2 พ.ย. 2021 เวลา 12:44 • การศึกษา
อิศรา อมันตกุล นักเขียนทรนง
อิศรา อมันตกุล หรือ อิบรอฮีม อะมัน ابراهيم امن นักเขียนมุสลิม ผู้ทรนง
บทความนี้ ขออนุญาตเขียนถึงเสี้ยวชีวิตหนึ่งของบุรุษที่ใช้เวลาในโลกดุนยา อาจจะมีบทบาทน้อยซะหน่อยในสังคมมุสลิม
เขาไม่ได้เป็นโต๊ะครู ไม่ใช่ผู้รู้ศาสนา และไม่มีบทบาทอะไรมากมายในสังคมมุสลิม
แต่ชีวิตของเขาในโลกดุนยา มีบทบาทมาก และสร้างประโยชน์อนันต์ต่อสังคมส่วนรวม และประเทศชาติ
เขาเป็นนักเขียนคนหนึ่ง ที่เป็นตำนานนักเขียนไทย
เป็นนักเขียนที่เหล่านักเขียนด้วยกันต่างยกย่องเขาว่า เป็นหนึ่งในนักเขียนชั้นครูในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ในฐานะที่เขาเป็นพี่น้องมุสลิมคนหนึ่ง เราไม่ขอโยนเรื่องราวของเขาทิ้งไปจากความทรงจำ
เรารู้สึกเสียดายที่จะวางเกียรติประวัติของเขา ลงในถัง ที่บรรจุธาตุอากาศแห่งจำเนียรกาล
เขาเสียชีวิตไปนานกว่า 52 ปีแล้ว สังคมมุสลิมอาจจะลืมเขาไปแล้ว บางคนอาจไม่รู้จักเขาด้วยซ้ำว่า " เป็นมุสลิม "
เพราะชีวิตเขาโดยส่วนใหญ่ ไม่ได้คลุกคลีอยู่ในสังคมมุสลิม
ไม่ค่อยมีโอกาสร่วมงานบุญ งานกุศล งานมัสญิด หรืองานวาลีมะฮ์
ชีวิตเขาส่วนใหญ่จะนั่งบนโต๊ะหนังสือ อยู่ในห้องที่อบอวลด้วยกลิ่นหมึก
วันทั้งวัน เขาสูดดมกลิ่นกระดาษ ติดตามข่าวสาร ฟังเสียงแท่นพิมพ์ และคลุกคลีอยู่ในโลกแห่งบรรณภพ
เขาใช้มันสมองเลี้ยงท้อง ใช้หยาดหมึกเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ ใช้ตัวอักษรรับผิดชอบครอบครัว
และยังใช้ปากกาเป็นอาวุธเพรียกหาความเป็นธรรมในสังคมส่วนรวม จนทำให้ต้องย้ายนิวาสถานไปนอนใน " มุ้งสายบัว "
" มุ้งสายบัว " เป็นภาษาปาก ที่นักเขียนส่วนใหญ่ในยุคเขา ชอบขีดเขียนลงบนกระดาษ
เขาเอง ก็ชอบใช้คำนี้บ่อยมากในงานเขียนของเขา
" มุ้งสายบัว " หมายถึง ห้องขังนักโทษ ซึ่งมีซี่กรงเป็นหลักกลมคล้ายสายบัว
เพราะความรักต่อมวลชน เรียกร้องความชอบธรรม
ทำให้เขาต้องนอนใน " มุ้งสายบัว " หรือ เรือนจำ ที่ลาดยาว เกือบ 6 ปีเต็ม
แต่ละชีวิตมีภาระหน้าที่แตกต่างกันไป
เขาถนัด และเลือกเส้นทางนักเขียน เพราะเขาชอบ และอัลลอฮ์ได้ให้พรสวรรค์แก่เขา
เขาผู้นั้นคือ " อิศรา อมันตกุล " หรือ เพื่อนพ้องนักเขียนเรียกเขาว่า " พี่อิศ "
เขาเกิดปี พ.ศ. 2463 ในสมัยรัชกาลที่ 6
เทียบให้เห็นภาพ คือเกิดปีเดียวกับ อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
บ้านเกิดเมืองนอน เป็นคนใกล้ ไม่ใช่คนไกล อยู่ในเมืองกรุง ย่านชุมชนมัสญิดจักรพงษ์ บางลำพู จังหวัด พระนคร
ชุมชนมุสลิมจักรพงษ์ ถือเป็นชุมชนเก่าแก่ ย้อนไปถึงต้นรัตนโกสินทร์ ครั้งคราสมัยรัชกาลที่ 1
ชาวบางบัวทอง จ.นนทบุรี สมัยก่อน พอเข้าเมืองกรุงเพื่อทำธุระ
มักจะนึกถึงมัสญิดจักรพงษ์ เพื่อแวะพักละหมาด และหาอาหารมุสลิมรับประทาน ทั้งฮาลาลและเอร็ดอร่อย
ปัจจุบัน จากนนทบุรีไปมัสญิดจักรพงษ์สะดวกมาก นั่งรถประจำทางต่อเดียว สาย 64 ท่าน้ำนนทบุรี - สนามหลวง
เขามีพี่น้องทั้งหมด 10 คน และมีน้องสาวเป็นนักแปลระดับแนวหน้าของเมืองไทย ชื่อ " อาจารย์กิติมา อมรทัต "
" อาจารย์กิติมา อมรทัต " เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยอาลิการ์ ประเทศอินเดีย และใช้ชีวิตแปลหนังสือที่นั้นในบางโอกาส
อดีตนักศึกษาไทยในอาลิการ์ ต่างยกย่องในความรู้ และรู้จัก " อาจารย์กิติมา อมรทัต " เป็นอย่างดี เช่น
อาจารย์อิมรอน มะลูลีม
อาจารย์จรัล มะลูลีม
อาจารย์ไพบูลย์ เจ๊ะยอเด
อาจารย์เราะห์มัด เรืองปราชญ์
 
อาจารย์อรุณ วิทยานนท์
 
และอาจารย์อีกหลาย ๆ ท่าน
อิศรา อมันตกุล มีชื่อมุสลิมว่า " อิบรอฮีม อะมัน "
บิดาชื่อ " มูฮัมหมัด ชาเลย์ " มารดาชื่อ " วัน "
ที่จริงแล้ว นามสกุลครอบครัวของเขาไม่ใช่ " อมันตกุล " นามสกุลจริงคือ " อมรทัต "
วัยเด็ก ในระดับประถมศึกษา มีโอกาสเรียนหนังสือใกล้บ้าน ในตรอกมะยม ถนนจักรพงษ์ บางลำพู ชื่อ " โรงเรียนบำรุงวิทยา "
ปัจจุบัน โรงเรียนบำรุงวิทยา เลิกกิจการไปแล้ว โดยก่อนเลิกกิจการ ตอนปี พ.ศ. 2534 โรงเรียนเคยถูกไฟไหม้
เติบใหญ่ เรียนระดับมัธยมศึกษาที่ " โรงเรียน กรุงเทพคริสเตียน "
ขณะกำลังเรียนชั้น ม.8 โรงเรียน กรุงเทพคริสเตียน เขาสร้างความฮือฮาในหมู่เพื่อนนักเรียน
โดยสอบวิชาภาษาอังกฤษได้เป็นอันดับ 1 ของประเทศ ได้รับรางวัลจากเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย
หลังจากจบโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เขาได้ใช้ชีวิตทำงานกับหน่วยงานฝรั่งที่ปักษ์ใต้
อิศรามี " มารดา " ที่เรียบร้อยมาก พูดจาช้า ๆ ภาษาสุภาพ น่าฟังยามได้ยิน น้ำเสียงไพเราะ ระรื่นหู
เป็นสุภาพสตรีร่างบอบบาง สวมแว่นตาขอบทอง จิตใจเอื้อเฟื้อ เป็นที่รักใคร่ของคนคุ้นเคย ชาวบางลำพูเรียกนามนางว่า " คุณนายวัน "
อิศราไปทำงานที่ปักษ์ใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราชได้ 2 ปี
"คุณนายวัน " ผู้เป็นมารดาคิดถึงลูกมาก เพราะอยู่ห่างไกล จึงเรียกตัวให้กลับพระนคร
อิศราเคยมีความฝันในสมัยเรียนมัธยมว่า อยากเป็นนักเขียน เป็นนักหนังสือพิมพ์
เมื่อกลับมาอยู่พระนครตามที่มารดาขอร้อง จึงอยากทำตามความฝันของตนเองที่จะเข้าไปอยู่ในโลกแห่งบรรณภพ
ปี พ.ศ. 2482 ขณะที่อิศรามีอายุได้ 19 ปี
เขาได้เขียนเรื่องสั้นของตัวเอง จากนั้น ตั้งสติ หายใจลึก ๆ รวบรวมความกล้าทั้งหลายทั้งปวง
เขาใช้หนึ่งมือถือกระดาษที่เขียนเรื่องสั้น สองเท้าเดินเลาะถนนจากจักรพงษ์ บางลำพู ไปที่ทำงานของหนังสือพิมพ์ " ประชามิตรรายวัน " ที่ บางขุนพรหม
หนังสือพิมพ์ " ประชามิตรรายวัน " หนังสือพิมพ์จัดทำโดย ทีมงานที่เรียกตนเองว่า " คณะสุภาพบุรุษ "
หนังสือพิมพ์มี " ครูอบ ไชยวสุ " เจ้าของนามปากกา " ฮิวเมอริสต์ " เป็นผู้รับผิดชอบ
อิศราส่งผลงานเรื่องสั้นของตัวเองให้ "ครูอบ ไชยวสุ "
" ครูอบ ไชยวสุ " อ่านเสร็จ ยิ้มเห็นฟันหมดปาก ทั้งฟันจริง และฟันปลอม
ครูอบ ไชยวสุ พอใจมากกับเรื่องสั้นของเขา เนื้อเรื่องและลีลาการเขียน เข้าท่าดี มีแววไปไกล
" ครูอบ ไชยวสุ " นำผลงานเรื่องสั้นของอิศราไปตีพิมพ์ พร้อมชักชวนอิศราให้มาทำงานด้วยกัน
อิศราได้เคยเล่าเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า หลังจากเรื่องสั้นลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ได้ไม่กี่วัน
ครูอบ ไชยวสุ เรียกเขาไปพบ ถามเขาว่า
" อิศราชอบเขียนหนังสือแกว่งขาหาตารางนักเรอะ ????....."
อิศราตอบว่า " ชอบที่สุดครับ "
จากวันนั้นแหละ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเข้าสู่โลกของนักเขียน นักหนังสือพิมพ์
โลกแห่งการเป็นนักเขียนของอิศรา เริ่มต้นเหมือนนักมวยขึ้นชกลัดขั้นตอน
ขึ้นชกครั้งแรก แทนที่จะชกแถบภูธรเพื่อสร้างกระดูก สร้างประสบการณ์
แต่กลับขึ้นชกครั้งแรกที่เวทีมวยมาตรฐานในเมืองกรุง คือ สนามมวยราชดำเนิน หรือ สนามมวยลุมพินี
วันแรกที่อิศราเข้าทำงานเป็นนักเขียน ในสำนักงานทีมงาน " สุภาพชน "
อิศราได้พบเจอกับบรรดาพี่ใหญ่ของวงการนักเขียนระดับประเทศทั้งนั้น
เหล่านักเขียนรุ่นใหญ่เปรียบได้ดั่งนักชกระดับพระกาฬ ชื่อเสียงเกรียงไกร เช่น
กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา
มาลัย ชูพินิจ
ชิต บุรทัต
มนัส จรรยงค์
และประยงค์ จรรยาวงษ์ หรือ เจ้าของคอลัมน์ " ขบวนการแก้จน "
ศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ มีข้อมูลอยู่ก่อนแล้วว่า
อิศรามีความรู้ด้านภาษาอังกฤษระดับท็อปของประเทศ เลยถือโอกาสทดสอบวิชาของอิศราพอหอมปากหอมคอ
ศรีบูรพาให้แปลข่าวต่างประเทศ พร้อมชี้ไปที่หลังตู้ว่า
" ดิกชันนารีอยู่บนหลังตู้หนังสือ สงสัยคำศัพท์ เปิดดูได้ "
แต่อิศราไม่เดินไปที่หลังตู้ เพื่อหยิบดิกชันนารี เขานั่งอ่านข่าว แล้วก็แปลรวดเดียวจบ
ศรีบูรพา เผยอยิ้มอย่างพอใจ นักเขียนย่อมแลเห็นฝีไม้ลายมือนักเขียน
ดวงตาราชสีห์ผู้ช่ำชองในการล่าเหยื่อ ย่อมมองเห็นแววตามุ่งมั่นของทายาทราชสีห์
ศรีบูรพามองเห็นลักษณะของอิศราว่า มีอนาคตในยุทธจักรน้ำหมึกอย่างแน่นอน
ศรีบูรพาจึงมอบหมายให้อิศราดูแลและรับผิดชอบข่าวต่างประเทศ
เมื่ออิศรากลับมาถึงบ้าน เขาก็เล่าเหตุการณ์ให้มารดา " คุณนายวัน " ฟังถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น
มารดาของเขา " คุณนายวัน " ได้ฟังแล้ว ภูมิใจในตัวบุตร และนางชอบให้เขาเป็นนักเขียน เป็นนักหนังสือพิมพ์
มารดาบอกอิศราอย่างอารมณ์ดีว่า
" ดีแล้ว ลูกเขียนหนังสือติดตาราง เพราะลูกทำงานหนังสือพิมพ์ ติดตาราง มันยังโก้กว่าติดตารางเพราะเป็นนักเลงหัวไม้ "
จากนั้น เป็นต้นมา ชีวิตของอิศราได้อยู่โลกของนักเขียนเต็มตัว
ร่วมทำงานในกองบรรณาธิการทีม " สุภาพบุรุษ " ตีพิมพ์ " หนังสือพิมพ์ ประชามิตร "
จากนั้น ร่วมเป็นผู้ก่อตั้ง " หนังสือพิมพ์สุวัณณภูมิ "
ต่อมา รับทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น
" บางกอกรายวัน "
 
" เอกราช "
 
" พิมพ์ไทยเบื้องหลังข่าว "
 
" พิมพ์ไทยรายวัน "
" สยามนิกร "
" เกียรติศักดิ์ "
" กิตติศัพท์ "
" ไทยใหม่ยุคใหม่ "
 
และ " บางกอกเดลิเมล์ " ( สำหรับบางกอกเดลิเมล์ ต่อมาคือ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ )
อิศรามีฝีมือการเขียนหนังสือ และทำหนังสือพิมพ์ชำนาญอย่างมาก
สามารถเขียนงานได้ทุกรูปแบบ เช่น
พาดหัวข่าว
บทบรรณาธิการ
ข่าว
บทความ
สารคดี
เรื่องสั้น
นวนิยาย
แปลเรื่อง
และเป็นผู้บุกเบิกทำสารคดีข่าว
เหตุนี้เอง หลังจากที่มีการก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ.2498
พอถึงปี พ.ศ.2499 มีการเลือกตั้งนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย
เหล่ามวลสมาชิกจึงเฮโลเทคะแนนให้เขาเป็นนายกคนแรกของสมาคมอย่างท่วมท้น
และเหล่าสมาชิกยังวางใจเขาในอีก 2 สมัยต่อมา คือ ปี พ.ศ. 2500 และ ปี พ.ศ. 2501
บุคลิกส่วนตัวแล้ว อิศราเป็นคนสุภาพอ่อนโยนมาก ใจเย็น ไม่ว่าใคร ไม่โกรธใคร มีความเอื้อเฟื้อกับรุ่นน้อง ๆ
จนมีคำกล่าวกันว่า ใครก็ตามที่ถูกอิศราโกรธ แสดงว่า คนนั้นต้องสุด ๆ แห่งความโชคร้าย
แต่สำหรับวิญญาณในการเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์แล้ว
เขาจะยืดอกอย่างภูมิใจ ไม่ยอมก้มหัวให้กับความอยุติธรรมในสังคม
จุดยืน และความทรนงนี้เอง ทำให้เขาต้องสูญเสียอิสรภาพ โดยไม่มีการฟ้องศาล ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
เขาถูกจองจำที่คุกลาดยาว ในข้อหาใช้ปากกา ตัวอักษร และแท่นพิมพ์เป็นอาวุธต่อสู้กับความอธรรม
