Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bigmama ชวนอ่าน
•
ติดตาม
2 พ.ย. 2021 เวลา 14:46 • ไลฟ์สไตล์
สินสอด คืออะไร เปิดที่มาของสินสอดงานแต่ง ปัจจุบันยังจำเป็นอยู่ไหม
สินสอด เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของ พิธีแต่งงาน แบบไทย แต่ปัจจุบัน เรื่องสินสอดนั้นก็เป็นปัญหาสำหรับคู่รักหลายๆ คู่ เรามาทำความรู้จักกันว่า สินสอด คืออะไร จำเป็นหรือไม่ หรือควรยกเลิกดี
ประเพณีการให้สินสอดกับการแต่งงานแบบไทยนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ บ้างก็ว่าเพื่อเลี้ยงดูฝ่ายพ่อแม่เจ้าสาว บ้างก็ว่าเพื่อตอบแทนค่าน้ำนมของฝ่ายพ่อแม่เจ้าสาวและขอบคุณที่ยอมยกลูกสาวให้ แต่ในปัจจุบันนี้ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป บ่าวสาวสมัยใหม่ก็มีข้อโต้แย้งและมีปัญหาเรื่องสินสอดมากมาย ทั้งเรื่องการใช้เงินโดยไม่จำเป็น เป็นการสร้างภาพลักษณ์ทางสังคมมากเกินไป ไปจนถึงเรื่องการวัดค่าผู้หญิงด้วยจำนวนเงิน จนกลายเป็นข้อถกเถียงไม่จบสิ้น ดังเช่นมีดราม่าที่ ก้อย อรัชพร ได้แสดงความคิดเห็นว่า ควรยกเลิกระบบสินสอดงานแต่ง เพื่อแนวคิดในการวัดค่าผู้หญิงด้วยเงินจะได้หมดไป (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)
จากกรณีนี้กลับมีข้อโต้เถียงมากมาย บ้างก็เห็นด้วย แต่ก็มีหลายเสียงที่แตกออกไปว่า ในงานแต่งงานก็ยังจำเป็นจะต้องมีสินสอดทองหมั้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของฝ่ายชายที่มีต่อฝ่ายหญิง ดังนั้นครั้งนี้ กระปุกดอทคอมจะมาไขข้อข้องใจว่า สินสอด คืออะไร จำเป็นหรือไม่ ทำไมถึงต้องมีบริการเช่าสินสอด และเป็นการใช้เงินวัดค่าผู้หญิงจริงหรือเปล่า
สินสอด คืออะไร
คำว่า สินสอด ตามความหมายของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาคือ “เงินที่ฝ่ายชายมอบให้แก่บิดามารดาของหญิงที่ตนขอแต่งงานด้วย โบราณเรียกว่า ค่าน้ำนมข้าวป้อน” โดยการมอบสินสอดนั้น มอบเพื่อขอบคุณที่เลี้ยงดูฝ่ายเจ้าสาว เป็นการตอบแทนพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาวที่ยอมยกลูกสาวให้ อีกทั้งยังเป็นหลักประกันความมั่นคงของทางฝ่ายชายว่าจะสามารถเลี้ยงดูเจ้าสาวได้ หรือหากต้องเลิกรากัน ก็ยังมีค่าสินสอดนี้ไว้ให้ฝ่ายหญิงเลี้ยงดูตัวเอง
ธรรมเนียมการให้สินสอดเป็นอย่างไร
ในประเทศไทยนั้นมีธรรมเนียมเรียกค่าสินสอด เพราะว่ามักจะเป็นการแต่งงานด้วยการคลุมถุงชน จึงทำให้ฝ่ายหญิงต้องเรียกค่าสินสอดไว้ก่อน เพื่อเป็นหลักประกันว่าฝ่ายชายจะไม่หนีงานแต่ง อีกทั้งเมื่อก่อนฝ่ายหญิงยังต้องพึ่งพาผู้ชายเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องเรียกสินสอดไว้เพื่อความมั่นใจ แต่ในปัจจุบันนั้น การเรียกสินสอดมักเรียกเพื่อแสดงฐานะและความมั่นคงของฝ่ายชาย และให้เหมาะสมกับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ของทางฝ่ายหญิง นี่เองจึงเป็นประเด็นที่บางคนมองว่า วัดคุณค่าของผู้หญิงด้วยเงิน
แต่ในทางกฎหมาย ใช่ว่าฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายเสียเพียงฝ่ายเดียว เพราะฝ่ายชายสามารถเรียกคืนสินสอดจากฝ่ายหญิงได้ หากงานแต่งงานไม่สามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากความผิดของฝ่ายหญิง
อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมการให้สินสอดนั้นไม่ได้มีแต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่อารยธรรมยิ่งใหญ่ของโลกอย่างอียิปต์โบราณ เมโสโปเตเมีย ฮิบรู แอซเท็ก อินคา และกรีกโบราณ ก็มีธรรมเนียมการให้ “ค่าตอบแทนการสมรส” มาตั้งแต่สมัย 3,000 ปี ก่อนคริสตกาล หากแต่ต่างกันเล็กน้อยด้วยวัฒนธรรมและธรรมเนียมของแต่ละประเทศ
ปัจจุบันแม้หลายครอบครัวจะไม่รับสินสอด หรือคืนสินสอดให้คู่บ่าวสาว แต่ก็ต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมและค่านิยมของคนไทยคือ “ต้องมี” สินสอด เพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้กับทางผู้ใหญ่ เรียกว่าการแต่งงานไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน จนขนาดที่ว่ามีธุรกิจการเช่าสินสอดขึ้นมาเลยทีเดียว
