8 พ.ย. 2021 เวลา 12:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การเปลี่ยนชื่อจาก Facebook เป็น Meta นั้นมีความหมายสำคัญกว่าแค่รีแบรนด์มาก เพราะมหาเศรษฐีหน้าใส มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หมายมั่นวาดฝันที่จะสร้าง "ระบบนิเวศน์ใหม่" สำหรับผู้คนทีเดียว
5
metaverse ที่ซักเคอร์เบิร์กภูมิใจนำเสนอกินความหมายถึงโลกทั้งใบ กล่าวให้ย่อที่สุด มันคือการใช้เทคโนโลยี VR (virtual reality), AR (augmented reality), hologram, teleport, interoperability และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ เพื่อสร้างโลกเสมือนที่คุณจะรู้สึกถึง "feeling of presence" กล่าวคือรู้สึกเหมือนอยู่ตรงนั้นจริง ๆ และแน่นอนสามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้เหมือนจริง
4
ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ประชุม การปาร์ตี้ ไปกรี๊ดในคอนเสิร์ตกับเพื่อน ทั้งหมดจะเกิดขึ้นผ่าน avatar ของคุณโดยที่คุณไม่ต้องออกจากห้องนอนตัวเอง หรือที่ดูเป็นประโยชน์ชัดเจนก็ในเรื่องการเรียน เช่น ห้องเรียนวิชาดาราศาสตร์ที่คุณสามารถท่องไปยังดาวต่างๆ ได้, วิชาประวัติศาสตร์สามารถพาตัวเองย้อนไปเดินเล่นในกรุงโรมเมื่อหลายพันปีก่อนได้, วิชาการแพทย์ที่สามารถซ้อมผ่าตัดเสมือนจริงได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ฯลฯ และยังทำสิ่งต่างๆที่ "beyond" จินตนาการไปได้อีกมากมาย ที่มาของรากศัทพ์คำว่า meta ก็มาจากภาษากรีกที่แปลว่า beyond นั่นเอง
8
โลกใหม่ที่ซักเคอร์เบิร์กภูมิใจนำเสนอนี้ ยังคงเป้าหมายหลักคงเดิม นั่นคือการ connect ผู้คนให้ใกล้ชิดกัน ถ้าดูจากอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ของเฟซบุ๊ก เราล้วนประจักษ์แล้วว่าเขาทำได้ยอดเยี่ยมเพียงใด ทว่าในทศวรรษที่ผ่านมา เฟซบุ๊กถูกตั้งคำถามหนัก ๆ หลายครั้งเรื่องความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของสังคม ทั้งแง่การผูกขาดทางการค้าและการหาประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลของสาธารณชน
8
ซักเคอร์เบิร์กเองเคยต้องไปให้การมาแล้วอย่างตะกุกตะกักต่อหน้าสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสมาชิกของอเมริกา ในข้อหาที่มีการใช้อัลกอริทึ่มเพื่อการ "manipulate" วาระสำคัญของสังคมในทางมิชอบ เคสที่ชัดที่สุดคือคดี Cambridge Analytica ที่หลังบ้านเฟซบุ๊กรั่วไหลและถูกใช้เป็นเครื่องมือปั่นคะแนนเสียงกระทั่งโดนัลด์ ทรัมพ์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2016 และล่าสุดก็ถูกกล่าวหาว่าหละหลวมจนแพลตฟอร์มถูกกลุ่มสุดโต่งทางการเมืองนำไปใช้เป็นเครื่องมือก่อความรุนแรง ซึ่งซักเคอร์เบิร์กก็ต้องดิ้นรนอยู่บนพรมแดนระหว่าง “เสรีภาพ” ในการแสดงออกของผู้ใช้ และ "ความเสี่ยง" ที่เสรีภาพนั้นจะนำไปสู่เหตุร้ายบานปลายเช่นที่เคยเกิดหลายครั้ง
5
แม้จะสะบักสะบอม แต่มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ก็ยังคงแสดงความบริสุทธิ์ใจในเจตนาของเขาเสมอ และในปี 2019 เขาก็ตกลงที่จะเผชิญหน้ากับนักประวัติศาสตร์ระดับอัจฉริยะอย่างยูวาล ฮารารี ในการสัมภาษณ์ที่ใครดูก็คงรู้สึกไม่ต่างกันว่าเขาเหมือนจำเลยที่โดนคำถามแรงๆ ตอกใส่หน้า แล้วก็ตอบได้ไม่เต็มปากเต็มคำนัก เราอยากชวนคุณฟังไฮไลต์คำถามตอบสำคัญของทั้งคู่ เพื่อทบทวนอีกครั้ง ก่อนโลกเราจะเข้าสู่ metaverse สุดขอบฟ้านี้ ฮารารีเคยสะท้อนสิ่งสำคัญใดไว้ และซักเคอร์เบิร์กรับมือกับมันเช่นไร
11
ยูวาล ฮารารีกล่าวว่า "จากที่ผมฟังมา คุณและอีกหลายคนมีความเชื่อสูงสุดว่า ‘ผู้ใช้ถูกต้องเสมอ’ ผู้คนรู้ดีเสมอว่าตัวเองต้องการอะไร อะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับตัวเขา พวกเขาก็ย่อมจะเลือกสิ่งนั้น ซึ่งแน่นอนว่าดี แต่คำถามยากที่สุดในท้ายที่สุดคือ มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือครับ ในสังคมประชาธิปไตยตะวันตกที่ผ่านมานับศตวรรษ จากรุ่นสู่รุ่น จนมาถึงวันนี้ที่เรามีเทคโนโลยีที่แฮ็คความคิดอ่านของเราได้ แฮ็คความเป็นมนุษย์ของเราได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ คำถามคือผู้ใช้รู้ดีและถูกต้องเสมอจริงหรือ..."
4
"สำหรับเฟซบุ๊ก มันนำไปสู่คำถามว่า จริงหรือที่ผู้ใช้สามารถปกป้องความเป็นส่วนบุคคลของตัวเองได้ และมีพิจารณญาณที่จะส่งต่อเฉพาะข้อมูลที่เป็นจริง และจะไม่แพร่ข่าวลวงที่ตรงใจตัวเอง จริงหรือที่พวกเขาจะรู้วิธีหลีกเลี่ยงคลิกเบต, วิดีโอไวรัลคุณภาพต่ำ, และเหนืออื่นใด จริงหรือที่พวกเขาจะรู้ว่าเมื่อไหร่เป็นเวลาที่ควรปิดเฟซบุ๊กแล้วไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์กับชีวิต"
7
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ตอบว่า "ผมก็ไม่แน่ใจนักว่ามันเปลี่ยนไปหรือยังนะครับ ผมคิดว่าผู้คนไม่ชอบการถูกสั่งว่าควรทำอะไร... แนวคิดที่ว่าประชาธิปไตยนั้นถูกทำร้ายด้วยเครื่องมือโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ผมว่าก็อาจโต้แย้งได้ว่าโลกเราปัจจุบันก็มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดที่เคยเป็นมาในอดีตเช่นกัน ...ดังนั้นทุกอย่างตั้งแต่การเลือกตั้งซึ่งผมรู้ว่าหลายคนมองว่ามันไม่เป็นประชาธิปไตย แต่มันเกิดขึ้นได้ก็เพราะเราเชื่อในชุดคุณค่าของรัฐที่เป็นประชาธิปไตยว่ามันเป็นสิ่งที่ดีกว่า ทุกวันนี้คนมีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น เข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น และคนก็ตั้งคำถามได้ว่า (ข้อมูลนั้น) มันดีหรือเปล่านะ... ผมคิดว่าเทคโนโลยีทำให้คนมีอำนาจในมือมากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของคำถามใหญ่ที่ว่านั่นคือโลกแบบที่เราต้องการหรือเปล่า"
2
"ผมออกตัวก่อนว่านี่ไม่ใช่ประเด็นที่ผมเชี่ยวชาญ แต่สิ่งเหล่านี้ย่อมต้องแลกมาด้วยความท้าทายใช่ไหมครับ ความก้าวหน้าย่อมนำมาซึ่งปัญหาให้ถกเถียง และมันยากที่จะให้เหตุผลว่า ว้าว เรากำลังพยายามสร้างความก้าวหน้าเพื่อช่วยผู้คนให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกนะ.. ซึ่งมันก็แลกมาด้วยการแปลกแยกต่อกันในระดับมหภาค มันเป็นเรื่องที่เจ็บปวดจริง ๆ"
4
"แต่ผมก็ยังคิดจริงๆ ว่าไม่ว่าจะอย่างไร เราก็อยู่ในยุคสมัยที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ผู้คนมีสิทธิมีเสียงและเข้าถึงความรู้ได้มากที่สุดกว่ายุคไหนๆที่ผ่านมา ผมคิดว่ามันทำให้ประเทศแข็งแกร่งและก้าวหน้า แต่แน่นอนมันย่อมมาพร้อมปัญหาใหญ่ แต่อย่างน้อยมันก็มีแบบแผนบางอย่างที่ผมเห็นและทำให้ผมรู้สึกเชิงบวกกับงานที่ผมทำ"
2
สรุปว่าซักเคอร์เบิร์กก็ไม่ได้ตอบคำถามของฮารารีชัดๆ ซึ่งก็น่าเห็นใจอยู่ เพราะมันดูเป็นคำถามที่ไม่สามารถตอบได้ง่ายๆ แต่ในอนาคตอันใกล้ ผลงานของซักเคอร์เบิร์กกำลังจะเปลี่ยนชีวิตเราอีกครั้ง ในโลก metaverse ใบใหม่ เป็นที่แน่นอนว่าเราจะเข้าถึงกันและกันในมิติที่ไม่เคยมาก่อน เราจะมีเรื่องสนุกให้ทำมากมาย เราจะรุ่มรวยด้วยประสบการณ์ "เสมือน" ในโลก "เสมือน"
1
และเราจะยังปล่อยให้คำถามจากฮารารีลอยคว้างต่อไป เพราะดูเหมือน "สำนึกรู้คิด" ที่ฮารารีถามถึงนั้นน่าจะปลูกฝังและงอกงามได้ในโลก "จริง" มากกว่าโลกเสมือน
2
ชมการพูดคุยเต็มๆ ได้ใน https://www.youtube.com/watch?v=Boj9eD0Wug8
ข้อมูลอ้างอิง
เครดิตภาพ
สำนักพิมพ์ Sophia
โฆษณา