เขาถูกกักขังให้นอนในมุ้งสายบัว เป็นเวลาถึง 5 ปี 10 เดือน ตั้งแต่ ตุลาคม พ.ศ.2501 ถึง กันยายน พ.ศ.2507
หลังออกจากคุกลาดยาว อิศรายังคงทำงานเป็นนักเขียนต่อ เป็นนักเขียนสืบสานอุดมการณ์ที่ไม่เคยเหือดแห้ง
เขาทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ " แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์ " จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
ตลอดชีวิตการเป็นนักเขียนของเขา มีผลงานปรากฏมากมาย
เขาได้วางมาตรฐานของนักเขียนมากอุดมการณ์เพื่อสังคมส่วนรวม ที่เหล่านักเขียนรุ่นเขา และรุ่นหลัง ต่างเอาเป็นแบบอย่าง
อัลลอฮ์ทรงให้อิศราปรากฏตัวบนโลกดุนยา ในฐานะนักเขียนจอมทรนงอย่างแท้จริง
เหรียญมี 2 หน้า ฤดูกาลในเมืองไทยมี 3 หน้า ทศกัณฐ์มี 10 หน้า หนังสือมีกระดาษเป็นร้อยเป็นพันหน้า
สำหรับ " อิศรา อมันตกุล " แล้ว เขาไม่มีหลายหน้า
เขามีแค่หน้าเดียว หน้าที่เป็นนักเขียน เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่รักความถูกต้องเพื่อมวลชน
หน้าเดียว ที่ตั้งแต่วันที่ใช้ฝ่าเท้าก้าวแรกเหยียบเข้ามาในวงการ เมื่อปี พ.ศ. 2482
เป็นหน้าเดียว จวบกระทั่งปี พ.ศ. 2512 หรือ ปีสุดท้ายที่เขาถึงอาญั้ล ได้อำลาโลกดุนยาไปสู่โลกแห่งสุสาน อาลัม บัรซัค
เขาไม่เคยเปลี่ยนหน้ากากเป็นคนหลายหน้า ไม่เคยทิ้งอุดมการณ์เป็นคนซ่อนหน้า
ไม่เคยเปลี่ยนหน้านักเขียนเป็นหน้าอื่น และเขาก็ไม่เคยปล่อยมือจากการเป็นนักเขียนอีกเลย
มีเรื่องเล่าที่เล่าขานต่อกันมา ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตอิศรา
อิศราป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ลิ้น เขาล้มป่วยนานถึง 10 เดือน ครอบครัวพาเขาไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
มารดาของอิศรา " คุณนายวัน " เดินทางไปเยี่ยมบุตรชายที่โรงพยาบาล
นางขอดูใจบุตรชายเป็นครั้งสุดท้าย ในวันสุดท้ายก่อนวิญญาณออกจากร่าง
เพราะตอนนั้น อิศราใกล้เสียชีวิตมากที่สุด
มารดาของอิศรามองร่างบุตรชายด้วยความรัก ความสงสาร
น้ำตาของความเป็นแม่พรั่งพรูออกมา แว่นตากรอบสีทองของมารดาถูกอาบด้วยน้ำตาดั่งสายน้ำตก
" คุณนายวัน " มารดาของอิศรายกมืออันบอบบางของนางวางบนหน้าอกของบุตรชาย
นางสอน " กะลีมะฮ์ ซะฮาดะฮ์ " ให้บุตรชาย
นางหลั่งน้ำตาสอนลูก จงกล่าวนามของอัลลอฮ์ ซิลูก " ลาอิลาฮะอิ้ลลัลลอฮ์ "
" คุณนายวัน " ในฐานะมุสลิมะฮ์คนหนึ่ง เข้าใจคุณค่าของ " กะลีมะฮ์ ซะฮาดะฮ์ "
เป็นถ้อยคำมีค่ามากสำหรับชีวิตมุสลิมตอนใกล้เสียชีวิต
นางพูดย้ำแล้วย้ำอีก นางกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีก
น้ำตาของมารดายังคงหลั่งไหลไม่หยุด พร้อมกับเสียงพูดย้ำ " กล่าวนามอัลลอฮ์ซิลูก "
อนิจจา ...!!! อิศรา ป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ลิ้น
และด้วยอาการป่วยของโรค ทำให้เขายากลำบากมากที่จะกล่าวถ้อยคำได้
" คุณนายวัน " มารดาอิศรา ไม่ละความพยายาม นางยังไม่ท้อ
นางยังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีก " ลาอิลาฮะอิ้ลลัลลอฮ์ กล่าวนาม อัลลอฮ์ซิลูก "
นางกล่าวพร้อมร้องไห้ สะอื้น เสียงสั่นเครือ
" กล่าวนาม อัลลอฮ์ ซิลูก "
บุตรชายตาลอยมองมารดา
อิศราคงเข้าใจในความตั้งใจของมารดา
ขณะนั้น มารดายังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีก
นางคะยั้น คะยอให้บุตรชายเปล่งเสียงออกให้ได้ พูดคำ " กะลิมะฮ์ " ออกมาให้ได้ " กล่าว อัลลอฮ์ซิลูก "
อิศราป่วยเป็นมะเร็งก็จริง แต่อวัยวะมือของเขายังพอจะยังขยับเขยื้อนได้
อิศรายกมืออันบอบบางของมารดาที่วางอยู่บนหน้าอก มาวางไว้บนศรีษะของเขา
ความรักของมารดาที่มีต่อบุตรนั้น มากมายมหาศาล
นางยังคงไม่เลิกสอน " กะลิมะฮ์ " ให้ลูก
นางยังพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก พูดแล้ว พูดอีก
" ลาอิลา ฮะอิ้ลลั้ลลอฮ์ กล่าวนามอัลลอฮ์ซิลูก "
อิศรา พยายามเรียกสติ อาจจะเป็นการเรียกสติครั้งสุดท้ายของชีวิตก็เป็นได้
มารดายังคงคะยั้นคะยอให้บุตรเปล่งเสียง
จิตใจของมารดา สะอาด บริสุทธิ์ ความรักที่มีต่อลูกมากเกินคำบรรยาย
อัลลอฮ์ทรงให้ความโปรดปรานแก่มารดาของเขา
อิศราเรียกสติ เขาพยักหน้ารับคำขอร้องของมารดา
อิศรา ขยับปากขมุบขมิบ เขาคงกำลังกล่าว " กะลิมะฮ์ "
อิศราพยายามขยับปากไปเรื่อย ๆ
มารดาก็พูดย้ำกับลูกอย่างไม่หยุด
นางคะยั้นคะยอซ้ำแล้วซ้ำอีก " กล่าว กะลิมะฮ์ กล่าวนามของอัลลอฮ์ซิลูก "
ในที่สุด อัลลอฮ์ผู้ทรงเมตตา ได้ให้ริมฝีปากของอิศราขยับเขยื้อน
และอิศราเปล่งเสียงคำว่า " อัลลอฮ์ " อย่างชัดเจน
เสียงของอิศราดังจนได้ยินกันทั่วห้องคนป่วย ท่ามกลางความดีใจเคล้าน้ำตาของมารดา และญาติพี่น้องที่ดูใจเขาเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต
มะยัติของอิศรา อมันตกุล ถูกนำไปฝัง ณ กุโบรสุสาน มัสญิดนูรุ้ลมุบีน บ้านสมเด็จเจ้าพระยา สี่แยกบ้านแขก
ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาอิศรา และตอบรับ " กะลิมะฮ์ " ที่เขาเปล่งออกมาในวาระสุดท้ายของชีวิต
ขอดุอาให้พระองค์ทรงพึงพระทัย ก่อนที่วิญญานจะออกจากร่างของบ่าวที่ชื่อ " อิศรา อมันตกุล " ด้วยเถิด อามีน ...
โฆษณา