สินสอด มีลักษณะอย่างไร
สินสอด คือ สิ่งที่ฝ่ายชายกับฝ่ายหญิงทำสัญญาตกลงจะมอบให้กันก่อนที่จะมีพิธีแต่งงาน ซึ่งสินสอดจะเข้าไปประกอบเป็นหนึ่งในของหมั้นในช่วงการทำพิธี โดยมีลักษณะดังนี้
1.ต้องเป็นทรัพย์สิน เช่น เงิน หรือทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ เครื่องเพชร-ทองก็ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นของที่ฝ่ายเจ้าบ่าวสัญญาว่าจะให้ โดยไม่ต้องให้ในวันทำพิธีก็ได้ สามารถนำมาให้ภายหลังได้
2.ฝ่ายชายต้องมอบให้บิดามารดา หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิงเท่านั้น คนอื่น ๆ ไม่มีสิทธิ์เรียกหรือรับสินสอดเอาไว้
3.ให้เพื่อตอบแทนที่ฝ่ายหญิงยอมแต่งงานด้วย จึงไม่รวมกับของที่ซื้อให้ด้วยความเสน่หาตอนคบหาดูใจกัน และสินสอดจะเป็นสิทธิ์ของฝ่ายหญิงทันทีเมื่อมีการส่งมอบ แม้จะไม่มีการจดทะเบียนสมรส และถึงแม้งานแต่งจะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของฝ่ายชาย ฝ่ายหญิงก็ยังคงมีสิทธิ์เรียกร้องสินสอดจากฝ่ายชายตามข้อตกลงได้
สินสอดเท่าไหร่ จึงจะเหมาะสม
สำหรับคู่บ่าวสาวที่กำลังมองเรื่องการแต่งงานแบบมีสินสอด ผู้หญิงหลายคนอาจไม่รู้ว่าควรเรียกสินสอดเท่าไหร่ดี หรือฝ่ายชายที่ไม่รู้ว่าสินสอดมากแค่ไหนถึงเหมาะสม เรามีข้อแนะนำมาฝาก
• ตกลงให้ชัดเจน มีตัวเลขในใจให้บอก
เพื่อทำความตกลงร่วมกันว่าจำนวนสินสอดที่ฝ่ายหญิงตั้งใจเรียกนั้นเหมาะสมหรือไม่ ทั้งสองฝ่ายควรพูดคุยกันให้ชัดเจน หากฝ่ายหญิงมีตัวเลขในใจอยู่แล้วก็ควรบอกตรง ๆ และควรเป็นตัวเลขอยู่ในขอบเขตที่ฝ่ายชายสามารถจ่ายไหว อย่างไรก็ตาม ควรเตรียมใจรับการต่อรองด้วย
• สมฐานะครอบครัวของทั้งสองฝ่าย
ควรพิจารณาทั้งหน้าที่การงานของทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว รวมไปถึงพ่อแม่ของบ่าวสาวด้วย นอกจากนี้ควรมองไปถึงการศึกษาของฝ่ายเจ้าสาว การอบรมเลี้ยงดู เพื่อตีเป็นค่าสินสอดที่เหมาะสม
• ถ้าไม่สะดวกเรื่องเงิน ลองพูดคุย
เพื่อเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแทน
เพราะสินสอดหมายรวมถึงทรัพย์สินอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ หรือแม้แต่เครื่องประดับ ก็สามารถนำมาเป็นสินสอดได้เช่นเดียวกัน
• ลองใช้สูตรคำนวณสินสอดแบบง่าย ๆ
สูตรการคำนวณสินสอดนั้นมักจะอิงตามอายุของฝ่ายหญิง การศึกษา หน้าที่การงาน รายได้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 วิธี คือ
2
1.คำนวณตามรายได้ โดยนำ (เงินเดือนฝ่ายชาย) + (เงินเดือนฝ่ายหญิง) x (5 ถึง 10) = สินสอด เช่น ฝ่ายชายเงินเดือน 45,000 บาท บวกเงินเดือนฝ่ายหญิง 30,000 บาท คูณค่ากลางที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงกันได้ เช่น 7 สินสอดจะเท่ากับ 525,000 บาท
2.คิดค่าสินสอดตามหลักเศรษฐศาสตร์ การคิดตามสูตรนี้จะใช้วิธีการวัดจากหน้าที่การงาน การศึกษา อายุภาระเลี้ยงดูพ่อแม่ ลำดับการแต่งงาน และอื่น ๆ มาคิดรวมเป็นค่าสินสอด เช่น มูลค่าสินสอด = (2.2205 x รายได้ต่อเดือน) + (8986.92 x อายุ) + (174,818.6 หากเป็นคนกรุงเทพฯ) – (454,350.5 หากจบการศึกษาไม่เกินมัธยม/ปวช.) + (227,064.1 หากแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว) – (134,160.8 หากมีภาระต้องดูแลครอบครัวอยู่) + (1,890,610 หากเป็นผู้บริหารระดับสูง) ทั้งนี้ อาจมีการคิดอัตราเงินเฟ้อต่อปีร่วมด้วยก็ได้
จะเห็นได้ว่านอกจากจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว การให้สินสอดยังเป็นเครื่องยืนยันตามกฎหมาย ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายว่าต้องการให้มีสินสอดหรือไม่จำเป็น
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, the101.world,
lawyers.in.th
,
setthasat.com
https://wedding.kapook.com/view245429.html
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย