล้วนั้น แล้วเสียงของประชาชนอยู่ที่ไหนกัน
แล้วอำนาจฝ่ายตุลาการในประเทศไทยเคยมีส่วนใดส่วนหนึ่งยึดโยงกับเสียงประชาชนหรือไม่❓❓
ในอดีต เมื่อยังบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้ให้สิทธิของประชาชนชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง เช่น มาตรา 164 ประกอบมาตรา 270 และ 274 ได้ให้อำนาจในการถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง กล่าวคือ
ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติไม่น้อย กว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในทางฝ่ายอำนาจตุลาการ ได้แก่
ผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาหรือตุลาการ และพนักงานอัยการ ซึ่งมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ซึ่งบทบัญญัติข้างต้นนี้ พบว่า ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้ในขณะนี้ ได้ถูกทำให้หายไป ราวกับไม่อยากให้อำนาจตุลาการมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่อยากให้ประชาชนมีสิทธิมีอำนาจตรวจสอบการทำหน้าที่ผู้พิพากษา ตุลาการ พนักงานอัยการ ทั้งที่บุคคลในฝ่ายตุลาการ รวมทั้งพนักงานอัยการควรต้องเป็นผู้คุ้มครองรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยมากที่สุด
โดยประชาชนสามารถกระทำได้ด้วยการเรียกร้องให้มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงกฎหมายตามกระบวนการตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่ การเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามพระราชบัญญัติเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564
ในกรณีเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติ จะต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในวันที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ และมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน ซึ่งการเสนอร่างพระราชบัญญัติต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิไว้ และดำเนินกระบวนการตามพระราชบัญญัติเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 หรือ
ในกรณีเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในวันที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญและมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน ดำเนินกระบวนการตามพระราชบัญญัติเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 เช่นกัน
โดยอาจจะเสนอแก้ไขข้อกฎหมายในประการสำคัญข้างต้น เช่น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดเลือกหรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในช่องทางใดช่องทางหนึ่ง เพื่อเป็นการให้ประชาชนมีสิทธิ มีส่วนร่วมต่อการดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามที่เคยกระทำได้เมื่อครั้งใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อทำให้ตำแหน่งเหล่านั้นมีความยึดโยงกับเสียงของประชาชนเจ้าของประเทศเสียบ้าง
ทั้งนี้ การทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ข้างต้นนั้น ย่อมไม่กระทบต่อการทำหน้าที่อย่างเป็นกลางและปราศจากอคติอันเป็นจริยธรรมที่ยึดถือกันอย่างแน่นอน เพราะประชาชนไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในขั้นตอนกระบวนพิจารณาทางใดทางหนึ่ง แต่กลับจะยิ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีความสนใจทางการเมือง กระตุ้นให้เกิดการตรวจสอบและสร้างความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมของไทยได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
*หมายเหตุ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 164 ประกอบ มาตรา 270 และ 274 ยังให้อำนาจแก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคลดังต่อไปนี้
นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
📌 แหล่งที่มาของข้อมูล
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
3. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543
4. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
5.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561
6. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553
7. พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564
8. ประมวลจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ พ.ศ. 2529
9. ประมวลกฎหมายอาญา
10. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
11. ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562
12. รายงานการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ครั้งที่ 10/2563 วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2563
13. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 29/2563 วันที่ 2 ธันวาคม 2563
14. คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ส.19/2564 วันที่ 30 กรกฎาคม 2564
15.
https://www.isranews.org/article/isranews-news/102868-investigative963-3.html
, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2564
16.
https://www.thansettakij.com/politics/491661
, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2564
17.
https://themomentum.co/ruleoflaw-unfair-trial/
, สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564
5 บันทึก
3
8
5
3
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย